ข้อผิดพลาดอย่างหนึ่งที่เราพบเห็นบ่อยๆคือ การใช้น้ำอย่างสิ้นเปลือง เปิดน้ำแรง หรือเปิดก็อกทิ้งไว้ขณะอาบน้ำละหมาด ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักอิสลาม ที่ใช้ให้ประหยัดมัธยัสถ์ และห้ามการสุรุ่ยสุร่าย ดังโองการอัลกุรอานที่ว่า
ต่อไปนี้คือ ข้อผิดพลาดบางประการในการอาบน้ำละหมาดที่พบเห็นได้บ่อย:
1. การใช้น้ำอย่างสิ้นเปลืองในการอาบน้ำละหมาด
ข้อผิดพลาดอย่างหนึ่งที่เราพบเห็นบ่อยๆคือ การใช้น้ำอย่างสิ้นเปลือง เปิดน้ำแรง หรือเปิดก็อกทิ้งไว้ขณะอาบน้ำละหมาด ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักอิสลาม ที่ใช้ให้ประหยัดมัธยัสถ์ และห้ามการสุรุ่ยสุร่าย ดังโองการอัลกุรอานที่ว่า
ولا تسرفوا إنه لا يحب المسرفين
ความว่า : “และพวกสูเจ้าจงอย่าสุรุ่ยสุร่าย แท้จริงนั้น พระองค์ไม่ทรงโปรดบรรดาผู้ที่สุรุ่ยสุร่าย” (อัลอะอฺรอฟ : 31)
สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ซึ่งเป็นมนุษย์ที่ประเสริฐที่สุดนั้น ยังใช้น้ำเพียงน้อยนิดในการอาบน้ำละหมาด หรืออาบน้ำญะนาบะฮฺ ดังปรากฏในรายงานฮะดีษ จากท่านอนัส บิน มาลิก เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ กล่าวว่า :
كان يتوضأ بالمد، ويغتسل بالصاع إلى خمسة أمداد
ความว่า : “ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ทำการอาบน้ำละหมาดโดยใช้น้ำ 1 มุด และอาบน้ำโดยใช้น้ำ 1 ศออฺ ถึง 5 มุด” (บันทึกโดย บุคอรี และมุสลิม)
ซึ่ง 1 มุด นั้นเท่ากับ 2 อุ้งมือ หรือตามที่อุละมาอ์ร่วมสมัยเทียบค่าไว้ก็คือ 0.688 ลิตร โดยประมาณ (โดยปกติขวดน้ำดื่มขนาดเล็กจะมีปริมาตรสุทธิประมาณ 500 – 600 มิลลิลิตร)
ส่วน 1 ศออฺ นั้น เท่ากับ 4 มุด หรือ 0.688 x 4 = 2.752 ลิตร โดยประมาณ
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม อาบน้ำด้วย 1 ศออ์ ถึง 5 มุด ก็หมายความว่าท่านใช้น้ำ 2.752 – 3.44 ลิตร โดยประมาณ
พิจารณาดูเถิดครับ ว่าเราในยุคนี้ใช้น้ำอย่างฟุ่มเฟือยและสุรุ่ยสุร่ายเพียงใด?
2. การกล่าวคำเนียตเมื่อเริ่มอาบน้ำละหมาด
คือ การกล่าวคำเนียตออกมา เช่น “นะวัยตุ ร็อฟอัล ฮะดัษ” (ฉันตั้งเจตนาเพื่อยกฮะดัษ) หรือถ้อยคำอื่นๆที่บ่งบอกถึงเจตนา การกระทำเช่นนี้ไม่ปรากฏว่ามีแบบอย่างจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม บรรดาเศาะหาบะฮฺ หรืออุละมาอ์ยุคแรกๆ ซึ่งสุนนะฮฺท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม นั้นคือการเริ่มอาบน้ำละหมาดด้วยการกล่าวบิสมิลลาฮฺ ดังปรากฎในฮะดีษ ซึ่งรายงานโดยท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
لا وضوء لمن لم يذكر اسم الله عليه
ความว่า : “ไม่ถือว่าการอาบน้ำละหมาดนั้นสมบูรณ์ สำหรับผู้ที่ไม่ได้กล่าวบิสมิลลาฮฺ” (บันทึกโดยอะหมัด,อบูดาวุด และอิบนฺ มาญะฮฺ )
แม้ว่าบรรดาอุละมาอ์จะมีทัศนะที่แตกต่างกัน ในเรื่องความถูกต้องของหะดีษบทนี้ แต่ญุมฮูรฺ (อุละมาอ์ส่วนมาก) ก็ถือว่าการกล่าวบิสมิลลาฮฺก่อนอาบน้ำละหมาดนั้นเป็นสุนัตให้กระทำ
ในเรื่องของการกล่าวคำเนียตนั้น ท่านอิบนุล ก็อยฺยิม เราะหิมะฮุลลอฮฺ กล่าวว่า:
“และไม่มีรายงานจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ว่าท่านกล่าวสิ่งอื่นใดเมื่อเริ่มอาบน้ำละหมาด นอกจากบิสมิลลาฮฺ” (ซาดุล มะอาด 1/195)
และท่านยังกล่าวว่า :
“และท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ก็ไม่เคยกล่าวในตอนเริ่มอาบน้ำละหมาดว่า นะวัยตุ ร็อฟอัลฮะดัษ (ฉันตั้งเจตนาเพื่อยกฮะดัษ) หรือ นะวัยตุส ติบาฮะตัศ เศาะลาฮฺ (ฉันตั้งเจตนาเพื่อทำให้สามารถละหมาดได้) เลย ไม่ว่าท่านหรือเศาะหาบะฮฺของท่าน และไม่มีรายงานจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ในเรื่องดังกล่าวแม้แต่พยัญชะเดียว ไม่ว่าจะเป็นรายงานที่สะนัดเศาะเหียะหฺ (ถูกต้อง) หรือ เฎาะอีฟ (อ่อน)” (ซาดุล มะอาด 1/196)
