ทหารอังกฤษ กับ นักรบมุญาฮิดีนปาทาน วีรบุรุษอิสลามที่น่าจดจำ
ในสมัยที่อังกฤษปกครองอินเดีย ดูเหมือนว่าอำนาจของเครือจักรภพอังกฤษจะถึงจุดสูงสุดจนไม่มีใครคิดจะต่อกรด้วย แต่มีอยู่ชนชาติหนึ่งที่กองทัพอังกฤษไม่สามารถที่จะปราบปรามและเอาชนะได้โดยเด็ดขาด นั่นคือ ชนเผ่าชาวปาทานที่อาศัยอยู่ในปากีสถานปัจจุบัน สภาพภูมิศาสตร์ที่มีทั้งความกันดาร ร้อนแล้ง และหนาวจัด มีส่วนบ่มเพาะให้ชาวปาทานมีความทรหดอดทนอยู่ในสายเลือด เมื่อบวกกับความเจนจัดในพื้นที่ภูเขาและจิตใจเด็ดเดี่ยวไม่ยอมให้ใครหยามเกียรติตามความเชื่อของเผ่าพันธุ์และความมีสายเลือดนักรบอยู่ในตัวตน
ชาวปาทานมีชื่อเสียงในความกล้าหาญและเด็ดเดี่ยวในการรบ จึงทำให้ชนเผ่าปาทานเหล่านี้เป็นศัตรูที่น่ากลัวยิ่งสำหรับกองทหารอังกฤษผู้รุกล้ำเข้ามาในเขตปกครองของพวกเขา
ในปี ค.ศ.1898 เมื่อมุญาฮิดีนชาวปาทานได้ลอบโจมตีค่ายทหารอังกฤษ รัฐบาลอังกฤษ จำใจที่จะต้องจัดทัพไปปราบปราม เรียกว่า กองทัพสนามมาละข่าน (Malakand Field Force) เชอร์ชิลล์(อดีตนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ)ในสมัยนั้นอาสาไปด้วยในฐานะผู้สื่อข่าว กิจกรรมพิเศษของชนเผ่านี้ก็คือ ถ้าไม่ออกรบพวกเขาจะประกอบกิจกรรมทางศาสนาและสอนศาสนาให้แก่เยาวชนในหมู่บ้าน ดังนั้นหมู่บ้านชาวปาทานจึงสร้างป้อมปราการที่แข็งแรงเพื่อป้องกันการโจมตีของศรัตรู
เมื่อกองทัพอังกฤษยกทัพมาถึง เพียงก้าวแรกที่ทหารอังกฤษและทหารชาวอินเดียเข้าไปในหมู่บ้าน พวกเขาก็ต้องประหลาดใจเพราะในหมู่บ้านไม่มีใครอยู่เลย พวกมุญาฮิดีนปาทานได้หลบออกไปอยู่บนเขากันจนหมดเพื่อหลอกให้ทหารอังกฤษเข้ามาติดกับ แล้วย้อนลงมาเล่นงานแบบปิดประตูตีแมว เชอร์ชิลล์และทหารหมวดหนึ่งถูกสั่งให้เป็นกองระวังหลัง ต้องยิงพลางถอยพลาง แต่แล้วนายทหารที่คุมหมวดถูกปืนล้มลงกลายเป็นเหยื่อคมดาบของชาวปาทานที่รุมล้อมเข้ามา และต่อสู้ประจันบานแบบประชิดตัวกับทหารอังกฤษ
ส่วนทหารอังกฤษจำใจต้องใช้มีดดาบติดปลายปืนต่อสู้กับนักรบปาทาน และต้องแพ้พ่ายกลับไปอย่างหมดท่าสงครามครั้งนั้นทำให้ทหารอังกฤษและชาวอินเดียล้มตายเป็นจำนวนมาก ส่วน เชอร์ชิลล์ ได้หนีรอดกลับมาได้อย่างหวุดหวิด
ที่มา: ดาบแห่งอัลเลาะห์ แอนตี้ ไซออนิสต์