สามีภรรยาโดนตัว เสียน้ำละหมาดหรือไม่?


39,970 ผู้ชม

การสัมผัสภรรยานั้น เป็นปัญหาที่บรรดาปวงปราชญ์นิติศาสตร์อิสลาม จากมัซฮับทั้งหลาย มีความเห็นที่ขัดแย้ง และแตกต่างกัน อย่างกว้างขวาง และในเรื่องดังกล่าวนี้...


สามีภรรยาโดนตัวเสียน้ำละหมาดหรือไม่?

สามีภรรยาโดนตัว เสียน้ำละหมาดหรือไม่?

การสัมผัสภรรยานั้น เป็นปัญหาที่บรรดาปวงปราชญ์นิติศาสตร์อิสลาม จากมัซฮับทั้งหลาย มีความเห็นที่ขัดแย้ง และแตกต่างกัน อย่างกว้างขวาง และในเรื่องดังกล่าวนี้ ก็ได้มีหลักฐานต่างๆ มากมาย ที่ถูกถ่ายทอดกันมา และบรรดาปวงปราชญ์ ทั้งหลายเหล่านี้ ต่างก็ได้พยายามทำความเข้าใจในบรรดาโองการต่างๆ จากอัล-กุรอาน และพยายามทำความเข้าใจ บรรดาหะดีษต่างๆ เพื่อใช้ในการวินิจฉัยปัญหาศาสนา ซึ่งบรรดาปวงปราชญ์ ทั้งหลายเหล่านี้ คือ มุจญตะฮิด (นักวินิจฉัยปัญหาศาสนา) ผู้ได้รับผลตอบแทน จากอัลลอฮฺ ตะอาลา ทั้งสิ้น
ส่วนบรรดานักปราชญ์นิติศาสตร์อิสลาม ในมัซฮับชาฟีอี (รฮ) ของเรา คือ ปวงปราชญ์ในมัซฮับอัช-ชาฟิอีย์ มีความเห็นว่า “แท้จริงการที่ผู้ชาย ได้สัมผัสผิวหนังภรรยาของเขา และได้สัมผัสผู้หญิงอื่น ที่ไม่ใช่มะหฺรอม (เพศตรงข้ามที่ห้ามแต่งงานด้วย) ของเขานั้น ถือว่า ทำให้เสียน้ำละหมาด ถึงแม้ว่าจะเป็นการสัมผัส ที่ปราศจากอารมณ์ทางเพศก็ตาม”
โดยปราชญ์กลุ่มนี้ ได้อ้างหลักฐานจากอัล-กุรอาน ที่ว่า: 
وَإِنْ كُنْتُمْ جُنُبًا فَاطَّهَّرُوا وَإِنْ كُنْتُمْ مَرْضَى أَوْ عَلَى سَفَرٍ أَوْ جَاءَ أَحَدٌ مِنْكُمْ مِنَ الْغَائِطِ أَوْ لَامَسْتُمُ النِّسَاءَ فَلَمْ تَجِدُوا مَاءً فَتَيَمَّمُوا صَعِيدًا طَيِّبًا
และหากพวกเจ้า มีญะนาบะฮฺ ก็จงชำระร่างกาย ให้สะอาด และหากพวกเจ้าป่วย หรืออยู่ในการเดินทาง หรือคนใดในหมู่พวกท่าน มาจากการถ่ายทุกข์ หรือท่านทั้งหลาย ได้สัมผัสสตรีมา แล้วพวกเจ้าไม่พบน้ำ ก็จงมุ่งสู่ดินที่ดี” (ซูเราะฮฺ อัล-มาอิดะฮฺ : 6)
ซึ่งท่านอิมามอัช-ชาฟิอีย์ ได้ทำการอธิบายโองการที่ว่า :
لَامَسْتُمُ النِّسَاءَ
“ท่านทั้งหลายได้สัมผัสสตรี” (ซูเราะฮฺ อัล-มาอิดะฮฺ : 6)
"การสัมผัส" ตรงนี้หมายถึง การสัมผัสกัน ระหว่างผิวหนังของคนๆ หนึ่ง กับผิวหนังอีกคน ที่เป็นเพศตรงข้าม ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่การมีเพศสัมพันธ์กันก็ตาม (ก็ทำให้เสียน้ำละหมาด) ด้วยเหตุผลดังนี้ คือ 

