การขอวิงวอนสิ่งอื่นนอกจากอัลลอฮฺ ไม่ว่าจะเป็นคนตายหรือคนเป็นที่ไม่ได้อยู่ต่อหน้า และไม่ว่าจะขอต่อนบี คนดี หรือคนอื่น ๆ
การขอวิงวอนคนตายระหว่างชิริกและบิดอะฮฺ
ตอบ โดย อิบนุตัยมียะฮฺ
ท่านชัยคุลอิสลามอิบนุตัยมียะฮฺ ได้แบ่งการขอวิงวอนคนตายออกเป็น 3 กรณี ดังนี้ (ดู : มัจญ์มูอฺ อัล-ฟะตาวา, เล่ม : 1, หน้า : 350)
ท่านได้ กล่าวว่า
1. การขอวิงวอนสิ่งอื่นนอกจากอัลลอฮฺ ไม่ว่าจะเป็นคนตายหรือคนเป็นที่ไม่ได้อยู่ต่อหน้า และไม่ว่าจะขอต่อนบี คนดี หรือคนอื่น ๆ
เช่น การกล่าวว่า “โอ้สัยยิด....โปรดช่วยฉันด้วย” หรือ “ฉันขอความคุ้มครองจากท่าน” หรือ “ฉันขอความช่วยเหลือจากท่าน” หรือ “โปรดช่วยเหลือฉันจากศัตรูของฉันด้วย” เป็นต้น
กรณีนี้ ถือเป็นชิริกใหญ่
2. การขอวิงวอนคนตายหรือคนเป็นที่ไม่ได้อยู่ต่อหน้า ไม่ว่าจะขอจากนบีหรือคนดีว่า “ท่านได้โปรดขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮฺให้แก่ฉันด้วยเถิด” หรือ “ท่านได้โปรดขอดุอาอ์ต่อพระผู้อภิบาลของท่านให้แก่เราด้วย” หรือ “ท่านได้โปรดขอต่ออัลลอฮฺให้แก่พวกเราด้วย” ดังการวิงวอนขอของพวกนัศรอนีย์ต่อมัรยัมและบุคคลอื่น
กรณีนี้ ผู้รู้ไม่มีข้อสงสัยเลยว่า เป็นการกระทำที่ไม่อนุญาต เป็นส่วนหนึ่งจากการกระทำที่เป็นบิดอะฮฺ และไม่ปรากฏว่า มีสลัฟแม้แต่ท่านเดียวที่กระทำเช่นนี้
3. การวิงวอนโดยกล่าวว่า “ฉันขอต่อพระองค์(อัลลอฮฺ)ด้วยคนนั้น” หรือ “ด้วยเกียรติของคนนั้น ณ พระองค์” เป็นต้น
กรณีนี้ ดังที่ได้กล่าวไปแล้วจากอบูหะนีฟะฮฺและอบูยูสุฟและท่านอื่น ๆ ว่า เป็นสิ่งต้องห้าม และดังที่ได้กล่าวไปแล้วเช่นกันว่า เป็นการกระทำที่ไม่เป็นที่รู้จักในหมู่เศาะหาบะฮฺ
สรุปคือ
การขอวิงวอนต่อคนตายแบ่งออกเป็น 3 กรณี
1. วิงวอนขอต่อคนตายโดยตรง ด้วยคำพูดที่ชัดเจน
2. การวิงวอนให้คนตายขอดุอาอ์แก่คนเป็น
3. การขอวิงวอนโดยการตะวัสสุลต่อเกียรติของคนตาย
กรณีแรก ถือเป็นชิกริกใหญ่
กรณีที่สองและสาม ถือเป็นสิ่งต้องห้ามและเป็นบิดอะฮฺ เนื่องจากไม่ปรากฏว่าบรรดาสลัฟปฏิบัติกัน และอาจเป็นผลสู่ไปการทำชิกริกใหญ่
การขอคนตายให้ดุอาอ์ต่ออัลลอฮฺระหว่างชิริก(กุฟรฺ)กับบิดอะฮฺ(หะรอม)
รูปแบบ
คือ การกล่าวกับคนตายที่อยู่ในสุสานให้ขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮฺ เช่นการกล่าวว่า “ท่านได้โปรดขอต่ออัลลอฮฺให้ฉันได้รับริซกีด้วย” หรือการขอในทำนองนี้
ความเป็นมา
การขอต่อผู้มีชีวิตให้ช่วยขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮฺ เป็นสิ่งที่ศาสนาอนุญาต เพราะการขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮฺเป็นสิ่งที่ผู้มีชีวิตมีความสามารถที่จะกระทำได้ ซึ่งต่างกับการขอในสิ่งที่ไม่มีผู้ใดมีความสามารถนอกจากอัลลอฮฺ เช่นการขอต่อคนตายให้ประทานริซกี เป็นต้น ซึ่งถือว่าเป็นชิริก
แล้วการขอคนตายให้ดุอาอ์ต่ออัลลอฮฺ?
