ตามหลักการศาสนาอิสลามว่า ด้วยเรื่องการให้้มรดก เหตุผลที่ผู้หญิงได้รับน้อยกว่าผู้ชาย นั่นเป็นเพราะว่า ตามหลักแล้ว 'ผู้ชาย' มีหน้าที่ต้องดูแล รับผิดชอบบรรดาผู้หญิง
เหตุผลที่ผู้หญิงได้รับมรดกน้อยกว่าผู้ชาย (อิสลาม)
ตามหลักการศาสนาอิสลามว่า ด้วยเรื่องการให้้มรดก เหตุผลที่ผู้หญิงได้รับน้อยกว่าผู้ชาย นั่นเป็นเพราะว่า ตามหลักแล้ว 'ผู้ชาย' มีหน้าที่ต้องดูแล รับผิดชอบบรรดาผู้หญิง ไม่ว่าเขาจะอยู่ในฐานะ พ่อ สามี พี่ชาย น้องชาย ลูก (ในวัยอันควร) ลุง ก็ตาม ทรัพย์สินของผู้ชายต้องถูกใช้ไปในการดูแลบรรดาผู้หญิงด้วยเช่นกัน แต่ทรัพย์สินของผู้หญิง ก็จะยังคงเป็นของผู้หญิงให้ใช้จ่ายตามความต้องการของเธอ นี่คือเหตุผลหนึ่งที่ว่า เหตุใดฝ่ายชายจึงได้มากกว่า และนี่คือหลักการของศาสนาอิสลาม
แต่หากพบว่า ในปัจจุบันผู้ชายไม่ได้ทำหน้าที่เป็นผู้นำ ดูแลครอบครัว เพิกเฉยต่อสิ่งเหล่านี้ และบางคนก็นำทรัพย์สินของฝ่ายหญิงมาใช้ จะด้วยความสมัครใจของฝ่ายหญิงหรือไม่ก็แล้วแต่ ...โปรดอย่าโทษ 'อิสลาม'
สรุปเรียบเรียงจากการฟังบรรยายของมุฟตี อิสมาอีล เมงกฺ
เราควรพิจารณาตัวเองมากกว่า ว่าเราได้ศึกษาหลักการและทำหน้าที่ของเราดีหรือยัง
..............
มรดก คือ ทรัพย์สินหรือสิทธิที่ผู้ตายได้ทิ้งไว้ ซึ่งทายาทโดยชอบธรรม มีสิทธิได้รับ ด้วยการสิ้นชีวิตของผู้ตาย (อัลฟิกฮุล-อิสลามีย์ 8/243) การแบ่งมรดก เป็นระเบียบ ตามหลักการของศาสนาอิสลาม ที่ได้รับการยืนยัน ด้วยตัวบทอัลกุรฺอาน อัลหะดีษ และอิจญ์มาอฺ ซึ่งมีความสำคัญ เช่นเดียวกับหลักการ ที่ว่าด้วยการละหมาด การจ่ายซะกาฮฺ การทำธุรกรรมต่างๆ และบทลงโทษ ตามลักษณะอาญา โดยจำเป็นในการบังคับใช้ และนำมาปฏิบัติ ไม่อนุญาตให้เปลี่ยนแปลง หรือฝ่าฝืน ไม่ว่ากาลเวลาจะหมุนเวียนเปลี่ยนไป นานเพียงใดก็ตาม (อัลฟิกฮุ้ลมันฮะญีย์ 5/71,72) และผู้ใดปฏิเสธบัญญัติของศาสนา ในเรื่องการแบ่งมรดก ผู้นั้นเป็นผู้ปฏิเสธ (กาฟิร) ออกนอกจากศาสนาอิสลาม (อ้างแล้ว 5/68)
ท่านนบีมุฮำหมัด (صلى الله عليه وسلم) ได้กล่าวความว่า: “จงแบ่งทรัพย์สิน ในระหว่างผู้สืบทอด ตามนัยแห่งคัมภีร์ของอัลลอฮฺ” (รายงานโดยบรรดาเจ้าของสุนัน)
องค์ประกอบของการแบ่งมรดก
องค์ประกอบของการแบ่งมรดกมี 3 ประการ คือ
- เจ้าของมรดกหรือผู้ตาย (อัล-มุวัชริซฺ)
- ผู้สืบ (รับ) มรดก (อัล-วาริซฺ)
-
ทรัพย์สินหรือสิทธิของเจ้าของมรดกหรือผู้ตาย เรียกในภาษาอาหรับว่า อัลเมารูซฺ,อัล-มีรอซฺ และอัล-อิรซฺ (المَوْرُوْثُ ، اَلمِيْرَاثُ ، اَلإِرْثُ) เมื่อขาดองค์ประกอบข้อหนึ่งข้อใดจาก 3 ประการนี้ ก็ไม่มีการสืบมรดก (อัลฟิกฮุลอิสลามีย์ 8/248,249)
สิ่งที่ถือว่าเป็นมรดก
สิ่งที่ถือว่าเป็นมรดกได้แก่
-
สังหาริมทรัพย์ และอสังหาริมทรัพย์ ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ตาย เช่น ที่ดิน ตึก อาคาร บ้าน สวน ไร่นา รถยนต์ และเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ เป็นต้น
