ละหมาดวันศุกร์ตามแบบฉบับท่านรอซูลลุลอฮ์(ซล.)


2,216 ผู้ชม

อัลลอฮฺ ทรงให้ประชาชาติก่อนหน้าพวกท่านหันเหออกจากวันศุกร์ ทรงชี้แนะพวกเขาให้เลือกวันศุกร์


ในหะดีษเศาะฮีหฺบทหนึ่งท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมกล่าวว่า

«أَضَلَّ اللَّهُ عَنْ الْجُمُعَةِ مَنْ كَانَ قَبْلَنَا، فَكَانَ لِلْيَهُودِ يَوْمُ السَّبْتِ، وَكَانَ لِلنَّصَارَى يَوْمُ الأَحَدِ، فَجَاءَ اللَّهُ بِنَا فَهَدَانَا اللَّهُ لِيَوْمِ الْجُمُعَةِ، فَجَعَلَ الْجُمُعَةَ وَالسَّبْتَ وَالأَحَدَ، وَكَذَلِكَ هُمْ تَبَعٌ لَنَا يَوْمَ الْقِيَامَةِ، نَحْنُ الآخِرُونَ مِنْ أَهْلِ الدُّنْيَا، وَالأَوَّلُونَ يَوْمَ الْقِيَامَةِ، الْمَقْضِيُّ لَهُمْ قَبْلَ الْخَلائِقِ»

“อัลลอฮฺ ทรงให้ประชาชาติก่อนหน้าพวกท่านหันเหออกจากวันศุกร์(ทรงชี้แนะพวกเขาให้เลือกวันศุกร์เป็นวันสำคัญแต่พวกเขากลับเลือกวันอื่น– ผู้แปล)

โดยพวกยะฮูดเลือกวันเสาร์เป็นวันสำคัญส่วนพวกนะศอรอเลือกวันอาทิตย์แล้วอัลลอฮฺก็ทรงนำทางพวกเราจนได้ถือเอาวันศุกร์เป็นวันสำคัญ

ทั้งนี้พระองค์ทรงประสงค์ให้วันศุกร์เสาร์ และอาทิตย์เป็นวันสำคัญ และในวันกิยามะฮฺพวกเขาก็จะตามหลังเราเช่นนี้(เหมือนเช่นที่วันเสาร์และอาทิตย์ตามหลังวันศุกร์– ผู้แปล)

พวกเราเป็นประชาชาติสุดท้ายในโลกนี้แต่จะได้รับเกียรติเป็นกลุ่มแรกในวันกิยามะฮฺโดยจะได้รับการสอบสวนพิพากษาก่อนประชาชาติใดๆ”

ในหะดีษอีกบทหนึ่งซึ่งบันทึกโดยอัตติรมิซีย์จากท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺเล่าว่า ท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมกล่าวว่า

«خَيْرُ يَوْمٍ طَلَعَتْ عَليهِ الشَّمْسُ يَوْمُ الْجُمُعَةِ، فِيهِ خُلِقَ آدَمُ، وَفِيهِ أُدْخِلَ الْجَنَّةَ، وَفِيهِ أُخْرِجَ مِنْهَا، وَلاَ تَقُومُ السَّاعَةُ إِلاَّ فِى يَوْمِ الْجُمُعَةِ »

“วันที่ประเสริฐที่สุดคือวันศุกร์ ในวันดังกล่าวอาดัมได้ถูกสร้างให้มีชีวิต ได้เข้าไปอยู่ในสวรรค์ และถูกขับออกจากสวรรค์

และวันกิยามะฮฺจะไม่เกิดขึ้นนอกจากในวันศุกร์”

ในอีกสำนวนหนึ่งซึ่งมีบันทึกในอัล-มุวัฏเฏาะอ์ระบุว่า

«خَيْرُ يَوْمٍ طَلَعَتْ فِيهِ الشَّمْسُ، فِيهِ خُلِقَ آدَمُ، وَفِيهِ أُهْبِطَ، وَفِيهِ تِيبَ عَلَيْهِ، وَفِيهِ مَاتَ، وَفِيهِ تَقُومُ السَّاعَةُ، ومَا مِنْ دَابَّةٍ إِلَّا وَهِيَ مُصِيخَة يَوْمَ الْجُمُعَةِ مِنْ حِين تُصبِحُ حَتَّى تَطْلُعَ الشَّمْسُ شَفَقًا مِنْ السَّاعَةِ، إِلَّا الجِنّ والإِنْس، وَفِيها سَاعَةٌ لَا يُصَادِفُهَا عَبْدٌ مُسْلِمٌ وَهُوَ يُصَلِّي يَسْأَلُ اللَّهَ شَيْئًا إِلَّا أَعْطَاهُ اللهُ إِيَّاهُ»

