อาจารย์ถ้าเราถูกโกงที่ดิน โกงโฉนด โกงที่มรดก หรือถูกย้ายหลักหินกระทั่งที่ดินของเราลดน้อยลง เหล่านี้ในทัศนะของอิสลามมีหุก่ม (บัญญัติ) ว่าอย่างไรครับ?
อาจารย์ถ้าเราถูกโกงที่ดิน โกงโฉนด โกงที่มรดก หรือถูกย้ายหลักหินกระทั่งที่ดินของเราลดน้อยลง เหล่านี้ในทัศนะของอิสลามมีหุก่ม (บัญญัติ) ว่าอย่างไรครับ?
ตอบโดย: อ.มุรีด ทิมะเสน
ประเด็นแรก : การคดโกงไม่ว่าจะคดโกงเรื่องอะไรก็ตาม ล้วนเป็นบาปใหญ่ทั้งสิ้น ซึ่งท่านรสูลุลลอฮฺ กล่าวไว้ว่า
مَنْ غَشَّ فَلَيْسَ مِنِّي
“บุคคลใดที่คดโกง ถือว่าไม่ใช่พวกของฉัน” [หะดีษเศาะหี้หฺ, บันทึกโดยบุคอรีย์ หะดีษที่ 102]
ประเด็นต่อมา กรณีการคดโกงที่ดิน ไม่ว่าจะคดโกงในรูปแบบใดก็ตาม ถือว่าเป็นสิ่งต้องห้าม (หะรอม) ทั้งสิ้น เช่น โกงที่ดินเขามา โกงโฉนด ย้ายหลักหิน โกงที่ดินมรดก ฯลฯ ล้วนเป็นบาปใหญ่หลวงนัก ซึ่งประเด็นนี้ท่านรสูลุลลอฮฺของเราพูดได้อย่างชัดเจนยิ่ง
ท่านรสูลุลลอฮฺกล่าวว่า
وَلَعَنَ اللَّهُ مَنْ غَيَّرَ مَنَارَ الْأَرْضِ
“และพระองค์อัลลอฮฺทรงสาปแช่ง (งดความเมตตา) แก่บุคคลที่เปลี่ยนแปลง (หรือย้าย) หลักโฉนดที่ดิน” [หะดีษเศาะหี้หฺ, บันทึกโดยมุสลิม หะดีษที่ 4422]
ท่านรสูลุลลอฮฺกล่าวว่า
«مَنْ أَخَذَ شِبْرًا مِنَ الأَرْضِ ظُلْمًا، فَإِنَّهُ يُطَوَّقُهُ يَوْمَ القِيَامَةِ مِنْ سَبْعِ أَرَضِينَ»
“บุคคลใดโกงที่ดินเพียงแค่คืบเดียวในสภาพที่อธรรม (โกงคนอื่นเขามา) เช่นนี้แผ่นดินทั้งเจ็ดชั้นจะรัดคอของเขา [หมายถึงเขาต้องแบกที่ดินนั้นรวมถึงส่วนลึกของที่ดินนั้นถึงเจ็ดชั้น] ในวันแห่งการฟื้นคืนชีพ” [หะดีษเศาะหี้หฺ, บันทึกโดยบุคอรีย์ หะดีษที่ 3198]
สรุปคือ การคดโกงที่ดินผู้อื่น ไม่ว่าจะคดโกงในรูปแบบใดก็ตาม เช่นนี้ถือว่าเป็นบาปอันร้ายแรงอย่างมหันต์ จำเป็นสำหรับมุสลิมทุกคนจักต้องออกห่างให้ไกลแสนไกล ส่วนบุคคลที่โกงที่ดินผู้อื่นมาแล้ว ให้เขาเตาบะฮฺ (กลับตัว) แล้วนำที่ดินซึ่งโกงมานำไปคืนเขาโดยเร็ว
อย่าให้เราต้องมีบาปติดต่อจนกระทั่งเราจบชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ดินซึ่งเป็นของส่วนรวม เช่น ที่ดินวะกัฟของมัสญิด หรือที่ดินของส่วนรวมซึ่งไม่ใช่ของเรา ทว่าเรากลับไปโกงเอามาเป็นของตนเอง เช่นนี้ต้องรีบเตาบะฮฺและนำสิทธิดังกล่าวไปคืนเป็นของส่วนรวมให้โดยเร็ว
(วัลลอฮุอะอฺลัม)