- เงินสดในมือ และในธนาคาร
-
ทรัพย์สิน ที่ผู้ตายมีสิทธิโดยชอบธรรม แต่ยังมิได้มีการส่งมอบ เช่น หนี้สินของผู้ตาย ที่ติดค้างอยู่ที่ผู้อื่น (ลูกหนี้) เงินค่าทำขวัญ เงินค่าทดแทน เงินค่าตอบแทน เป็นต้น
-
สิทธิทางวัตถุ ซึ่งมิได้เกิดจากตัวทรัพย์สินโดยตรง แต่ทว่าเกิดจากการกระทำโดยทรัพย์สินนั้น หรือมีความผูกพันกับทรัพย์สินนั้น เช่น สิทธิในน้ำดื่ม สิทธิในการใช้ทางสัญจร สิทธิในการอาศัย สิทธิในที่ดินเพื่อการเพาะปลูก สิทธิในการเช่าช่วง เป็นต้น
บรรดาสิทธิที่เกี่ยวพันกับทรัพย์มรดกของผู้ตาย
มีสิทธิ 5 ประการ ที่เกี่ยวพันกับทรัพย์มรดกของผู้ตาย โดยมีความสำคัญก่อนหลังตามลำดับ ดังนี้ คือ
-
บรรดาหนี้สิน ที่เกี่ยวพันกับตัวของทรัพย์มรดก ก่อนหน้าการเสียชีวิตของผู้ตาย อาทิ เช่น การจำนอง, การซื้อขาย และทรัพย์สิน ซึ่งจำเป็นต้องออกซะกาฮฺ
-
การจัดการศพ อันหมายถึงค่าใช้จ่ายทั้งหมด นับแต่การเสียชีวิตของผู้ตาย จวบจนเสร็จสิ้นการ ฝังศพ โดยไม่มีความสุรุ่ยสุร่าย หรือความตระหนี่ในการใช้จ่าย
-
บรรดาหนี้สิน ที่มีภาระผูกพันกับผู้ตาย ไม่ว่าบรรดาหนี้สินนั้น จะเป็นสิทธิของพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) อาทิ เช่น ซะกาฮฺ,สิ่งที่ถูกบน (นะซัร) เอาไว้ และบรรดาค่าปรับ (กัฟฟาเราะฮฺ) หรือจะเป็นสิทธิของบ่าว อาทิ เช่น การยืมหนี้สิน เป็นต้น
-
พินัยกรรม (วะศียะฮฺ) ที่ผู้ตายทำไว้ จากจำนวน 1 ใน 3 ของทรัพย์สิน ที่ผู้ตายละทิ้งไว้ หลังจากค่าใช้จ่ายในการจัดการศพ และการชดใช้หนี้สินของผู้ตาย
-
ทรัพย์อันเป็นมรดก ซึ่งถือเป็นสิทธิ ที่เกี่ยวพันกับทรัพย์สิน ของผู้ตาย ในลำดับท้ายสุด โดยให้นำมาแบ่ง ระหว่างทายาทผู้มีสิทธิรับมรดก ตามสัดส่วน ที่ศาสนากำหนด (อัลฟิกฮุล-มันฮะญี่ย์ 5/73,74)
เงื่อนไขของการแบ่งมรดก
การแบ่งมรดกนั้น จะมีเงื่อนไข ดังนี้
-
เจ้าของมรดกได้เสียชีวิตอย่างแน่นอน หรือด้วยคำสั่งของศาล (ว่าเสียชีวิต หรือสาบสูญ)
-
ผู้สืบมรดก (ทายาท) ยังมีชีวิตอยู่อย่างแน่นอน หรือด้วยคำสั่งของศาล
-
จะต้องทราบว่า ผู้นั้นเกี่ยวข้องในการสืบมรดกอย่างไร เช่น เป็นสามี เป็นภรรยา ฯล
-
จะต้องไม่ถูกกันสิทธิในการสืบมรดก ตามหลักศาสนบัญญัติ
ผู้ที่ไม่มีสิทธิในกองมรดก
ผู้ที่ไม่มีสิทธิสืบมรดก โดยเด็ดขาด มีดังนี้ คือ
-
ผู้ที่ทำการสังหารเจ้าของมรดก หรือมีส่วนร่วมในการสังหาร (สมรู้ร่วมคิด) ไม่ว่าจะเป็นการสังหาร โดยเจตนา หรือผิดพลาด, จะด้วยสิทธิอันชอบธรรม หรือไม่ก็ตาม หรือตัดสินให้ประหารชีวิต หรือเป็นพยานปรักปรำ จนเป็นเหตุให้มีการประหารชีวิต หรือรับรองพยาน ในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ มีรายงานจากท่าน อัมร์ อิบนุ ชุอัยฺบ์ จากบิดาของเขา จากปู่ของเขาว่า แท้จริงท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) ได้กล่าวว่า : - لَيْسَ لِلْقَاتِلِ شَئٌ (أَىْ مِنَ الْمِيْرَاثِ - “สำหรับผู้สังหาร ย่อมไม่มีสิทธิใดๆ เลย จากทรัพย์มรดก” (อบูดาวูด-4564-)