“วันศุกร์คือวันที่ประเสริฐที่สุด เป็นวันที่อาดัมถูกสร้างขึ้น ถูกขับออกจากสวรรค์ ได้รับอภัยโทษ และเป็นวันที่ท่านเสียชีวิต

นอกจากนี้วันกิยามะฮฺก็จะเกิดขึ้นในวันศุกร์ และไม่มีสัตว์โลกตัวใดเว้นแต่มันจะนิ่งฟังในตอนเช้าของวันศุกร์

กระทั่งตะวันขึ้นด้วยเกรงว่าวันดังกล่าวจะเป็นวันกิยามะฮฺ ยกเว้น ญิน และมนุษย์

และในวันศุกร์นั้นจะมีอยู่ช่วงเวลาหนึ่งซึ่งหากบ่าวมุสลิมละหมาดวิงวอนขอสิ่งใดต่ออัลลอฮฺในเวลาดังกล่าวพระองค์จะทรงประทานให้แก่เขา”

ท่านกะอับกล่าวว่า ช่วงเวลาดังกล่าวจะมีเพียงหนึ่งวันในหนึ่งปี แต่อบูฮุร็อยเราะฮฺกลับเห็นว่า ช่วงเวลาดังกล่าวมีอยู่ทุกวันศุกร์ หลังจากนั้นกะอับได้อ่านคัมภีร์เตารอตเขาจึงกล่าวว่า“ท่านเราะสูลุลลอฮฺศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมได้กล่าวถูกต้องแล้ว”

เมื่ออบูฮุร็อยเราะฮฺได้พบอับดุลลอฮฺบินสะลามท่านก็เล่าเรื่องที่ได้พูดคุยกับกะอับให้ท่านฟัง ท่านจึงกล่าวว่า “ฉันรู้ว่าช่วงเวลาดังกล่าวคือเวลาใด ? มันคือช่วงท้ายๆของเย็นของวันศุกร์”
อบูฮุร็อยเราะฮฺจึงกล่าวถามว่า มันจะเป็นเช่นนั้นได้อย่างไรในเมื่อท่านเราะสูลศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมได้กล่าวว่า“หากบ่าวมุสลิมละหมาดวิงวอนขอสิ่งใดต่ออัลลอฮฺในเวลาดังกล่าว…”แต่ช่วงเวลาดังกล่าวไม่ใช่เวลาละหมาด?

อิบนุสะลามจึงกล่าวว่า ท่านไม่ทราบหรือว่าท่านเราะสูลกล่าวว่า “ผู้ใดนั่งรอเวลาละหมาดเท่ากับว่าเขาอยู่ในการละหมาดกระทั่งเขาได้ยืนละหมาด”

ในรายงานอีกบทหนึ่งซึ่งบันทึกในมุสนัดอะหฺมัดท่าน อบูฮุร็อยเราะฮฺเล่าว่า มีผู้ถามท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมว่าเหตุใดวันศุกร์(อัลญุมุอะฮฺ) จึงได้ชื่อนี้ ?

ท่านกล่าวตอบว่า“เพราะในวันดังกล่าวอาดัมบิดาของพวกท่านถูกสร้างขึ้นมาจากดิน เป็นวันกิยามะฮฺ และวันฟื้นคืนชีพเพื่อสอบสวนพิพากษา และในช่วงท้ายของวันดังกล่าวมีช่วงเวลาหนึ่งซึ่งผู้ใดวิงวอนขอต่ออัลลอฮฺพระองค์จะทรงตอบรับ”

อิบนุอิสหากได้บันทึกรายงานจากอับดุรเราะหฺมานบินกะอับบินมาลิกเล่าว่า โดยปกติฉันจะเป็นคนช่วยพยุงนำทางคุณพ่อของฉันหลังจากที่ท่านสูญเสียการมองเห็น เวลาที่ฉันพาท่านออกไปละหมาดวันศุกร์แล้วท่านได้ยินเสียงอะซานท่านก็จะกล่าวอิสติฆฟารขออภัยโทษให้แก่อบูอุมามะฮฺ อัสอัดบินซุรอเราะฮฺ ซึ่งฉันได้ยินสิ่งนั้นอยู่บ่อยครั้งฉันจึงคิดในใจว่าฉันจะต้องถามท่านให้ได้ว่าแล้วฉันก็กล่าวถามท่านว่า
“พ่อจ๋าฉันสังเกตเห็นว่าท่านกล่าวขออภัยโทษให้แก่อัสอัดบินซุรอเราะฮฺทุกครั้งที่ท่านได้ยินเสียงอะซานละหมาดวันศุกร์เป็นเพราะเหตุใดหรือครับ?”

