วันศุกร์วันประเสริฐที่สุด..แต่ไม่ใช่วันห้ามทำงาน


6,123 ผู้ชม

สำหรับวันศุกร์นั้น อิสลามถือว่า เป็นวันที่ประเสริฐที่สุดในรอบสัปดาห์ ซึ่งจากหลักฐาน หะดีษ : ท่านรอซูลศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวถึงความประเสริฐของวันศุกร์ไว้มากมาย ได้แก่...


วันนี้...วันศุกร์ จำเป็นสำหรับมุสลิมที่จะต้องให้ความสำคัญกับวันศุกร์เป็นอย่างมาก เพราะเป็นวันที่มีความสำคัญที่สุดในรอบสัปดาห์ ซึ่งถูกขนานนามว่า "วันอีดประจำสัปดาห์" นั่นเอง

วันศุกร์วันประเสริฐที่สุด..แต่ไม่ใช่วันห้ามทำงาน

วันศุกร์วันประเสริฐที่สุด..แต่ไม่ใช่วันห้ามทำงาน

สำหรับวันศุกร์นั้น อิสลามถือว่า เป็นวันที่ประเสริฐที่สุดในรอบสัปดาห์ ซึ่งจากหลักฐาน หะดีษ : ท่านรอซูลศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวถึงความประเสริฐของวันศุกร์ไว้มากมาย ได้แก่

- วันศุกร์เป็นวันที่พระองค์อัลลอฮฺสร้างมนุษ์คนแรก คือ ท่านนบีอาดัม อะลัยฮิสลาม (บันทึกหะดิษโดยมุสลิม หะดิษเลขที่ 854 รายงานจากอบู ฮุร็อยเราะฮฺ)

- วันสิ้นโลกพระองค์อัลลอฮฺจะทรงให้เกิดขึ้นในวันศุกร์(บันทึกหะดิษโดยมุสลิม หะดิษเลขที่ 854 รายงานจากอบู ฮุร็อยเราะฮฺ)

- ผู้ที่ออกไปมัสยิดในช่วงแรกๆจะได้รับผลบุญเพิ่มพูนตามช่วงเวลานั้นๆ จนถึงเวลาที่อิมามออกมากล่าวคุฏบะฮฺวันศุกร์ (บันทึกหะดิษโดยอัล-บุคอรีย์ หะดิษเลขที่ 841 รายงานจากอบู ฮุร็อยเราะฮฺ)

- มีช่วงเวลาหนึ่งของวันศุกร์หากมุสลิมคนใดขอดุอาอ์ในสิ่งดีๆ อัลลอฮฺจะตอบรับ (บันทึกหะดิษโดยมุสลิม หะดิษเลขที่ 852 รายงานจากอบู ฮุร็อยเราะฮฺ)

- พระองค์อัลลอฮฺจะลบล้างความผิดของบ่าวที่ไปละหมาดวันศุกร์จากศุกร์หนึ่งไปถึงอีกศุกร์หนึ่ง ยกเว้น ความผิดที่เป็นบาปใหญ่(บันทึกโดยอิบนุมายะฮฺ รายงานจากอะบีฮุรอยเราะฮฺ)เป็นต้น

และสำหรับการไปมัสยิดเพื่อละหมาดวันศุกร์ ( صلاة الجمعة ) นั้น เป็นวาญิบสำหรับมุสลิมชายที่บรรลุศาสนภาวะและมีสติสัมปชัญญะทุกคน ยกเว้นผู้ที่กำลังเดินทาง เจ็บป่วย  หรือเป็นทาส

รายงานจากท่านฏอริก อิบนุ ชิฮาบ จาก ท่านรอซูลศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า : 

