
ความรุนแรงเกิดขึ้นอยู่ทั่วไป ความขัดแย้งแม้เป็นเพียงจุดเล็กๆ แต่บ่อยครั้งคนเราก็ใช้ความรุนแรงเข้าจัดการ ก่อให้เกิดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินอย่างที่ไม่ควรเกิด จนดูเหมือนชีวิตมนุษย์จะมีค่าน้อยกว่าผักหญ้าริมถนนเข้าไปทุกที
ความคิด "หัวรุนแรง" ในสังคมมุสลิม มาจากไหน ?
ความรุนแรงเกิดขึ้นอยู่ทั่วไป ความขัดแย้งแม้เป็นเพียงจุดเล็กๆ แต่บ่อยครั้งคนเราก็ใช้ความรุนแรงเข้าจัดการ ก่อให้เกิดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินอย่างที่ไม่ควรเกิด จนดูเหมือนชีวิตมนุษย์จะมีค่าน้อยกว่าผักหญ้าริมถนนเข้าไปทุกที แม้สังคมมุสลิม ที่ได้ชื่อว่า เป็นสังคมเคร่งศาสนา ก็ยังไม่อาจหลีกหนีความรุนแรงได้ จะพูดให้ตรงลึกลงไปอีกก็คือความรุนแรงในรูปของสงครามและการเข่นฆ่าผู้บริสุทธิ์เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของมุสลิม ในขณะที่ความรุนแรงในพื้นที่อื่นๆ มักเป็นอาชญากรรมส่วนตัว และเกิดด้วยแรงกิเลสตัณหา ของปัจเจกบุคคลเป็นสำคัญ
การค้นหาว่า อะไรคือต้นเหตุของความคิดซึ่งนำไปสู่ความรุนแรงในสังคมมุสลิม อาจไม่ใช่เรื่องง่ายและไม่ใช่เรื่องถูกต้องนัก หากไม่สนใจศึกษาประวัติศาสตร์ของมุสลิมเอง ซึ่งฝ่าฟันคลื่นของความรุนแรงมาอย่างโชกโชน ระลอกแล้วระลอกเล่า ในสายธารประวัติศาสตร์อันยาวไกล ทั้งความรุนแรงภายใน และผลจากการปฏิสัมพันธ์กับประชาชาติอื่น ทั้งความรุนแรงที่คู่ควรกับสถานการณ์ และความรุนแรงที่ไม่สอดคล้องกับเหตุผลและความชอบธรรม
การเข้าถึงประวัติศาสตร์ เพื่อรับรู้ถึงบ่อเกิดของความคิดตกขอบในอดีต อาจช่วยให้การแก้ไขปัญหา ณ ปัจจุบันได้ หากทำได้ตรงจุด และมีประสิทธิภาพ ผ่อนคลายความรุนแรง และกอบกู้ชีวิตของผู้บริสุทธิ์ได้มากขึ้น
เป็นที่ทราบกันว่า วิถีชีวิตมุสลิมผูกพันกับศาสนาอิสลาม อย่างเป็นด้าน เป็นหลัก และควรทราบว่าบทบัญญัติต่างๆ ของอิสลาม มุ่งปกป้อง สิ่งสำคัญสูงสุดในชีวิตมนุษย์ 6 ประการ เรียกว่า “มะกอซิด อัชชะรีอะฮ” ได้แก่ :-
1. ชีวิต
2. ศาสนา
3. สติปัญญา
4. ทรัพย์สิน
5. เผ่าพันธุ์
6. เกียรติยศชื่อเสียง
