วันนี้เราจะเห็นลูกหลานของเรา พูดจาด้วยถ้อยคำที่ไม่น่าฟัง หยาบคาย ขึ้นก็ตัวหนึ่ง ลงก็ตัวหนึ่ง จะมีคำหยาบคายติดปากอยู่เสมอจนกระทั่งเป็นนิสัย จนเป็นเรื่องปกติ สิ่งเหล่านี้เราได้ยินได้ฟังอยู่เป็นประจำ
มุสลิมระวัง คำหยาบคาย จะนำไปสู่ไฟนรกได้
คนหยาบคาย ไร้ซึ่งความสุข
ท่านทั้งหลายที่รักและเคารพ วันนี้เราจะได้ยิน ได้ฟังเรื่องความห่วงใยที่มีความหลากหลายรอบข้าง บางคนก็ห่วงใยเรื่องของเศรษฐกิจ ปากท้อง ตื่นขึ้นมาจะกินอะไร เดือนนี้จะมีรายได้เท่าไหร่ ปีนี้เราจะมีเงินเก็บ หรือไม่มีเงินเก็บ หรือมีหนิ้สิน แค่ไหนเพียงไร ราคาสินค้าจะแพงขึ้นหรือเปล่า ค้าขายจะขาดทุนหรือไม่ นั่นเป็นเรื่องปกติของมมนุษย์ตราบใดที่ยังคงต้องใช้ชีวิตอยู่บนโลกแห่งนี้ ก็จำเป็นจะต้องสนใจเรื่องรอบข้างตัวเอง แต่มีสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อน แต่ต้องบอกว่า มีความสำคัญมากกว่าเรื่องปากท้องมากมาย คือ เรื่องของปัญหาด้านจริยธรรม
วันนี้เราจะเห็นลูกหลานของเรา พูดจาด้วยถ้อยคำที่ไม่น่าฟัง หยาบคาย ขึ้นก็ตัวหนึ่ง ลงก็ตัวหนึ่ง จะมีคำหยาบคายติดปากอยู่เสมอจนกระทั่งเป็นนิสัย จนเป็นเรื่องปกติ สิ่งเหล่านี้เราได้ยินได้ฟังอยู่เป็นประจำ
แต่เราหารู้ไม่ว่า เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ จากความกล้าที่จะพูดเรื่องหยาบคาย คำหยาบ ทะลึ่งตึงตัง เรื่องลามก อนาจาร มันก็จะพัฒนาไปถึงเรื่องของหัวใจที่หยาบกร้าน หยาบช้า ไม่มีความสุภาพ แล้วทุกอย่างมันก็ผสมกลมกลืนเป็นอัตโนมัติ ข้างนอกแสดงถึงข้างใน ข้างในก็จะเป็นตัวบงการข้างนอก ให้ความคิดให้คำพูด ให้การกระทำ ออกมาตามที่จิตใจและความคิดนั้นสั่ง มันจะเป็นธรรมชาติติดตัวคน ๆ นั้น ไปตลอดเลยทีเดียว
สิ่งเหล่านี้เราอย่ามองข้าม มันเป็นเรื่องที่ทำให้มุสลิมด้อยความน่าเชื่อถือ ทำให้มุสลิมถูกตั้งคำถามว่า "ไหนหละศาสนาของท่านที่สอนให้คนสุภาพ เรียบร้อย ไม่พูดจาหยาบคาย ไม่ทำอะไรที่เป็นการแสดงถึงความไม่ละอาย" มันเป็นเรื่องที่สะท้อนอยู่ทุกวี่ทุกวัน
ท่านร่อซูลุ้ลลอฮ์ (ซ.ล.) ได้บอกเรา ได้สอนเรา ในเรื่องของความละอายอย่างมากมายหลายบทหลายตอน ในบทหนึ่งท่านได้อ้างถึงคำสอนของบรรดาคนรุ่นก่อน ๆ บรรดานะบี ท่านก่อน ๆ ที่สอนเรื่องของความละอายกันมาช้านาน ตั้งแต่เริ่มมีมนุษย์จนกระทั่งถึงมนุษย์คนปัจจุบันได้สอนมาตลอด แต่ก็ยังมีคนซึ่งที่แสดงถึงความไม่ละอายอยู่ คำพูดนั้น การกระทำนั้นก็คือ