"การละหมาดวันศุกร์นั้นเป็นหน้าที่จำเป็นสำหรับมุสลิมทุกคน โดยจะต้องกระทำในรูปแบบญะมาอะฮฺ(รวม) ยกเว้น 4 จำพวก คือ ทาสที่อยู่ในครอบครอง สตรี เด็ก(แต่ไม่มีข้อห้ามใดๆ ที่สตรีและเด็กจะไปละหมาดวันศุกร์ โดยมีหลักฐานยืนยันว่าสตีสมัย ท่านรอซูลศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมก็เคยไปละหมาดวันศุกร์พร้อมกับท่าน) หรือผู้ป่วย"

(บันทึกหะดิษโดยอบูดาวูด)

 รายงานจากท่านอุมมุลมุอิมีนีน ท่านหญิงฮัฟเซาะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอัลฮา เล่าว่าท่านรอซูลศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้กล่าวว่า:

“การไปมัสยิดเพื่อละหมาดวันศุกร์เป็นสิ่งจำเป็นแก่ชายทุกคนที่บรรลุศาสนภาวะ”(บันทึกหะดิษโดยอิมามอันนะซาอีย์)

รายงานจากท่านอะบิลญะอฺดิ  ร่อฎิยัลลอฮุอัลฮุ เล่าว่า ท่านรอซูลศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้กล่าวว่า :

“ผู้ใดละทิ้งการละหมาดวันศุกร์ 3 ศุกร์ อัลลอฮฺจะทรงปิดประทับหัวใจเขา”(บันทึกหะดิษโดยอิมามอัซฮาบิซซุนัน)

แต่นั้นก็ไม่ได้หมายความว่า วันศุกร์เป็นวันที่ต้องทำอิบาดะฮ์มุ่งหมั่นทำงานเพื่ออาคีเราะฮฺอย่างเดียว โดยละทิ้งเรื่องดุนยา อย่างสิ้นเชิง  ไม่ว่าการประกอบอาชีพหารายได้มาเจือจุนครอบครัว การอุปโภคบริโภค แต่อิสลามให้ผู้ศรัทธาประกอบทำอิบาดะฮฺมากๆในวันศุกร์ ไม่ให้ความสำคัญแก่การทำงานในเรื่องดุนยามากเกินไป และเมื่อใกล้ถึงเวลาไปมัสยิดเพื่อฟังคุฏบะฮฺและละหมาดวันศุกร์(ญุมอัต) ก็เตรียมตัวให้พร้อม โดยหยุดทำงานเรื่องดุนยาไว้ก่อน ให้อาบน้ำชำระร่างกายอย่างเช่นการอาบน้ำญะนาบะฮฺ และแปรงฟัน แต่งตัวให้สวยๆ และใช้น้ำหอม และรีบเร่งให้ไปถึงมัสยิดในช่วงแรกก่อนอิมาม หรือเคาะฏีบขึ้นมิมบัรฺเพื่อฟังคุฏบะฮฺ และละหมาดวันศุกร์

พระองค์อัลลอฮ์ทรงตรัสว่า :

يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا إِذَا نُودِيَ لِلصَّلَاةِ مِن يَوْمِ الْجُمُعَةِ فَاسْعَوْا إِلَىٰ ذِكْرِ اللَّهِ وَذَرُوا الْبَيْعَ ذَٰلِكُمْ خَيْرٌ لَّكُمْ إِن كُنتُمْ تَعْلَمُونَ ( 9 ) 

โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย เมื่อได้มีเสียงร้องเรียก (อะซาน) เพื่อทำละหมาดในวันศุกร์ก็จงรีบเร่งไปสู่การรำลึกถึงอัลลอฮฺ และจงละทิ้งการค้าขายเสีย นั่นเป็นการดีสำหรับพวกเจ้าหากพวกเจ้ารู้(อัลกุรอาน สูเราะฮฺอัล-ญุมุอะฮฺ 62:9)