สรุปคือ การกล่าวคำเนียตเมื่อเริ่มอาบน้ำละหมาดนั้นไม่มีแบบอย่างจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม บรรดาเศาะหาบะฮฺ หรืออุละมาอ์ยุคแรกๆแต่อย่างใด วัลลอฮุอะอฺลัม
3. การเช็ดคอ
การเช็ดคอในการอาบน้ำละหมาดนั้น ไม่ปรากฎว่ามีหลักฐานที่ถูกต้องจากอัลกุรอาน หรือสุนนะฮฺของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม แต่อย่างใด ส่วนรายงานที่ว่า:
مسح الرقبة أمان من الغل
“การเช็ดคอ (ในการอาบน้ำละหมาด)จะทำให้ปลอดภัยจากการถูกล่ามโซ่ (ในอาคิเราะฮฺ)”
รายงานนี้ บรรดาอุละมาอ์ต่างมีความเห็นว่าเป็นรายงานที่ไม่ถูกต้อง ไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานได้
โดยท่านนะวะวียฺ เราะหิมะฮุลลอฮฺ (เสียชีวิต ฮ.ศ.676) กล่าวว่า : “มันเป็นเมาฎูอฺ (หะดีษปลอม) ไม่ใช่คำพูดของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม” (อัลมัจญฺมูอฺ 1/456)
ท่านอิบนุลก็อยยิม เราะหิมะฮุลลอฮฺ (เสียชีวิต ฮ.ศ.751) กล่าวว่า : “บาฏิล (ไม่ถูกต้อง)” (อัลมะนารุลมุนีฟ หน้า 96)
ท่าน มุลลา อะลี กอรี เราะหิมะฮุลลอฮฺ (เสียชีวิต ฮ.ศ.1014) กล่าวว่า : “ไม่มีที่มา หรือ เมาฎูอฺ (หะดีษปลอม)” (อัลอัสรอรฺ อัลมัรฟูอะฮฺ หน้า 305)
ท่านอัลอิรอกียฺ เราะหิมะฮุลลอฮฺ (เสียชีวิต ฮ.ศ.806) กล่าวว่า : “สะนัดของหะดีษนี้เฎาะอีฟ (อ่อน)” (ตัครีจอัลอิหฺยาอฺ 1/184)
ท่านอิบนุสสุบกียฺ เราะหิมะฮุลลอฮฺ (เสียชีวิต ฮ.ศ.771) กล่าวว่า : “ฉันไม่พบสายรายงานของหะดีษนี้” (เฏาะบะกอต อัชชาฟิอิยฺยะฮฺอัลกุบรอ 6/292)
ซึ่งบรรดาอุละมาอ์เหล่านี้ล้วนเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญเรื่องหะดีษ และมีชื่อเสียงเลื่องลือเป็นที่ยอมรับ เราจึงกล่าวได้ว่ารายงานดังกล่าวนั้นไม่ถูกต้อง ดังนั้น การเช็ดคอในการอาบน้ำละหมาด จึงเป็นการกระทำที่ไม่มีแบบอย่างจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม แต่อย่างใด วัลลอฮุอะอฺลัม
4. ล้างอวัยวะต่างๆอย่างไม่ทั่วถึง
บางคนอาบน้ำละหมาดอย่างลวกๆ โดยรีบเร่งจนล้างอวัยวะส่วนต่างๆไม่ทั่ว มีบางส่วนไม่ได้ล้าง เช่นนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และการอาบน้ำละหมาดของเขาก็ใช้ไม่ได้ ดังปรากฎในรายงานหะดีษต่อไปนี้
عن محمد بن زياد قال : سمعت أبا هريرة وكان يمر بنا والناس يتوضئون من المطهره قال : أسبغوا الوضوء فإن أبا القاسم صلى الله عليه وسلم،قال: ويل للأعقاب من النار
ความว่า : จากมุหัมมัด บิน ซิยาด กล่าวว่า ฉันได้ยินอบูฮุร็อยเราะฮฺ กล่าวเมื่อท่านเดินผ่านพวกเราขณะที่ผู้คนกำลังอาบน้ำละหมาดว่า : พวกท่านจงอาบน้ำละหมาดให้ทั่วเถิด แท้จริงท่านอบุลกอสิม (ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะัสัลลัม) กล่าวว่า “ส้นเท้า (ที่ล้างไม่ทั่วถึงนั้น) จะอยู่ในนรก” [บันทึกโดยบุคอรี : 165]
และในหะดีษอีกบทหนึ่ง:
أن النبي صلى الله عليه وسلم رأى رجلا يصلي ، وفي ظهر قدمه لمعة قدر الدرهم لم يصبها الماء فأمره النبي صلى الله عليه وسلم أن يعيد الوضوء والصلاة
ความว่า : ท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เห็นชายคนหนึ่งละหมาด โดยที่เท้าของเขานั้นมีบางส่วนประมาณเหรียญดิรฺฮัมที่ไม่โดนน้ำ ท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จึงใช้ให้เขาอาบน้ำละหมาดและทำการละหมาดใหม่ [บันทึกโดยอบูดาวุด, เศาะหีหฺสุนันอบีดาวุด : 175]
(เพิ่มเติม: วิธีการอาบน้ำละหมาดที่ถูกต้อง คลิปวีดีโอการอาบน้ำละหมาด)
ที่มา: อัสรัน นิยมเดชา
www.muslimthaipost.com