إِذَا لَمْ تَسْتَحِ فَاصْنَعْ مَاشِئْتَ
“หากท่านไม่มีความละอาย ก็จงกระทำเลย ในสิ่งที่ท่านปราถนา”
พูดง่าย ๆ อยากทำอะไรก็ทำเลย ถ้าท่านไม่มีความละอาย ไม่ละอายต่อบุคคลรอบข้าง ไม่ละอายต่ออัลเลาะห์ (ซ.บ.) ไม่ละอายต่อตัวเอง อยากจะทำอะไรก็ทำเลย อย่างที่ท่านต้องการ อยากจะพูดอะไรก็พูดเลย อยากจะกินอะไรก็กินเลย อยากจะละเมิดอะไร สิทธิของใคร หยิบฉวยอะไร ก็ทำได้เลย แต่หารู้ไม่ จากการสับเพร่า การดูดาย การมักง่าย การไม่ละอายนั้นแหละ มันจะทำให้มนุษย์คนนั้น เกิดการทะเลาะเบาะแว้ง เกิดการอธรรมล่วงเกินซึ่งกันและกัน และผลพวงของมันนั้นก็มากมาย อย่างที่เราเห็นอยู่ในสังคมปัจจุบัน
ท่านทั้งหลายที่รักและเคารพ การละอาย ท่านร่อซูลุ้ลลอฮ์ (ซ.ล.) บอกว่า
اَلْحَيَاءُ يَأْتِيْ بِخَيْرٍ
" ความละอายจะนำมาแต่สิ่งที่ดีงาม "
คนที่มีความละอาย จะไม่หยาบคาย สุภาพเรียบร้อย และจะได้รับแต่สิ่งที่ดี ไม่ละเมิดต่อคนอื่น มีความละอายต่อบาป ต่ออัลเลาะห์ (ซ.บ.) เขาจะอยู่อย่างมีความสุข ตรงกันข้าม ถ้าอยากจะทำอะไรในสิ่งอยากจะทำฉันก็ทำ ไม่สนใจว่าจะขัดต่อหลักการศาสนาหรือไม่ ? ไม่สนใจว่าจะผิดต่อกฎหมายบ้านเมืองหรือไม่ ? สุดท้ายตัวผู้กระทำนั่นแหละ จะเดือดร้อนที่สุด อย่างที่พวกเราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้
ท่านพี่น้องผู้มีอีหม่านศรัทธาต่ออัลเลาะห์ (ซ.ล.) ทั้งหลาย ความละอาย คือการระมัดระวังในทุกการกระทำของเรา ในทุกคำพูดของเรา นบี (ซ.ล.) บอกว่าจะกินอะไร ให้ระวัง จะคิดอะไร แม้กระทั่งคิด ก็ให้ระวัง ให้ละอาย และสิ่งที่น่าคิดมากที่สุด คือ ให้คิดถึงเรื่องความตาย และคิดถึงเรื่องความผุพัง เน่าเปื่อยที่เราจะต้องประสบ ที่กำลังรอคอยเราอยู่ ซึ่งมีบทเรียนวางอยู่ต่อหน้าเราหลายครั้ง ได้อนุสติกันบ้างเถิด มองว่าเราจะต้องมานอนขวางให้คนเขาละหมาดไม่ช้าหรือเร็ว แล้ววันนี้เราจะเป็นคนที่หยาบคาย ไร้ความละอาย ไม่เกรงกลัวต่อบาป ไม่ละอายต่ออัลเลาะห์ (ซ.บ.) อยู่ใย
จงเอาไปสอนลูกหลานของเรา ให้ลูกหลานของเรานั้นเป็นคนที่อยู่ในร่องรอย เป็นคนที่น่ารัก ลูกหลานของเราต้องไม่เป็นคนที่หยาบคาย พูดจาสุภาพ ไม่ล่วงละเมิดคนอื่น ทำหน้าที่ของตนเอง แค่นี้แหละ เขาก็จะเป็นคนดี ประสบความสำเร็จ และสุดท้ายเขาก็มีความสุขทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า นี่คือสิ่งที่เราหวังไม่ใช่หรือ ?
