เลี้ยงลูกอย่างไร ให้เป็นลูกที่ซอและห์ : islamhouses


5,550 ผู้ชม

ลูกที่ซอและห์เป็นคำตอบสุดท้ายที่พ่อแม่มุสลิมทุกคนเฝ้าฝันหา แต่ทำอย่างไรที่จะ...


เลี้ยงลูกอย่างไรให้ซอและห์

ตอบคำถามโดย เชค มุฮัมมัด ศอลิหฺ อัล-มุนัจญิด
อุมมุ ชุระหฺบีล แปลและเรียบเรียง

เลี้ยงลูกอย่างไร ให้เป็นลูกที่ซอและห์

คำถาม : ดิฉันพบความยากลำบากในการอบรมลูกๆของดิฉัน มันทำให้ดิฉันต้องโมโหอยู่บ่อยๆแล้ว ตามด้วยการตีพวกเขา ท่านช่วยกรุณาแนะนำดิฉันในเรื่องนี้ด้วย และช่วยแนะนำหนังสือที่มีประโยชน์ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ให้ดิฉันด้วยจะได้ไหมคะ?

คำตอบ : อัลฮัมดุลิลลาฮฺ มวลการสรรเสริญเป็นของอัลลอฮฺการอบรมเลี้ยงดูเด็กเป็นภาระหน้าที่ที่จำเป็นสำหรับคนเป็นพ่อเป็นแม่ อัลลอฮฺได้บัญชาเกี่ยวกับเรื่องนี้ในอัลกุรอ่าน และท่านรอซูลุลลอฮฺศ็อลลัลฮุอะลัยฮิวะซัลลัมเองก็ได้กำชับไว้อัลลอฮฺจึงได้ตรัสไว้ว่า :

“โอ้! บรรดาผู้ศรัทธา จงปกป้องคุ้มครองตัวของสูเจ้าเอง และครอบครัวของสูเจ้าให้พ้นจากไฟนรกที่เชื้อเพลิงของมันคือ มนุษย์ และหิน ซึ่งข้างบนนั้นจะมีมลาอิกะฮฺที่เข้มงวดดุดันเฝ้าอยู่ มลาอิกะฮฺนี้ ไม่เคยฝ่าฝืนคำบัญชาของอัลลอฮฺ และจะทำตามที่ถูกบัญชา” (ซูเราะฮฺ อัต ตะหฺรีม : 6)

และ ท่านอีหม่ามฏอบรีย์ ได้อธิบายอายะฮฺนี้ว่า “ อัลลอฮฺได้ตรัสกับ บรรดาผู้ซึ่งศรัทธาเชื่อมั่นต่ออัลลอฮฺและศาสนทูตของพระองค์ว่า ‘จงปกป้องตัวของสูเจ้า’ เป็นการกล่าวว่า : พวกเจ้าจงสอนซึ่งกันและกันในสิ่งที่จะปกป้องพวกเจ้าที่ปฏิบัติตามนี้ให้พ้นจากไฟนรก และเป็นสิ่งที่ช่วยสกัดกั้นพวกเจ้าให้พ้นจากมันได้ และหากว่าสิ่งนี้ได้ถูกใช้ในการฏออะฮฺ (เชื่อฟัง) ต่ออัลลอฮฺ และพวกเขาได้ดำเนินการในการฏออะฮฺ (เชื่อฟัง) ต่ออัลลอฮฺแล้วดังนั้น พระดำรัสของอัลลอฮฺต่อมาก็คือ ‘และครอบครัวของสูเจ้าจากไฟนรก’ เป็นการกล่าวว่า :

พวกเจ้าจงสอนสมาชิกในครอบครัวให้ปฏิบัติตามในการฏออะฮฺ (เชื่อฟัง) ต่ออัลลอฮฺในสิ่งที่จะปกป้องตัวของพวกเขาเองให้พ้นจากไฟนรกด้วย (อ้างจากตัฟซีร อัฏฏอบรียฺ 28/165)อัลกุรฏุบีย์ ได้กล่าวว่า : มุกอติลกล่าวว่า : นี่เป็นหน้าที่ของเขาที่มีต่อตัวของพวกเขาเอง ลูกของเขา และครอบครัวของเขา รวมทั้งทาสชายและหญิงของเขา และอิลกิยาได้กล่าวว่า :

