มะฮัรแพงแก้ไขอย่างไรครับ?


2,765 ผู้ชม

มะฮัรแพงแก้ไขอย่างไรครับ? ตอบโดย อ.มุรีด ทิมะเสน


มะฮัรแพงแก้ไขอย่างไรครับ?

ตอบโดย อ.มุรีด ทิมะเสน

คำว่า “มะฮัร” เป็นภาษาอฺรับ แปลว่า ทรัพย์สิน หรือเงินทองซึ่งเจ้าสาวเรียกจากเจ้าบ่าว โดยเจ้าบ่าวยินดี และมีความสามารถนำมามอบให้แก่เจ้าสาว ซึ่งมะฮัรนั้นถือเป็นสิ่งจำเป็น (วาญิบ) ในการแต่งงาน

เมื่อหลักการให้เจ้าสาวเรียกมะฮัร เจ้าบ่าวมีความสามารถที่จะให้นาง เป็นอันว่าการแต่งงาน ถือว่าสมบูรณ์แล้วนั่นเอง ซึ่งหลักการไม่ได้บอกว่า ต้องเรียกมะฮัรแพงๆ เปล่าเลย เรียกมะฮัรเท่าที่เจ้าบ่าวมีความสามารถที่จะจ่ายได้ ไม่เกิดความยากลำบาก และอึดอัดแก่เจ้าบ่าว

มะฮัรแพงแก้ไขอย่างไรครับ?

ท่านอัษษุลัยมีย์เล่าว่า ท่านอุมัรฺ บุตรของค็อฏฏอบกล่าวสุนทรพจน์แก่พวกเราว่า

أَلَا لَا تُغَالُوا بِصُدُقِ النِّسَاءِ، فَإِنَّهَا لَوْ كَانَتْ مَكْرُمَةً فِي الدُّنْيَا، أَوْ تَقْوَى عِنْدَ اللَّهِ لَكَانَ أَوْلَاكُمْ بِهَا النَّبِيُّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ، مَا أَصْدَقَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ امْرَأَةً مِنْ نِسَائِهِ، وَلَا أُصْدِقَتْ امْرَأَةٌ مِنْ بَنَاتِهِ

“พึงทราบเถิด พวกท่านทั้งหลายจงอย่าเรียกค่ามะฮัรของสตรีแพงๆ หากว่า (มะฮัรที่เรียกแพง) เป็นเรื่องมีเกียรติบนโลกนี้แล้วไซร้ หรือเป็นความยำเกรง ณ ที่พระองค์อัลลอฮฺแล้วละก็ ผู้ที่สมควรกระทำเช่นนั้นมากที่สุดในหมู่ท่าน (คงหนีไม่พ้น) ท่านรสูลุลลอฮฺอย่างแน่นอน แต่ท่านรสูลุลลอฮฺ (กลับ) ไม่เคยให้มะฮัรแก่ภรรยาของท่าน และบุตรสาวคนใดขอท่าน (ด้วยมะหัรฺที่แพงเลย)” [หะดีษหะสันเศาะหี้หฺ, บันทึกโดยอบูดาวูด หะดีษที่ 2106]

ท่านอิบนุ อับบาสเล่าว่า

لَمَّا تَزَوَّجَ عَلِيٌّ رَضِيَ اللَّهُ عَنْهُ فَاطِمَةَ رَضِيَ اللَّهُ عَنْهَا، قَالَ لَهُ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ: «أَعْطِهَا شَيْئًا» قَالَ: مَا عِنْدِي، قَالَ: «فَأَيْنَ دِرْعُكَ الْحُطَمِيَّةُ؟»

“เมื่อท่านอลีย์แต่งงานกับท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ (ลูกสาวของท่านรสูลุลลอฮฺ) ท่านรสูลุลลอฮฺ กล่าวแก่ท่านอลีย์ว่า ท่านจงให้สิ่งหนึ่ง (เป็นมะฮัร)แก่นางเถิด, ท่านอลีย์ตอบว่า ณ ที่ฉันไม่มีทรัพย์สินใดๆ เลยครับ, ท่านรสูลกล่าวถามว่า แล้วเสื้อเกราะอัลหุเฏาะมียะฮฺ (ชื่อเผ่าที่มีชื่อเสียงในการทำเสื้อเกราะ) [หะดีษเศาะหี้หฺ, บันทึกโดยนะสาอีย์ หะดีษที่ 3376] สุดท้ายท่านรสูลให้ท่านอลีย์นำเสื้อเกราะมาเป็นมะหัรฺแต่งงานกับลูกสาวของท่านรสู

มะฮัรแพงแก้ไขอย่างไรครับ?

