การนินทา หมายถึง การกล่าวถึงบุคคลหนึ่งตอนที่อยู่ลับหลังเขา ในสิ่งที่เขาไม่ชอบ เเละไม่ปราถนาที่จะให้ผู้คนเอาไปพูดถึง หรือเผยเเพร่มัน ถึงเเม้ว่ามันจะเป็นความจริงก็ตาม
นินทา บาปใหญ่ที่คนส่วนมากเพิกเฉย
การนินทา หรือในภาษาอาหรับเรียกว่า "อัล-ฆีบะฮฺ" (الغيبة) หมายถึง การกล่าวถึงบุคคลหนึ่งตอนที่อยู่ลับหลังเขา ในสิ่งที่เขาไม่ชอบ เเละไม่ปราถนาที่จะให้ผู้คนเอาไปพูดถึง หรือเผยเเพร่มัน ถึงเเม้ว่ามันจะเป็นความจริงก็ตาม ซึ่งมันจะมีความต่างกับ"การใส่ร้าย"หรือที่ภาษาอาหรับเรียกว่า "อัล-บุฮฺตาน" (البهتان) ซึ่งหมายถึงการกล่าวถึงบุคคลหนึ่งๆในสิ่งที่ไม่เป็นความจริง
ซึ่งการนินทานั้น เป็นหนึ่งใน "กะบาอิรฺ" (บาปใหญ่) ที่จำเป็นสำหรับมุสลิมทุกคนที่จะต้องระมัดระวังเเละออกห่างจากการกระทำดังกล่าวนี้ ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยเลยในจิตสำนึกของผู้ศรัทธา เเละผู้ที่หวังในพระพักตร์ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ในโลกอาคิเราะฮฺ เเต่ถึงกระนั้นก็ตาม การนินทานั้น ถือเป็นบาปใหญ่ชนิดหนึ่งที่มุสลิมเพิกเฉย เเละไม่ตระหนักถึงความผิดบาปที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำบาปใหญ่ประเภทนี้
หลักฐานห้ามการนินทาจากอัล-กุรอาน เเละหะดีษ
มีตัวบทจากอัล-กุรอานเเละหะดีษมากมายที่ห้ามปรามในเรื่องของการนินทาเเละใส่ร้ายป้ายสีบุคคลอื่น อาทิ พระดำรัสของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ที่ว่า :
وَلَا يَغْتَب بَّعْضُكُم بَعْضًا ۚ أَيُحِبُّ أَحَدُكُمْ أَن يَأْكُلَ لَحْمَ أَخِيهِ مَيْتًا فَكَرِهْتُمُوهُ ۚ وَٱتَّقُوا۟ ٱللَّهَ ۚ إِنَّ ٱللَّهَ تَوَّابٌ رَّحِيمٌ
ความว่า : และบางคนในหมู่พวกเจ้าอย่านินทาซึ่งกันและกัน คนหนึ่งในหมู่พวกเจ้านั้นชอบที่จะกินเนื้อพี่น้องของเขาที่ตายไปแล้วกระนั้นหรือ? พวกเจ้าย่อมเกลียดมัน และจงยำเกรงอัลลอฮฺเถิด แท้จริงอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงอภัยโทษ ผู้ทรงเมตตาเสมอ (อัล-หุญุรอต : 12)
และท่านนบีมุฮัมหมัด (ซ.ล.) ได้กล่าวว่า :
รายงานจากท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺ รอฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า : เเท้จริงท่านรอซูลุลลอฮฺ ﷺ ได้กล่าวว่า :
"พวกท่านทราบหรือไม่ว่าการนินทาคืออะไร ?"
บรรดาศอหาบะฮฺตอบว่า : อัลลอฮฺและรอซูลของพระองค์รู้ดีที่สุด
ท่านนบีกล่าวว่า : "คือการที่ท่านกล่าวถึงพี่น้องของท่านในสิ่งที่เขาไม่ชอบ"
มีคนกล่าวขึ้นว่า : ท่านมีความเห็นอย่างไร ถ้าหากสิ่งที่ฉันกล่าวถึงเขา เป็นความจริง ?
ท่านนบีตอบว่า : "ถ้ามาดเเม้นสิ่งที่ท่านกล่าว เป็นความจริง เเน่แท้ท่านได้นินทาเขาเเล้ว เเต่ถ้าหากว่ามันไม่เป็นอย่างที่ท่านพูด เเน่นอนท่านได้ทำการใส่ร้ายเขาเเล้ว"
(บันทึกโดยอิหม่ามมุสลิม)
เเละมีรายงานจากท่านอิบนุอับบาส รอฎิยัลลอฮุอันฮุมา กล่าวว่า : ท่านรอซูล (ซ.ล.) ได้เดินผ่านสองหลุมฝังศพ เเล้วท่านก็กล่าวขึ้นว่า "เเท้จริงทั้งสองหลุมนี้กำลังถูกลงโทษอยู่ เเละเขาทั้งสองไม่ได้โดนลงโทษอันเนื่องมาจากเรื่องราวใหญ่โตอะไรเลย เเท้จริงหลุมหนึ่งเขาได้เดินนินทาผู้คน(ตอนที่เขาอยู่บนโลกดุนยา) และอีกหลุมหนึ่งเขาไม่มิดชิดในการปัสสาวะของเขา"
เเละท่านอิบนุอับบาสกล่าวว่า : หลังจากนั้น ท่านนบีได้ขอก้านอินทผาลัมสด เเล้วท่านได้ฉีกมันออกเป็นสองส่วน หลังจากนั้นท่านก็ปักมันลงไปบนหลุมศพทั้งสอง เเล้วก็กล่าวว่า "หวังว่าอัลลอฮฺจะทรงผ่อนเบาการลงโทษให้เเก่เขาทั้งสอง ตราบใดที่มันทั้งสอง(ก้านอินทผาลัม)ยังไม่เหี่ยวเฉา"
(บันทึกโดยอิหม่ามบุคอรี เเละมุสลิม)
นินทาไปแล้ว ต้องทำอย่างไร ?