1. แท้จริงอัลลอฮฺ ตะอาลา ได้กล่าวถึงการมีญะนาบะฮฺ ซึ่งเป็นเรื่องหะดัษใหญ่ไปแล้ว ในช่วงแรกของอายะฮฺ หลังจากนั้นอัลลอฮฺ ตะอาลา ก็มากล่าวถึงการถ่ายทุกข์ต่อ และก็ตามมาด้วยการสัมผัสสตรี ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่บ่งชี้ว่า เป็นหะดัษเล็ก (คือ ช่วงแรกกล่าวถึงหะดัษใหญ่ก่อน และกล่าวตามด้วยหะดัษเล็กทีหลัง) เช่น การถ่ายทุกข์ เป็นต้น ซึ่งแน่นอนว่า การถ่ายทุกข์นั้น ไม่ใช่หะดัษใหญ่  ดังนั้น จุดประสงค์ของอัลลอฮฺ ตะอาลา ที่กล่าวในอายะฮฺข้างต้น ตรงนี้ คือ การสัมผัสด้วยมือ ไม่ใช่หมายถึง การมีเพศสัมพันธ์ (เพราะการสัมผัสผิวหนังของสตรีนั้น เป็นแค่หะดัษเล็กเท่านั้น)
2. ความชัดเจนด้านภาษาอาหรับ คำว่า “لامس” หมายถึง “การสัมผัส”  เหมือนกับที่เราอ่านในโองการอื่นที่ว่า ..
فَلَمَسُوهُ بِأَيْدِيهِمْ
แล้วพวกเขาก็ได้สัมผัสคัมภีร์นั้นด้วยมือของพวกเขาเอง” (ซูเราะฮฺ อัล-อันอาม : 7)
3. และปราชญ์กลุ่มนี้ ยังได้อ้างหลักฐานอีกว่า มีรายงานจากท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ อุมัร (ร.ด.) ได้กล่าวว่า ..
قبلة الرجل امرأته وجسها بيده من الملامسة، فمن قبل امرأته، أو جسها بيده، فعليه الوضوء
การจูบภรรยาของชายคนหนึ่ง และการสัมผัสแตะต้องตัวของนางด้วยมือนั้น เป็นส่วนหนึ่งของการกระทำที่เรียกว่า การสัมผัส (อัล-มุลามะสะฮฺ) ดังนั้น ผู้ใดก็ตามที่ได้จูบภรรยาของเขา หรือได้สัมผัสแตะต้องตัวนางด้วยมือของเขา ดังนั้น ก็จำเป็นสำหรับเขาที่จะต้องอาบน้ำละหมาด”  (บันทึกโดย ท่านอิมามมาลิก ในตำรา อัล-มุวัฏเฏาะอฺ ด้วยสายรายงานที่เศาะเฮี๊ยะหฺ)
ท่านอิมาม อัล-บุญัยริมีย์ ได้กล่าวว่า ..
اعلم أن اللمس ناقض بشروط خمسة: أحدها: أن يكون بين مختلفين ذكورة وأنوثة. ثانيها: أن يكون بالبشرة دون الشعر والسن والظفر. ثالثها: أن يكون بدون حائل. رابعها: أن يبلغ كل منهما حدا يشتهى فيه. خامسها: عدم المحرمية
 “พึงทราบไว้เถิดว่า การสัมผัสที่จะทำให้เสียน้ำละหมาดได้นั้น ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข 5 ประการด้วยกัน คือ 
1.   ต้องเป็นการสัมผัสกัน ระหว่างเพศชายกับเพศหญิง
2.   ต้องเป็นการสัมผัสกัน ระหว่างผิวหนังด้วยกัน ไม่ใช่ไปสัมผัสกับเส้นผม ,เส้นขน ,ฟัน หรือเล็บ
3.   ต้องเป็นการสัมผัสกัน โดยปราศจากสิ่งปิดกั้น
4.   ต้องเป็นการสัมผัสกัน โดยที่ทั้งสองคนต่าง ก็มีอารมณ์ใคร่ด้วยกันทั้งคู่
5.   ต้องเป็นการสัมผัส กับผู้ที่ไม่ใช่มะห์รอม (เพศตรงข้ามที่แต่งงานกันไม่ได้)
ดู ตำรา  หาชียะฮฺ อัล-บุญัยริมีย์  โดย ท่านอิมาม อัล-บุญัยริมีย์  เล่มที่ 1  หน้าที่ 211
ส่วนทัศนะของปราชญ์ มัซฮับหะนะฟีย์ มีความเห็นว่า แท้จริงการสัมผัสสตรีนั้น ไม่ทำให้เสียน้ำละหมาดแต่อย่างใด ไม่ว่าสตรีนางนั้น จะเป็นภรรยา หรือเป็นสตรีทั่วไป หรือเป็นมะหฺรอม (เพศตรงข้ามที่แต่งงานกันไม่ได้) ก็ตาม และไม่ว่าจะเป็นการสัมผัส โดยมีอารมณ์ใคร่ หรือสัมผัส โดยไม่มีอารมณ์ใคร่ก็ตาม ก็ไม่ทำให้เสียน้ำละหมาดแต่อย่างใด
ท่านอิมาม อัซ-ซะรอคซีย์  กล่าวว่า : 
لا يجب الوضوء من القبلة ومس المرأة، بشهوة أو غير شهوة
“ไม่จำเป็นจะต้องอาบน้ำละหมาดใหม่ สำหรับผู้ที่จูบหรือสัมผัสสตรี ไม่ว่าจะสัมผัสด้วยอารมณ์ใคร่หรือไม่มีอารมณ์ใคร่ก็ตาม”
ดู ตำรา อัล-มับสูฏ โดยท่านอิมาม อัซ-ซะรอคซีย์  เล่มที่ 1  หน้าที่ 121

