เราต่องเท่าทันสื่อ...
หลายๆคนคงสงสัยว่าเรามุสลิมจะออนไลน์เพื่อเล่นหรือใช้งานอินเตอร์เน็ตได้ไหม? หรือมีขอบเขตอย่างไร? คำถามดังกล่าวนั้นมีข้อขัดแย้งกันเล็กน้อย เนื่องจากนักวิชาการอิสลามบางท่านได้ระบุคำวินิจฉัยศาสนาหรือฟัตวา ว่าห้ามใช้อินเตอร์เน็ตทั้งนี้เพื่อป้องกันบ่อนทำลายและความเสื่อมเสียที่เกิดขึ้น ขณะที่นักวิชาการส่วนหนึ่งก็ได้อนุญาติให้ใช้มันภายใต้กฏเกณท์
อินเตอร์เน็ตนั้นหะลาลหรือหะรอม?
ณ ที่นี้ขอกล่าวถึงทัศนะของเชคยูซุฟ อัลกอรฏอวีย์ ซึ่งได้ตอบข้อซักถามถึงทัศนะของอินเตอร์เน็ต เชคยูซุฟกล่าวว่า "อัลลอฮฺทรงดำรัสให้การเรียกร้องสู่ศาสนาของพระองค์ (คือศาสนาอิสลาม) เป็นเรื่องจำเป็นต่อประชาชาตินี้ ดังโองการที่ว่า
وَلْتَكُن مِّنكُمْ أُمَّةٌ يَدْعُونَ إِلَى الْخَيْرِ وَيَأْمُرُونَ بِالْمَعْرُوفِ وَيَنْهَوْنَ عَنِ الْمُنكَرِ وَأُوْلَـئِكَ هُمُ الْمُفْلِحُونَ
ความว่า "และจงให้มีขึ้นจากพวกเจ้า ซึ่งคณะหนึ่งที่จะเชิญชวนไปสู่ความดีและใช้ให้กระทำสิ่งที่ชอบ และห้ามมิให้กระทำสิ่งที่มิชอบและชนเหล่านี้แหละพวกเขาคือผู้ได้รับความสำเร็จ" (อาละอิมรอน 104)
ดังกล่าวนี้จึงจำเป็นต่อนักเรียกร้องทั้งหลายที่เขาจะต้องค้นหาสื่อใหม่ๆในการเผยแพร่อิสลาม อาทิเช่น วิทยุ โทรทัศน์ รวมทั้งหนังสือพิมพ์
ส่วนความเห็นของผมนั้นคิดว่า อินเตอร์เน็ตเป็นที่แพร่หลายไปทั่วทุกมุมโลก มนุษย์นับล้านสามารถรับรู้ข่าวสารและเรื่องราวต่างๆโดยมิได้จำกัดชนชั้น หรือศาสนา ดังนั้นสมควรที่เราจะต้องทำให้ศาสนาแห่งสัจธรรมนี้ไปสู่ชาวโลกทั้งมวล การใช้อินเตอร์เน็ตถือเป็นเรื่องสมควรอย่างยิ่ง ซึ่งอินเตอร์เน็ตมันก็เปรียบเหมือนงานหนึ่งของช่องอวกาศที่มันไร้พรมแดน มันไม่มีที่สิ้นสุด ตราบใดที่ยังมีคอมพิวเตอร์และโมเด็ม
ดังกล่าวนี้ มิอาจกล่าวได้ว่าอินเตอร์เน็ตมันเป็นเรื่องหะลาลหรือหะรอม แต่ทว่ามันจะหะลาลหรือหะรอม ขึ้นอยู่กับการใช้งานของผู้ที่ต้องการเข้าเน็ต เป็นไปตามจุดประสงค์ของการใช้งาน บางคนใช้เน็ตในเรื่องของเพศหรือสิ่งลามกอนาจารก็ถือเป็นหะรอม ขณะที่บางคนก็ใช้มันเพื่อปกป้องอิสลาม ศึกษาอิสลามก็เป็นที่อนุญาติหะลาลสำหรับเขา ส่วนฟัตวาที่ออกมาห้ามปรามนั้นก็เพราะว่ากลัวว่าจะถูกใช้ไปในเรื่องอนาจาร หรือเรื่องเสื่อมเสีย เพราะปัจจุบันนี้คาดการณ์ว่ามีเว็บลามก หรือรวมกระทั้งเว็บบิดเบือนอิสลามก็มีอยู่มากมาย
