มารยาทการไปเยี่ยมญาติที่กุโบร์ สูบบุหรี่บนกุโบร์ได้หรือไม่?


3,859 ผู้ชม

การ ซียาเราะห์ (เยี่ยมเยียน) กุโบร์ (สถานที่ฝังศพ) นั้นเป็น สุนัต


การสูบบุหรี่บน กุโบร์ โดย อาจารย์ ตายุดดิน ลาตีฟี

أعوذ بالله من الشيطان الرجيم بسم الله الرحمن الرحيم
السلام عليكم ورحمة الله وبركاته

การ ซียาเราะห์ (เยี่ยมเยียน) กุโบร์ (สถานที่ฝังศพ) นั้นเป็น สุนัต (การกระทำที่เมื่อทำก็ได้บุญ ไม่ทำก็ไม่เป็นบาป) ศาสนาสนับสนุนให้กระทำ เพราะจะช่วยกระตุ้นให้มีความเคร่งครัดต่อศาสนา และเตือนสติให้รำลึกถึง อาคีเราะห์ (โลกหน้า) อยู่เสมอ มี อัลฮาดิษ หลายบทที่กล่าวไว้เป็นการส่งเสริมให้กระทำ และการเฝ้า กุโบร์ ก็เป็นสิ่งที่ควรจะกระทำด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการช่วยเหลือญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว โดยผู้เฝ้าอ่าน อัลกุรอ่าน อ่าน ซิกรุลลอฮฺ ต่าง ๆ ขอดุอา (ขอพร) และอุทิศส่วนกุศลที่ได้จากการอ่านให้แก่คนตาย

จากประวัติศาสตร์ได้มีกล่าวว่า บรรดาสาวกของท่านศาสดามูฮัมหมัด ซล. และ ตาบีอีน ตลอดจนปวงปราชญ์ในสมัยนั้น ๆ ทั้งชาว มักกะห์ มาดีนะห์ และเมืองอื่น ๆ ได้มีการเยี่ยมเยียน กุโบร์ ซึ่งมักจะมีการกระทำกันมาโดยตลอด ดังเช่นท่าน ฏอวุธ ซึ่งเป็น ตาบีอีน คนหนึ่งได้กล่าวว่า “พวกสาวกของท่านศาสดามูฮัมหมัด ซล. นั้นเขารักที่จะไม่ทอดทิ้งคนตายให้อยู่ตามลำพังภายในเวลา 7 วัน หลังจากการตาย” และท่าน แซ็คนัสรุลลอฮฺอิบนุมูฮัมหมัด ก็กล่าวว่า “แซ๊คนาฏอรอิบนุอิบรอเฮม ได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันอังคารที่ 9 เดือน มูฮัรรอม ฮิจเราะฮ์ 490 ที่กรุงดามัสคัส นั้น พวกเราได้เฝ้า กุโบร์ ของท่าน เป็นเวลา 7 วัน และเราอ่าน อัลกุรอ่าน อุทิศผลบุญให้ท่านวันละ 20 จบ” ด้วยเหตุผลเพียงสังเขปที่กล่าวมานี้ก็พอที่ จะเป็นประจักษ์พยานได้แล้วว่าการเฝ้า กุโบร์ นั้นเป็นการกระทำที่ชอบด้วยเหตุผลและมีแบบฉบับหาใช่เป็นการกระทำที่หลงใหล งมงาย ไม่ เพราะโดยเนื้อแท้ของมันคือการอ่าน อัลกุรอ่าน อ่าน ซิกรุลลอฮฺ และของ ดุอา ให้ผู้ตาย ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่ศาสนาใช้ให้กระทำทั้งสิ้น

เมื่อการเยี่ยมเยียนและการเฝ้า กุโบร์ เป็นสิ่งที่ดี ศาสนาสนับสนุนให้กระทำ ก็ควรที่ท่านทั้งหลายจะได้ปฏิบัติกันให้ดี ๆ สักหน่อย และควรทำกันด้วยความบริสุทธิ์ใจ เพราะเท่าที่สังเกตในการปฏิบัติกันแล้ว รู้สึกว่าส่วนใหญ่มักจะทำกันอย่างนอกลู่นอกทาง เช่นนั่งคุยกันในเรื่องไร้สาระ มโนสาเร่ นั่งเผาบุหรี่กันบนกุโบร์ และทิ้งสิ่งสกปรกต่าง ๆ กันใน กุโบร์ รวมทั้งขี้บุหรี่ซึ่งได้สูบกันบน กุโบร์ นั้น หากท่านทั้งหลายยังคงปฏิบัติกันเช่นนั้น โดยมองข้ามสิ่งที่เหมาะสม การอันควรเช่นนี้ เชื่อได้ว่าแทนที่คนตายจะได้รับส่วนกุศล กลับจะกลายเป็นการซ้ำเติมด้วยซ้ำไป และแทนที่คนทำจะได้รับความดีบ้าง ภายภาคหน้าก็จะได้รับโทษจาการกระทำเช่นนั้นอีกด้วย

