การขายประกันและการเล่นหุ้น อิสลามทำได้หรือไม่?


14,569 ผู้ชม

หลักเดิมในเรื่องการทำธุรกรรม (อัลมุอามะล๊าต) นั้นคืออนุญาต ดังนั้นการจัดตั้งบริษัทหุ้นส่วนที่มีเป้าหมายและกิจกรรมการดำเนินการต่าง ๆ ที่เป็นไปตามหลักของศาสนบัญญัติจึง


การขายประกันและการเล่นหุ้น อิสลามทำได้หรือไม่?

การขายประกันและการเล่นหุ้น อิสลามทำได้หรือไม่?
ตอบ :การซื้อขายหุ้น
1. หลักเดิมในเรื่องการทำธุรกรรม (อัลมุอามะล๊าต) นั้นคืออนุญาต ดังนั้นการจัดตั้งบริษัทหุ้นส่วนที่มีเป้าหมายและกิจกรรมการดำเนินการต่าง ๆ ที่เป็นไปตามหลักของศาสนบัญญัติจึงเป็นเรื่องที่อนุญาตและไม่มีข้อขัดแย้งในการต้องห้าม (ฮะรอม) การมีหุ้นส่วนในบรรดาบริษัทที่มีเป้าหมายหลัก อันเป็นสิ่งต้องห้าม อาทิเช่น การทำธุรกรรมที่มีดอกเบี้ย หรือการผลิตสิ่งที่ต้องห้ามหรือทำการค้าด้วยสิ่งต้องห้าม และหลักเดิมถือว่าต้องห้ามการมีหุ้นส่วนในบรรดาบริษัทที่ทำธุรกรรมด้วยบรรดาสิ่งต้องห้ามจะด้วยเรื่องดอกเบี้ยเป็นอาทิในบางครั้ง ถึงแม้ว่ากิจกรรมหลักของบริษัทจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามหลักศาสนบัญญัติก็ตาม (อัลฟิกฮุ้ล อิสลามี่ย์ ; ดร.วะฮฺบะฮฺ อัซซุฮัยลี่ย์ เล่มที่ 9 หน้า 590) 
ดังนั้นหากบริษัทของคุณมิได้ทำธุรกรรมเกี่ยวกับดอกเบี้ยหรือสิ่งต้องห้ามหรือทำการค้าหรือผลิตสิ่งที่ต้องห้ามก็อนุญาตให้คุณมีหุ้นส่วนในบริษัทของคุณได้ และอนุญาตให้ซื้อและขายหุ้นเพื่อทำกำไรในกรณีหุ้นของบริษัทดังกล่าวได้ โดยหุ้นดังกล่าวเป็นที่รู้กันสำหรับผู้ขายและผู้ซื้อ ทั้งนี้เนื่องจากอาศัยนัยกว้าง ๆ ของบรรดาหลักฐานที่อนุญาตในการซื้อขายเป็นเกณฑ์ (ฟะตาวา อัลลัจฺญ์นะฮฺ อัดดาอิมะฮฺ เล่มที่ 3 หน้า 320,321,324)
2. ส่วนหนึ่งจากข้อชี้ขาดเกี่ยวกับตลาดหุ้น (ตลาดหลักทรัพย์) นั้นคือ อนุญาตตามศาสนบัญญัติและกฎหมายในการขายหุ้นด้วยราคาที่แน่นอนเด็ดขาด ส่วนกรณีเมื่อปรากฏว่าราคาของหุ้นแบบเป็นมีกำหนดเวลาสำหรับเวลาขาย ถือว่าการขายในกรณีนี้ไม่เป็นที่อนุญาตเนื่องจากไม่รู้ราคาในเวลาปัจจุบัน ทั้งนี้เพราะการรู้ถึงราคาเป็นเงื่อนไขสำหรับการขายว่าจะใช้ได้หรือไม่ในทัศนะของปวงปราชญ์ (อ้างแล้ว เล่มที่ 9 หน้า 434) และการซื้อขายในตลาดหุ้นนั้นต้องพิจารณาข้อที่ 1 ที่กล่าวมาแล้วประกอบด้วย (คือการทำธุรกิจหรือธุรกรรมของบริษัทที่มีหุ้นในตลาดหุ้นนั้นว่าผิดหลักการของศาสนาหรือไม่ ส่วนคำตอบข้อที่ 3 นั้นก็ถือว่าเราสามารถซื้อหุ้นน้ำมันในต่างประเทศได้โดยพิจารณาตามคำฟัตวาที่อ้างมาแล้วในข้อที่ 1
ตอบ เรื่องประกันชีวิต