แม้ก่อนหน้านี้ เคยมีแบบสอบถามเรื่อง เว็บลามกในอินเทอร์เน็ตในสายตา "ผู้ใช้คอมพิวเตอร์" ของสวนดุสิตโพลล์ สำรวจผู้ใช้คอมพิวเตอร์ จำนวน 1,108 คน ผลออกมาว่า ผู้ใช้คอมพิวเตอร์กว่า 90 % เคยพบเว็บลามกในอินเทอร์เน็ต แต่ถ้าหากว่าเรามาพิจารณาถึงคุณประโยชน์กับโทษของมันแล้วเราก็จะพบว่า เป็นไปได้ที่เราจะได้รับประโยชน์อันมากมายดังที่เราจะใช้มันไปในเรื่องของความดีงามทั้งหลาย และห่างไกลจากการบ่อนทำลาย
หลายฝ่ายเคยให้ความเห็นว่า วัยรุ่นมุสลิมไทยในปัจจุบันมักใช้อินเทอร์เน็ตไปเพื่อความบันเทิงที่ไม่มีสาระประโยชน์มากนัก ที่นิยมกันมากเห็นจะเป็นการเข้าห้องสนทนา และหัวข้อสนทนาที่พบโดยทั่วไปมักเป็นเพียงการพูดคุยหยอกล้อกัน หรือจีบกัน สาเหตุ หนึ่งอาจเป็นเพราะข้อจำกัดด้านภาษา จึงทำให้เด็กวัยรุ่นมุสลิมไทยไม่รู้สึกสนุกที่จะสืบค้นหาความรู้อิสลามหรือความรู้ทั่วไปจากเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่มีอยู่มากมาย เนื่องจากเว็บไซต์เหล่านั้นส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษและภาษาอาหรับดังนั้น ส่วนเว็บมุสลิมในไทยที่มีอยู่หลายสิบเว็บ ส่วนใหญ่ก็จะขาดการปรุงปรุงข้อมูล หรืออัพเดต จึงทำให้อาจรู้สึกเบื่อหน่ายในการเปิดเว็บวิชาการ
ส่วนกรณีของการล่อลวงโดยใช้เป็นสื่อนั้น การดูแลป้องกันก็คงต้องอาศัยการอบรม ดูแลจากผู้ปกครอง และครูอาจารย์ เพื่อให้เด็กและเยาวชนตระหนักถึงภัยที่อาจจะเกิดขึ้นได้ และไม่ตกเป็นเหยื่อของผู้ที่มีเจตนาร้าย โดยความรู้ เท่าไม่ถึงการณ์ ทั้งนี้มีแนวทางสำหรับผู้ปกครองในการดูแลบุตรหลานของพี่น้องที่ใช้อินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นแนวทางที่สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างง่าย ๆ ในชีวิตจริง แนวทางทั้งของ ผู้ปกครอง และของเยาวชนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต นั้นพอสรุปได้ดังต่อไปนี้
1. ข้าพเจ้าจะใช้อินเตอร์เน็ตไปในหนทางของศาสนา และใช้เวลาเล่นด้วยกันกับบุตรหลานของข้าพเจ้าเพื่อเรียนรู้ว่าเขาใช้อินเทอร์เน็ตไปในทางใด และมีความสนใจในเรื่องใด
2. ข้าพเจ้าจะสอนให้บุตรหลานรู้ถึงศิลปะป้องกันตัว 7 ประการสำหรับเยาวชนมุสลิมที่ใช้อินเทอร์เน็ต