ขอเอกองค์อัลเลาะห์ (ซ.บ.) โปรดประทานให้เราทั้งหลายเป็นคนที่มีความสุภาพเรียบร้อย มีความละอาย ขอทรงโปรดเยียวยารักษาโรคใจของเราและท่านทั้งหลายให้หายไปด้วยเถิด ขอทรงโปรดเยียวยาคนที่เจ็บป่วยในหมู่เรา ขอทรงโปรดอภัยโทษให้แก่ผู้ที่จากเราไป วันนี้ วันที่ผ่าน ๆ มา แล้วก็วันต่อ ๆ ไป
ซุนนะฮฺในการพูด
1. อย่าพูดในสิ่งที่ไม่ได้ปฏิบัติ อัลลอฮฺทรงรังเกียจผู้ที่พูดแต่เขาไม่ปฏิบัติ (หลักฐานจากอัลกุรอาน)
2. ทุกๆ คำพูดของมนุษย์จะถูกบันทึกโดยมลาอิกะฮฺรอกีบ อะตีด (หลักฐานจากอัลกุรอาน)
3. ส่วนมากของมนุษย์จะตกนรกเนื่องจากลิ้นและอวัยวะเพศของเขา (หะดีษ ติรฺมิซี)
4. ต้องมีความซื่อสัตย์ในทุกๆ คำพูดและการกระทำ ผู้ที่มีความซื่อสัตย์จะเข้าสู่สรวงสวรรค์ด้วยความง่ายดาย (หะดีษ มุสลิม)
5. ต้องพูดจาด้วยความสุภาพแม้ต่อหน้าคนชั่ว ผู้ที่พูดจากับคนอื่นด้วยความอ่อนโยน อัลลอฮฺจะอ่อนโยนต่อเขา ผู้ใดที่พูดจาหยาบคายต่อผู้อื่น อัลลอฮฺก็จะทรงหยาบคายต่อเขาเช่นกัน (หะดีษ มุสลิม)
6. อนุญาตให้มีการพูดเล่นได้บ้าง แต่ต้องไม่มากจนเกินควร และต้องไม่กล่าวคำเท็จออกมา (หะดีษ ติรมีซี, อะหมัด, ฎ๊อบรอนี)
7. อัลลอฮฺทรงเกลียดชังผู้ที่พูดจาเล่นลิ้น (หะดีษ อบูดาวุด, ติรมิซี) ใครตีสองหน้าในโลกนี้ โลกหน้าเขาจะมีสองลิ้น (ที่ทำจาก) ไฟ (หะดีษ อิบนุมาญะฮฺ)
8. จงสนทนากับผู้คนด้วยภาษาที่ง่ายต่อการเข้าใจของคนส่วนใหญ่ (หะดีษ ติรฺมิซี) อย่าใช้ภาษาที่ฟังยากหรือเกินระดับสติปัญญาของผู้ฟัง
9. การพูดจาน้อยๆ เป็นส่วนหนึ่งของอีมาน ส่วนการพูดโม้โอ้อวดเป็นส่วนหนึ่งของซีฟัตมุนาฟิก (หะดีษ ติรฺมิซี)
10. ไม่จำเป็นต้องพูดทุกอย่างที่รู้ เพียงพอแล้วที่เขาจะถูกเรียกว่าเป็นผู้โกหกที่ยิ่งใหญ่หากเขาพูดมากเกินไปในสิ่งที่เขารู้ (หะดีษ มุสลิม, อบูดาวุด, หากิม)
11. อย่าถามมากเกินไปในสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องรู้ (หะดีษ บุคอรี, มุสลิม, ติรฺมิซี, อบูดาวุด)
12. อย่าพูดเสียงดังหรือค่อยเกินไป (หะดีษ บัยฮะกี)
13. ซุนนะฮฺให้กล่าวว่า “อินนาลิลลาฮฺ วาอินนาอิลัยฮฺ รอญิอูน” ความว่า “แท้จริงเรามาจากอัลลอฮฺ และเราต้องกลับคืนสู่พระองค์”
14. การสงบนิ่ง (งดพูดจา) เป็นอิบาดะฮฺชั้นสูงสุด (หะดีษ อัดดัยละมีย์)
15. ไม่ควรสรรเสริญบุคคลต่อหน้า เนื่องจากท่านนบีเคยกล่าวว่า “การเชือดเฉือนบุรุษหนึ่งก็คือ การที่ท่านสรรเสริญเขาต่อหน้านั่นเอง” (หะดีษ อิบนิอะบิดดุนยา)
16. นบีเคยกล่าวว่า “พวกท่านจงโปรยฝุ่นใส่หน้าคนที่ชอบสรรเสริญพวกท่านต่อหน้า” (หะดีษ ติรฺมิซี)
คำพูดที่ต้องห้าม
1. ห้ามโกหก จะโกหกได้ก็ต้องอยู่ในเงื่อนไขดังนี้
– ในสงคราม
– เพื่อปรองดองระหว่างคู่กรณี
– เพื่อรักษาความรักความอบอุ่นระหว่างสามีภรรยา (หะดีษ มุสลิม)
