ผู้หญิงที่มีเลือดประจำเดือน (เลือดเฮด) และเลือดหลังคลอดบุตร (เลือดนิฟาส) ตัดเล็บตัดผมได้ไหม, แต่ในข้อห้ามสำหรับผู้มีเลือดประจำเดือนและเลือดหลังคลอดบุตรมิได้ระบุว่าห้าม
คนแก่ๆบอกว่า ห้ามตัดเล็บตัดผม ขณะมีเลือดประจำเดือน จริงไหมช่วยบอกที? (อิสลาม)
ผู้หญิงที่มีเลือดประจำเดือน (เลือดเฮด) และเลือดหลังคลอดบุตร (เลือดนิฟาส) ตัดเล็บตัดผมได้ไหม, แต่ในข้อห้ามสำหรับผู้มีเลือดประจำเดือนและเลือดหลังคลอดบุตรมิได้ระบุว่าห้าม, แต่คนแก่ๆ (ผู้ใหญ่) บอกว่าห้ามตัด ช่วยตอบด้วยคะ?
ตอบโดย: อ.มุรีด ทิมะเสน
ในเบื้องต้นศาสนามิได้ระบุสำหรับสตรีมีเลือดประจำเดือน หรือเลือดหลังคลอดบุตรห้ามตัดเล็บ,ตัดผม,โกนขนรักแร้ หรือโกน (ถอน) ขนในร่มผ้าแต่ประการใดไม่ เฉกเช่นผู้ชายที่มีญุนุบก็ไม่ถูกห้ามตัดผม หรือขจัดขนตามร่างกาย (ดังที่กล่าวมาข้างต้น) เช่นกัน, เมื่อไม่มีข้อห้าม นั่นหมายรวมว่า อนุญาตให้กระทำได้นั่นเอง
ท่านรสูลุลลอฮฺกล่าวว่า :
وَمَا سَكَتَ عَنْهُ فَهُوَ مِمَّا عَفَا عَنْهُ
“และสิ่งใดซึ่ง (ศาสนา) ละไว้ (ศาสนาไม่ระบุว่าหะลาล หรือหะรอม) เช่นนี้ (ถือว่า) สิ่งนั้นอนุโลม (อภัยให้กระทำได้) นั่นเอง” [หะดีษหะสัน, บันทึกโดยติรฺมิซีย์ หะดีษที่ 1726]
ด้วยเหตุนี้ มุสลิมะฮฺที่มีรอบเดือน หรือมีเลือดหลังคลอดบุตรสามารถตัดผม ตัดเล็บ, โกนขนรักแร้ หรือแม้กระทั่งโกนขนในร่มผ้าได้อย่างสบายใจ เพราะไม่มีข้อห้ามใดๆ จากศาสนาซึ่งระบุว่าเป็นข้อห้ามในการทำสิ่งดังกล่าว
ส่วนกรณีซึ่งเคยได้ยินมาว่า สตรีมีรอบเดือน หรือมีเลือดนิฟาสในระหว่างนั้นเส้นผมที่ร่วง นางต้องเก็บไว้ พอหมดรอบเดือนจำเป็นสำหรับนางต้องนำเส้นผมที่ร่วงมาอาบน้ำยกหะดัษด้วย เช่นนี้เป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน ศาสนากำชับใช้ให้อาบน้ำยกหะดีษ โดยเส้นผมบนศีรษะต้องเปียกน้ำ ซึ่งบัญญัติดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับเส้นผมที่หลุดไปก่อนหน้านี้ ฉะนั้นเส้นผมที่ร่วงก็ปล่อยให้หลุดร่วงไปไม่ต้องเก็บมาอาบน้ำยกหะดัษแต่อย่างใดทั้งสิ้น อนึ่งกรณีที่อ้างอิงหะดีษของท่านรสูลุลลอฮฺในเรื่องดังกล่าว ล้วนเป็นหะดีษเฎาะอีฟ (อ่อนหลักฐาน) ทั้งสิ้น ตัวอย่างเช่น
ท่านรสูลุลลอฮฺกล่าวว่า :
«مَنْ تَرَكَ مَوْضِعَ شَعْرَةٍ مِنْ جَنَابَةٍ لَمْ يَغْسِلْهَا فُعِلَ بِهَا كَذَا وَكَذَا مِنَ النَّارِ»
“บุคคลใดที่ทิ้งเส้นผมขณะเขา (หรือเธอ) มีญะนาบะฮฺ (หรือยุนุบ) โดยเขายังไม่ได้อาบน้ำให้เส้นผมนั้น (เช่นนั้น) เขาจะถูกลงโทษด้วยไฟนรกแบบนั้นแบบนี้ เนื่องจากไม่ทำความสะอาดเส้นผมดังกล่าว” บันทึกโดยอบูดาวูด หะดีษที่ 249 สถานะของหะดีษคือ เฎาะอีฟ (อ่อนหลักฐาน), (วัลลอฮุอะอฺลัม)