ตามหลักศาสนา ได้มีการห้ามมิให้ จุดตะเกียง ตลอดจนการเผากำยานบน กุโบร์ ดังท่านศาสดามูฮัมหมัด ซล. ทรงกล่าวมีความว่า “พระองค์ อัลลอฮฺ ซบ. ทรงสาปแช่ง (ให้พ้นจากความเมตตา) พวกผู้หญิงที่ใจ ไม่หนักแน่นที่ไป ซียาเราะห์ กุโบร์ และพวกที่เอา กุโบร์ เป็นมัสยิดและ จุดตะเกียงบน กุโบร์ ท่าน ยาลาลุดดีนอัสซุยูฎี ได้กล่าวไว้ในคัมภีร์ ไฟฎลกอดีร มีความว่า ไม่อนุญาตให้จุดตะเกียงบน กุโบร์ และท่านยังได้กล่าวต่อไปว่า “อาบูมูซาอัลอัสอารี” ซึ่งเป็นสาวกของท่านศาสดามูฮัมหมัด ซล. คนหนึ่ง ได้ห้ามเผากำยานบน กุโบร์ ทั้งนี้ก็เพราะว่าการนำไฟเข้าใกล้คนตายนั้นทำให้คนตายเดือดร้อนและระคายเคือง พระองค์อัลลอฮฺ ซบ. ทรงกล่าวไว้ในคัมภีร์ อัลกุรอ่าน ว่า “บุคคลใดทำความเดือดร้อนแก่ผู้ศรัทธาธรรม ทั้งชาย หญิง โดยที่ผู้ศรัทธานั้น ๆ มิเคยสร้างความเจ็บแค้นอะไรให้เลย แท้จริงเขาได้ทูลบาปไว้อย่างชัดแจ้ง”

เมื่อได้ตีความจาก อัลฮาดิษ และถ้อยคำของท่านอบูมูซาอัลอัสอารี ที่กล่าวมาแล้วนั้นได้ความว่า เมื่อได้เปรียบเทียบกันระหว่างการจุดตะเกียง การเผากำยาน กับการสูบบุหรี่นั้นเป็นไปในลักษณะเดียวกัน เพราะทั้งสามสิ่งต้องใช้ไฟเหมือนกัน ดังนั้นการสูบบุหรี่บน กุโบร์ จึงอยูในข่ายต้องห้ามแน่นอน และหากพิจารณาให้ดีแล้ว การสูบบุหรี่ก็เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจมากกว่าด้วยซ้ำไป แต่ในบางกรณีถ้าหากว่าการจุดตะเกียงบน กุโบร์ เพราะมีความจำเป็น เช่น เพื่อทำการขุดหลุมเพื่อเตรียมไว้ฝังศพหรือเพื่อฝัง หรือเพื่อการอ่าน อัลกุรอ่าน ให้กับคนตาย เมื่อเวลานั้นเป็นเวลาค่ำคืน ศาสนาอนุโลมให้กระทำได้ ดังปรากฏใน อัลฮาดิษ ซึ่งรายงานโดย ติรมีซี จากท่านอับดุลลอฮฺอับบาส ว่า “ในค่ำคืนหนึ่งท่านศาสดามูฮัมหมัด ซล. ทรงเข้าไปใน กุโบร์ เพื่อทำการฝังศพ และสาวกคนหนึ่งได้จุดตะเกียงแล้วส่งให้ท่าน ท่านทรงรับตะเกียงนั้นในทิศของกิบลัต แล้วท่านได้กล่าวกับสาวกผู้นั้นว่า “พระองค์อัลลอฮฺ ซบ. ทรงประทานความเมตตาแก่ท่าน” นอกจากนี้ จากหลักของวิชา ฟิกห์ ยังได้กำหนดไว้ว่า “กฎของเป้าหมายคือกฎของสื่อแห่งเป้าหมาย” หมายความว่า การขุดหลุมหรือฝังศพก็ดี หรือการอ่าน อัลกุรอ่าน ก็ดี เป็นสิ่งที่ศาสนาใช้ให้กระทำ แต่จะกระทำในเวลากลางคืนไม่ได้ เพราะความมืดเป็นอุปสรรค ดังนั้นจึงอนุญาตให้จุดตะเกียงเพื่อการดังกล่าวได้

จากที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ท่านทั้งหลายคงจะได้พิจารณาได้แล้ว การสูบบุหรี่บน กุโบร์ นั้น จะกระทำได้เพียงใด ซึ่งจากที่ได้กล่าวไว้ การสูบบุหรี่บน กุโบร์ นั้นอยู่ในข่ายต้องห้ามอย่างแน่นอน โดยไม่มีข้อยกเว้นแต่ประการใด เพราะบุหรี่ไม่ใช่สิ่งที่ดีมีประโยชน์เลย และจากที่ได้มีการค้นคว้าทดลองเกี่ยวกับโทษของบุหรี่ซึ่งได้มีเผยแพร่อยู่นั้น ท่านทั้งหลายก็คงจะทราบกันดีอยู่แล้ว เมื่อตัวของของท่านเองต้องได้รับโทษและทรมาน จากบุหรี่มากมายแล้ว ท่านยังนำมันไปสู่ญาติพี่น้องของท่านใน กุโบร์ อีกหรือ ?

ข้าพเจ้าหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ท่านที่เคารพทั้งหลาย ผู้มีจิตใจเมตตากรุณา ปรานี มีเจตนาดี ต้องการจะสงเคราะห์ญาติพี่น้อง ที่ล่วงลับไปแล้ว ด้วยการ ซียาเราะห์ กุโบร์ หรือ เฝ้า กุโบร์ ก็ตาม ควรจะตระหนักและงดการสูบบุหรี่บน กุโบร์ ด้วย มิเช่นนั้นแล้วความหวังดีของท่านที่มีต่อคนตายนั้น ผลลัพธ์ของมันจะออกมาในทางลบ والسلام عليكم ورحمة الله وبركاته


เอกสารเผยแพร่ ประจำวันศุกร์ที่ 30 มีนาคม 2555 จัดทำโดยโรงเรียนท่าอิฐศึกษา

อัพเดทล่าสุด