จุดยืนของมุสลิมต่อการประท้วง ทำไมมุสลิมจึงไปร่วมประท้วงทางการเมืองไม่ได้?
จุดยืนของมุสลิมต่อการประท้วง
บทความโดย: Tuanilham Tuanchorlong
ก่อนอื่นต้องออกตัวก่อนว่า บทความทั้งหมดนี้ไม่ได้มีเจตนาว่า ร้ายหรือตำหนิฝ่ายใดทั้งสิ้น เป็นเพียงบทความสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อนำเสนอข้อเท็จจริงที่ได้จากการสังเกตการณ์ทางสังคมของคนธรรมดาคนหนึ่งซึ่งไม่ใช่นักวิชาการ
ก่อนที่ผมจะตัดสินใจลงโพสต์นี้ ผมได้ส่งต้นฉบับบทความให้สหายท่านหนึ่งที่มีความรู้มากกว่าผมได้ตรวจทาน หลังตรวจทานเสร็จ เขามีความเห็นว่าสิ่งที่ผมจะสื่อนี้อาจจะไม่เป็นประโยชน์ เผลอๆ อาจโดนข้อหาว่าผมเป็นสลิ่ม ซึ่งผมก็เห็นด้วยกับเขา
แต่หลังจากที่ผมมาคิดพิจารณาอีกครั้ง โดยการชั่งน้ำหนักถึงผลประโยชน์และความเสียหายที่จะได้รับ ท้ายที่สุดแล้วมีความเห็นว่าอย่างแรกมีมากกว่า จึงตัดสินใจลงโพสต์นี้
นับเป็นสิ่งที่ยากลำบาก หากใครสักคนหนึ่งเอาเรือไปขวางน้ำที่กำลังเชี่ยวเพราะนอกจากจะต้านไม่ไหวแล้วยังอาจจะบาดเจ็บได้
แต่สำหรับบางคนที่กำลังสับสนอยู่ว่าจะไปทางไหนดี ผมหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับท่านไม่มากก็น้อยครับ
ทำไมมุสลิมจึงไปร่วมประท้วงทางการเมืองไม่ได้?
เมื่อไม่นานมานี้ได้มีอาจารย์มุสลิมท่านหนึ่งโพสต์ว่า
"ในนามของมุสลิม ข้าพเจ้าขอดุอาฮ์ (ขอพร) ให้ประชาชนที่ชุมนุม ทุกผู้ทุกนามปลอดภัยจากผู้มีอำนาจทางการเมือง"
“การญิฮาด (การต่อสู้ในหนทางอัลลอฮฺ) ที่ดีเลิศที่สุด คือการที่เจ้ากล้าพูดความจริงต่อหน้าผู้มีอํานาจหรือหัวหน้าผู้อธรรม” (ดู สุนัน อบี ดาวูด 4/124 เลขที่ 4344)
ภายหลังปรากฏว่าได้มีพี่น้องมุสลิมจำนวนหนึ่งได้ทักท้วง เนื่องจากฮาดิษในบทนี้ อุลามาอฺได้อธิบายว่า ท่านนบีหมายถึงการที่พูดคุยต่อหน้าอย่างลับๆ
แล้วสรุปจริงๆแล้วศาสนาว่าอย่างไรกันแน่เกี่ยวการประท้วง ?
ชัยคฺ ศอและฮฺ อัลเฟาซาน (หะฟิศ่อฮุ้ลลอฮฺ)
ได้กล่าวว่า :
“ศาสนาของเราไม่ใช่ศาสนาแห่งความปั่นป่วน แต่ศาสนาของเรานั้นคือศาสนาที่มีแบบแผน เป็นศาสนาที่มีความเป็นระบบระเบียบ และเป็นศาสนาแห่งความสันติ
การก่อการประท้วงไม่ใช่การงานของมุสลิมและบรรดามุสลิม (ที่ดีงาม) จะไม่รู้จัก (ไม่ยุ่งเกี่ยว) กับอะไรแบบนี้
ศาสนาอิสลามนั้น คือ ศาสนาแห่งความสงบสุข
ศาสนาแห่งความเมตตา ไม่มีการก่ออะไรที่ปั่นป่วน
ปลุกระดมหรือก่อให้เกิดความยุ่งเหยิง นี่แหละคืออิสลาม
ส่วน (การเรียกร้อง) สิทธิความชอบธรรมนั้นสามารถเข้าถึง (กระทำ)ได้ แต่ไม่ใช่ด้วยกับวิธีการประท้วงเช่นนี้
แต่ให้ใช้วิธีการเรียกร้องตามหลักศาสนบัญญัติ (ชะรีอะฮฺ) หรือหนทางต่าง ๆ ตามหลักศาสนบัญญัติ
การประท้วงเหล่านี้ย่อมจะก่อให้เกิดความวุ่นวาย, การนองเลือด และการสูญเสียทรัพย์สิน ฉะนั้นสิ่งเหล่านี้จึงไม่เป็นที่อนุญาต”
الإجابات المهمة في المشاكل الملمة : (١٠٠)
นี่เป็นคำพูดของกีบารฺอุลามาอฺซุนนะห์ ที่ได้อธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ ยังมีอีกหลายท่านที่เห็นตรงกัน เพราะเรื่องนี้ถือเป็นข้อห้ามที่มีมติเอกฉันท์ในหมู่ปวงปราชญ์ชาวซุนนะห์ (อิจมาอฺ) แต่ในที่นี้ขอยกคำพูดเพียงท่านเดียว
อะไรคือหลักฐานว่าการประท้วงนั้นคือสิ่งเลวร้าย ?