ท่านกล่าวตอบว่า“ลูกรักอัสอัดคือคนแรกที่นำพวกเราละหมาดวันศุกร์ที่เมืองมะดีนะฮฺก่อนที่ท่านเราะสูลศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมจะมาถึง”

ฉันจึงถามต่อว่า“แล้วในขณะนั้นพวกท่านมีจำนวนเท่าไรหรือครับ?”

ท่านตอบว่า“สี่สิบคน”

(อัลบัยฮะกีย์กล่าวว่าสายรายงานของหะดีษบทนี้มีความถูกต้อง)

หลังจากนั้นท่านเราะสูลศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมก็มาถึงมะดีนะฮฺโดยท่านหยุดพักแรมที่หมู่บ้านกุบาอ์ตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันพฤหัสบดีระหว่างนั้นท่านได้สร้างมัสยิดประจำหมู่บ้านขึ้นแล้วท่านก็ออกจากกุบาอ์ในวันศุกร์เดินทางต่อจนได้เวลาละหมาดวันศุกร์ ณ บนีสาลิมบินเอาฟฺท่านจึงนำละหมาดกลางทุ่งระหว่างหุบเขาก่อนที่จะสร้างมัสยิดขึ้นในภายหลัง

อิบนุอิสหากกล่าวว่าคุฏบะฮฺแรกที่ท่านกล่าวเทศนาตามที่ฉันได้รับการถ่ายทอดต่อมาจากอบูสะละมะฮฺบินอับดิรเราะหฺมาน(ขอความคุ้มครองต่ออัลลอฮฺจากการกล่าวอ้างในสิ่งที่ท่านเราะสูลศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมมิได้กล่าว) มีอยู่ว่าท่านเริ่มด้วยการยืนหันหน้าเข้าหาบรรดาเศาะหาบะฮฺแล้วกล่าวสรรเสริญขอบคุณอัลลอฮฺจากนั้นท่านกล่าวว่า

«أما بعد، أَيُّها النَاسُ، فَقَدِّمُوا لأَنْفُسِكم، تَعلمن وَاللهِ ليصعقَنَّ أحدُكُم، ثُم ليَدَعَنَّ غنَمَهُ، لَيْسَ لها راعٍ، ثُم ليقولَنَّ لَهُ رَبُّهُ ليس بيْنَه وبَيْنَه ترجمان، ولا حَاجِبَ يحجبُهُ دونَهُ، ألمْ يَأتِكَ رَسُولي فَبَلغَكَ، وآتيْتُكَ مالا، وأفْضَلْتُ عليكَ فَمَا قدَّمتَ لِنَفْسِك؟ فلينظرنَّ يَميْنا وشِمَالا، فلا يَرى شَيْئا، ثم لينظرنَّ قدَامَهُ فلا يرى غيرَ جَهَنَّم، فمن استَطاعَ أن يَقِي وَجْهَهُ من النَّارِ ولو بِشقِّ تَمرة فليَفْعَلْ، وَمَن لمْ يَجِدْ فبكلمةٍ طيبةٍ، فإنْ بها تجزى الحَسَنَة بعشر أمثالها إلى سبعمائة ضعف، والسلام عليكم ورحمة الله وبركاته»

“ท่านทั้งหลายจงเตรียมเสบียงความดีไว้สำหรับตัวท่านเองเถิดขอสาบานต่ออัลลอฮฺพึงทราบเถิดว่าบางคนในหมู่ท่านอาจสิ้นชีวิตด้วยความตะลึงงัน แล้วเขาก็จะทิ้งฝูงแกะของเขาไปโดยไม่มีผู้ใดช่วยเลี้ยง หลังจากนั้นพระผู้อภิบาลก็จะกล่าวถามเขาโดยไม่ผ่านล่ามแปลและไม่มีสิ่งใดกั้นกลางระหว่างเขากับพระองค์ว่า:

