การคลุมฮิญาบ เป็นหลักการบังคับสำหรับสตรีมุสลิมทุกคน แต่ใช่ว่าสตรีมุสลิมทุกคนจะปฏิบัติตามหลักการอิสลามข้อนี้ บางคนไม่รู้ บางคนก็รู้แต่ไม่ทำ ปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งก็คือ การเลี้ยงดูและสภาพแวดล้อมในวัยเด็ก
คำสอนของแม่กับฮิญาบผืนนั้น
การคลุมฮิญาบเป็นหลักการบังคับสำหรับสตรีมุสลิมทุกคน แต่ใช่ว่าสตรีมุสลิมทุกคนจะปฏิบัติตามหลักการอิสลามข้อนี้ บางคนไม่รู้ บางคนก็รู้แต่ไม่ทำ ปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งก็คือ การเลี้ยงดูและสภาพแวดล้อมในวัยเด็ก
เรื่องราวของ ซอฟา เป็นกรณีตัวอย่างในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี
ฮิญาบเป็นเครื่องแต่งกายที่ผู้หญิงมุสลิมต้องใส่:
ซอฟาเป็นลูกคนที่สองของครอบครัว พ่อของเธอเป็นนักธุรกิจชาวซูดาน ส่วนแม่เป็นมุสลิมใหม่ชาวเชียงใหม่ แต่ความจริงแล้วจะเรียกว่ามุสลิมใหม่ก็ใช่ว่าจะถูกนัก เนื่องจาก ‘ฮุดา’ แม่ของซอฟาเข้ารับอิสลามตั้งแต่ยังเด็ก ก่อนแต่งงานหลายปี
เนื่องจากเป็นคนเดียวในหมู่บ้านที่เข้ารับอิสลาม เมื่อฮุดาแต่งงานจึงโยกย้ายไปลงหลักปักฐานอยู่ที่สตูลและนราธิวาสตามลำดับ เพราะต้องการให้ลูกเติบโตมาในสภาพแวดล้อมแบบมุสลิม
ซอฟาเล่าให้ฟังว่า เมื่อเติบโตมาในชุมชนมุสลิมจึงทำให้เธอได้เรียนตาดีกา และเรียนในโรงเรียนศาสนาเหมือนเด็กมุสลิมทั่วไปในแถบนั้น แต่สิ่งสำคัญจริงๆ ที่กล่อมเกลาซอฟาก็คือสภาพแวดล้อมที่เธอใช้ชีวิตอยู่
“หนูใส่ผ้าคลุมผมไปโรงเรียนตั้งแต่อนุบาล ไม่ได้รู้สึกผิดแปลกอะไร เพราะที่ภาคใต้เขาก็ใส่ฮิญาบกันทั้งนั้น ตอนเด็กๆ พอจะไปตลาดใกล้บ้าน หนูก็บอกแม่ว่ารอแปบนึงไปเอาผ้าคลุมก่อน ไปหยิบมาเอง โดยแม่ไม่ต้องบอก คือ เรารู้เองว่าออกไปนอกต้องใส่ผ้าคลุม ถึงจะแค่ไปตลาดใกล้บ้านก็ตาม”
ซอฟาบอกว่าถึงแม้ว่าแม่จะไม่มาคอยจ้ำจี้จ้ำไชบอกให้เธอคลุมฮิญาบ แต่การที่ตัวแม่เองคลุมฮิญาบตลอดเวลา และการได้เห็นผู้หญิงแถวบ้านต่างก็คลุมฮิญาบกันทั้งนั้น เรียกได้ว่า ตั้งแต่จำความได้สิ่งที่เธอเห็นจนชินตาก็คือสตรีมุสลิมจะคลุมฮิญาบทุกครั้งเมื่อออกนอกบ้าน ตัวอย่างที่ดีย่อมมีน้ำหนักกว่าแค่ปากพร่ำสอน นั่นจึงทำให้ซอฟารับรู้ได้ด้วยตัวเองว่าการคลุมฮิญาบคือสิ่งที่สตรีมุสลิมทุกคนพึงกระทำ
“เรารู้สึกด้วยตัวเองว่าผ้าคลุมผมเป็นเครื่องแต่งกายอีกหนึ่งชิ้น นอกเหนือจากเสื้อกางเกงแล้ว ฮิญาบก็เป็นเครื่องแต่งกายอีกหนึ่งชิ้นที่ผู้หญิงมุสลิมต้องใส่”
สภาพแวดล้อมในวัยเด็กคือสิ่งสำคัญที่กล่อมเกลาซอฟา แต่เมื่อเธอเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ ผ้าฮิญาบที่ปกปิดเส้นผมของเธอ ก็เริ่มสั่นไหว