3. ข้าพเจ้าจะพูดคุยทำความเข้าใจกับบุตรหลานเกี่ยวกับการใช้อินเทอร์เน็ตของเขา เช่น เวลาปฏิบัติศาสนกิจ และเวลาที่ใช้ออนไลน์ได้ จำนวนชั่วโมง ให้ใช้ได้ ประเภทของเว็บไซต์หรือกิจกรรมทางอินเทอร์เน็ตที่เข้าร่วมได้ เป็นต้น
4. ข้าพเจ้าจะวางคอมพิวเตอร์ที่บุตรหลานใช้ไว้ในที่เปิดเผย เช่น ห้องนั่งเล่น มากกว่าที่จะวางไว้ในห้องนอน หรือห้องส่วนตัวของเขา
ส่วนศิลปะป้องกันตัว 7 ประการสำหรับเยาวชนมุสลิมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตนั้นมีดังนี้
1. ข้าพเจ้าจะใช้อินเตอร์เน็ตในเรื่องการศึกษาอิสลามจากเว็บไซต์และการพูดคุยในหัวข้อเรื่องที่เกี่ยวกับอิสลาม หรือสนทนาเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างมุสลิมโดยไม่ทำให้ขาดหรือบกพร่องในการปฏิบัติศาสนกิจของมุสลิม
2. ข้าพเจ้าจะไม่บอกข้อมูลส่วนตัว เช่น ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ ชื่อโรงเรียน ที่ทำงานหรือเบอร์ที่ทำงานของผู้ปกครอง ให้แก่บุคคลอื่นที่รู้จักทางอินเทอร์เน็ต โดยไม่ขออนุญาตจากผู้ปกครองก่อน
3. ข้าพเจ้าจะแจ้งให้ผู้ปกครองทราบโดยทันที หากข้าพเจ้าพบข้อความหรือรูปภาพใด ๆ บนอินเทอร์เน็ต ที่หยาบคาย หรือไม่เหมาะสมโดยประการทั้งปวง
4. ข้าพเจ้าจะไม่ยินยอมไปพบบุคคลใดก็ตามที่ข้าพเจ้าได้รู้จักทางอินเทอร์เน็ต โดยไม่ขออนุญาตจากผู้ปกครองก่อน และหากผู้ปกครองอนุญาตให้ข้าพเจ้าไปพบบุคคลนั้นได้ ข้าพเจ้าก็จะไปพบเขาในที่สาธารณะซึ่งมีคนผ่านไปมา โดยมีผู้ปกครองของข้าพเจ้าไปด้วย
5. ข้าพเจ้าจะไม่ตอบคำถามหรือต่อความกับผู้ที่สื่อข้อความหยาบคายหรือไม่เหมาะสม แต่ข้าพเจ้าจะแจ้งให้ผู้ปกครอง ทราบโดยทันที
6. ข้าพเจ้าจะเคารพต่อข้อตกลงอื่น ๆ ที่ให้ไว้กับผู้ปกครอง เช่น กำหนดระยะเวลาที่ข้าพเจ้าจะใช้อินเทอร์เน็ตได้ เว็บไซต์ที่ข้าพเจ้าเข้าได้และข้อตกลงอื่นใดอย่างเคร่งครัด
7. ข้าพเจ้าจะไม่พยายามหลบเลี่ยงกฎทั้งหมดข้างต้น ไม่ว่าในกรณีใด
จะทำเว็บไซต์เผยแพร่อิสลามจากเงินซะกาตได้ไหม?
ประเด็นนี้ เชคยูซุฟ อัลกอรฏอวีย์ ได้ตอบว่า อนุญาติให้นำเงินลงทุนเพื่อสร้างเว็บไซต์เผยแพร่อิสลามด้วยกับเงินซะกาต เพื่อจะได้เผยแพร่สาส์นแห่งสัจธรรมอิสลาม และสามารถแข่งขันกับเว็บอื่นๆได้ ถึงแม้ว่าจะเป็นเงินซะกาต หรือเงินซ่อดาเกาะฮ์ก็ตาม เพราะเป็นการส่งเสริมจุดยืนของเราให้เข้มแข็ง เผยแพร่อิสลามที่ถูกต้องด้วยกับวิทยาการความก้าวหน้าของไอที
ชาย-หญิงจะสนทนา (Chat) กันได้ไหม?
