มุสลิมไปถึงอเมริกาก่อนโคลัมบัส
ในขณะที่คนทั่วไปมักจะเข้าใจว่าคริสโตเฟอร์ โคลัมบัสนักเดินเรือชาวสเปนเป็นมนุษย์คนแรกที่ค้นพบแผ่นดินอเมริกา ท่านผู้อ่านทราบไหมครับว่าบนแผ่นดินอเมริกานั้นมีหลักฐานมากมายที่ยืนยันว่ามุสลิมจากสเปนและอาฟริกาตะวันตกเคยมาถึงแผ่นดินนี้ก่อนที่คริสโตเฟอร์ โคลัมบัสจะเดินทางมาถึงอย่างน้อยที่สุดก็ 5 ศตวรรษหรือห้าร้อยปี?
ชาวอเมริกันอินเดียนคนหนึ่งชื่อมาฮิรฺ อับดุร-ร็อซซาก เอล ได้เล่าเรื่องราวของเขาผ่านเวบไซด์หนึ่งโดยกล่าวว่าเขาเป็นคนมุสลิมในเผ่าเชอโรกีแบล็กฟูตและคนทั่วไปรู้จักเขาในนามว่าอีเกิ้ล ซัน วอล์กเกอร์ เขาบอกว่าชนพื้นเมืองอเมริกันเริ่มติดต่อกับอิสลามมาเป็นเวลาพันปีแล้ว อย่างน้อยที่สุด ความจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็มีหลักฐานเอกสารยืนยัน เช่น สัญญามิตรภาพที่ลงนามกันที่แม่น้ำเดลาแวร์ในปี ค.ศ.1787 ซึ่งมีลายเซ็นของอับเดล ฮักและมุฮัมมัด อิบนุ อับดุลลอฮปรากฏอยู่ และหัวหน้าเผ่าเชอโรกีคนสุดท้ายก็มีชื่อว่าเราะมะฎอน อิบนุ วะตี
ไม่เพียงแต่เท่านั้น การศึกษาค้นคว้าเอกสารต่างๆทางประวัติศาสตร์โดยนักวิชาการมุสลิมหลายคนทำให้เราได้ทราบว่าโคลัมบัสออกเดินทางจากเมืองท่าพาโลสในสเปนโดยบ่ายหน้าไปยังหมู่เกาะโกเมรา(คานารี) คำว่า “โกเมรา”เป็นคำภาษาอาหรับซึ่งมีความหมายว่า “ดุ้นฟืนเล็กๆที่กำลังติดไฟ” และที่นั่น โคลัมบัสได้หลงรักนางบีทริซ โบบาดิลลาลูกสาวของนายทหารคนหนึ่งบนเกาะ (นามสกุลโบบาดิลลา)มาจากชื่อภาษาอาหรับ “อบูอับดิลลา” และตระกูลนี้มีความเกี่ยวข้องกับราชวงศ์มุสลิมแห่งเซวิลล์ในเสปน (ค.ศ.1031-1091)
วันที่ 12 ตุลาคม ค.ศ.1492 โคลัมบัสได้ขึ้นบกที่เกาะเล็กๆแห่งหนึ่งซึ่งชาวเกาะเรียกว่า“กัวนาฮานี” แต่ต่อมา โคลัมบัสได้ตั้งชื่อเกาะนี้เสียใหม่ว่า “ซาน ซัลวัลดอร์” คำว่ากัวนาฮานีเป็นคำมาจากภาษาแมนดิงกาและเป็นคำภาษาอาหรับที่ถูกดัดแปลงมา คำว่า “กัวนา” มาจากคำว่า “อิควานา” (ซึ่งหมายถึงพี่น้อง) ส่วนคำว่า “ฮานี”ก็เป็นชื่อภาษาอาหรับ ดังนั้น ชื่อเดิมของเกาะนี้ก็คือ “พี่น้องฮานี”
เฟอร์ดินานด์ โคลัมบัส ลูกชายของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัสได้เขียนเกี่ยวกับคนผิวดำที่พ่อของเขาเห็นในฮอนดูรัสว่า : “ผู้คนที่อาศัยอยู่ทางด้านตะวันออกไกลออกไปจากปอยเต คาวินาส (Pointe Cavinas) ไปจนถึงแหลมกราซิโอส อาดิโอส (Cape Gracios a Dios) ส่วนใหญ่เป็นคนผิวดำ” ในดินแดนนี้ก็มีชนเผ่าพื้นเมืองมุสลิมที่รู้จักกันในชื่อว่า “อัลมามี”อาศัยอยู่ด้วย ในภาษาแมนดิงกาและภาษาอาหรับ คำว่า “อัลมามี” เป็นตำแหน่งของ “อัล-อิมาม” หรือ “อัล-อะมามู” หรือคนที่นำนมาซ หรือในบางกรณีก็เป็นหัวหน้าของผู้คน และ/หรือเป็นสมาชิกของกลุ่มมุสลิมอิมามี