 
โดยปราชญ์กลุ่มนี้ได้อ้างหลักฐานต่างๆ มากมายเช่นกัน ส่วนหนึ่งคือ 
1. แท้จริงหลักการเดิมๆ นั้นคือ มีความถูกต้อง ในความสะอาด (สำหรับการสัมผัสสตรี) และถือว่าไม่เสียน้ำละหมาด นอกจากจะต้องมีหลักฐานที่ถูกต้อง และชัดเจนมารองรับเท่านั้น
2. มีหะดีษเศาะเฮี๊ยะหฺบางส่วน ที่มาบ่งชี้ว่าแท้จริงท่านนบี (ซ.ล.) ไม่ได้อาบน้ำละหมาดใหม่ เมื่อได้สัมผัสกับพระนางอาอิชะฮฺ (ร.ด.) ซึ่งพระนางอาอิชะฮฺ (ร.ด.) ได้กล่าวว่า ..
كُنْتُ أَنَامُ بَيْنَ يَدَيْ رَسُولِ اللهِ صلى الله عليه وسلم وَرِجْلاَيَ فِي قِبْلَتِهِ، فَإِذَا سَجَدَ غَمَزَنِي
ฉันเคยนอนอยู่ต่อหน้าท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ในขณะที่เท้าทั้งสองของฉัน พาดไปทางทิศกิบลัตของท่าน ดังนั้นเมื่อท่านสุญูดลง ท่านก็จะเอามือมาสัมผัสฉัน” (บันทึกโดย บุคอรีย์-มุสลิม)
และพระนางอาอิชะฮฺ (ร.ด.) ยังได้กล่าวอีกว่า : 
فَقَدْتُ رَسُولَ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ لَيْلَةً مِنَ الْفِرَاشِ فَالْتَمَسْتُهُ فَوَقَعَتْ يَدِي عَلَى بَطْنِ قَدَمَيْهِ
ในคืนหนึ่ง ฉันได้คลำหาท่านรสูล (ซ.ล.) ตรงที่นอน แล้วฉันก็ได้สัมผัสกับท่านรสูล (ซ.ล.) แล้วมือของฉัน ก็ได้วางอยู่บนฝ่าเท้าทั้งสองของท่าน” (บันทึกโดยมุสลิม หะดีษที่ 486)
3. ส่วนในโองการที่ว่า ..
لَامَسْتُمُ النِّسَاءَ