2. การโกหกมดเท็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือ
– การอ้างว่าเป็นญาติของบุคคลหนึ่งทั้งที่ไม่ใช่
– การอ้างว่าตนเองฝันเช่นนั้นเช่นนี้ทั้งที่ไม่ได้เป็นจริง
– การโกหกโดยอ้างนามของท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม
3. ห้ามการด่าทอพี่น้องมุสลิมด้วยกัน ใครเริ่มต้นก่อน คนนั้นจะมีบาปที่หนักกว่า (หะดีษ มุสลิม)
4. ห้ามบุคคลสองคนกล่าวตำหนิติเตียนซึ่งกันและกัน เพราะในที่สุดจะนำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้งได้ (หะดีษ มุสลิม)
5. อย่างเรียกมนุษย์ว่า กษัตริย์เหนือกษัตริย์ เพราะตำแหน่งเฉพาะนี้มี อัลลอฮฺ ซุบหานะฮูวาตะอาลา เท่านั้น (หะดีษ บุคอรี มุสลิม)
6. อย่าเรียกคนมุนาฟิกว่า “หัวหน้าหรือท่าน…” (หะดีษ อบูดาวุด)
7. ห้ามเรียกคนมุสลิมว่า “เจ้ากาฟิรฺ” เพราะความเป็นกาฟิรฺจะสะท้อนกลับมายังผู้ที่พูด (หะดีษ บุคอรี มุสลิม)
8. อย่าดูถูกพี่น้องมุสลิม (หะดีษ บุคอรี มุสลิม)
9. อย่ากล่าวกับตัวเองว่า “โชคร้ายเหลือเกินสำหรับฉัน” (หะดีษ มุสลิม) เพราะคำนี้บอกถึงการไม่มอบหมายต่ออัลลอฮฺ และไม่ใช่ซีฟัตของมุอฺมิน
10. อย่าด่าทอคนรับใช้ (หะดีษ ติรฺมีซี)
11. อย่าด่าไก่ตัวผู้เพราะมันปลุกให้ตื่นละหมาดศุบฮิ (หะดีษ อบูดาวูด)
12. อย่าด่าลม ฝน ฟ้าผ่า ฟ้าร้อง เพราะนั่นคือสัญญาณเตือนจากอัลลอฮฺ (หะดีษ ติรมิซี)
13. อย่าด่ามัยยิตหรือคนที่ตายไปแล้ว (หะดีษ ติรฺมีซี)
14. อย่าด่าอย่าดูถูกวันเดือนปี (หะดีษ มุสลิม)
15. อย่ากล่าวว่า “พรุ่งนี้ฉันจะทำนั้นทำนี้ประหนึ่งว่าเราจะมีชีวิตอยู่” แต่ จงกล่าวด้วยว่า “อินชาอัลลอฮฺ” (หลักฐานจากอัลกุรอาน)
16. อย่ากล่าวกับคนๆ หนึ่งว่า อัลลอฮฺไม่ยกโทษให้หรอก แม้ว่าเขาจะทำบาปหนักก็ตาม เพราะการอภัยโทษนั้นเป็นสิทธิของอัลลอฮฺเท่านั้น (หะดีษ มุสลิม ฏ็อบรอนี)
17. จงอย่าเรียกคนรับใช้ของท่านว่า “โอ้บ่าวของข้า” เพราะมนุษย์เป็นบ่าวของอัลลอฮฺ ซุบหานะฮูวาตะอาลา เท่านั้น แต่จงเรียกว่า “โอ้ผู้ช่วยเหลือของข้า”
18. อย่าเรียกคนๆ หนึ่งด้วยถ้อยคำว่า “โอ้เจ้าคนที่ชอบอยู่เป็นหม้าย” (ไม่แต่งงาน) (หะดีษ บัยฮะกี)
19. อย่ากล่าวว่า ถ้าหากอย่างนั้น…ถ้าหากอย่างนี้…เพราะจะเป็นการเปิดทางให้ชัยฎอน (หะดีษ หากิม)
20. อย่าใช้ถ้อยคำที่หยาบคายไม่สุภาพ เพราะคำเหล่านั้นจะทำให้หัวใจแข็งกระด้าง หัวใจแข็งกระด้างจะโน้มนำไปสู่การทำบาป และบาปกรรมจะนำไปสู่ไฟนรก (หะดีษ บุคอรี มุสลิม ติรฺมีซี)
21. หะรอมที่จะกล่าวว่า “มาฉันจะพนันกับท่าน” แม้ว่าจะเป็นการล้อเล่น หากพูดไปแล้วจะต้องลบล้างด้วยการทำศอดาเกาะฮฺ (หะดีษ บุคอรี มุสลิม นะซาอี ติรฺมีซี)
ที่มา: www.islammore.com คุตบะห์วันศุกร์ ณ มัสยิดท่าอิฐ / จากหนังสือ แบบอย่างอันอัศจรรย์และอัจฉริยะของ "ศาสดามุหัมมัด" ศ.ล. ในวิถีชีวิตประจำวัน