” เราะสูลของข้าได้ถูกส่งไปยังเจ้าและประกาศเผยแผ่สารของข้าให้เจ้ารู้และข้าก็ได้เมตตาให้ทรัพย์สินเงินทองแก่เจ้าใช่หรือไม่ แล้วเจ้าได้ทำอะไรเพื่อเป็นคุณแก่ตัวเจ้าบ้าง ? “

เมื่อเขาหันมองซ้ายมองขวาก็ไม่พบสิ่งใดมองไปข้างหน้าก็เห็นแต่ไฟนรก ดังนั้นผู้ใดในหมู่ท่านสามารถที่ จะปกป้องใบหน้าของเขาให้รอดพ้นจากไฟนรกแม้จะด้วยการบริจาคผลอินทผลัมเพียงครึ่งเม็ดก็จงทำเถิด แต่ถ้าผู้ใดไม่มีสิ่งนั้นก็ให้พูดแต่สิ่งที่ดี เพราะคำพูดที่ดีนั้นจะส่งผลให้ได้รับผลบุญสิบเท่าและอาจเพิ่มไปจนถึงเจ็ดร้อยเท่า”

วัสลามุอะลัยกุมวะเราะหฺมะตุลลลอฮฺวะบะเราะกาตุฮฺ”

อิบนุอิสหากกล่าวว่าหลังจากนั้นท่านเราะสูลศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมได้กล่าวคุฏบะฮฺอีกครั้งหนึ่งโดยท่านกล่าวว่า

«إنَّ الْحَمْدَ للَّه، أَحْمَدُهُ وَأَسْتَعِينُهُ، نَعُوذُ باللَّه مِنْ شُرُورِ أَنْفُسِنَا، وَسَيِّئَاتِ أَعْمَالِنَا، مَنْ يَهْدِهِ اللَّهِ فَلَا مُضِلَّ لَهُ، وَمَنْ يُضْلِلْ فَلَا هَادِيَ لَهُ، وَأَشْهَدُ أَنَّ لَا إلَهَ إلَّا اللَّهُ وَحْدَهُ لَا شَرِيكَ لَهُ. إنَّ أَحْسَنَ الْحَدِيثِ كِتَابُ اللَّهِ تَبَارَكَ وَتَعَالَى، قَدْ أَفْلَحَ مَنْ زَيَّنَهُ اللَّهُ فِي قَلْبِهِ، وَأَدْخَلَهُ فِي الْإِسْلَامِ بَعْدَ الْكُفْرِ، وَاخْتَارَهُ عَلَى مَا سِوَاهُ مِنْ أَحَادِيثِ النَّاسِ، إنَّهُ أَحْسَنُ الْحَدِيثِ وَأَبْلَغُهُ، أَحِبُّوا مَا أَحَبَّ اللَّهُ، أَحِبُّوا اللَّهَ مِنْ كُلِّ قُلُوبِكُمْ، وَلَا تَمَلُّوا كَلَامَ اللَّهِ وَذِكْرَهُ، وَلَا تَقْسُ عَنْهُ قُلُوبُكُمْ، … فَاعْبُدُوا اللَّهَ وَلَا تُشْرِكُوا بِهِ شَيْئًا، وَاتَّقُوهُ حَقَّ تُقَاتِهِ، وَاصْدُقُوا اللَّهَ صَالِحَ مَا تَقُولُونَ بِأَفْوَاهِكُمْ، وَتَحَابُّوا بِرُوحِ اللَّهِ بَيْنَكُمْ، إنَّ اللَّهَ يَغْضَبُ أَنْ يُنْكَثَ عَهْدُهُ، وَالسِّلَامُ عَلَيْكُمْ وَرَحْمَةُاللهِوَبَرَكَاتُه»

“มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิของอัลลอฮฺ ฉันขอสรรเสริญพระองค์ และขอความช่วยเหลือจากพระองค์ ขออัลลอฮฺทรงคุ้มครองพวกเราให้รอดพ้นจากความชั่วร้ายที่เกิดจากตัวเราและการงานของเรา ผู้ใดที่อัลลอฮฺทรงชี้นำทางจะไม่มีผู้ใดทำให้เขาหลงทางได้ และผู้ใดที่พระองค์ทรงทำให้เขาหลงทางก็ไม่มีผู้ใดชี้นำทางเขาได้

ฉันขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺเพียงองค์เดียว ไม่มีภาคีใดๆสำหรับพระองค์