และเมื่อผู้ศรัทธาได้ฟังคุฏบะฮฺและละหมาดวันศุกร์เสร็จแล้ว ก็ไม่เป็นที่ต้องห้ามตามบัญญัติศาสนาที่่จะออกไปทำกิจธุระ กิจกรรมใดๆ หรือประกอบอาชีพของตน ซึ่งเป็นอาชีพสุจริตและเป็นที่อนุมัติตามศาสนบัญญัติ เพื่อแสวงหาความโปรดปรานจากอัลลอฮฺ และขณะที่ผู้ศรัทธากำลังทำกิจกรรมต่างๆ อยู่นั้นก็ให่้รำลึกนึกถึงอัลลอฮฺให้มากๆ ไม่ว่าการกล่าวซิกรุลลอฮฺ การกล่าวศอลาวาตนบี การขอดุอาอ์ หรือการอ่านอัลกุรอาน โดยเฉพาะสูเราะฮฺอัลกาฟิ(สูเราะฮฺที่ 18) เนื่องจากมีรายงานหะดิษว่าใครอ่านสูเราะฮฺอัลกาฟิในวันศุกร์อัลลอฮฺจะทรงให้รัศมีสว่างแก่เขาผู้นั้นจากวันศุกร์นี้ไปจนถึงอีกศุกร์หนึ่ง(บันทึกหะดิษโดยท่านบัยหะกีย์และท่านหะกิม รายงานจากท่านอบูสะอี๊ด)

พระองค์อัลลอฮ์ทรงตรัสว่า :

فَإِذَا قُضِيَتِ الصَّلَاةُ فَانتَشِرُوا فِي الْأَرْضِ وَابْتَغُوا مِن فَضْلِ اللَّهِ وَاذْكُرُوا اللَّهَ كَثِيرًا لَّعَلَّكُمْ تُفْلِحُونَ ( 10 ) 

"ต่อเมื่อการละหมาดได้สิ้นสุดลงแล้ว ก็จงแยกย้ายกันไปตามแผ่นดิน และจงแสวงหาความโปรดปรานของอัลลอฮฺและจงรำลึกถึงอัลลอฮฺให้มาก ๆ เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับชัยชนะ"(อัลกุรอาน สูเราะฮฺอัล-ญุมุอะฮฺ 62:10)

จากอายะฮ์ที่ 9 และอายะฮฺที่ 10 ของสูเราะฮฺอัล-ญุมุอะฮฺ ที่ยกมาข้างต้น พระองค์อัลลอฮฺมิได้ทรงห้ามผู้ศรัทธาที่จะประกอบอาชีพในวันศุกร์ ไม่ว่าอาชีพนั้นจะเป็นอาชีพประจำ หรือชั่วคราวก็ตาม ตราบใดอาชีพนั้นเป็นอาชีพที่สุจริต และเป็นที่อนุมัติ(หะลาล) แต่ให้ละทิ้งการงานของตนไว้ก่อนเมื่อใกล้ถึงเวลาไปมัสยิดเพื่อละหมาดวันศุกร์ และเมื่อละหมาดวันศุกร์เสร็จแล้ว พระองค์ก็ตรัสว่าให้ต่างแยกย้ายกันไปตามแผ่นดินที่เราประสงค์ นั้นคือ หากเราจะไปทำงานที่เราละทิ้งไว้ก่อนไปมัสยิดเพื่อละหมาดวันศุกร์ก็ให้กลับไปทำงานนั้นต่อ หากเราจะไปทำธุระใดๆก็ให้ไปตามเจตนารมณ์นั้นเถิด ศาสนาไม่ได้ห้าม แต่ให้รำลึกต่อพระองค์อัลลอฮฺให้มากๆ ขณะที่เราออกไปบนหน้าแผ่นดินนั้น

นอกจากนี้ยังปรากฏชัดจากรายงานหะดิษ อิสลามไม่ได้ห้ามค้าขายในวันศุกร์ และ สมัย ท่านรอซูลศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมยังมีการค้าขายในวันศุกร์  ซึ่งรายงานว่า