เหตุการณ์อาหรับสปริง ที่มีมุสลิมต้องสูญเสียชีวิตไปนับแสนรายโดยเฉพาะสตรีและเด็กน้อยบริสุทธิ์ที่ต้องเจ็บปวดล้มตายอย่างทรมาน
แล้วการประท้วงห้ามทุกกรณีหรือไม่ ?
มันก็ไม่ทั้งหมด อุลามะอฺบางส่วนเห็นว่ายังคงมีกรณีที่อนุญาต ในกรณีที่การเรียกร้องนั้นกระทำไปเพื่อทวงความยุติธรรมต่อผู้ที่ถูกอธรรมจากจากรัฐ
เช่น การเรียกร้องกรณีการหายตัวไปของฮัจยีสุหลง, การหายตัวไปของทนายสมชาย, การเรียกร้องความเป็นธรรมให้พี่น้องของเราในกรณีเหตุการณ์ตากใบ, หรือการออกมาคัดค้านการสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ เป็นต้น
ทั้งนี้การประท้วงดังกล่าวต้องไม่เป็นเพื่อการเรียกร้องหาประชาธิปไตยหากแต่เป็นการเรียกร้องความชอบธรรมที่ประชาชนพึงได้จากรัฐ และการเรียกร้องนั้นจะต้องไม่มีความรุนแรงที่ถึงขั้นต้องบาดเจ็บล้มตาย
การชุมนุมประท้วงที่ผู้รู้อนุญาตนั้น ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติศาสนา หากการประท้วงหรือกระทำสิ่งใดๆ ที่มีการกระทำอันละเมิดหลักการก็ไม่ถือว่าอนุญาต (ฮะรอม)
สำหรับมุสลิมแล้วศาสนาคือสิ่งที่อยู่เหนือกว่าอุดมการณ์ทางการเมือง ?
ในฐานะมุสลิม เราจำเป็นจะต้องละทิ้งและออกห่างจากสิ่งที่ศาสนาไม่อนุญาตให้เชื่อหรือกระทำ
แม้ว่าเราต่างจะยอมรับว่าระบอบประชาธิปไตยนั้นเป็นคุณมากกว่าระบอบทรราชย์ แต่การประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยนั้นก็ถือเป็นสิ่งฮะรอม เมื่อฮะรอมนั่นก็แปลว่าห้ามกระทำไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม การห้ามของศาสนาก็คือห้าม เฉกเช่นเดียวกับการห้ามกินเหล้าหรือผิดประเวณี ต่อให้มีข้ออ้างร้อยพันเหตุผลก็ไม่อนุญาตให้กระทำได้
ยิ่งไปกว่านั้น หากมุสลิมคนใดพลั้งเผลอเชื่อว่าประชาธิปไตยดีกว่าชารีอะห์อยู่ในเศษเสี้ยวหนึ่งของหัวใจเมื่อไร นั่นแปลว่าเขาคนนั้นได้สิ้นสภาพของการเป็นมุสลิมไปเรียบร้อยแล้ว และหากว่าเขาได้ตาย (จากเหตุการณ์การประท้วง) ในสภาพนั้น เขาไม่ใช่ชาวสวรรค์อย่างแน่นอน (วัลอีญาซุบิลละห์)
ชารีอะห์ที่อัลลอฮประทานมากับอัลอิสลามนั้นแท้จริงแล้วได้ครอบคลุมทั้งเรื่องของชีวิต ครอบครัว เศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวิถีดำเนินชีวิตประจำวันของมุสลิมในทุกมิติอยู่แล้ว ฉะนั้นจึงเพียงพอแล้วที่เราไม่ต้องเรียกร้องหาประชาธิปไตยที่อาจจะต้องแลกมาด้วยเลือดเนื้อ
ความจริงข้อหนึ่งที่บ่งชี้ว่ามนุษย์ทุกคน (ไม่ใช่แค่มุสลิม) ต้องศรัทธาในศาสนายิ่งกว่ากฎหมาย คือ
แม้แต่ในด้านการกำเนิดประชาธิปไตย กระบวนการวางรากฐานของกฎหมายและบทลงโทษก็ต้องอาศัยศาสนาในการนิยามศีลธรรมและความดีความชั่วเพื่อใช้กำหนดกฎเกณฑ์กติกาในการในการอยุ่ร่วมกันอย่างสันติ หากปราศจากศาสนาแล้วก็จะไร้ซึ่งกฎหมาย
ฉะนั้น จะเห็นได้ว่า จริงๆ แล้วศาสนานั้นยิ่งใหญ่กว่าอุดมการณ์ทางการเมือง และมุสลิมนั้นจะต้องเคารพหลักการศาสนามากกว่าแนวคิดทางการเมืองทุกสำนักที่มนุษย์คิดค้นขึ้น
มุสลิมที่ไม่ประท้วงแปลว่าเป็นสลิ่มหรือไม่มีสำนึกทางการเมือง ?