เชคมุฮัมมัด ซอและห์ อัลมุนัจญิด ได้ให้คำตอบไว้ว่า ศาสนาของอัลลอฮฺได้ห้ามการเดินตามรอยเท้าของมารร้าย และได้ห้ามทุกๆสิ่งที่จะไปสู่สิ่งที่หะรอม แม้ว่าโดยพื้นฐานของสิ่งนั้นจะอนุญาตก็ตาม
ซึ่งอุละมาอฺเรียกหลักการนี้ว่า "กออิดะตุ ซัดดิ อัลซะรออิอฺ" (หลักการสกัดกั้นหนทางที่จะนำไปสู่ความชั่ว) ในเรื่องนี้อัลลอฮฺ ศุบหฯได้กล่าวไว้ใน อันนูร อายะห์ที่ 21 ว่า
يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا لَا تَتَّبِعُوا خُطُوَاتِ الشَّيْطَانِ
ความว่า "โอ้ บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย ! พวกเจ้าอย่าติดตามทางเดินของชัยตอน"
เกี่ยวกับประเด็นที่สอง อัลลอฮฺ ศุบหนะฮูว่าตะอาลาได้กล่าวไว้
وَلاَ تَسُبُّواْ الَّذِينَ يَدْعُونَ مِن دُونِ اللّهِ فَيَسُبُّواْ اللّهَ عَدْواً بِغَيْرِ عِلْمٍ كَذَلِكَ زَيَّنَّا لِكُلِّ أُمَّةٍ عَمَلَهُمْ ثُمَّ إِلَى رَبِّهِم مَّرْجِعُهُمْ فَيُنَبِّئُهُم بِمَا كَانُواْ يَعْمَلُونَ
ความว่า "และพวกเจ้าจงอย่าด่าว่า บรรดาที่พวกเขาวิงวอนขอ อื่นจากอัลลอฮฺ แล้วพวกเขาก็จะด่าว่าอัลลอฮฺเป็นการละเมิดโดยปราศจากความรู้" (อัลอันอาม 6 : 108)
ณ ที่นี้ อัลลอฮฺ ศุบหฯ ได้ห้ามผู้ศรัทธาจากการด่ามุชริกีน(ผู้ตั้งภาคีทั้งหลาย) เพื่อไม่ให้นำไปสู่การด่าผู้เป็นเจ้า
มีตัวอย่างมากมายที่ว่าด้วยหลักการของชะรีอะฮฺข้อนี้ อิบนุ กอยยิม ได้อ้างถึงไว้มากมายและอธิบายไว้อย่างดีเยี่ยมในงานเขียนชิ้นเยี่ยมของท่าน ชื่อ "อะอฺลาม อัล มุวะกฺกิอีน"( ดูหน้า 3/147-171)
ปัญหานี้ก็อยู่ในระดับที่กล่าวมานี้เอง การสนทนาไม่ว่าจะด้วยวาจาหรือด้วยการเขียนที่เกิดขึ้นระหว่างชายและหญิงนั้นอนุญาตโดยตัวมันเอง แต่มันอาจนำไปสู่การตกสู่กับดักของชัยตอน ซึ่งใครก็ตามที่รู้ว่าเขาอ่อนแอ และเกรงว่าจะตกสู่หลุมพรางของชัยฏอน ก็ให้เขายุติการสนทนาเพื่อที่จะปกป้องตัวเขาเองให้ปลอดภัย ส่วนใครก็ตามที่รู้ว่าตัวเขาเองเป็นคนมั่นคง เราคิดว่าเป็นที่อนุญาตให้กับเขาได้ในกรณีนี้ แต่ต้องมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้
1. การสนทนานั้นจะต้องไม่เกินเลยออกจากหัวข้อที่ยกมาคุยกัน หรือออกจากเป้าหมายการดะอฺวะฮ ฺ(เรียกร้องเชิญชวน) ไปสู่อิสลาม
2. จะต้องไม่ทำเสียงให้อ่อนหวาน หรือแสดงออกอย่างนุ่มนวลเกินไป