ในระบบการทำประกันชีวิตหรือวินาศภัยที่แพร่หลายในปัจจุบันมีเรื่องของดอกเบี้ยเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างแน่นอน นอกเหนือจากรูปแบบการทำธุรกรรมประเภทนี้ยังเข้าข่ายว่าขัดต่อหลักนิติศาสตร์อิสลามอีกหลายประการทั้งในส่วนของข้อตกลง, เงื่อนไขในข้อตกลง, การร่วมหุ้นส่วน (ชะริกะฮฺ) ที่ใช้ไม่ได้ ตลอดจนความไม่เป็นธรรมที่ส่งผลต่อผู้เอาประกันในบางกรณี หรือการจ่ายค่าเสียหายในกรณีเกิดวินาศภัยที่มีจำนวนมากกว่าเบี้ยประกันที่ผู้เอาประกันจ่าย 
กล่าวคือมีได้มีเสียและมีความเสี่ยง จึงถือเป็นการพนัน บริษัทที่รับประกันภัยจึงมีลักษณะเหมือนกับเจ้ามือการพนัน นักวิชาการส่วนใหญ่จึงให้น้ำหนักต่อข้อชี้ขาดของการประกันชีวิตและประกันวินาศภัยตามรูปแบบที่นิยมกระทำกันว่าเป็นสิ่งต้องห้าม แต่ในปัจจุบันมีการทำประกันชีวิตในรูปแบบ “ตะกาฟุล” หรืออัตตะอาวุนีย์ ที่คล้ายกับรูปแบบสหกรณ์หรือการลงขันช่วยเหลือสมาชิกของกลุ่มที่ร่วมหุ้นส่วนกันในการบรรเทาผลกระทบและความเสี่ยงที่เกิดจากวินาศภัย ซึ่งสอดคล้องกับหลักนิติศาสตร์อิสลามจึงเป็นทางเลือกสำหรับมุสลิมในเรื่องนี้
ตอบ : การทำประกันภัยรถยนต์
จริงๆ แล้วในเรื่องการทำประกัน ไม่ว่าจะเป็นประกันชีวิต ประกันภัย หรือประกันอัคคีภัยนั้น นักวิชาการมีความเห็นต่างกันถึง 3 ทัศนะ คือ 
1) ถือเป็นสิ่งต้องห้ามในทุกชนิด 
2) อนุญาตในทุกกรณี 
3) ห้ามเฉพาะประกันชีวิตเท่านั้น อื่นจากนั้นเป็นที่อนุญาต (อะหฺซะนุลกะลามฯ ชัยคฺ อะฏียะฮฺ ศ็อกร์ เล่มที่ 2 หน้า 209-210) 
และในหนังสือ อัรริบา วัลกอรฏ์ ฟิล ฟิกฮฺ อัล-อิสลามียฺ , ดร.อบูสะรีอฺ มุฮำมัด อับดุล-ฮาดียฺ หน้า 109 ก็ระบุว่า นักวิชาการบางส่วนอนุญาตให้ทำประกันภัยรถยนต์และอัคคีภัยและอื่นๆ โดยจำกัดการห้ามเอาไว้เฉพาะการทำประกันชีวิตเท่านั้น ซึ่งทัศนะนี้สอดคล้องกับทัศนะของนักวิชาการกลุ่มที่ 3 ข้างต้น 
ดังนั้นหากถือตามทัศนะของนักวิชาการฝ่ายนี้ก็ถือว่าอนุญาตให้ทำประกันภัยรถยนต์ได้ โดยเฉพาะในกรณีที่มีกฎหมายบ้านเมืองบังคับใช้เอาไว้ อย่างไรก็ตามข้อชี้ขาดในการทำประกันภัยรถยนต์ว่าอนุญาตให้กระทำได้ก็ยังคงมีประเด็นหักล้างและคัดค้านในด้านนิติศาสตร์อิสลามอยู่หลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสัญญาข้อตกลงเรื่องการค้ำประกัน (เฎาะมานฺ) เรื่องเฆาะร๊อรฺ ตลอดจนเรื่องของดอกเบี้ย 
สิ่งที่ดีที่สุดก็คือ เลี่ยงได้เป็นดี เพราะเป็นประเด็นที่นักวิชาการมีความเห็นต่างกันระหว่างหะลาล-หะรอม แต่ถ้าจะทำประกันชนิดนี้เพราะมีความจำเป็นด้วยข้อกฎหมายบ้านเมืองก็สามารถถือตามทัศนะของฝ่ายที่อนุญาตได้
ตอบ : ประกันชีวิตและประกันสังคม