- ทาส ทุกชนิด ทั้งนี้ เพราะทาสไม่มีสิทธิ ในการครอบครองทรัพย์สิน
-
ผู้สืบมรดกเป็นชนต่างศาสนิก หรือสิ้นสภาพจากการเป็นมุสลิม (มุรตัด) ท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) ได้กล่าวว่า : - لاَيَرِثُ الْمُسْلِم الكَافِرَوَلاَالْكَافِرُالْمُسْلِمَ - “มุสลิมจะไม่สืบมรดก คนต่างศาสนิก และคนต่างศาสนิก ก็จะไม่สืบมรดก คนมุสลิม” (รายงานโดย บุคอรี-6383-,มุสลิม-1614-)
ผู้มีสิทธิสืบมรดก اَلْوَارِثُ (อัล-วาริซฺ)
ทายาทผู้ตายที่เป็นชาย ซึ่งมีสิทธิในการสืบมรดก มีดังนี้
-
บุตรชายของผู้ตาย
-
หลานชาย เหลนชาย ฯลฯ
-
บิดาของผู้ตาย
-
ปู่ของผู้ตาย (บิดาของบิดา ฯลฯ)
-
พี่ชายหรือน้องชาย (ทั้งที่ร่วมบิดามารดา หรือร่วมบิดา หรือร่วมมารดากับผู้ตาย
-
บุตรชายของพี่ชายหรือน้องชาย (ร่วมบิดามารดา)
-
บุตรชายของพี่ชายหรือน้องชาย (ร่วมบิดากับผู้ตาย)
-
อาหรือลุง (พี่ชายหรือน้องชาย ของบิดาที่ร่วมบิดามารดากับบิดาของผู้ตาย)
-
อาหรือลุง (พี่ชายหรือน้องชาย ของบิดาที่ร่วมบิดากับบิดาของผู้ตาย)
-
บุตรชายของลุงหรือของอา (บุตรของพี่ชาย หรือน้องชายของบิดา ที่ร่วมบิดามารดา กับบิดาของผู้ตาย)
-
บุตรชายของลุงหรือของอา (บุตรของพี่ชาย หรือน้องชายของบิดา ที่ร่วมบิดากับบิดาของผู้ตาย)
-
สามีของผู้ตาย
-
ผู้ปลดปล่อยทาสให้เป็นไท (ในกรณีที่อดีตทาส ที่เขาปล่อยนั้น เป็นเจ้าของมรดก)
อนึ่ง ถ้าบุคคลเหล่านี้ทั้งหมด มีชีวิตอยู่ในขณะแบ่งมรดก ผู้มีสิทธิสืบมรดกมีเพียง บิดา ลูก และสามีของผู้ตาย เท่านั้น
ทายาทผู้ตายที่เป็นหญิง ซึ่งมีสิทธิในการสืบมรดก มีดังนี้
- บุตรีของผู้ตาย
-
บุตรีของบุตรชาย (หลานสาว) หรือบุตรีของบุตรชายของบุตรชาย (เหลนสาว) ของผู้ตาย
- มารดาของผู้ตาย
- ย่า (มารดาของบิดา) ของผู้ตาย
- ยาย (มารดาของมารดา) ของผู้ตาย
-
พี่สาวหรือน้องสาว (ร่วมบิดามารดาหรือร่วมมารดาหรือร่วมบิดากับผู้ตาย)
- ภรรยาของผู้ตาย
-
นายหญิงผู้ปลดปล่อยทาสให้เป็นไท (ในกรณีที่อดีตทาส ที่นางปลดปล่อยนั้น เป็นเจ้าของมรดก)
อนึ่ง ถ้าบุคคลเหล่านี้ทั้งหมด มีชีวิตอยู่ในขณะแบ่งมรดก ผู้ที่มีสิทธิในการสืบมรดก คือ
- บุตรีของผู้ตาย
- หลานสาว (บุตรีของบุตรชาย) ของผู้ตาย
- ภรรยาของผู้ตาย
- มารดาของผู้ตาย
-
พี่สาวหรือน้องสาว ที่ร่วมบิดามารดากับผู้ตาย และถ้าหากนำผู้สืบมรดกทั้งชาย และหญิงมารวมกัน ผู้ที่มีสิทธิในการสืบมรดกนั้น คือ 1. บิดาของผู้ตาย 2. มารดาของผู้ตาย 3.บุตรชายของผู้ตาย 4.บุตรีของผู้ตาย 5.สามีหรือภรรยาของผู้ตาย
ที่มา: การครองคู่ในอิสลาม , www.piwdee.net