และหน้าที่ของพวกเราก็คือ การให้การศึกษาแก่ลูกๆของเราและครอบครัวของเราในเรื่องของศาสนาและคุณธรรมความดีต่างๆ และอะไรก็ตามที่พวกเขาไม่สามารถกระทำได้หากไม่มีกฎแห่งความประพฤติและหลักจรรยาต่างๆ และนี่คือสิ่งที่พระองค์อัลลอฮฺได้ดำรัสไว้ ‘และจงกำชับครอบครัวของเจ้าในเรื่องนมาซและเจ้าเองก็จงปฏิบัติมันอย่างเคร่งครัดด้วย’ (ซูเราะฮฺ ฏอฮา : 132)และพระดำรัสของอัลลอฮฺที่มีต่อท่านนบีมีใจความว่า : ‘และจงเตือนญาติใกล้ชิดของเจ้า’ (ซูเราะฮฺ อัชชุอะรอฮฺ : 214)และในฮะดีษที่มีใจความว่า :

“และจงสอนสั่งพวกเขา(ลูกๆ) ให้ละหมาดเมื่อพวกเขาอายุ 7ขวบ” (อ้างจากตัฟซีร อัล กุรฏุบีย์, 18/196)

" มุสลิม ไม่ว่าจะเป็นมุสลิมคนใดก็ตาม ก็คือผู้ที่เรียกร้องเชิญชวน (ดาอียฺ) ไปสู่อัลลอฮฺ ดังนั้นเขาจะต้องเป็นคนแรกผู้ซึ่งต้องเรียกร้องลูกๆของเขา ครอบครัวของเขา และคนอื่นๆที่อยู่ใกล้ชิดกับเขา " เมื่อพระองค์อัลลอฮฺ ได้มอบภาระกิจแก่ศาสนทูตของพระองค์พระองค์ก็ได้ตรัสว่า

“และจงเตือนญาติใกล้ชิดของท่าน” (ซูเราะฮฺ อัชชุอะรออฺ : 214)

เพราะว่าพวกเขาเป็นคนแรกๆ ที่ท่านจะต้องปฏิบัติดีด้วย อีกทั้งแสดงความเมตตาและความดีงามต่างๆ ต่อพวกเขาท่านรอซูลุลลอฮฺศ็อลลัลฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้มอบความรับผิดชอบในการอบรมลูกๆให้แก่พ่อแม่ และถือว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติ รายงานจากอับดุลลอฮฺ อิบนุ อุมัร กล่าวว่า ฉันได้ยินท่านรอซูลุลอฮฺ กล่าวว่า :

“ พวกท่านทุกคนเป็นผู้ปกครองและพวกท่านทุกคนจะต้องรับผิดชอบในสิ่งที่อยู่ในการปกครองของเขา และผู้นำนั้นเป็นผู้ปกครองและรับผิดชอบต่อสิ่งที่อยู่ในการปกครองของเขา และบุรุษนั้นเป็นผู้ปกครองสมาชิกในครอบครัวของเขาและรับผิดชอบต่อผู้ (สิ่ง) ที่อยู่ภายใต้การปกครองของเขา และสตรีนั้นเป็นผู้ปกครองที่ต้องดูแลบ้านของสามีของนาง และรับผิดชอบต่อสิ่งที่อยู่ภายใต้การปกครองของนาง และคนรับใช้นั้นก็เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบต่อทรัพย์สินของผู้เป็นนายและรับผิดชอบต่อสิ่งที่อยู่ในการปกครองของเขา”  เขาได้กล่าวว่า และฉันเข้าใจว่าท่านได้กล่าวว่าอีกว่า

“บุรุษเป็นผู้รับผิดชอบในทรัพย์สินของบิดาของเขา และรับผิดชอบต่อผู้ที่อยู่ในการปกครองดูแลของเขา และพวกท่านทุกคนเป็นผู้ปกครองและรับผิดชอบต่อผู้ที่อยู่ในการปกครองของเขา” รายงานโดย บุคอรีย์853) และมุสลิม (1829)

เลี้ยงลูกอย่างไร ให้เป็นลูกที่ซอและห์

หน้าที่ของท่านอย่างหนึ่งก็คือ การเลี้ยงดูเขาตั้งแต่วัยเยาว์ให้เติบโตขึ้นมา ด้วยความรักที่มีต่ออัลลอฮฺ และรอซูลุลลอฮฺศ็อลลัลฮุอะลัยฮิวะซัลลัมของพระองค์ ให้รักในคำสอนของอิสลาม และต้องบอกเขาว่าพระองค์อัลลอฮฺนั้นเป็นเจ้าของนรกและสวนสวรรค์ และแท้จริงนรกของพระองค์นั้นร้อนแรง เชื้อเพลิงของมันคือมนุษย์และหิน และต่อไปนี้เป็นเรื่องเล่าที่ให้บทเรียนท่านอิบนุ เญาซีย์ เล่าว่า

