หินลอย ในปาเลสไตน์ ??
ถาม : จากภาพด้านบนนี้ ว่ากันว่าเป็นหินลอยในปาเลสไตน์ .. ผมเลยอยากทราบว่า "หินลอย" ในปาเลสไตน์นี้ เป็นเรื่องจริงหรือไม่ และมีที่มาอย่างไรคับ ?? แล้วหินที่ท่านรสูล (ซ.ล.) ใช้เดินทางขึ้นไปบนชั้นฟ้านั้น คือ หินชนิดเดียวกันนี้ใช่หรือไม่ ?? และหินที่ท่านรสูล(ซ.ล.)เมี๊ยะรอจไปกับมันนั้น ตอนนี้มันก็ลอยอยู่ด้วย ใช่หรือไม่ ??
อาลี เสือสมิง : ตอบ
ภาพประกอบคำถามที่อ้างว่า เป็นหินลอยในปาเลสไตน์คงมิใช่ภาพจริง แต่น่าจะเป็นภาพที่ถูกทำขึ้น เพราะถ้าหินนี้ลอยได้โดยไม่แตะพื้นดังปรากฎในภาพก็ต้องถือว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ติดอันดับโลกและเป็นข่าวครึกโครมไปทั่วโลก และนักวิทยาศาสตร์ก็คงจะแห่ไปดูและวิจัยกันขนานใหญ่ เนื่องจากถ้าหินก้อนนี้ลอยได้ดังลักษณะที่ปรากฏในภาพก็เท่ากับว่า ทฤษฎีแรงดึงดูดของโลกถูกหักล้างลงอย่างสิ้นซาก การสร้างภาพหรือตบแต่งภาพด้วยเทคนิคในปัจจุบันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ สุดท้ายก็เป็นเรื่องโอละพ่อ! และโดนหลอกกันมานักต่อนักแล้ว
ส่วนกรณีการมิอฺรอจญ์ของท่านนบี (ซ.ล.)) นั้นมีหลักฐานยืนยันว่าเป็นเรื่องจริง และการมิอฺรอจญ์นั้นเป็นการเดินทางขึ้นสู่ฟากฟ้าเบื้องบนภายหลังการอิสรออฺจากนครมักกะฮฺถึงนครบัยตุลมักดิส กรณีนี้เป็นเรื่องจริง เพราะมีระบุไว้ในคัมภีร์อัล-กุรอาน (เรื่องการอิสรออฺ) และสุนนะฮฺ (ทั้งเรื่องการอิสรออฺและมิอรอจญ์) หลักฐานที่ระบุเรื่องการมิอฺรอจญ์โดยรวมบ่งชี้ว่าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ขึ้นสู่ฟากฟ้าเบื้องบนจากนครบัยตุลมักดิสคือบริเวณที่ตั้งของมัสญิดอัล-อักศอ
แต่ก็ไม่มีหลักฐานที่เศาะหิหฺ (ถูกต้อง) ระบุว่า เป็นจุดใดของบริเวณมัสญิดอัล-อักศอ เพียงแต่เชื่อกันว่า (ตามทัศนะที่มัชฺฮูรฺ) บริเวณของเนินหินที่มีการสร้างโดมครอบล้อมด้วยอาคารแปดเหลี่ยมซึ่งเรียกกันว่ากุบบะฮฺ อัศ-ศอคเราะฮฺ (โดมแห่งศิลา) น่าจะเป็นจุดที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้ขึ้นสู่ฟากฟ้าเบื้องบนบริเวณนั้น เพราะเป็นจุดที่สูงที่สุดในอาณาบริเวณของมัสญิดอัล-อักศอ และหิน (ศิลา) ที่ถูกสร้างโดมครอบเอาไว้นับตั้งแต่สมัยราชวงศ์อัล-อุมะวียะฮฺนี้ก็มีขนาดใหญ่ มีลักษณะเป็นเหมือนโขดหิน แต่ไม่สูงมากคล้ายกับกระดองเต่าขนาดใหญ่ ที่ด้านหนึ่งของโขดหินนี้มีทางลงเป็นขั้นบันไดลงไปสู่ด้านล่างที่มีลักษณะเป็นเหมือนโถงถ้ำขนาดจุคนได้ประมาณ 10 – 20 คน
เวลาลงไปอยู่ที่ระดับพื้นของโถงถ้ำก็จะมีผนังด้านบนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโขดหินที่ว่านี้ คล้ายกับเพดาน ทำให้รู้สึกว่าเหมือนอยู่ใต้ก้อนหินขนาดใหญ่ กอปรกับที่มุมหนึ่งมีการสร้างเสารับน้ำหนักเพดานถ้ำเอาไว้ 1 ต้น ก็เพิ่มความรู้สึกว่าหินนี้ลอยได้ หรือคนที่อยู่ในโถงถ้ำเวลาแหงนมองเพดานถ้ำก็จะเหมือนว่า ตนกำลังยืนอยู่ใต้ก้อนหินขนาดใหญ่ เหตุนี้จึงเรียกกันติดปากว่า “หินลอย” แต่จริงๆ หินไม่ได้ลอยแต่อย่างใด
อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เรียกกันว่า หินลอย ก็เนื่องจากมีเรื่องเล่า (หิกายะฮฺ) ว่าขณะที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กำลังจะขึ้นบันได (ที่คล้ายกับลิฟท์ ซึ่งเรียกว่า มิอฺรอจญ์) หินก้อนนี้ก็ลอยตามขึ้นไปด้วย แล้วท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ก็กล่าวกับมันว่า เจ้าจะไปไหน? หินก็ตอบว่า จะตามท่านไปยังสวรรค์เบื้องบน! ท่านก็กล่าวว่า ก็เจ้านั้นเป็นส่วนหนึ่งของสวรรค์แล้วงัย! มันก็ร่วงลงมาและสถิตย์เป็นมั่นคงอยู่ตรงนั้น เหตุนี้จึงเรียกกันว่า หินลอย (คือมันเคยลอยแต่ตอนหลังก็เลิกลอยเพราะลงมาอยู่กับที่ดังเดิม) ซึ่งตรงนี้เท่าที่รู้ไม่พบหลักฐานที่เศาะหิหฺระบุไว้ จึงน่าจะเป็นเพียงเรื่องเล่า (หิกายะฮฺ) ที่เสริมแต่งเรื่องราวของการอิสรออฺและมิอฺรอจญ์เท่านั้น
ที่มา: alisuasaming.org