การทำลายชีวิต และทรัพย์สินผู้อื่นอย่างง่ายดาย และปราศจากความเมตตาสงสาร จึงย่อมขัดแย้งกับเจตนารมณ์แห่งอิสลาม และนับแต่การอุบัติขึ้นของอิสลาม ในนครมักกะฮ์ในคริสตศตวรรษที่ 7 ความสงบและสันติ ก็เข้าปกคลุมคาบสมุทรอาหรับ อันเนื่องจาก หัวใจของผู้คนได้ซึมซับ เอาหลักธรรมแห่งอิสลามไว้อย่างเต็มเปี่ยม ตราบจนปี ฮิจรอฮ์ศักราชที่ 40 สามสิบปี ภายหลัง ศาสดามุหัมมัด (ซ็อลฯ) สิ้นชีพ สังคมมุสลิมก็เริ่มเผชิญกับปรากฏการณ์ต่างๆ ที่หลายครั้งก็ชักนำให้ผู้คนมีความคิดตกขอบ และนำไปสู่การล่วงละเมิดบทบัญญัติแห่งศาสนา ซึ่งที่สุดก็คือ การก่อความรุนแรงในสังคม นั่นเอง
ปรากฏการณ์ดังกล่าว มีปัจจัยหนุนส่งสำคัญ ที่อาจสรุป ได้ดังนี้ :-
1. ปัจจัยทางพันธุกรรม
บุคลิกและอุปนิสัยของคนเรา ส่วนหนึ่งนั้นถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ รวมทั้งความก้าวร้าวรุนแรง หรือความอ่อนโยนด้วย เห็นได้จาก วจนะแห่งศาสดามุหัมมัด (ซ็อลฯ) ที่กล่าวถึง ซุล คุวัยซิรอฮ์ ซึ่งบังอาจกล่าวหาศาสดา ว่าไม่มีความยุติธรรม ว่า
“เทือกเถาเหล่ากอของคนๆ นี้ เป็นพวกที่อ่านอัลกุรอาน อยู่เพียงแค่คอหอย พวกเขาพร้อม ที่จะฆ่ามุสลิม แต่จะละวางพวกบูชาเจว็ด” (บุคอรีย์ มุสลิม)
ซุล คุวัยซิรอฮ์ นี้เอง เป็นต้นกำเนิดของกลุ่มคอวาริจญ์ ที่มีความคิดตกขอบรุนแรง กระทั่งมองคนอื่น ที่คิดเห็นแตกต่างจากตนเป็นอริศัตรู ที่ต้องเข่นฆ่า แม้กระทั่งคอลีฟะฮ์อลี ผู้ทรงธรรมก็ถูกลอบสังหารในปี ฮ.ศ. 40 / ค.ศ. 661
อย่างไรก็ตาม แม้จะสืบทอดกมลสันดาน ก้าวร้าวรุนแรงมาอย่างไร แต่หากปัจจัยภายนอกไม่หนุนส่ง ก็ยากที่คนเหล่านี้จะก่อความรุนแรงได้ จึงแม้จะมีคนประเภทนี้ อยู่ในยุคแห่งศาสดา (ซ็อลฯ) แต่พวกเขา ก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะชักชวนใคร ให้ก่อความรุนแรงได้ อันเนื่องจากความรู้ ความเข้าใจ อย่างถ่องแท้ต่อหลักธรรมของศาสนา ปัจจัยภายนอก จึงเป็นกุญแจสำคัญในการสกัดกั้น ความคิดตกขอบในตัวของคนๆ หนึ่ง มิให้ส่งผลเสียหาย ต่อสังคมโดยรวม
2. ปัจจัยทางชาติพันธุ์
สงครามระหว่างมุสลิมด้วยกัน เองหลายครั้ง มีมูลเหตุมาจาก การยึดมั่นในชาติตระกูลที่แตกต่างกัน ของแต่ละกลุ่ม ทั้งๆ ที่อิสลามวางบรรทัดฐานความประเสริฐของบุคคล ไว้ที่ความยำเกรงต่ออัลลอฮ์ พระผู้เป็นเจ้า (อัลกุรอาน, อัลหุญุรอต : 13) และห้ามการยึดถือบุคคล เหนือหลักความถูกต้อง (อัลกุรอาน, เตาบะฮ์ : 24) กระนั้น เมื่อใดที่สำนึกแห่งศาสนธรรมในจิตใจ แผ่วอ่อนลง คนเราก็มักถูก ความรู้สึกรักชาติตระกูล ครอบงำจนกลายเป็น ความคิดตกขอบและ อาจลงมือเข่นฆ่าผู้อื่นได้ โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องชอบธรรม
เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ ที่นำความขมขื่นมาสู่มุสลิมทุกคน คือ การเข่นฆ่าหุซัยน์ ผู้เป็นบุตรแห่งอลี ที่เมืองกัรบาลา ประเทศอิรัก ในปี ฮ.ศ.61/ค.ศ.680 มีแรงผลักดันที่สำคัญ นอกเหนือจากประเด็นทางการเมืองแล้ว ก็คือ เผ่าพันธุ์ที่แตกต่างกัน ซึ่งกลุ่มที่ลงมือ ยึดไว้อย่างสุดโต่ง ผลของเหตุการณ์ครั้งนั้น นำไปสู่การกำเนิดของความสุดโต่งอีก ขั้วหนึ่ง ได้แก่ กลุ่มชีอะฮ์ ที่ยึดมั่นถือมั่นในตัวอลี และวงศ์วานของท่าน จนเกินความพอดี
แม้จะผ่านความเจ็บปวด รวดร้าว อันเป็นผลจากการยึดมั่นในเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ อย่างตกขอบมาแล้วเช่นนั้น แต่ดูเหมือนคนบางกลุ่ม กลับไม่สำเหนียกถึงบาดแผลที่เคยประสบ ความพลิกผันในประวัติศาสตร์ ที่มักจบลงด้วยการเข่นฆ่าทำลาย ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในกาลต่อมา แม้กระทั่งการล่มสลาย ของอาณาจักรออตโตมาน ในปี ค.ศ. 1924 ก็มีปัจจัยทางเชื้อชาติ กัดเซาะอยู่เบื้องหลัง และที่ยังอยู่ในความทรงจำ ของคนในยุคนี้ได้ดี ก็คือ สงครามกลางเมืองในอัฟกานิสถาน ภายหลังอดีตสหภาพโซเวียต ถอนกำลังออกไป สภาพของนักรบอัฟกัน ซึ่งเคยได้รับการยกย่อง จากมุสลิมทั่วโลกว่าเป็น “มุญาฮิดีน” กลับแปรเปลี่ยนเป็น แก๊งค์อาชญากรที่รบพุ่งกันเอง และต่างก็พยายามยื้อแย่งอำนาจ มาสู่กลุ่มพวกของตน ภายในฝุ่นควัน ของสงครามกลางเมือง ในอัฟกานิสถานนี้ สิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ คือ ปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความอัปยศดังกล่าว ได้แก่ การยึดมั่น ถือมั่นอย่างตกขอบ ในเผ่าพันธุ์ของแต่ละกลุ่ม ในอัฟกานิสถานเอง
บทเรียนเช่นนี้ น่าจะทำให้มุสลิมร่วมสมัยตระหนักได้ว่า การต่อสู้เพื่อยกฐานะชาติพันธุ์ของตน โดยการเข่นฆ่าทำลายผู้อื่น อย่างขาดความชอบธรรม ไม่เคยได้รับพระเมตตาจากอัลลอฮ์ พระผู้เป็นเจ้า ให้ยืนหยัดอยู่ได้อย่างมั่นคงเลย และน่าจะเตือนสติประเทศมุสลิมบางประเทศ ได้ว่า อย่าช่วยเหลือผู้อื่น เพียงเพราะมีชาติพันธุ์เดียวกับตน โดยมองข้ามความถูกต้องเหมาะสมตามหลักศาสนา ทั้งควรเป็นข้อคิดสำหรับชาวมุสลิมทุกคน ว่า อย่าปล่อยให้ความเกลียดชัง ที่มีต่อคนต่างเผ่าพันธุ์ มาทำลายความยุติธรรมและเมตตาธรรม ที่พึงมีในจิตใจ จนสามารถลงมือฆ่าผู้อื่น ได้อย่างโหดเหี้ยม ไร้ความปราณี
