ทิ้งละหมาดถึง 30 ปี ต้องทำอย่างไรดี จำเป็นต้องชดใช้ก่อนหน้านี้หรือไม่?


14,564 ผู้ชม

ในอดีตผมทิ้งนมาซฟัรฺฎู จนปัจจุบันผมอายุ 30 ปีแล้ว อยากถามว่า การนมาซที่ทิ้งไปก่อนหน้านี้ หากผมเตาบะฮฺตัวจะได้ไหม ซึ่งตอนนี้ผมนมาซครบแล้ว หรือผมต้องทำอย่างไรดีครับ?


ทิ้งละหมาดถึง 30 ปี ต้องทำอย่างไรดี จำเป็นต้องชดใช้ก่อนหน้านี้หรือไม่?

ในอดีตผมทิ้งนมาซฟัรฺฎู จนปัจจุบันผมอายุ 30 ปีแล้ว อยากถามว่า การนมาซที่ทิ้งไปก่อนหน้านี้ หากผมเตาบะฮฺตัวจะได้ไหม ซึ่งตอนนี้ผมนมาซครบแล้ว หรือผมต้องทำอย่างไรดีครับ?

ตอบโดย: อ.มุรีด ทิมะเสน

การทิ้งนมาซฟัรฺฎูถือเป็นบาปใหญ่ เฉกเช่น บาปทำซินา หรือบาปดื่มสุรา เป็นต้น

ท่านรสูลุลลอฮฺกล่าวว่า : 

بَيْنَ الْعَبْدِ، وَبَيْنَ الْكُفْرِ تَرْكُ الصَّلَاةِ

“ระหว่างบ่าวคนหนึ่งกับการปฏิเสธ (กุฟรฺ) นั้นคือการละทิ้งการนมาซ (ฟัรฺฎู)” [หะดีษเศาะหี้หฺ, บันทึกโดยอบูดาวูด หะดีษที่ 4678]

หะดีษข้างต้นนักวิชาการได้อธิบายว่า การปฏิเสธข้างต้นหมายถึง การปฏิเสธความโปรดปราน (นิอฺมะฮฺ) ของอัลลอฮฺ กล่าวคือ อัลลอฮฺให้ริซกี ให้อากาศหายใจ ฯลฯ แต่ไม่ขอบคุณ ไม่เชื่อฟังพระองค์ ไม่สุญูด เป็นต้น แต่ความมิได้หมายรวมว่า มุสลิมคนหนึ่งทิ้งนมาซฟัรฺฎู เขาจะสิ้นสภาพการเป็นมุสลิม (ส่วนทัศนะที่ระบุว่าสิ้นสภาพการเป็นมุสลิมก็มีเช่นกัน) แต่ถ้ากรณีเขาปฏิเสธว่าการนมาซฟัรฺฎูไม่ใช่วาญิบ นั่นแหละถึงจะสิ้นสถาพการเป็นมุสลิม (ตกมุรฺตัด)

ประเด็นถัดมา เมื่อเราทำผิดหลักการ แล้วเตาบะฮฺ (กลับตัว) ยังพระองค์อัลลอฮฺ เช่นนี้เขาย่อมได้รับการอภัยโทษให้ อีกทั้งคนซึ่งกระทำความผิด แล้วขอลุแก่โทษ เช่นนี้ ถือว่าเขายังเป็นบุคคลที่ดีในทัศนะของอิสลามอีกด้วย

ท่านรสูลุลลอฮฺกล่าวว่า :

كُلُّ ابْنِ آدَمَ خَطَّاءٌ وَخَيْرُ الخَطَّائِينَ التَّوَّابُونَ

“ลูกหลานอาดัมทุกคนล้วนมีความผิดทั้งสิ้น และบรรดาบุคคลซึ่งกระทำความผิดที่ดี คือ (ผิดแล้ว) เตาบะฮฺตัว (ขอลุแก่โทษต่ออัลลอฮฺ) นั่นเอง” [หะดีษหะสัน, บันทึกโดยติรฺมิซีย์ หะดีษที่ 2499]

ประการสุดท้าย กรณีในอดีตเราทิ้งนมาซฟัรฺฎู ตั้งแต่เราบรรลุศาสนภาวะมา ขณะนี้เราอายุ 30 ปี หรือจะอายุเท่าไรก็ตาม เช่นนี้ให้เราเตาบะฮฺตัวต่ออัลลอฮฺว่าจะไม่ทิ้งนมาซอีกแล้ว จากนั้นให้เรานมาซครบ 5 เวลาทุกวัน โดยไม่ต้องชดใช้นมาซที่ละทิ้งมาก่อนหน้านี้แต่อย่างใด,ทว่าให้เรานมาซสุนนะฮฺเยอะๆ เพราะการนมาซสุนนะฮฺเยอะๆ จะช่วยให้การนมาซฟัรฺฎูที่เคยบกพร่องในอดีตเกิดความสมบูรณ์

ท่านรสูลุลลอฮฺกล่าวว่า :

إِنَّ أَوَّلَ مَا يُحَاسَبُ بِهِ العَبْدُ يَوْمَ القِيَامَةِ مِنْ عَمَلِهِ صَلَاتُهُ، فَإِنْ صَلُحَتْ فَقَدْ أَفْلَحَ وَأَنْجَحَ، وَإِنْ فَسَدَتْ فَقَدْ خَابَ وَخَسِرَ، فَإِنْ انْتَقَصَ مِنْ فَرِيضَتِهِ شَيْءٌ، قَالَ الرَّبُّ عَزَّ وَجَلَّ: انْظُرُوا هَلْ لِعَبْدِي مِنْ تَطَوُّعٍ فَيُكَمَّلَ بِهَا مَا انْتَقَصَ مِنَ الفَرِيضَةِ، ثُمَّ يَكُونُ سَائِرُ عَمَلِهِ عَلَى ذَلِكَ

“แท้จริงสิ่งแรกที่บ่าว (ของอัลลอฮฺ) จะถูกสอบสวนการงานของเขาในวันกิยามะฮฺคือ การนมาซ (ฟัรฺฎู) ของเขา, หากการนมาซ (ฟัรฺฎู) ของเขาครบถ้วน แน่นอนเขาจะประสบความสำเร็จ และความจำเริญ แต่หากการนมาซ (ฟัรฺฎู) ของเขาบกพร่อง เขาจะประสบกับความสิ้นหวัง และความเสียหาย, ซึ่งหากมีสิ่งหนึ่งทำให้การนมาซฟัรฺฎูของเขาบกพร่อง, พระผู้อภิบาลจักทรงตรัสขึ้นว่า พวกท่านจงพิจารณาดูเถิดว่า บ่าวของฉันมีนมาซสุนนะฮฺไหม? (ถ้ามี) จงทำให้นมาซฟัรฺฎูที่เคยบกพร่อง สมบูรณ์ด้วยการนมาซสุนนะฮฺของเขาเถิด, ต่อมาเขาจะถูกสอบสวนการงานอื่นๆ หลังจากนั้น”

[หะดีษเศาะหี้หฺ, บันทึกโดยติรฺมิซีย์ หะดีษที่ 413]

วัลลอฮุอะอฺลัม

อัพเดทล่าสุด