" มีพระราชาองค์หนึ่งซึ่งเป็นผู้ที่ครองสมบัติพัสถานมากมาย และองค์ราชานั้นมีพระธิดาอยู่องค์หนึ่ง และไม่มีโอรสองค์อื่นๆ เลยนอกจากนาง พระองค์ทรงรักพระธิดามาก และปล่อยให้นางมีความสนุกสนานอยู่กับความบันเทิงเริงรื่นทุกอย่าง สิ่งเหล่านี้ดำเนินไปเป็นเวลานานเนิ่นนานและข้างพระราชานั้นมีผู้ที่ใช้ชีวิตเป็นบ่าวที่อุทิศตนนมัสการต่อพระองค์อัลลอฮฺ และในคืนวันหนึ่งขณะที่เขากำลังอ่านอัลกุรอ่านเขาได้อ่านเสียงดังขึ้นว่า “โอ้ ผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงปกป้องตัวของสูเจ้าและครอบครัวของสูเจ้า (ให้พ้น)จากไฟนรก ซึ่งเชื้อเพลิงของมันคือมนุษย์และหิน” (ซูเราะฮฺอัตตะหรีม : 6)

เมื่อหญิงสาวได้ยินการอ่านของเขา นางก็พูดว่า " จงหยุด!!! " แต่พวกเขาก็ไม่หยุดผู้นมัสการนั้นก็เริ่มอ่านซ้ำอายะฮฺ และหญิงสาวก็ยังคงบอกให้พวกเขาหยุดอ่านอยู่อย่างนั้น แต่พวกเขาก็หาหยุดอ่านไม่ นางก็จับคอเสื้อของนางและฉีกชุดของนาง พวกเขาก็ไปหาพระบิดาของนาง และบอกเขาพระราชาถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นพระราชาก็ไปหานางแล้ว กล่าวว่า “โอ้ลูกรัก เกิดอะไรขึ้นกับลูกเมื่อคืนนี้? อะไรทำให้ลูกต้องร้องไห้สะอึกสะอื้น?” แล้วพระองค์ก็โอบกอดนางนางกล่าวว่า

“ลูกขอถามท่านพ่อด้วยพระองค์อัลลอฮฺ โอ้! ท่านพ่อโปรดตรัสตอบลูกซิว่า พระองค์อัลลอฮฺนั้นมีนรกที่เชื้อเพลิงของมันคือมนุษย์และหินใช่ไหม ?”พระองค์ตอบว่า

“ใช่แล้วลูก”นางกล่าวว่า “โอ้ท่านพ่อ ด้วยอัลลอฮฺ ลูกจะไม่ทานอาหารดีๆ หรือนอนบนที่นอนอันอ่อนนุ่มอีกแล้ว จนกว่าลูกจะได้รู้ว่าบ้านของลูกอยู่ในสวรรค์หรือนรก” (อ้างจาก ศ็อฟวะฮฺ อัศ ศ็อฟวะฮฺ 438-437/4)

 

เลี้ยงลูกอย่างไร ให้เป็นลูกที่ซอและห์

จำเป็นอย่างยิ่ง ที่ท่านจะต้องปกป้องพวกเขาให้ห่างไกลจากสถานที่ที่ชั่วช้า ผิดศีลธรรม และจากหนทางที่หลงผิด และอย่าปล่อยพวกเขาให้ถูกเลี้ยงดูด้วยสิ่งต่างๆ (หนทาง) ที่ชั่วร้าย เช่น โทรทัศน์ หรืออื่นๆ จากนี้ และหลังจากนั้นก็ร้องเรียกเขาให้ละหมาด ดังนั้น ผู้ใดก็ตามที่ปลูกต้นหนาม เขาก็ไม่ได้เก็บเกี่ยวองุ่น นั่นคือต้องกระทำ (ปลูกฝังสั่งสอนแต่ความดีงามต่างๆ)

ตั้งแต่พวกเขายังอยู่ในวัยเยาว์ เพื่อว่ามันจะทำให้เกิดความง่ายในการปฏิบัติแก่เขาเมื่อเขาโตขึ้น และจะทำให้เขาเกิดความเคยชินกับมัน และมันจะเกิดเป็นความสะดวกง่ายดายสำหรับท่านเช่นกันที่จะบอกพวกเขาว่าอะไรควรทำ และอะไรไม่ควรทำ และมันจะเกิดเป็นความง่ายดายสำหรับเขาที่จะเชื่อฟังท่านจากอบีฮูรอยเราะฮฺ กล่าวว่า :