มีทัศนะที่ระบุว่า คนตายรับรู้และได้ยินเสียงของผู้มาเยี่ยมเยียน ฉะนั้น หากจะขอคนตายให้ขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮฺ ก็ไม่น่าจะเป็นอะไรดังการขอต่อคนเป็น (ตามทัศนะของผู้ที่เห็นว่าอนุญาต ซึ่งเป็นทัศนะที่ผิด เพราะที่ถูกต้องแล้วเป็นที่ต้องห้าม)
การขอกรณีนี้ต่างกับการขอ “ชะฟาอะฮฺ” กับคนตาย การขอกรณีนี้ผู้ขอไม่ได้มีความเชื่อว่าคนตายสามารถชะฟาอะฮฺ(ช่วยเหลือ)เขา ณ อัลลอฮฺได้ การตอบรับดุอาอ์เป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺเพียงพระองค์เดียว ไม่มีผู้ใดสามารถต่อรองกับพระองค์ได้ คนตายเพียงแต่ขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮฺดังการขอของคนเป็น
ทัศนะของนักวิชาการ
การขอกรณีข้างต้น เป็นสิ่งที่ผิด แต่ความผิดข้างต้นนั้นเข้าข่ายทำให้ตกศาสนา (ชิริกใหญ่) หรือเป็นบิดอะฮฺ นักวิชาการมีทัศนะที่ขัดแย้งกัน
ชัยคฺบักรฺ อบูซัยดฺ เราะฮิมะฮุลลอฮฺ (กิบารฺอุละมาอ์ซาอุฯ) ได้อธิบายประเด็นนี้ในหนังสือ “ตัศหี้หฺ อัด-ดุอาอ์, หน้า 250-251” ไว้ค่อนข้างดี ท่านได้แบ่งการขอคนตายให้ขอดุอาอ์ออกเป็นสองกรณี
กรณีแรกคือ กรณีผู้ขอไม่ได้อยู่ ณ สุสาน กรณีนี้ถือว่าเป็นชิริกใหญ่ เพราะผู้ขอเชื่อว่าคนตายได้ยินและรับรู้การขอของเขา
หลังจากนั้น ท่านได้พูดถึงกรณีที่สอง ว่า
سؤال حي لميت بحضرة قبره بأن يدعو الله له، مثل قول عباد القبور مخاطبين لها: يا فلان ادعو الله لي بكذا وكذا أو أسألك أن تدعو الله لي بكذا وكذا، فهذا لا يختلف المسلمون بأنه واسطة بدعية، ووسيلة مفضية إلى الشرك بالله ودعاء الأموات من دون الله وصرف القلوب عن الله
“การที่คนเป็นขอคนตายให้ดุอาอ์ต่ออัลลอฮฺให้แก่เขา โดยคนเป็นได้อยู่ ณ สุสานของคนตาย ดังเช่นการกล่าวของพวกบูชาสุสานว่า โอ้ท่าน ได้โปรดขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮฺให้แก่ฉัน.... หรือ ฉันขอให้ท่านดุอาอ์ต่ออัลลอฮฺให้ฉัน.... กรณีนี้ บรรดามุสลิมไม่มีข้อขัดแย้งกันว่ามันเป็นสื่อที่บิดอะฮฺ และเป็นสื่อที่จะนำพาไปสู่การชิริกต่ออัลลอฮฺ และเป็นการขอวิงวอนต่อคนตายซึ่งเป็นการขออื่นจากอัลลอฮฺ และเป็นการหันเหหัวใจให้ออกห่างจากอัลลอฮฺ”
คำพูดของชัยคฺบักรฺข้างต้น บางคนอาจเข้าใจว่า ชัยคฺไม่ได้หุก่มว่าการขอคนตายให้ดุอาอ์ต่ออัลลอฮฺ “ไม่ได้เป็นชิริก”
หากพิจารณาให้ดีจะพบว่า คำพูดข้างต้นชัยคฺไม่ได้ตัดสินว่าเป็นชิริก ดังจะเห็นได้จากคำพูดที่ว่า “เป็นสื่อที่จะนำพาไปสู่การชิริกต่ออัลลอฮฺ” ซึ่งบ่งบอกว่ามันไม่ได้เป็นชิริกแต่เป็นสื่อที่จะนำพาไปสู่การชิริกต่ออัลลอฮฺ