3. ปัจจัยทางการเมือง
อำนาจ เป็นสิ่งที่หอมหวานเสมอ หากผู้แสวงหา มุ่งหวังเพียงอำนาจ โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องชอบธรรม อำนาจทางการเมือง เมื่อบวกกับความคลั่งเชื้อชาติ เคยก่อโศกนาฏกรรมต่อชีวิต และทรัพย์สินของมนุษย์มานับไม่ถ้วน ในประวัติศาสตร์อิสลาม ความขัดแย้งทางการเมือง ในปลายยุคคุลาฟาอ์รอชิดีน หนุนส่งให้ผู้มีความคิดอ่านก้าวร้าวอยู่แล้ว จัดตั้งกลุ่มคอวาริจญ์ขึ้น กล่าวหาผู้มีความคิดเห็นแตกต่างจากตน เป็นคนนอกศาสนา (กุฟร์) และใช้อาวุธทำลายผู้คนจนล้มตายดุจใบไม้ร่วง
ความกระสันอยาก ในอำนาจจนเกินขอบเขตความพอดี ทำให้ราชวงศ์อุมัยยะฮ์ กับอับบาซียะฮ์ ขับเคี่ยวกันเป็นเวลาถึงเกือบศตวรรษ (ฮ.ศ.40 – ฮ.ศ.132) ช่วงเวลาของการขับเคี่ยวระหว่างสองกลุ่ม เป็นทั้งช่วงเวลา ของการทรยศหักหลัง และการเข่นฆ่าทำลายล้าง ศัตรูทางการเมือง ราชวงศ์อับบาซียะฮ์ ซึ่งสามารถโค่นราชวงศ์อุมัยยะฮ์ ลงได้ในปี ฮ.ศ.132 / ค.ศ.750 กลับมาห้ำหั่นกันเอง จนขุนศึกคนสำคัญ อย่างอบูมุสลิม แห่งคุรอซาน ยังถูกรุมสังหารอย่างเหี้ยมโหด ในปี ฮ.ศ.137 / ค.ศ.755 ขณะอยู่บนบัลลังก์ อำนาจคอลีฟะฮ์อับบาซีย์ ยังพยายามขจัดคู่แข่งทางการเมือง อย่าง ชีอะฮ์ ทุกรูปแบบ จนกระทั่ง ฝ่ายหลังต้องหลบไปเผยแพร่ลัทธิของตน ทางตะวันออกของคาบสมุทรอาหรับ และสามารถรวบรวมกำลังพลได้มาก ในบาห์เรนภายใต้ การนำของอบี ตอฮิร สุลัยมาน กลุ่มคนซึ่งบ่มเพาะความเกลียดชัง ต่อราชวงศ์อับบาซียะฮ์นี้ ถึงกับลงมือยกกำลังพลเข้าสู่มักกะฮ์ ในปี ฮ.ศ.317 ทำลายกะบะฮ์ ถอดหินดำจากที่ตั้ง และสังหารหมู่ ผู้ที่กำลังประกอบพิธีฮัจญ์ ในมัสยิดอัลหะรอม ไปถึงประมาณ 30,000 คน จากนั้น ก็โยนศพของเหยื่อเหล่านั้น ลงในบ่อน้ำซัมซัม
เหตุการณ์ทำนองนี้ น่าจะมีนัยยะสอนใจคนรุ่นหลัง ได้ว่า
- อำนาจทางการเมือง หากตกอยู่ในมือ ของคนที่ขาดสำนึกแห่งศาสนธรรม มักนำไปสู่ความตกขอบในเรื่อง การช่วยเหลือพวกพ้อง และปกป้องผลประโยชน์ส่วนตน