“ประชาชนพากันละทิ้งมัสยิดในขณะที่ท่านนบีกำลังอ่านคุตบะฮฺ ไม่มีผู้คนเหลืออยู่ในมัสยิดนอกจากคนเพียง 12 คน”และเป็นสาเหตุที่พระองค์อัลลอฮฺทรงประทานอัลกุรอาน อายะฮฺที่ 11 ของสูเราะฮฺอัล-ญุมุอะฮฺ ซึ่งพระองค์อัลลอฮฺทรงตรัสว่า


وَإِذَا رَأَوْا تِجَارَةً أَوْ لَهْوًا انفَضُّوا إِلَيْهَا وَتَرَكُوكَ قَائِمًا قُلْ مَا عِندَ اللَّهِ خَيْرٌ مِّنَ اللَّهْوِ وَمِنَ التِّجَارَةِ وَاللَّهُ خَيْرُ الرَّازِقِينَ ( 11 ) 

และเมื่อพวกเขาได้เห็นการค้าและการละเล่นพวกเขาก็กรูกันไปที่นั้น และปล่อยเจ้าให้ยืนอยู่คนเดียว จงกล่าวเถิดมุฮัมมัดสิ่งที่มีอยู่ ณ อัลลอฮฺนั้นดีกว่าการละเล่น และการค้าและอัลลอฮฺนั้นทรงเป็นเลิศ ยิ่งในหมู่ผู้ประทานปัจจัยยังชีพ" อัลกุรอาน สูเราะฮฺอัล-ญุมุอะฮฺ 62:11)


และจากหลักฐานอัลกุรอาน สูเราะฮฺอัล-เกาะศ็อศ อายะฮ์ ที่ 77 ได้ยืนยันว่า ทุกๆวัน อิสลามให้มุ่งทำงานเพื่ออาคีเราะฮฺที่มีความสำคัญกับผู้ศรัทธาซึ่งพระองค์อัลลอฮฺได้ทรงเตรียมไว้ตอนรับ แต่ก็ไม่ให้ลืมงานและความรับผิดชอบของผูศรัทธาในดุนยา ซึ่งพระอัลลอฮฺทรงสร้างมาเพื่ออำนวยความสะดวกแก่เราในดุนยานี้

พระองค์อัลลอฮ์ทรงตรัสว่า

وَابْتَغِ فِيمَا آتَاكَ اللَّهُ الدَّارَ الْآخِرَةَ وَلَا تَنسَ نَصِيبَكَ مِنَ الدُّنْيَا وَأَحْسِن كَمَا أَحْسَنَ اللَّهُ إِلَيْكَ وَلَا تَبْغِ الْفَسَادَ فِي الْأَرْضِ إِنَّ اللَّهَ لَا يُحِبُّ الْمُفْسِدِينَ ( 77 ) 

"และจงแสวงหาสิ่งที่อัลลอฮ์ได้ประทานแก่เจ้าเพื่อปรโลก และอย่าลืมส่วนของเจ้าแห่งโลกนี้ และจงทำความดี เสมือนกับที่อัลลอฮ์ได้ทรงทำความดีแก่เจ้า และอย่าแสวงหาความเสียหายในแผ่นดิน แท้จริง อัลลอฮ์ไม่ทรงโปรดบรรดาผู้บ่อนทำลาย" (อัลกุรอาน สูเราะฮฺอัล-เกาะศ็อศ 28:77)