ตอนเราใส่ผ้าคลุมเราจะรู้สึกว่าเหมือนมีอะไรปกป้องเรา:
ซอฟาเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่โรงเรียนอัตตัรกียะฮฺอิสลามียะฮฺ จ.นราธิวาส แล้วจึงขึ้นมาเรียนต่อที่โรงเรียนบางกอกวิทยา (มูลนิธิ) ซึ่งซอฟาก็ยังคงคลุมฮิญาบไปไหนมาไหนเป็นปกติเหมือนเช่นตอนที่อยู่ภาคใต้ เพราะถึงการคลุมฮิญาบในกรุงเทพจะยังไม่แพร่หลายไปทุกหัวระแหง แต่ก็ไม่ใช่สิ่งผิดแปลกในสังคมเมืองหลวง
แต่เมื่อซอฟาเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนหนองจอกพิทยานุสสรณ์มัธยม และเธอตัดสินใจเรียนหลักสูตรนักศึกษาวิชาทหาร (ร.ด.) นั่นจึงเป็นครั้งแรกที่เธอประสบปัญหาเรื่องการคลุมฮิญาบ
“ตอนที่อยู่ ม.ปลาย ไปเรียน รด. ก็คลุมผมไม่ได้ ตอนเราไปเรียน รด.ก็ไม่ได้คลุมผม มันแตกต่างนะ เพราะเวลาเราออกไป แล้วเราไม่ได้คลุมผม จะรู้สึกเหมือนว่าไม่มีอะไรปกป้องเรา ผู้ชายจะจ้องมอง กล้าที่จะแซว ซึ่งปกติตอนเราใส่ผ้าคลุมเราจะรู้สึกว่าเหมือนมีอะไรปกป้องเรา ทำให้เวลาเราจะทำอะไรผิด เราก็ไม่กล้าทำ เรารู้สึกว่าเราคลุมผมอยู่ ไม่ใช่ว่าเรากลัวคนเขาจะว่าเราที่เราทำผิด แต่เรากลัวว่าพระเจ้ากำลังมองเราอยู่ แล้วเราจะกล้าทำในสิ่งนั้นหรือ อีกอย่างคือหากเราคลุมผมอยู่แล้วเราทำผิด คนเขาจะไม่ได้ว่าแค่เรา แต่เขาจะว่าศาสนาอิสลามด้วย”
ซอฟายอมรับว่าตอนไปเรียนนักศึกษาวิชาทหาร ซึ่งต้องออกไปโดยไม่คลุมฮิญาบ เมื่อเพื่อนชวนแวะไปทำในสิ่งที่ไม่ดี เช่น การร้องคาราโอเกะ เธอก็กล้าที่จะทำ เพราะตอนนั้นไม่มีผ้าฮิญาบอยู่บนหัว แต่นั่นก็ไม่ใช่ครั้งเดียวที่ซอฟาทำฮิญาบหล่นปลิว
“เวลากลับไปบ้านแม่ที่เชียงใหม่ ซึ่งครอบครัวแม่ยังเป็นคนพุทธกันอยู่ พอเราไปอยู่ในสังคมนั้น บางทีเราก็หลุด เพราะคนรอบตัวไม่มีใครคลุมฮิญาบเลย เราเลยไม่กล้าใส่ เราอาย เพราะกลัวคนอื่นจะมองว่าทำไมใส่ผ้าแบบนี้”
ปกติซอฟาจะกลับไปบ้านที่เชียงใหม่ช่วงปิดเทอม ซึ่งคาบเกี่ยวกับช่วงเทศกาลสงกรานต์ เมื่อไม่มีฮิญาบอยู่บนศีรษะ นั่นจึงทำให้ซอฟากล้าที่จะออกไปเล่นน้ำวันสงกรานต์ แม้จะรู้ว่ามุสลิมไปร่วมกับเทศกาลนี้ไม่ได้
“แต่พอเราโตขึ้นเวลาเรากลับไปเชียงใหม่ เราก็จะหยิบผ้าคลุมไปด้วย ความไม่กล้ามันก็ยังมีอยู่ แต่เราก็จะเปลี่ยนโดยไม่ออกไปข้างนอกอยู่แต่ในบ้าน แต่หากจำเป็นต้องออก เราก็จะคลุมออกไป ซึ่งคนอื่นเขาก็ไม่ได้อะไรกับเรา ความจริงแล้วคนที่เห็นเรา เขาอาจจะคิดก็ได้ว่าเราเป็นใคร แต่สุดท้ายเราก็เป็นเรา และเราก็ต้องทำในสิ่งที่อัลลอฮฺใช้อยู่ดี”