และประโยคหลังจากนั้น ชัยคฺได้พูดอย่างชัดเจนว่าไม่ได้เป็นชิริก ชัยคฺกล่าวว่า
لكن هذا النوع يكون شركا أكبر
“แต่กรณีนี้จะเป็นชิริกใหญ่”
คำพูดนี้ บ่งบอกอย่างชัดเจนว่า การขอคนตายให้ขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮฺ ไม่ได้เป็นชิริกใหญ่ แต่จะเป็นชิริกใหญ่ต่อเมื่อ..... ชัยคฺได้กล่าวต่อว่า
لكن هذا النوع يكون شركا أكبر في حال ما إذا أراد الداعي من صاحب القبر الشفاعة والوساطة الشركية على حد عمل المشركين
“แต่กรณีนี้จะเป็นชิริกใหญ่เมื่อผู้ขอต้องการชะฟาอะฮฺจากคนตายและสื่อที่เป็นชิริกดังการปฏิบัติของพวกตั้งภาคี”
สรุปคำพูดของชัยคฺบักรฺ อบูซัยดฺคือ
การขอคนตายให้ขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮฺไม่ได้เป็นชิริกใหญ่นอกจากผู้ขอต้องการชะฟาอะฮฺจากคนตายหรือใช้สื่อที่เป็นชิริก
ส่วนหนึ่งจากนักวิชาการที่มีทัศนะตามชัยคฺบักรฺ คือ
ชัยคฺอิบนุอุษัยมีน เราะหิมะฮุลลอฮฺ ท่านได้กล่าวว่า
سؤال الميت أن يسأل الله أو سؤال قضاء الحاجة بينهما فرق، إذا سأل قضاء الحاجة فهذا شرك أكبر، وإذا سأل أن يسأل الله فهذا بدعة وضلالة
“การขอคนตายให้ขอต่ออัลลอฮฺ หรือ ขอให้คนตายจัดการกิจธุระ ทั้งสองกรณีมีข้อแตกต่าง กล่าวคือ เมื่อขอคนตายให้จัดการกิจธุระ กรณีนี้ถือเป็นชิริกใหญ่ ส่วนการขอให้เขาขอต่ออัลลอฮฺ กรณีนี้ถือเป็นบิดอะฮฺที่หลงผิด”
คำว่า “บิดอะฮฺที่หลงผิด” ไม่อาจเข้าใจได้เลยว่าคือ บิดอะฮฺชิรกียะฮฺ เพราะชัยคฺได้อธิบายไปข้างต้นแล้วว่า ทั้งสองกรณีมีข้อแตกต่างกัน
ชัยคฺอับดุลละฏีฟ อาลชัยคฺได้กล่าวในหนังสือกัชฟฺ ชุบุฮาต อิบนิ ญัรญีส ว่า
فلم يشرع لنا أن نقول: ادع لنا، ولا اسأل لنا ربك، ولا نحو ذلك، ولم يفعل هذا أحد من الصحابة والتابعين ولا أمر به أحد من الأئمة، ولا ورد فيه حديث... بل هو بدعة
“ดังนั้น ไม่อนุญาตให้เรากล่าว(แก่คนตาย)ว่า ได้โปรดดุอาอ์ให้แก่เรา ได้โปรดขอต่อพระผู้อภิบาลของท่านให้แก่เรา เป็นต้น เพราะไม่มีใครสักคนจากบรรดาเศาะหาบะฮฺและตาบิอีนที่ปฏิบัติเช่นนี้ และไม่มีอิมามท่านใดที่สั่งใช้ให้ปฏิบัติ อีกทั้งไม่มีหะดีษที่ระบุในเรื่องนี้ ...แต่มันคือบิดอะฮฺ”
และนักวิชาการท่านอื่น ๆ เช่นชัยคฺญิบรีน (กิบารอุละมาอ์ซาอุฯในคำนิยมหนังสืออัล-ฟุรกอน), ชัยคฺอับดุลอะซีซ อัฏ-เฏาะรีฟียฺ (อธิบายหนังสือมุฟีด อัล-มุสตะฟีด) เป็นต้น