แท้จริงคำพูดที่ดีที่สุดคือ กิตาบุลลอฮฺ ซึ่งผู้ที่อัลลอฮฺทรงให้อัลกุรอานอยู่ในใจเขา ให้เขาเข้ารับอิสลามภายหลังจากช่วงชีวิตแห่งการปฏิเสธศรัทธา แล้วเขาก็เลือกให้ความสำคัญกับอัลกุรอานยิ่งกว่าคำพูดใดๆ ของมนุษย์ย่อมถือเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จยิ่ง

อัลกุรอานเป็นคำพูดที่ประเสริฐและลุ่มลึกที่สุด พวกท่านจงชอบในสิ่งที่อัลลอฮฺทรงชอบ จงรักอัลลอฮฺจากใจจริงของพวกท่าน อย่าได้เบื่อที่จะรับฟังพระดำรัสของอัลลอฮฺ และอย่าให้หัวใจของพวกท่านเมินห่างจากอัลกุรอานเป็นอันขาด..

ดังนั้นพวกท่านจงเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺและอย่าได้ตั้งภาคีใดๆขึ้นเทียบพระองค์ พวกท่านจงยำเกรงพระองค์อย่างที่สุด และจงมีความจริงจังที่จะปฏิบัติสิ่งดีๆที่พวกท่านได้พูดกล่าวออกไป จงรักใคร่สมัครสมานสามัคคีด้วยความผูกพันในหนทางของอัลลอฮฺ แท้จริงพระองค์ทรงเกลียดการถูกละเมิดสัญญาที่มีต่อพระองค์ “

วัสสลามุอะลัยกุมวะเราะหฺมะตุลลอฮฺวะบะเราะกาตุฮฺ”

ท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ให้ความสำคัญกับวันศุกร์เป็นอย่างมากโดยท่านได้ส่งเสริมให้ปฏิบัติกิจวัตรบางอย่างที่พิเศษไปกว่าวันอื่นดังตัวอย่างต่อไปนี้

♥ – ในละหมาดฟัจญรฺเช้าวันศุกร์ท่านอ่านสูเราะฮฺ “อัสสัจญฺดะฮฺ” และ“อัล-อินสาน”ทั้งนี้เนื่องจากสูเราะฮฺทั้งสองกล่าวถึงเนื้อหาเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นไปในวันศุกร์นั่นเอง

♥ – ส่งเสริมให้กล่าวเศาะลาวาตแก่ท่านนบีศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะสัลลัมให้มากในวันศุกร์และคืนก่อนวันศุกร์ เพราะทุกความดีงามที่ประชาชาติของท่านได้รับทั้งในดุนยาและอาคิระฮฺล้วนมีท่านเป็นจุดเริ่มต้น นอกจากนี้การให้ความสำคัญกับการออกไปละหมาดวันศุกร์แต่เนิ่นๆ และการได้อยู่แถวหน้าใกล้อิหม่ามก็เป็นสิ่งบ่งชี้ประการหนึ่งถึงสถานะและความใกล้ชิดของบ่าว ณ อัลลอฮฺในอาคิเราะฮฺ

♥ – การอาบน้ำชำระล้างร่างกายซึ่งถือเป็นสิ่งที่ควรกระทำเป็นอย่างยิ่ง และอาจจำเป็นยิ่งกว่าการอาบน้ำละหมาดใหม่ในกรณีที่ไปสัมผัสอวัยวะเพศ หรือกรณีที่มีเลือดกำเดาไหล อาเจียน หรือแม้แต่การเศาะละวาตแก่ท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมขณะนั่งตะชะฮุดที่สองเสียอีก

♥ – การใช้เครื่องหอมและแปรงฟัน

♥ – การเดินทางไปละหมาดแต่เนิ่นๆและใช้เวลาไปกับการรำลึกถึงอัลลอฮฺและละหมาดสุนัตจนกระทั่งอิหม่ามขึ้นคุฏบะฮฺ

♥ – การนิ่งเงียบเพื่อรับฟังคุฏบะฮฺซึ่งถือเป็นวาญิบ

♥ – อ่านสูเราะฮฺ“อัล-ญุมุอะฮฺ” กับ“อัล-มุนาฟิกีน”หรือ“อัล-อะอฺลา” กับ“อัล-ฆอชิยะฮฺ”

♥ – แต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่ดีที่สุดเท่าที่มีอยู่