เมื่อโตขึ้น ฮิญาบบนศีรษะของซอฟาก็ยิ่งกระชับมั่น ไม่เพียงเพราะความคุ้นชินกับสภาพสังคมมุสลิมอย่างวัยเด็ก แต่เป็นเพราะหัวใจที่ถูกเติมด้วยความรู้คู่กับความศรัทธา นั่นก็รวมถึงชีวิตของเธอตอนเป็นนิสิตในมหาวิทยาลัยด้วย
การคลุมฮิญาบเป็นเหมือนอาชีพ เราได้ค่าตอบแทนจากอัลลอฮฺ :
“ตอนที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัย มีคนมาถามว่าพอเข้ามหาวิทยาลัยจะคลุมฮิญาบไหม เราก็บอกว่า เฮ้ย เขาไม่เห็นคลุมกันเลย เขาแต่งตัวสวยๆ กัน แต่พอเข้ามหาวิทยาลัยจริงๆ เพื่อนทุกคนก็คลุมฮิญาบกัน เราก็ถามตัวเองว่าแล้วเราจะไม่คลุมเหรอ สุดท้ายเราก็คลุม”
ชีวิตของซอฟาในฐานะนิสิตคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ดูจะเป็นเรื่องง่ายดายในการใช้ชีวิตแบบมุสลิม เพราะแม้ในมุมหนึ่งเธอจะมีเพื่อนต่างศาสนิกมากมายที่คณะ แต่ในขณะเดียวกันซอฟาก็มีเพื่อนมุสลิมที่ชมรมมุสลิมของมหาวิทยาลัยด้วย นั่นทำให้เธอไม่เคยห่างหายไปจากสังคมมุสลิมเลย
“ตอนนั้นไม่เจออุปสรรคเรื่องการคลุมฮิญาบเลย เพราะเราไม่แคร์ เวลาไปเรียน เราก็จะคิดว่าเราไปเรียน ใครให้คะแนนคุณ ใครทำให้คุณเรียนจบได้ ก็เรียนหนังสือไป ทำกิจกรรมไป แต่หากใครจะบอกให้ถอดฮิญาบ เราไม่ถอด เพราะว่ามนุษย์มาสั่งให้คุณทำ แล้วคุณจะเชื่อมนุษย์มากกว่าเชื่อพระเจ้าเหรอ”
ส่วนสำคัญที่ทำให้ซอฟาคิดแบบนี้ก็คงเป็นคำสอนจากแม่ของเธอว่าการคลุมฮิญาบนั้นเป็นอาชีพของสตรีมุสลิมทุกคน
“แม่บอกว่า การคลุมฮิญาบนี่เป็นเหมือนอาชีพ เพราะเวลาเราทำงานที่หัวหน้ามอบหมายให้เราทำ พอเราทำ เราก็จะได้เงินเดือนเป็นค่าตอบแทน แต่คำว่าอาชีพการคลุมฮิญาบก็หมายความว่านั่นคือสิ่งที่อัลลอฮฺสั่งใช้เรา ค่าตอบแทนที่เราจะได้ก็มาจากพระองค์ ซึ่งเราไม่รู้ว่ามันจะมากน้อยแค่ไหน แต่แน่นอนว่าเป็นค่าตอบแทนที่ยิ่งใหญ่มากๆ ณ พระองค์”
ปัจจุบันซอฟาทำงานเป็นเจ้าหน้าที่การเงิน อยู่ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การเลือกทำงานที่นี้ ส่วนสำคัญก็เพราะเธออยากปฏิบัติตามหลักการอิสลามให้ได้สะดวกและครบถ้วน ท้ายการสนทนาซอฟายังได้ฝากข้อคิดไปยังสตรีมุสลิมที่ยังไม่ให้ความสำคัญกับการคลุมฮิญาบว่า
“มุสลิมะฮฺเป็นคนที่มีเกียรติ ที่เกิดมาอยู่บนหน้าแผ่นดิน สิ่งที่พระเจ้าสั่งใช้คุณ เพราะพระเจ้ารักคุณ พระองค์ทรงรู้ดีว่าสิ่งไหนเหมาะสมสำหรับมุสลิมะฮฺ แค่มนุษย์คนนึงรักคุณ คุณก็พยายามที่จะเปลี่ยนแปลง ตัวเองเพื่อเขา แต่นี่พระเจ้าสั่งใช้คุณ เพราะพระเจ้ารักคุณ แล้วคุณจะไม่เปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อพระองค์เลยหรือ”
ขอบคุณเนื้อหาดีๆจากนิตยสารแฟมิลี่ไลฟ์