จึงพอสรุปได้ว่า :  วันศุกร์นั้นเป็นวันที่ประเสร็จที่สุด แต่วันศุกร์อิสลามไม่ได้ห้ามให้ผู้ศรัทธาที่จะต้องหยุดทำงานประกอบอาชีพตลอดทั้งวัน ไม่ว่า ผู้นั้นจะประกอบอาชีพค้าขาย ทำนา ทำไร่ ทำสวน ธุรกิจส่วนตัว งานเอกชน หรืองานของหน่วยงานของรัฐก็ตาม แต่ประเทศมุสลิมบางประเทศได้กำหนดให้วันศุกร์เป็นวันหยุด สำหรับผู้ที่ทำงานประจำ เช่น งานบริษัทเอกชน หรือรับราชการที่ต้องปฏิบัติงานต่อเนื่องจากเช้าจดเย็น เพื่อความสะดวกในการประกอบอิบาดะฮฺ โดยเฉพาะมุสลิมชายที่จำเป็นต้องไปละหมาดวันศุกร์

และสำหรับประเทศไทย ในสถาบันการศึกษาปอเนาะ ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาเอกชนสอนศาสนาบางสถาบันก็กำหนดให้วันศุกร์เป็นวันหยุดเช่นกัน แต่นั้นก็เป็นเพียงประเพณีของมุสลิมในแต่ละพื้นที่เท่านั้น ไม่ใช่เป็นบทบัญญัติศาสนาแต่อย่างใด เพราะหลักฐานศาสนานั้น คือ อัลกุรอาน และอัลหะดิษที่เศาะเฮี๊ยะ และโดยความเข้าใจและตีความของชาวสลัฟเท่านั้น สำหรับแนวคิดทัศนะ หรือการฟัตวาของอุลามาอฺผู้รู้ที่ไม่มีตัวบทหลักฐานจากอัลกุรอานและอัลหะดิษมารองรับ ก็ไม่สามารถนำทัศนะหรือฟัตวานั้นเป็นตัวบทอ่างอิ้งศาสนาได้เช่นเดียวกันซึ่งแม้แต่ ท่านรอซูลศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ท่านก็ไม่ได้คิดเอง กำหนดกฏเกณฑ์ศาสนาเอาเองแต่บทบัญญัติศาสนาทั้งหมดถูกวะฮีย์มาจากพระองค์อัลลอฮ์ ศุบฮานะฮูวะตะอาลาทั้งสิ้น และศาสนาอิสลามไม่ใช่ศาสนาคนใดคนหนึ่งที่จะทำการแก้ไขแต่งปรุงตามใจชอบ แม้แต่ท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมเอง ก็ไม่ไช่เจ้าของ แต่อิสลามเป็นศาสนาของ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาเพียงองค์เดียวเท่านั้น

พระองค์อัลลอฮ์ทรงตรัสว่า :

قُلْ مَا كُنتُ بِدْعًا مِّنَ الرُّسُلِ وَمَا أَدْرِي مَا يُفْعَلُ بِي وَلَا بِكُمْ إِنْ أَتَّبِعُ إِلَّا مَا يُوحَىٰ إِلَيَّ وَمَا أَنَا إِلَّا نَذِيرٌ مُّبِينٌ ( 9 ) 

"จงกล่าวเถิดมุฮัมมัด ฉันมิได้เป็นคนแรกในบรรดาร่อซูล และฉันไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นแก่ฉันและแก่พวกท่าน ฉันมิได้ปฏิบัติตามสิ่งใดนอกจากสิ่งที่ถูกวะฮียฺให้แก่ฉัน และฉันมิใช่ใครอื่นนอกจากเป็นผู้ตักเตือนอันชัดแจ้ง"  (อัลกุรอาน สูเราะฮฺอัล-อะฮฺกอฟ 46:9)

แล้วประชาชาติผู้ปฏิบัติตามบทบัญญัติศาสนาอย่างเราๆ จะคิดกำหนดกฏเกณฑ์ หรือปรุงแต่งบทบัญญัติศาสนาขึ้นมาใหม่เองได้อย่างไรกัน ...???? !

والله أعلم بالصواب

ขอขอบคุณข้อมูลจาก:  ห้องรักอัลกุรอานDissemiantor.ผู้ที่ถูกบันทึกรอการสอบสวน
islamhouse.muslimthaipost.com

อัพเดทล่าสุด