ในสภาพการที่สังคมตกอยู่ภายใต้อำนาจเผด็จการนี้ หลายคนก็ต่างมีความคับแค้นใจในสิ่งที่ประสบพบเจอ ขณะเดียวกันการที่มุสลิมต้องอยู่ในรัฐที่ไม่ใช่อิสลามนั้นเพราะเราไม่มีสิทธิที่จะกำหนดให้รัฐใช้กฎชารีอะห์ได้ เราจึงจำเป็นที่จะต้องอยู่ในระบอบประชาธิปไตย (ปลอมๆ) นี้ต่อไป
สิ่งที่มุสลิมอย่างเราพึงทำได้ คือ การขอดูอาให้เราพบทางออกที่ดีที่สุดโดยเร็ว การมีสำนึกทางการเมืองที่ไม่ผิดต่อหลักการ เช่น การรอเลือกตั้งเพื่อให้ได้ผู้นำที่ดีกว่าเดิม, การเลือพรรคด้วยนโยบายบายที่ไม่ได้แลกมาด้วยเศษเงิน, การศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองอย่างเข้าใจถึงพลวัตความเลวร้ายของการแย่งชิงอำนาจทางการเมือง, การโหวตประชามติไม่รับรัฐธรรมนูญที่มีความวิปริต เป็นต้น
เราไม่จำเป็นต้องไปประท้วง ควรปล่อยให้การประท้วงนั้นเป็นหน้าที่ของผู้คนส่วนใหญ่ที่ศาสนาของเขาไม่ห้ามจะดีกว่า และการที่มุสลิมคนหนึ่งไม่ประท้วงก็ไม่ได้แปลว่าเขาคนนั้นจะเป็นสลิ่มขี้ข้าเผด็จการ, ขี้ขลาด หรือไม่มีจิตสำนึกทางการเมืองแต่อย่างใด
โดยเฉพาะสุภาพสตรีมุสลีมะห์ทั้งหลายที่อัลลอฮสร้างเธอด้วยฟิตเราะห์แห่งความนุ่มนวลอ่อนโยน การที่ออกไปชูสามนิ้วปะปนชายหญิงนั้น จึงเป็นการกระทำที่ควรออกห่างเป็นอย่างยิ่ง
ไม่ต้องห่วงว่าระบอบนี้จะอยู่ยั้งยืนยง เพราะประวัติศาสตร์ได้บอกกับเราว่า...
"ไม่ว่ารัฐไหนหรือผู้ปกครองคนใดก็ตามที่ปกครองด้วยความอธรรม ไม่ช้าก็เร็ว ท้ายที่สุดแล้วมันจะล้มด้วยตัวของมันเองทั้งสิ้น"
หลักการทั้งหมดนี้ไม่ได้ใช้กับสังคมที่อยู่ใต้ผู้ปกครองมุสลิมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงรัฐที่ไม่ได้ใช้ชารีอะห์อิสลามด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น เพราะไม่ว่ารัฐไหนๆ หากผู้ปกครองมีความอธรรมและหวงแหนในอำนาจ เขาก็พร้อมที่จะทำร้ายหรือฆ่าประชาชนที่ไม่มีอาวุธได้ตลอดเวลา
ทั้งนี้แม้ว่าผมอาจจะมีจุดยืนที่ต่างไปจากหลายๆ ท่าน ความเห็นเราอาจไม่ตรงกัน แต่ท้ายสุดเราทุกคนก็ต้องกลับมายังหลักคำสอนของศาสนา และยังพระองค์เท่านั้นที่เราจะกลับไป
ด้วยความรักที่มีต่อพี่น้องร่วมศรัทธาและด้วยจิตอันบริสุทธิ์
วัลลอฮุอะลัม