- แม้อิสลามจะสอนให้เคารพ ในเลือดเนื้อและชีวิต แต่อิสลามก็มักถูกนำไปเป็นเครื่องมือ ในการเข่นฆ่าผู้อื่นอยู่เสมอ โดยน้ำมือของ ผู้มีความคิดตกขอบในการตอบโต้ความอยุติธรรม
- การเมืองที่ขาดความยุติธรรม และขาดการเสียสละเพื่อส่วนรวม มักผลักดันให้คนบางกลุ่ม เกิดความคิดตกขอบในการต่อต้านสังคมเสมอ และยังนำไปสู่ความคิดตกขอบด้านศาสนาด้วย เช่น กำเนิดของชีอะฮ์ และคอวาริจญ์ เป็นต้น
ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ แม้จะเป็นปัจจัย ที่ก่อให้เกิดความคิดและการกระทำ อันถือได้ว่าตกขอบในอดีต แต่ปัจจัยดังกล่าว จะเกิดในยุคใดก็ย่อมให้ผล ไม่ต่างกัน ดังนั้น ตราบถึงปัจจุบัน ความคิดตกขอบในสังคมมุสลิมก็ยังมีอยู่ ทั้งนี้ เพราะปัจจัยต่างๆ ที่ได้กล่าวถึงแล้วนี้ ยังคงอยู่ หรืออาจกล่าวได้ว่า ความเข้มของปัจจัยเหล่านี้ มีมากกว่าในอดีตด้วยซ้ำไป เนื่องจาก สิ่งเดียวที่จะช่วยดับความร้อนแรง จากเปลวเพลิงแห่งอารมณ์อันก้าวร้าว เปลวเพลิงจากความคลั่งเชื้อชาติ และเปลวเพลิงจากความกระสันอยากทางการเมือง อันได้แก่ อิสลามบริสุทธิ์ ถูกสังคมจำกัดบทบาท อยู่เพียงพิธีกรรมไม่กี่อย่าง แล้วปล่อยช่องว่าง ให้เป็นสิทธิของ กิเลส ตัณหา อารมณ์ คอยบงการชี้นำ จนแม้ศาสนาที่บริสุทธิ์ ก็พลอยมัวหมอง เพราะตกเป็นเครื่องมือ ของคนที่คลั่งไคล้ เหล่านั้น
เมื่ออิสลาม เป็นสิ่งเดียวที่จะช่วย ดับเปลวเพลิงของความคลั่งไคล้และแค้นเคืองได้ จึงเป็นหน้าที่ของ ผู้รู้ (อุละมาอ์) ที่มีอิสลามอยู่กับตัว ต้องนำโอสถขนานนี้ มาบำบัดความทุกข์ร้อนที่กำลังเกาะกินใจของผู้คนอยู่ คือ ผู้รู้ ซึ่งอิสลาม ถือว่าเป็นทายาทสืบทอดศาสนธรรม จากบรมศาสดา (ซ็อลฯ) ที่สำคัญ ผู้รู้เองต้องไม่ปล่อยให้ ความรู้สึกรักและห่วงใยในพวกพ้องของตน มาปิดหูปิดตา จนไม่ยอมรับรู้ว่า มีความคิดและการกระทำตกขอบ ของมุสลิมซึ่งขัดแย้งกับ หลักธรรมอิสลามอยู่มากมาย ในสังคมนี้ สังคมที่ ถึงพร้อมด้วยเหตุและปัจจัยต่างๆ ซึ่งสามารถ ชักนำสู่ความตกขอบได้ เช่นเดียวกับ ที่เคยเกิดมาแล้ว ในประวัติศาสตร์อันยาวนาน การปฏิเสธความจริงและโยนความผิด ให้กับผู้อื่นร่ำไป เป็นการกระทำที่ดูเหมือน จะพยายามล้มล้างประวัติศาสตร์ ซึ่งไม่อาจเป็นไปได้ ซ้ำยังทำให้ปัญหา ยิ่งบานปลายและกลายเป็นการทำลาย ภาพลักษณ์ของอิสลาม ให้มัวหมองยิ่งขึ้นไปอีก
บทความที่น่าสนใจ