ฮิจเราะฮ์ กับการเริ่มต้นของเอกลักษณ์มุสลิม
อ. อับดุลเราะมัน เจะอารง
ประวัติศาสตร์อิสลามชี้ถึงจุดเด่นของอิสลามที่ทำให้แตกต่างจากคำสอนของศาสนาอื่น ซึ่งเป็นจุดเด่นที่บรรดามุสลิมทุกคนน่าจะภูมิใจและยึดมั่นอยู่ตลอดเวลา เอกลักษณ์ของอิสลามเริ่มเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการเกิดขึ้นของอิสลามที่ท่านนบีมุหัมมัด ได้ประกาศให้มนุษยชาติทราบและเผยแผ่คำสอนนี้ในหมู่พวกเขา
ท่านเราะสูล ได้ประกาศศาสนาและชักชวนบรรดาชาวกุรอยซ์ที่อาศัยอยู่ ณ นครมักกะฮ์ แต่ปรากฏว่ามีบางกลุ่มดื้อดึงไม่ยอมรับอิสลามและทำการต่อสู้กับบรรดามุสลิมใหม่ ทำให้พวกเขาได้รับความเดือดร้อนและไม่เป็นอิสระ พระองค์อัลลอฮ์ จึงอนุญาตให้พวกเขาปลีกตัวหาที่ปลอดภัยระยะหนึ่ง
ท่านเราะสูล จึงนำบรรดาเศาะหาบะฮ์อพยพจากนครมักกะฮ์ไปยังเมืองยัษริบ (يثْرِب) ซึ่งหลังจากนั้นได้เรียกว่านครมะดีนะฮ์ (المَديْنَة) เพื่อเป็นสถานที่ที่มุสลิมสามารถอาศัยอยู่อย่างอิสระปราศจากการรบกวน ท่านเราะสูล ได้ใช้ชีวิตพร้อม ๆกับบรรดาเศาะหาบะฮ์ อยู่ที่นครมะดีนะฮ์ 8 ปี แล้วเข้าพิชิตนครมักกะฮ์จนสามารถครอบครองนครมักกะฮ์ได้สำเร็จ จึงทำให้นครมักกะฮ์เป็นเมืองอิสลามที่ 2 รองจากมะดีนะฮ์
หลังจากได้อาศัยอยู่ที่มะดีนะฮ์ 11 ปี ท่านเราะสูล ได้เสียชีวิต และผู้ดำรงตำแหน่งเป็นเคาะลีฟะฮ์แทนท่านเราะสูล คนแรก คือ ท่านอะบูบักร อัศ-ศิดดีก ถึงแม้ว่าจะดำรงตำแหน่งเป็นเคาะลีฟะฮ์ได้เพียง 2 ปีเศษ ๆ แต่มีผลงานชิ้นใหญ่ ๆมากมาย เช่น การรวบรวมอัลกุรอาน และการสู้รบกับกองทัพของผู้ที่ไม่ยอมจ่ายซะกาต หลังจากอะบูบักร เสียชีวิต ผู้ที่ดำรงตำแหน่งเป็นเคาะลีฟะฮ์ท่านที่ 2 คือท่านอุมัร บิน อัล-ค๊อฏฏอบ
บรรดาอัครสาวกที่ปกครองรัฐอิสลามหลังจากท่านเราะสูล ได้เสียชีวิตมีอยู่ 4 ท่านด้วยกัน คือ
1. เคาะลีฟะฮ์อับูบักร อัศ-ศิดดิก ปกครองหลังจากท่านเราะสูลได้เสียชีวิตปีที่ 11 จนถึงปีที่ 13
2. เคาะลีฟะฮ์อุมัร บิน อัล-ค๊อฏฏอบ ปกครองตั้งแต่ปีที่ 13 จนถึงปีที่ 23
3. เคาะลีฟะฮ์อุษมาน บิน อัฟฟาน ปกครองตั้งแต่ปีที่ 23 จนถึงปีที่ 35
4. เคาละฟะฮ์อะลี บิน อะบีฏอลิบ ปกครองตั้งแต่ปีที่ 35 จนถึงปีที่ 40
ในปีที่ 17 หลังจากฮิจเราะฮ์ในช่วงกลาง ๆ ยุคการปกครองของเคาะลีฟะฮ์อุมัร บรรดาอัครสาวกได้มาปรึกษาหารือกับท่านเคาะลีฟะฮ์เกี่ยวกับการเริ่มต้นของการนับปี เพื่อการจดบันทึกเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ ประชาชาติที่อยู่รอบ ๆ ชาวอาหรับที่คาบสมุทรอาระเบีย คือ ชาวโรมันและชาวเปอร์เซีย พวกเขามีอารยะธรรมมาก่อนแล้ว และในการพูดคุยท่านอุมัร ไม่เห็นด้วยกับแบบของชาวโรมันที่เริ่มต้นการนับปฏิทินของพวกเขาจากการเกิดของท่านนบีอีซา พวกเขาอยากจะแสดงถึงเอกลักษณ์ของตนเองด้วยการเลือกใช้ปฏิทินของตนเอง คือเริ่มจากฮิจเราะฮ์ การอพยพของท่านเราะสูล จากนครมักกะฮ์ไปยังนครมะดีนะฮ์ โดยให้เหตุผลว่า เป็นจุดเปลี่ยนชีวิตของท่านเราะสูล และชีวิตของชาวอาหรับจากชีวิตแห่งป่าเถื่อนสู่ชีวิตที่มีแสงสว่างนำทาง เป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดรัฐอิสลามในประวัติศาสตร์ของมนุษย์