ลีโอ ไวเนอร์นักประวัติศาสตร์และนักศึกษาสำเนียงการพูดชาวอเมริกันผู้มีชื่อเสียงแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้เขียนไว้ในหนังสือเรื่อง Africa and The Discovery of America (1920) ของเขาว่าโคลัมบัสรู้ดีอยู่แล้วว่ามีชาวแมนดิงกาอยู่ในโลกใหม่และรู้ดีว่ามุสลิมชาวอาฟริกันตะวันตกมีอยู่ทั่วไปในหมู่เกาะแคริเบียน ดินแดนอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้รวมทั้งแคนาดาโดยคนเหล่านี้ทำมาค้าขายและแต่งงานกับชาวอินเดียนพื้นเมืองที่นั่น
อัช-ชะรีฟ อัล-อิดรีซี (ค.ศ.1099-1166) มุสลิมนักภูมิศาสตร์และนักเขียนแผนที่ผู้มีชื่อเสียงคนหนึ่งได้เขียนไว้ในหนังสือ “นุซฮัต อัล-มุชตัก ฟี อิคติรอก อัล-อาฟาก” (การเดินทางของความใฝ่ฝันในการข้ามขอบฟ้า) ว่าชาวเรือกลุ่มหนึ่ง (จากอาฟริกาเหนือ) ได้เดินเรือไปยังทะเลแห่งความมืดและหมอก (มหาสมุทรแอตแลนติก) จากลิสบอน (โปรตุเกส) เพื่อที่จะค้นหาว่ามีอะไรอยู่ในนั้นและมันมีขอบเขตขนาดไหน ในที่สุดพวกเขาก็ไปถึงเกาะแห่งหนึ่งที่มีผู้คนและการเพาะปลูก….ในวันที่สี่ ล่ามได้พูดกับพวกเขาเป็นภาษาอาหรับ
สุลต่านมันซา คานคาน มูซา (ค.ศ.1312-1337) เป็นกษัตริย์แมนดิงกาผู้มีชื่อเสียงของอาณาจักรอิสลามแห่งมาลีในอาฟริกาตะวันตก ในขณะที่เดินทางไปทำฮัจญ์ใน ค.ศ.1324 เขาได้บอกบรรดานักวิชาการของราชสำนักสุลต่านมัมลูกบาห์รี(อัน-นาซีรุดดีน มุฮัมมัดที่ 3, ค.ศ.1309 -1340)ในไคโรว่าสุลต่าน บาคารีที่1 (ค.ศ.1285-1312) พี่ชายของเขาได้ออกเดินทางไปยังมหาสมุทรแอตแลนติกถึงสองครั้ง เมื่อพี่ชายของเขาไม่กลับมายังเมืองติมบุกตูจากการเดินทางครั้งที่สองใน ค.ศ.1311 เขาจึงได้ขึ้นเป็นสุลต่านแทน
นักมนุษย์วิทยาได้พิสูจน์แล้วว่าชาวแมนดิงกาได้รับคำสั่งจากสุลต่าน มันซา มูซาให้ออกไปสำรวจส่วนต่างๆของอาฟริกาเหนือตามเส้นทางแม่น้ำมิซซิสซิปปีและแม่น้ำสายอื่นๆอีกหลายสาย นอกจากนี้แล้วก็ยังมีหลักฐานแสดงว่าชาวแมนดิงกาได้นำช้างจากอาฟริกามายังดินแดนแถบนี้ด้วย