ท่านรอซูลุลลอฮฺศ็อลลัลฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า “จงสอนลูกๆของท่านให้ละหมาดเมื่อพวกเขาอายุ 7 ขวบ และจงตีพวกเขาหากพวกเขาไม่ปฏิบัติตามเมื่อพวกเขาอายุ 10 ขวบ และจงแยกที่นอนให้พวกเขา” รายงานโดยอบูดาวูด (495) และจัดให้ฮะดีษนี้เป็นฮะดิษเศาะฮีฮฺ โดยชัยคฺ อัลอัลบานียฺ ในเศาะฮีฮฺ อัล ญามิอฺ (5868)

แต่ทว่าจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ให้การอบรมศึกษาต้องเป็นผู้ที่มีเมตตา มีความอ่อนโยน และเป็นคนที่เข้าถึงได้ง่าย (คือวางตัวเป็นกันเอง) ไม่เป็นคนที่มีวาจาหยาบคายหรือปากร้าย หรือเป็นคนไม่เรียบร้อย (เช่น ผมเผ้ายุ่งเหยิง) การโต้แย้งอยู่ในมารยาท นั่นจะเป็นการดีกว่า และห่างไกลจากการดูหมิ่น การตำหนิ การดุด่าว่ากล่าวผู้อื่น นอกจากว่าจะเป็นเด็กที่ตั้งใจจะไม่เชื่อฟังและเป็นเป็นเด็กที่ตั้งใจปฏิเสธคำสั่งของบิดาของเขา ละทิ้งหน้าที่ และกระทำสิ่งที่ต้องห้าม ในกรณีนี้มันจะเป็นการดีกว่าที่จะใช้มาตรการที่เข้มงวดกับเขา โดยปราศจากเหตุที่จะสร้างความเดือดร้อนเสียหายแก่เขาอัลมะนาวี กล่าวว่า

“ พ่อต้องอบรมบ่มนิสัยลูกๆ ของเขา เมื่อถึงวัยและสติปัญญารับรู้อะไรได้แล้ว หมายความว่าเขาต้องเลี้ยงดูลูกด้วย บุคลิกภาพของผู้ศรัทธาที่ดี ปกป้องพวกเขาจากการเข้าไปคลุกคลีข้องเกี่ยวกับผู้ประพฤติชั่วทั้งหลาย เขาต้องสอนอัลกุรอาน จริยามารยาทที่ดี และภาษาอาหรับแก่ลูก ให้เขาได้รับฟังซุนนะฮฺต่างๆ และสุภาษิต คำกล่าวของชาวสะลัฟ และสอนเขาถึงกฎข้อบังคับต่างๆของศาสนาที่มิอาจขาดไปได้ และต้องสำทับเตือนเขาเรื่องการละหมาด จากนั้นจงตีเขาหากเขาไม่ละหมาด และอื่นๆ "และถือว่าเป็นการดีกว่าสำหรับเขายิ่งกว่าบริจาคทานหนึ่งศออฺ (มาตราวัดความจุ) เพราะว่าหากเขาได้พร่ำสอน อบรมบ่มนิสัยลูก ให้เกิดการปฏิบัติแก่เขาแล้ว ก็เปรียบดั่งการบริจาคทานของเขา ที่กำลังดำเนินอยู่เสมอ การบริจาคทานหนึ่งศออฺนั้นถูกจำกัดผลบุญของมัน (ให้แค่ไหนก็แค่นั้น) แต่การที่เขาอบรมสั่งสอนลูกนั้น จะยังคงอยู่กับลูกต่อไปตราบที่เขายังมีชีวิตอยู่ และการอบรมสั่งสอนเป็นอาหาร (หล่อเลี้ยง) จิตวิญญาณ และเป็นการขัดเกลามันเพื่อโลกอาคิเราะฮฺ ‘....จงปกป้องตัวของสูเจ้าเอง และครอบครัวของสูเจ้าจากไฟนรก …’ (ซูเราะฮฺ อัตตะห์รีม : 6) 

ดังนั้น การปกป้องตัวของท่านเอง และครอบครัวของท่านจากนรก หมายถึง "การเตือนพวกเขาให้นึกถึงนรก และยับยั้งจากการประสบกับไฟนรก ท่านต้องอบรมลูกๆ ด้วยวิธีการที่หลากหลาย ประกอบด้วย การอบรมสั่งสอน, การเตือน, การสำทับ, การตี, การยับยั้งขัดขวาง, การให้รางวัล และการมีใจเมตตา การให้การอบรมของบุคคลผู้ซึ่งเป็นคนดีที่มีเกียรตินั้น แตกต่างจากการให้การอบรมคนเลวที่ต่ำทราม ” ( อ้างจาก ฟัยฎฺ อัล กอดีรฺ 5 /157)