3. จะต้องไม่มีการถามคำถามส่วนตัว ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับหัวข้อที่กำลังพูดคุยกันอยู่ เช่น ถามเรื่องอายุ ส่วนสูง หรือที่พัก เป็นต้น
4. สำหรับพี่น้องมุสลิมีนและมุสลิมะฮฺที่ได้เข้าร่วมในการสนทนาหรืออ่านข้อความตอบโต้กันนั้น (ขอให้รู้ว่า) ชัยฏอนเองไม่ได้ทิ้งหนทางที่จะเข้าสู่หัวใจของผู้ที่สนทนากันอยู่
5. การสนทนาหรือการตอบโต้นั้นจะต้องยุติทันที หากว่าหัวใจเริ่มรู้สึกถึงอารมณ์ปรารถนา
เกี่ยวกับประเด็นที่สอง อัลลอฮฺ ศุบหนะฮูว่าตะอาลาได้กล่าวไว้ ความว่า (อัลอันอาม 6 : 108) ณ ที่นี้ อัลลอฮฺ ศุบหฯ ได้ห้ามผู้ศรัทธาจากการด่ามุชริกีน(ผู้ตั้งภาคีทั้งหลาย) เพื่อไม่ให้นำไปสู่การด่าผู้เป็นเจ้า มีตัวอย่างมากมายที่ว่าด้วยหลักการของชะรีอะฮฺข้อนี้ อิบนุ กอยยิม ได้อ้างถึงไว้มากมายและอธิบายไว้อย่างดีเยี่ยมในงานเขียนชิ้นเยี่ยมของท่าน ชื่อ "อะอฺลาม อัล มุวะกฺกิอีน"( ดูหน้า 3/147-171) ปัญหานี้ก็อยู่ในระดับที่กล่าวมานี้เอง การสนทนาไม่ว่าจะด้วยวาจาหรือด้วยการเขียนที่เกิดขึ้นระหว่างชายและหญิงนั้นอนุญาตโดยตัวมันเอง แต่มันอาจนำไปสู่การตกสู่กับดักของชัยตอน ซึ่งใครก็ตามที่รู้ว่าเขาอ่อนแอ และเกรงว่าจะตกสู่หลุมพรางของชัยฏอน ก็ให้เขายุติการสนทนาเพื่อที่จะปกป้องตัวเขาเองให้ปลอดภัย ส่วนใครก็ตามที่รู้ว่าตัวเขาเองเป็นคนมั่นคง เราคิดว่าเป็นที่อนุญาตให้กับเขาได้ในกรณีนี้ แต่ต้องมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้
1. การสนทนานั้นจะต้องไม่เกินเลยออกจากหัวข้อที่ยกมาคุยกัน หรือออกจากเป้าหมายการดะอฺวะฮ ฺ(เรียกร้องเชิญชวน) ไปสู่อิสลาม
2. จะต้องไม่ทำเสียงให้อ่อนหวาน หรือแสดงออกอย่างนุ่มนวลเกินไป
3. จะต้องไม่มีการถามคำถามส่วนตัว ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับหัวข้อที่กำลังพูดคุยกันอยู่ เช่น ถามเรื่องอายุ ส่วนสูง หรือที่พัก เป็นต้น
4. สำหรับพี่น้องมุสลิมีนและมุสลิมะฮฺที่ได้เข้าร่วมในการสนทนาหรืออ่านข้อความตอบโต้กันนั้น (ขอให้รู้ว่า) ชัยฏอนเองไม่ได้ทิ้งหนทางที่จะเข้าสู่หัวใจของผู้ที่สนทนากันอยู่
5. การสนทนาหรือการตอบโต้นั้นจะต้องยุติทันที หากว่าหัวใจเริ่มรู้สึกถึงอารมณ์ปรารถนา
เปิดร้านเน็ตได้ไหม?