♥ – ในวันศุกร์จะมีช่วงเวลาหนึ่งที่เป็นช่วงเวลาแห่งการตอบรับดุอาอ์

ขณะที่ท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวคุฏบะฮฺตาของท่านจะแดงก่ำ เสียงดังฟังชัด มีความขึงขังจริงจังประหนึ่งว่าท่านกำลังแจ้งข่าวว่าข้าศึกศัตรูกำลังจะเข้าจู่โจม และท่านมักจะกล่าวในคุฏบะฮฺว่า “أما بعدُ” (เป็นคำคั่นระหว่างบทนำกับเนื้อหาคุฏบะฮฺ– ผู้แปล) โดยท่านจะกล่าวคุฏบะฮฺเพียงสั้นๆแต่จะยืนละหมาดยาว

คุฏบะฮฺของท่านเป็นการอธิบายหลักคำสอนและบทบัญญัติศาสนา ในบางครั้งท่านก็สั่งใช้หรือสั่งห้ามขณะกำลังคุฏบะฮฺ เช่นการที่ท่านบอกให้ชายผู้ซึ่งเดินเข้ามัสยิดขณะที่ท่านกำลังคุฏบะฮฺทำการละหมาดสุนัตสองร็อกอัตก่อนที่จะนั่ง หรือเมื่อเห็นว่ามีคนยากจนท่านก็จะเชิญชวนให้เศาะหาบะฮฺร่วมบริจาคเพื่อช่วยเหลือเขา

และเมื่อกล่าวถึงอัลลอฮฺหรือดุอาอ์วิงวอนพระองค์ในคุฏบะฮฺท่านจะชูนิ้วชี้ขึ้นเมื่อเกิดสถานการณ์ความแห้งแล้งและฝนทิ้งช่วงท่านก็จะกล่าวดุอาอ์ขอฝนในคุฏบะฮฺด้วย

ท่านจะออกมาเมื่อผู้คนมารวมตัวกันอย่างพร้อมเพรียงแล้ว เมื่อเดินเข้ามัสยิดท่านจะให้สลามแก่พวกเขา และเมื่อเดินขึ้นมินบัรฺ ท่านจะหันหน้าหาพวกเขา แล้วกล่าวให้สลามก่อนจะนั่งลง จากนั้นบิลาลก็จะยกเสียงอะซาน เมื่ออะซานเสร็จ ท่านก็ยืนขึ้นแล้วกล่าวคุฏบะฮฺ โดยท่านอาศัยคันธนูหรือไม้เท้ายันพื้น

มินบัรฺของท่านมีสามขั้น ซึ่งในอดีตก่อนที่ท่านจะยืนคุฏบะฮฺบนมินบัรฺนั้น ท่านเคยพิงตัวยังลำต้นอินทผลัม มินบัรฺดังกล่าวไม่ได้อยู่ตรงกลางมัสยิด แต่อยู่ค่อนไปทางทิศตะวันตกของมัสยิด โดยระยะห่างระหว่างมินบัรฺกับผนังมัสยิดประมาณช่วงแกะเดินผ่านได้

เมื่อท่านนั่งบนมินบัรฺในวันอื่นๆ ที่ไม่ใช่กรณีของละหมาดวันศุกร์ หรือเมื่อท่านยืนคุฏบะฮฺในวันศุกร์ เศาะหาบะฮฺก็จะหันจับจ้องไปยังท่าน ท่านจะยืนคุฏบะฮฺแล้วก็นั่งพักสั้นๆ ก่อนที่จะยืนขึ้นกล่าวคุฏบะฮฺที่สอง เมื่อเสร็จสิ้นแล้ว บิลาลก็จะทำการอิกอมะฮฺ

ท่านจะกำชับให้ผู้คนขยับเข้าใกล้ท่านและนิ่งเงียบ โดยท่านบอกว่าแม้แต่ผู้ที่กล่าวเตือนให้เพื่อนของเขาเงียบนั้นก็ถือเป็นการกระทำที่ไม่สมควรและจะทำให้ผลบุญของการละหมาดวันศุกร์ของเขาขาดหายไป

เมื่อท่านเสร็จสิ้นจากการละหมาดวันศุกร์แล้วท่านจะเดินเข้าบ้านแล้วละหมาดสุนัตหลังละหมาดวันศุกร์สองร็อกอัตแต่ท่านก็เคยใช้ให้ละหมาดสี่ร็อกอัตด้วย ซึ่งอาจารย์ของเรากล่าวอธิบายว่า “ในกรณีที่ละหมาดในมัสยิดให้ละหมาดสี่ร็อกอัตแต่ถ้าละหมาดที่บ้านให้ละหมาดสองร็อกอัต”

แปลโดย:อัสรัน นิยมเดชา

อัพเดทล่าสุด