สรุปทั้งสองหะดีษข้าง เข้าใจได้ว่า การเรียกมะฮัรในการแต่งงานของเจ้าสาวนั้นไม่ควรเรียกแพง หรือเรียกมะฮัรจนเจ้าบ่าวไม่มีความสามารถนำมามอบให้ได้ ซึ่งนั่นถือว่า สวนทางกับแนวทางของท่านนบีมุหัมมัดอย่างสิ้นเชิง ประโยคที่ท่านอุมัรฺพูดว่า “มะฮัรที่แพง หากมันมีเกียรติบนโลกนี้แล้วไซร้ ทำไมท่านนบีมุหัมมัดของเราจึงไม่ให้ หรือเรียกมะฮัรแพงด้วยเล่า? หรือการเรียกมะฮัรแพง เป็นเครื่องหมายแห่งการยำเกรงอัลลอฮฺ แน่นอนท่านนบีต้องสั่งใช้ให้เจ้าสาวเรียกมะฮัรแพงๆ อย่างแน่นอน ทว่า ท่านนบีกลับส่งเสริมให้เรียกมะฮัรที่พอสมควรไม่แพงจนเกินไป

ประเด็นถัดมา ตอบในสิ่งที่ถาม แล้วจะทำอย่างไรดี หากเจ้าสาวเรียกมะฮัรแพงๆ วิธีแรกให้นำท่านครู หรือผู้รู้ที่เจ้าสาว และครอบครัวเจ้าสาวชื่นชม พาไปพูดคุยอธิบายให้ฟังว่า การเรียกมะฮัรที่แพงๆ นั้นไม่เกี่ยวข้องกับความดีงามทั้งด้านศาสนา และสังคมเลย อีกท่านศาสนายังกำชับให้เรียกมะฮัรที่พอประมาณ หรือพอที่เจ้าบ่าวมีความสามารถที่จะมอบให้ได้

ประเด็นถัดมา อธิบายให้ทราบถึงความจำเริญในการแต่งงานนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะมีมะฮัรที่แพง ทว่าความจำเริญในงานแต่งงานที่แท้จริง คือ ความเรียบง่าย ความพึงพอใจ และสุขของเจ้าบ่าวเจ้าสาวต่างหาก

ประเด็นสุดท้าย สังคมเราควรสร้างค่านิยมในการจ่ายมะฮัรใหม่ว่า มะฮัรแม้ว่าจะเป็นสิ่งจำเป็น (วาญิบ) ในการแต่งงาน แต่ก็ไม่ใช่ว่า เจ้าสาวจะเรียกมะฮัรแพงเพื่ออวดชาวบ้าน เป็นค่านิยมซึ่งผิดมหันต์ จนบางคู่ไม่สามารถแต่งงานกันได้ เพราะฝ่ายเจ้าสาวเรียกมะฮัรฺแพงมาก จนเจ้าบ่าวไม่สามารถหามาให้เจ้าสาวได้ตามที่นางเรียกร้องไว้ นั่นถึงขึ้นไม่สามารถสร้างครอบครัวมุสลิมใหม่ได้ เพราะมะฮัรแพง นี่คือสิ่งเลวร้ายอันแฝงอยู่ในสังคมมุสลิมเรามาอย่างช้านาน จงเปลี่ยนตัวเรา ตามแนวทางแห่งอิสลามเถิด แล้วสังคมเราจะเปลี่ยนแปลงตามเราในที่สุด (วัลลอฮุอะอฺลัม)

อัพเดทล่าสุด