“ท่านทั้งหลายได้สัมผัสสตรี”
 (ซูเราะฮฺ อัล-มาอิดะฮฺ : 6)
“การสัมผัส” ตรงนี้หมายถึง “การมีเพศสัมพันธ์”  ดังคำตรัสของอัลลอฮฺ ตะอาลา ที่ได้กล่าวถึง เรื่องของพระนางมัรยัม ว่า :
لَمْ يَمْسَسْنِي بَشَرٌ
“ทั้ง ๆ ที่มิได้มีบุรุษใด แตะต้องข้าพระองค์” (ซูเราะฮฺ อาละอิมรอน : 47)
และนี่ยังเป็นทัศนะของกลุ่มหนึ่ง จากบรรดาเศาะหาบะฮฺ อาทิ ท่านอะลีย์ บิน อะบีฏอลิบ ,ท่านอิบนุ อับบาส อีกทั้งยังถูกรายงานมาจากท่านอุมัร อิบนุ ค็อฏฏอบ เช่นกัน
ดู ตำรา อัล-มุศ็อนนัฟ  โดย ท่านอับดุรรอซซาก อัศ-ศอนอานีย์ เล่มที่ 1  หน้าที่ 134
แท้จริงปราชญ์ จากมัซฮับมาลิกีย์ และปราชญ์ จากมัซฮับหัมบะลีย์ ได้ทำการรวมหลักฐาน จากทั้งสองกลุ่มข้างต้น และมีความเห็นว่า การกระทบ หรือสัมผัส ที่ทำให้เสียน้ำละหมาด คือ การกระทบ หรือสัมผัสกัน ระหว่างผิวหนังกับผิวหนัง โดยมีอารมณ์ใคร่  นี่คือเป้าหมายของโองการจากอัล-กุรอาน แต่หากว่าเป็นการกระทบ หรือสัมผัสกัน โดยปราศจากอารมณ์ใคร่ ดังที่มีหะดีษรายงานมาจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ด.) ก็ถือว่า ไม่เสียน้ำละหมาด แต่ประการใด
ดู ตำรา  หาชียะฮฺ อัด-ดะสูกีย์  โดย ท่านอิมาม อัด-ดะสูกีย์  เล่มที่ 1  หน้าที่ 411  ,ตำรา  ชัรหุ มุนตะฮา อัล-อิรอดาต  โดย ท่านอิมาม อัล-บุฮูตีย์  เล่มที่ 1  หน้าที่ 73  ,ตำรา  อัล-มุฆนีย์  โดย ท่านอิบนุ กุดามะฮฺ  เล่มที่ 1  หน้าที่ 142
และสุดท้ายแล้ว สิ่งที่ถูกยึดถือ ในการฟัตวาชี้ขาด ของสถาบันชี้ขาดปัญหาศาสนาแห่งนี้ คือ ยึดตามทัศนะของปราชญ์ ในมัซฮับอัช-ชาฟิอีย์ ซึ่งเป็นทัศนะที่รอบคอบ และปลอดภัยที่สุด โดยอาศัยการบ่งชี้ ที่ชัดเจนจากอัล-กุรอาน ส่วนหะดีษของพระนางอาอิชะฮฺ (ร.ด.) นั้น แท้จริงท่านอิมามอัน-นะวะวีย์ ได้ให้ทัศนะว่า ..
حملوا الحديث على أنه غمزها فوق حائل، وهذا هو الظاهر من حال النائم، فلا دلالة فيه على عدم النقض
“หะดีษนี้ ถูกยึดอยู่บนความเข้าใจที่ว่า แท้จริงท่านรสูล (ซ.ล.) ได้สัมผัสพระนางอาอิชะฮฺ (ร.ด.) โดยมีสิ่งปิดกั้นอยู่ และนี่คือสิ่งที่ปรากฏอยู่ภายนอก จากสภาพของผู้ที่นอน ดังนั้น ไม่มีหลักฐานใดเลย ที่มาบ่งชี้อย่างชัดเจนว่า การสัมผัสสตรี หรือภรรยานั้น ไม่ทำให้เสียน้ำละหมาด !!”
ดู ตำรา  ชัรหุ มัสลิม  โดย ท่านอิมาม อัน-นะวะวีย์  เล่มที่ 4  หน้าที่ 230
ชี้ขาดโดย สถาบันดาอิเราะฮฺ อัล-อิฟตาอฺ อัล-อาม อัล-อุรดุน (สถาบันชี้ขาดปัญหาศาสนาแห่งประเทศจอร์แดน)


ที่มา : aliftaa.jo 
จากคุณ  MUFFTY

อัพเดทล่าสุด