“ประกันชีวิต" ตามกฎหมาย หมายถึง ชื่อสัญญาประกันภัยชนิดหนึ่ง ซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า "ผู้รับประกันภัย" ตกลงจะใช้เงินจำนวนหนึ่งให้แก่ผู้รับประโยชน์โดยอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของบุคคลหนึ่ง และในการนี้ผู้เอาประกันภัยตกลงจะส่งเงินซึ่งเรียกว่า "เบี้ยประกันภัย" ให้แก่ผู้รับประกันภัย ประกันชีวิตเรียกในภาษาอาหรับว่า "อัต-ตะอฺมีน อะลัล หะยาฮฺ" (التَّأْ مِيْنُ عَلَى الْحَيَاةِ) 
นักวิชาการร่วมสมัยวินิจฉัยว่า รูปแบบการทำประกันชีวิตที่นิยมแพร่หลายในปัจจุบันเป็นสิ่งต้องห้าม เพราะถือว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของการพนัน (อัล-มุกอมะเราะฮฺ) และเป้าหมายในการตั้งบริษัทประกันชีวิตมุ่งเน้นในการแสวงหากำไรมิได้มุ่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างแท้จริง และรูปแบบในการทำข้อตกลงในสัญญาก็ขัดกับหลักนิติศาสตร์อิสลามว่าด้วยหมวดการทำธุรกรรม (ดูหุกมุซ-ซะรีอะฮฺ อัล-อิสลามมียะฮฺ ฟี อุกูด อัต-ตะอฺมีน หน้า 38-41 และหน้า 80 ดร.หุสัยน์ หามิด โดยสรุป)
ส่วนการประกันสังคม คือ การสร้างหลักประกันในการดำรงชีวิตในกลุ่มของสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการเพื่อรับผิดชอบในการเฉลี่ยความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น อาการเจ็บป่วย การคลอดบุตร การตาย ทุพพลภาพ สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และการว่างงาน เพื่อให้ได้รับการรักษาพยาบาล และมีรายได้อย่างต่อเนื่อง เรียกเงินที่หักเพื่อส่งเข้ากองทุนประกันสังคมว่า "เงินสมทบ" และเรียกการประกันสังคมในภาษาอาหรับว่า อัต-ตะอฺมีน อัล-อิจญ์ติมาอียฺ (التأمين الاجتِمَاعِيّ) ซึ่ง
นักวิชาการร่วมสมัยให้น้ำหนักว่า การทำประกันสังคมเป็นสิ่งที่อนุญาต (ญาอิซฺ) ทั้งนี้โดยมีเงื่อนไขว่าต้องไม่มีดอกเบี้ยในกรณีนายจ้างหรือลูกจ้างล่าช้าในการส่งเงินสมบทเข้ากองทุนประกันสังคม (แถลงการณ์ครั้งที่ 2 มัจญมะอฺ อัล-บุหูษฺ อัล-อิสลามียะฮฺ หน้า 26) 
จากรายละเอียดข้างต้นจึงสรุปได้ว่า การประกันชีวิตแตกต่างจากประกันสังคม ทั้งในด้านเป้าหมาย รูปแบบการทำข้อตกลง (สัญญา) และข้อชี้ขาด กล่าวคือ กระประกันชีวิตเป็นสิ่งต้องห้าม ในขณะที่การประกันสังคมเป็นที่อนุมัติ 
ดังนั้น เมื่อบริษัททำประกันชีวิตให้แก่พนักงานโดยถือเป็นสวัสดิการที่บริษัทมอบให้ก็แสดงว่าการทำประกันชีวิตไม่ใช่สิ่งที่บริษัทบังคับให้พนักงานต้องทำ คุณก็สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่ถ้าบริษัทมีทางเลือกในเรื่องนี้ให้แก่พนักงานในการทำสัญญาแบบตะกาฟุลกับบริษัทหรือธนาคารอิสลามก็ควรทำ แต่ถ้าไม่มีทางเลือกก็ต้องไม่รับข้อเสนอในการทำประกันชีวิตดังกล่าว ซึ่งบริษัทไม่ได้บังคับอยู่แล้ว ส่วนการทำประกันสังคมนั้นไม่มีปัญหาแต่อย่างใด
والله أعلم بالصواب
อ.อาลี เสือสมิง


islamhouse.muslimthaipost.com 

ภาพจากอินเทอร์เน็ต

อัพเดทล่าสุด