ผมมีตำแหน่งเป็นผู้จัดการบริษัทแห่งหนึ่ง วันหนึ่งแม่ของลูกน้องได้เสียชีวิตลง ลูกน้องก็ได้จัดงานศพเพื่อผู้เป็นแม่ตามพิธีกรรมตามศาสนาของเขา คำถามคือ
มุสลิมไปงานศพเพื่อนต่างศาสนิก ใส่ซอง ส่งวงหรีด ได้หรือไม่?
ผมมีตำแหน่งเป็นผู้จัดการบริษัทแห่งหนึ่ง วันหนึ่งแม่ของลูกน้องได้เสียชีวิตลง ลูกน้องก็ได้จัดงานศพเพื่อผู้เป็นแม่ตามพิธีกรรมตามศาสนาของเขา คำถามคือ
1.ผมไปร่วมงานศพแม่ของลูกน้องได้หรือไม่ ?
2. ประเพณีการปฏิบัติในสังคม คือมีการใส่ซอง หรือส่งวงหรีด เพื่อแสดงความเสียใจ กรณีแบบนี้ผมปฏิบัติได้หรือไม่ ?
ผมเห็นว่าทุกวันนี้ มีมุสลิมเราจำนวนมากมีตำแหน่งหน้าที่ทางสังคมมาก ถามผู้รู้ที่อ้างตัวเองว่า ซาลาฟียะห์ ว่าไม่ได้ ตัวผมเองฟังแล้วมันรู้สึกแปลกๆ หากเป็นเช่นนี้ มุสลิมเราก็ไม่ควรทำงาน หรือมีตำแหน่งหน้าที่ทางสังคมร่วมกับคนต่างศาสนา และควรหาประเทศใหม่เพื่อจะได้อยู่และปฏิบัติศาสนาอิสลามได้แบบเต็มร้อย อะไรคือคำตอบที่ถูกต้อง
ตอบโดย: อาลี เสือสมิง
ศาสนาอิสลามมิได้ห้ามศาสนิกชน ในการปฏิบัติดีกับชนต่างศาสนิกที่มิได้ตั้งตนเป็นปฏิปักษ์กับศาสนา แต่กลับใช้ให้ศาสนิกชนปฏิบัติดีกับคนเหล่านั้นในกรอบที่ศาสนาอนุญาตให้โดยเฉพาะความสัมพันธ์ทางสังคม สำหรับคำถามมีคำตอบดังนี้
1. อนุญาตให้คุณซึ่งเป็นผู้จัดการบริษัท ปฏิบัติดีกับลูกน้องของคุณ เมื่อแม่ของลูกน้องเสียชีวิต คุณสามารถไปร่วมในงานศพนั้นได้ แต่มีข้อแม้ว่า จะต้องไม่ร่วมในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนานั้น เพราะเป็นสิ่งต้องห้าม กล่าวคือให้คุณไปปรากฏตัวในงานศพนั้นได้โดยแต่งกายด้วยชุดสีขาวหรือชุดที่สุภาพเพื่อแสดงความมีน้ำใจกับลูกน้องและพบปะกับญาติของผู้ตาย เพียงเท่านี้ก็ถือว่าเรามีน้ำใจต่อกันแล้ว
2. การใส่ซองเพื่อเป็นสิ้นน้ำใจหรือช่วยเหลือคนที่มีชีวิตอยู่ เช่น ลูกหรือญาติของผู้ตายสามารถกระทำได้ และการมอบซองนี้ควรทำเป็นการส่วนตัวกับผู้ที่มีชีวิตอยู่ ส่วนเมื่อเขารับซองไปแล้ว เขาจะนำไปทำอะไร อันนี้เป็นเรื่องของเขาไม่ต้องสอบถาม ทั้งนี้เพราะเรามีเจตนาช่วยเหลือคนที่ยังมีชีวิตอยู่ ไม่ได้มีเจตนาร่วมในการจัดงานศพ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องห้าม ส่วนการส่งพวงหรีดนั้นในศาสนาอิสลามถือเป็นอุตริกรรมไม่มีในหลักการของศาสนา แต่ถ้าจะส่งพวงหรีดก็ให้ส่งในนามของบริษัทที่ใช้งบประมาณจัดซื้อจากกองกลางหรือบัญชีกลางของบริษัทซึ่งเบิกจ่ายในเรื่องทั่วไปและให้ลูกน้องที่มิใช่มุสลิมเป็นผู้ดำเนินการ มิใช่เราเป็นผู้ดำเนินการในเรื่องนี้
มุสลิม สามารถอยู่ร่วมกับบุคคลต่างศาสนิกได้ และสามารถสร้างสัมพันธ์ทางสังคมกับพวกเขาได้ตามกรอบที่ศาสนากำหนดเอาไว้ แต่มุสลิมก็ต้องมีจุดยืนและอัตลักษณ์ของตนโดยไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับชนต่างศาสนิกในเรื่องของพิธีกรรมและความเชื่อทางศาสนา เพราะหลักคำสอนของศาสนาเป็นเรื่องของแต่ละบุคคลที่จะไม่มีการบังคับหรือก้าวล่วงความเป็นศาสนิกของตน
ที่มา: alisuasaming.org