คำถามนี้มีหลายคนสงสัยเกี่ยวกับการธุรกิจร้านเน็ต เชคไฟศอล เมาละวียฺ ตอบว่า "ไม่มีความผิดในการเปิดร้านอินเตอร์เน็ต หากใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อจุดประสงค์ที่ดีและศาสนาอนุญาต ถ้าผู้เข้ามาใช้อินเตอร์เน็ตใช้ในทางที่ไม่ดีหรือผิดศีลธรรม ก็เป็นหน้าที่ของผู้ดูแลร้านที่จะห้ามและตักเตือนเขา เพราะท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า "เมื่อพวกท่านเห็นสิ่งที่ไม่ดี ก็จงเปลี่ยนแปลงมันด้วยมือของท่าน ถ้าไม่สามารถก็ด้วยลิ้น (การพูด) ถ้าไม่สามารถก็ด้วยหัวใจ (แสดงความไม่เห็นด้วย) ซึ่งเป็นการอีมานที่ต่ำที่สุด" (รายงานโดยมุสลิม)
ข้อวินิจฉัยข้างต้น ชี้ให้เห็นว่า อนุญาตให้เปิดร้านอินเตอร์เน็ตได้ ก็ต่อเมื่อสามารถควบคุมไม่ให้ผู้ใช้ใช้อินเตอร์เน็ตในทางที่ไม่ดี เจ้าของร้านหรือผู้ดูแลจะต้องเป็นผู้ควบคุมดูแลการใช้อินเตอร์เน็ตในร้าน
รายได้จากร้านเน็ตนั้นหะล้าลไหม?
เชคอับดุศศัตตาร ฟัตหัลเลาะห์ ของมหาวิทยาลัยอัลอัซฮัร ได้ให้ทัศนะว่า รายได้จากร้านอินเตอร์เน็ตนั้นไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่าหะลาลหรือหะรอม เพราะถ้าหากเจ้าของร้านควบคุมการใช้อินเตอร์เน็ตในร้าน โดยดูแลให้ผู้ใช้ใช้อินเตอร์เน็ตในทางที่เป็นประโยชน์ แลกเปลี่ยนข่าวสาร ติดต่อค้าขาย ถ้าเช่นนั้น รายได้จากร้านเน็ตก็หะลาล
อย่างไรก็ดี ถ้าหากว่าร้านอินเตอร์เน็ตนั้นมีการปะปนกันระหว่างชายหญิง และมีการใช้อินเตอร์เน็ตในทางที่ไม่ดี เช่น ดูภาพลามก ผิดศีลธรรม ฯลฯ รายได้จากร้านนั้นก็หะรอม
ท้ายสุดนี้ขอฝากอายะห์ในซูเราะฮฺอันนูร อายะห์ที่ 19 ก่อนจบบทความดังนี้
إِنَّ الَّذِينَ يُحِبُّونَ أَن تَشِيعَ الْفَاحِشَةُ فِي الَّذِينَ آمَنُوا لَهُمْ عَذَابٌ أَلِيمٌ فِي الدُّنْيَا وَالْآخِرَةِ وَاللَّهُ يَعْلَمُ وَأَنتُمْ لَا تَعْلَمُونَ
อัลกุรอานระบุว่า "แท้จริงบรรดาผู้ชอบที่จะให้เรื่องบัดสีแพร่หลายไปในหมู่ผู้ศรัทธานั้น พวกเขาจะได้รับการลงโทษอย่างเจ็บปวดทั้งในโลกนี้และโลกหน้า และอัลลอฮฺทรงรอบรู้และพวกเจ้าไม่รู้"
โดย: สมคิด ลีวัน ฝ่ายต่างประเทศ ชมรมมุสลิมไอที