การตี เป็นวิธีการหนึ่งในการทำโทษ หรือแก้ไขพฤติกรรม (ที่ไม่ถูกต้อง ไม่ดี) ของเด็ก ๆ การตีนั้น ในตัวมันเองเป็นสิ่งที่เราทั้งต้องการและไม่ต้องการ ยิ่งกว่านั้น ในบางกรณีมันจะดีกว่าที่จะหันมาอาศัยวิธีนี้มีระบบการลงโทษในอิสลาม และมีการลงโทษที่หลากหลายรูปแบบ เช่น ฮัดดฺ เป็นการลงโทษการทำผิดประเวณี การขโมย และการพูดให้ร้ายผู้อื่นเป็นต้น กฎเหล่านี้ถูกกำหนดมาเพื่อที่จะทำให้ผู้คน อยู่ในหนทางที่เที่ยงตรง และหยุดการกระทำที่ไม่ดีของเขา และที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ท่านรอซูลุลลอฮฺศ็อลลัลฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้สั่งเสียพ่อแม่ ให้ยับยั้งป้องกันบุตรหลานจากการกระทำในสิ่งผิด จากอิบนุอับบาสว่า ท่านรอซูลุลลอฮฺกล่าวว่า “จงแขวนแส้ของท่านไว้ในที่ที่สมาชิกในครอบครัวสามารถมองเห็นมันได้ แท้จริงมันเป็นการอบรมพวกเขา (อย่างหนึ่ง)” รายงานโดยท่านฏ็อบรอนีย์ 248/10 และฮาดิษนี้ ถูกจัดเป็นฮาดิษฮาซัน โดยท่านฮัยษามีในมัจญมะอฺ อัซซะวาอิด 106 /8

และท่านอัล อัลบานีย์ กล่าวไว้ในศอฮิหฺอัลญามิอฺว่า เป็นฮะดีษฮซันเพราะฉะนั้น การอบรมลูกๆ เป็นสิ่งที่อยู่ระหว่างการกำชับให้กระทำความดี ( ตัรฮีบ) และการสำทับให้ออกจากความชั่ว (ตัรฆีบ) และสิ่งที่สำคัญที่สุดขององค์ประกอบทั้งหมดก็คือ การสร้างหรือปรับปรุงสิ่งแวดล้อมที่เขาอาศัยให้อยู่ในสภาพที่ดี โดยการจัดเตรียมวิธีการที่พวกเขาจะได้รับทางนำได้ วิธีการนี้

คือ ผู้ให้การอบรมเลี้ยงดู, ผู้รับผิดชอบ รวมทั้งพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กๆนั้น ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดในศาสนามีหนทางหนึ่ง ซึ่งจะช่วยผู้ให้การอบรมประสบความสำเร็จในการอบรมลูกหลานของเขา นั่นก็คือ การใช้เครื่องเล่นเทป เพื่อใช้ฟังการสอน การฟังท่องอัลกุรอ่าน การฟังคุฏบะฮฺ และบทเรียนต่างๆของผู้รู้ ซึ่งมีมากมายที่สามารถหาอ่านได้ ส่วนหนังสือที่ท่านถามถึง ซึ่งท่านสามารถใช้อ่านทบทวนในการอบรมลูกๆ ได้นั้น เราขอแนะนำท่านดังต่อไปนี้

1. تربية الأطفال في رحاب الإسلام (การอบรมเด็กๆ ในอิสลาม) โดย มูฮัมหมัด ฮามิด อัลนาซิรฺ และเคาละฮฺ อับดุลกอดิร ดารอวีช

2. كيف يربي المسلم ولدَه (มุสลิมเราจะอบรมลูกอย่างไร) โดย มูฮัมหมัด ซาอีด อัลเมาละวีย์3. تربية الأبناء في الإسلام (การอบรมบุตรในอิสลาม) โดย มูฮัมหมัด ญะมีลฺ ซัยนู

4. كيف نربي أطفالنا (เราจะเลี้ยงดูเด็กๆของเราอย่างไร) โดย มะฮฺมูด มะฮฺดี อัลอิสตันบูลีย์

5. الأب المسلم في تربية الولد مسئولية (ความรับผิดชอบของผู้เป็นบิดาในการอบรมบุตร) โดย อัดนาน บา ฮาริษ

วัลลอฮุ อะลัม และอัลลอฮฺทรงรู้ดีที่สุด

ภาพจาด อินเทอร์เน็ต

islamhouse.muslimthaipost.com

เรื่องที่น่าสนใจ