โคลัมบัสและนักเดินทางชาวสเปนและโปรตุเกสสามารถเดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกเป็นระยะทางนับหมื่นกิโลเมตรได้ก็โดยอาศัยข้อมูลทางด้านภูมิศาสตร์และการเดินเรือของมุสลิมโดยเฉพาะแผนที่ซึ่งทำโดยพ่อค้ามุสลิมรวมทั้งข้อมูลจากหนังสือ “อัคบาร์ อัซ-ซะมาน” ของอัล-มัศอูดี (ค.ศ.871-957)ซึ่งรวบรวมข้อมูลในอาฟริกาและเอเซียไว้
ความจริงแล้ว ในการเดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกครั้งแรกนั้น โคลัมบัสมีกัปตันซึ่งเป็นมุสลิมสองคน คือ มาร์ติน อะลอนโซ ปินซอนเป็นกัปตันเรือปินตาและวินเซนเต ยาเนกซ์ ปินซอนน้องชายเป็นกัปตันเรือนินา ทั้งสองคนมีฐานะมั่งคั่งและเชี่ยวชาญในเรื่องเรือ และได้ช่วยจัดเตรียมการเดินทางให้โคลัมบัส นอกจากนี้แล้วยังได้ออกค่าใช้จ่ายในการซ่อมเรือซานตามาเรียซึ่งเป็นเรือธงให้ด้วยทั้งนี้เพื่อวัตถุประสงค์บางอย่างทางการค้าและการเมือง ครอบครัวปินซอนมีความเกี่ยวดองกับอบูซายาน มุฮัมมัดที่ 3 (ค.ศ.1362-66) ซึ่งเป็นสุลตานชาวโมรอคโคแห่งราชวงศ์มารินิด (ค.ศ.1196-1465)
โคลัมบัสได้ยอมรับไว้ในบันทึกของเขาว่าในวันจันทร์ที่ 21 ตุลาคม ค.ศ.1492 ขณะที่เรือของเขากำลังแล่นอยู่ใกล้จิบาราบนฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของคิวบา เขาได้เห็นมัสญิดบนภูเขาที่สวยงามลูกหนึ่ง ซากปรักหักพังของมัสญิดและหอคอยที่มีตัวอักษรกุรอานติดอยู่เหล่านี้เคยมีคนพบได้ในคิวบา เม็กซิโก เท็กซัสและเนวาดา
ในระหว่างการเดินทางครั้งที่สอง ชาวอินเดียนแห่งเอสพาโนลา(ไฮติ)ได้บอกโคลัมบัสว่าคนผิวดำได้มายังเกาะนี้ก่อนที่เขาจะมาถึง และเพื่อเป็นการยืนยัน ชาวอินเดียนได้นำเอาหอกของ มุสลิมอาฟริกันมาแสดงให้ดู หอกเหล่านี้เลี่ยมปลายด้วยโลหะสีเหลืองที่ชาวอินเดียนเรียกว่า “กวอไนน์” ซึ่งเป็นภาษาของชาว อาฟริกันตะวันตกที่มีความหมายว่า “วัตถุเจือทอง” เป็นเรื่องแปลกทีเดียวที่คำนี้มีความใกล้เคียงกับคำว่า“ฆินา”ในภาษาอาหรับซึ่งหมายถึง“ความมั่งคั่ง”
โคลัมบัสได้นำกวอไนน์กลับไปยังสเปนเพื่อทดสอบและได้รู้ว่าวัตถุดังกล่าวเป็นทองคำ 18 ส่วน(56.25%) เงิน 6 ส่วน(18.75%) และทองแดง 8 ส่วน(25%) ซึ่งเป็นอัตราส่วนเดียวกับโลหะที่ผลิตในร้านโลหะของชาวอาฟริกันแห่งกินี
ไม่แน่ครับ บางที ความเป็นศัตรูของรัฐบาลอเมริกันต่อประชาชาติมุสลิมในขณะนี้อาจเป็นการจุดประกายไฟอิสลามที่ดับไปแล้วที่นั่นให้ลุกโชติช่วงขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่งก็ได้ ใครจะรู้