พวกเขามิได้เลือกการเริ่มต้นของประวัติศาสตร์อิสลามจากการเกิดของท่านเราะสูล เพราะการเกิดของมนุษย์ตามทัศนะของพวกเขา ถือว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่มิได้ให้ความหมายแต่อย่างใด
พวกเขามิได้เริ่มต้นใช้ปฏิทินของพวกเขาจากการเสียชีวิตของท่านเราะสูล เพราะการเกิดและการเสียชีวิตตามทัศนะของพวกเขา ถือว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา
แต่พวกเขาภูมิใจที่จะเลือกใช้ปฏิทินฮิจเราะฮ์ เพราะฮิจเราะฮ์เป็นเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์อิสลามที่มีความผูกพันกับการเผยแผ่อิสลาม เพราะความสำคัญของฮิจเราะฮ์นี้แหละ เราพบว่าอัลกุรอานได้พูดถึงฮิจเราะฮ์หลายอายะฮ์ หลายสูเราะฮ์และหลายมิติ เช่น
1. ชาวอันศอร์ ผู้อาศัยเดิมที่มะดีนะฮ์ภูมิใจที่จะได้ต้อนรับชาวมุฮาญิรีนที่มาจากนครมักกะฮ์ พระองค์ได้ตรัสไว้ว่า
“(สิ่งที่ยึดมาจากพวกยะฮูด) เป็นของบรรดาผู้อพยพที่ขัดสน ซึ่งถูกขับไล่ออกบ้านเกิดเมืองนอนของพวกเขา และทอดทิ้งทรัพย์สินของพวกเขาเพื่อแสวงหาความโปรดปรานจากอัลลอฮ์ และความยินดีของพระองค์ และพวกเขาได้ช่วยเหลืออัลลอฮ์และเราะสูลของพระองค์ ชนเหล่านั้นพวกเขา คือผู้สัตย์จริง และบรรดาผู้ที่ได้ตั้งหลักแหล่งอยู่ที่นครมะดีนะฮ์ (ชาวอันศอร) และพวกเขาศรัทธาก่อนหน้าการอพยพของพวกเขา (ชาวมุฮาญิรีน) พวกเขารักใคร่ผู้ที่อพยพมายังพวกเขา และจะไม่พบความต้องการ หรือความอิจฉาอยู่ในทรวงอกของพวกเขาในสิ่งที่ได้ถูกประทานให้ และให้สิทธิผู้อื่นก่อนตัวของพวกเขาเอง ถึงแม้ว่าพวกเขายังมีความต้องการอยู่มากก็ตาม” (الحشر/9)
2. พระองค์อัลลอฮ์ทรงพอพระทัยต่อบรรดาบรรพชนรุ่นแรกในหมู่ผู้อพยพ
“บรรดาบรรพชนรุ่นแรกในหมู่ผู้อพยพ (ชาวมุฮาญิรีนจากมักกะฮ์) และในหมู่ผู้ให้ความช่วยเหลือ (ชาวอันศัอรจากมะดีนะฮ์) และบรรดาผู้ดำเนินตามพวกเขาด้วยการทำดีนั้น อัลลอฮ์ทรงพอพระทัยในพวกเขา และพวกเขาก็พอใจในพระองค์ด้วย และพระองค์ทรงเตรียมไว้ให้พวกเขาแล้ว ซึ่งบรรดาสวนสวรรค์ที่มีแม่น้ำหลายสายไหลผ่านอยู่เบื้องล่างพวกเขาจะพำนักอยู่ในนั้นตลอดกาลนั่นคือชัยชนะอันใหญ่หลวง” (التوبة/100)
3. พระองค์อัลลอฮ์ ทรงอภัยโทษแก่บรรดาผู้ที่อพยพจากนครมักกะฮ์และบรรดาชาวอันศอร์ ผู้ที่ต้อนรับชาวมุฮาญิรีน
“แท้จริงอัลลอฮ์ทรงอภัยโทษให้แก่ท่านนบี ชาวมุฮาญิรีน และชาวอันศ้อรแล้ว ซึ่งเขาเหล่านั้นได้ปฏิบัติตามเขา (นบี) ในยามคับขันหลังจากที่จิตใจของชนกลุ่มหนึ่งในพวกเขา เกือบจะหันเหออกจากความจริง แล้วพระองค์ก็ทรงอภัยโทษให้แก่พวกเขา แท้จริงพระองค์นั้นเป็นผู้ทรงเมตตา ผู้ทรงกรุณาอยู่เสมอ” (التوبة/117)
ดังนั้น เมื่อพูดถึงเอกลักษณ์ของมุสลิมเราควรพูดในเรื่องความยิ่งใหญ่ของอิสลาม และนี่คือสาเหตุที่มุสลิมต้องมีเอกลักษณ์ของตนเอง คงรูปแบบของเอกลักษณ์และหน้าที่ของมุสลิมในการถนอมเอกลักษณ์ของตนเองให้คงไว้ในการสั่งสอนลูกหลานต่อไป
ทีมา: www.islammore.com/view/3543