ส่วนทัศนะของชัยคุลอิสลามอิบนุตัยมียะฮฺนั้น ได้มีตีความว่า “บิดอะฮฺ” ในการขอคนตายให้ขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮฺนั้น คือบิดอะฮฺชิรกียะฮฺ
แต่...ข้อสังเกตของคำพูดอิบนุตัยมียะฮฺคือ
1. ท่านกล่าวว่า “เป็นสื่อสู่การชิริก” ซึ่งทำให้เข้าใจว่ามันไม่ได้เป็นชิริก
2. ท่านได้จำแนกการขอต่อคนตาย ซึ่งทำให้เข้าใจว่า หุก่มในแต่ละกรณีไม่เหมือนกัน
3. ท่านได้กล่าวถึงการขอคนตายให้ดุอาอ์ในตอนหนึ่งว่า
فجمهور الأئمة لم يستحبوا ذلك
“อุละมาอ์ส่วนใหญ่ไม่ส่งเสริมในเรื่องดังกล่าว” (กออิดะฮฺ อะซีมะฮฺ, 1/112)
คำพูดข้างต้น มีนัยว่า เรื่องดังกล่าวไม่ถึงขั้นเป็นชิริก
4. ท่านได้กล่าวถึงการขอต่อคนตายในตอนหนึ่งว่า
فإن هذا الفعل منه ما هو كفر صريح ومنه ما هو منكر ظاهر
“การกระทำนี้ (ขอต่อคนตาย) บางส่วนเป็นกุฟรฺที่ชัดเจน และบางส่วนเป็นความชั่วที่ประจักษ์”
(อัร-ร็อด อะลา อัล-บักรีย์, 95)
จะเห็นได้ว่าท่านแยกประเด็นการขอต่อคนตาย โดยไม่ได้เหมารวมทั้งหมดว่าเป็นชิริกใหญ่(กุฟรฺ)
5. ท่านได้กล่าวอีกตอนหนึ่งว่า
يَنْهَى أَنْ يُدْعَى غَيْرُ اللَّهِ لَا مِنْ الْمَلَائِكَةِ وَلَا الْأَنْبِيَاءِ وَلَا غَيْرِهِمْ ؛ فَإِنَّ هَذَا شِرْكٌ أَوْ ذَرِيعَةٌ إلَى الشِّرْكِ
“(อัลกุรอาน)ได้ห้ามมิให้ขอต่อสิ่งอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ ไม่ว่าจะเป็นมลาอิกะฮฺ บรรดานบี และบุคคลอื่น เพราะสิ่งนี้เป็นชิริกหรือเป็นสื่อที่จะนำสู่การชิริก”
(มัจญ์มูอฺ อัล-ฟะตาวา, 1/179)
จะเห็นได้ว่าท่านได้แยกแยะหุก่มของการขอต่อคนตายว่าอาจเป็นชิริกหรือสื่อสู่การชิริก ไม่ใช่เหมารวมว่าคือชิริกทั้งหมด
สรุปประเด็นการขอคนตายให้ขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮฺคือ
1. การขอคนตายให้ขอดุอาอ์ดังการขอต่อคนเป็น กรณีนี้ถือเป็นบิดอะฮฺ(หะรอม)และอาจเป็นสื่อนำสู่การชิริก
2. การขอคนตายให้ขอดุอาอ์โดยเชื่อว่าคนตายสามารถชะฟาอะฮฺต่ออัลลอฮฺได้ กรณีนี้ถือเป็นชิริกใหญ่
3. หากผู้ขอคนตายให้ขอดุอาอ์ ไม่ได้อยู่ที่สุสาน กรณีนี้ถือเป็นชิริกใหญ่ เพราะผู้ขอมีความเชื่อว่า ผู้ตายสามารถรับรู้และได้ยินการขอของเขา
4. ท่านอิบนุตัยมียะฮฺแยกแยะหุก่มการขอต่อคนตาย ไม่ได้เหมารวมทั้งหมดว่าเป็นชิริกใหญ่
5. นักวิชาการที่มีทัศนะว่า การขอคนตายให้ขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮฺ เป็นชิริกใหญ่นั้น พวกเขา (อาจจะ) หมายถึงกรณีเชื่อว่าคนตายสามารถชะฟาอะฮฺต่ออัลลอฮฺได้ วัลลอฮุอะอฺลัม
ที่มา: www.iqraforum.com