สิ่งที่จะมาไถ่โทษสำหรับผู้ที่นินทาหรือใส่ร้ายป้ายสีพี่น้องของเขานั้น คือจำเป็นสำหรับเขาที่จะต้องกลับเนื้อกลับตัว และขอลุเเก่โทษต่ออัลลอฮฺในความผิดพลาดระหว่างเขากับพระองค์ เเต่ถ้าเขารู้ว่าผู้ที่ถูกเขานินทาทราบเรื่องราวเเล้ว(ว่าถูกนินทา) ก็ให้ไปหาเขา เเละขอให้เขายกโทษให้ ด้วยมารยาทที่ดีงาม วาจาที่นิ่มนวล อ่อนโยน หรือถ้ามีความสามารถที่จะซื้อของขวัญที่มีค่าไปสมนาคุณให้เเก่เขาได้ก็ยิ่งเป็นการดีใหญ่ เเต่ถ้าหากเป็นในกรณีที่ผู้ที่ถูกนินทา ไม่รู้ตัวว่าตนโดนนินทา ก็ไม่ต้องไปแจ้งให้เขารับรู้ เเต่ให้ขอลุเเก่โทษจากอัลลอฮฺให้เเก่เขา ขอดุอาอฺให้เขา พร้อมทั้งให้ชมเชยเขาเสมือนที่เคยได้นินทาเขาไว้ เเละเช่นเดียวกัน ในกรณีที่เกรงว่าถ้าไปบอกให้เขารู้ เเล้วมันจะเกิดความบาดหมางมากยิ่งขึ้น หรือว่ามันจะนำพาไปสู่ความเสียหายที่บานปลายเเละร้ายเเรงมากกว่าเดิม ก็เพียงพอแล้วที่จะขอดุอาอฺให้เเก่เขา และกล่าวชมเชยเขา หรือขอลุเเก่โทษต่ออัลลอฮฺให้เเก่เขา
ดังหะดีษที่รายงานโดยท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺ รอฎิยัลลอฮุอันฮุ : ท่านนบี (ซ.ล.) ได้กล่าวว่า :
"ผู้ใดที่มีการอธรรมต่อพี่น้องของเขา ไมว่าจะเป็นเรื่องเกียรติยศของเขา หรือเรื่องใดๆก็ตาม ก็จงไปขออภัยต่อเขาในวันนี้เสียเถิด ก่อนที่จะไม่มีซึ่งดีนารเเละดิรฮัมเลย(วันที่ไม่มีอะไรในครอบครองเลย) ถ้าหากว่าเขามีการงานที่ดีอยู่ ก็จะถูกยึดเอาจากเขาไปเท่ากับปริมาณการอธรรมของเขา เเละถ้าหากว่าเขาไม่มีความดีอยู่เลย ความชั่วของสหายของเขาก็จะถูกเอามาให้เเก่เขาได้เเบกรับมัน" (บันทึกโดยอิหม่ามบุคอรี)
อีกทั้งทรรศนะข้างต้น เป็นทรรศนะที่ท่านชัยคุลอิสลาม อิบนุตัยมียะฮฺ รอหิมาฮุลลอฮฺ ได้ให้น้ำหนักเเละเห็นด้วย โดยท่านได้กล่าวว่า :
"และผู้ที่ไปอธรรมบุคคลใดบุคคลหนึ่ง โดยไปใส่ร้ายเขา นินทาเขา หรือด่าทอเขา เเล้วหลังจากนั้นเขาได้กลับเนื้อกลับตัว อัลลอฮฺก็ทรงรับการกลับเนื้อกลับตัวของเขา เเต่ถ้าหากผู้ที่ถูกอธรรมรับรู้เรื่องราวเเล้ว ก็จำเป็นต่อผู้ที่ไปริดรอนสิทธิเขา ต้องไปขออภัยต่อเขา เเต่ถ้าหากว่าไปใส่ร้ายหรือนินทาเขาไว้ เเล้วเขาไม่รู้ ในกรณีนี้อุลามาอฺมีความเห็นสองทรรศนะ รายงานมากจากท่านอิหม่ามอะหมัด : ที่ถูกต้องที่สุดคือไม่ต้องเเจ้งให้เขาทราบว่าฉันนินทาคุณ , และอาจจะบอกได้ว่า : เเต่ให้ทำดีต่อเขาในตอนที่อยู่ลับหลังเขา(พูดเรื่องที่ดีของเขา) เสมือนที่ได้ทำร้ายเขาไว้ในตอนที่อยู่ลับหลังเขา ดังที่ท่านหะซัน อัล-บัศรียฺ ได้กล่าวว่า : ค่าปรับของการนินทา คือการที่ท่านขอลุเเก่โทษให้เเก่คนที่ท่านไปนินทาเขาไว้"
(มัจมัวะฟะตาวา : 3/291)
ที่มา: อิสลามตามแบบฉบับ
www.muslimthaipost.com