งานวันเด็ก ถือเป็นงานสากล การจัดกิจกรรมต้องดูว่า กิจกรรมที่มีในงานเป็นกิจกรรมอะไร หากเป็นกิจกรรมร้องเพลงเต้นรำก็ไม่ควรสนับสนุน แต่หากว่า
งานวันเด็ก กิจกรรมวันเด็ก มุสลิมเข้าร่วมได้อย่างไรบ้าง?
ตอบโดย: อ.มุสตอฟา อยู่เป็นสุข
งานวันเด็ก ถือเป็นงานสากล การจัดกิจกรรมต้องดูว่า กิจกรรมที่มีในงานเป็นกิจกรรมอะไร
หากเป็นกิจกรรมร้องเพลงเต้นรำก็ไม่ควรสนับสนุน แต่หากว่า ให้เด็กอ่านดุอาอฺแข่งกัน แข่งขันอ่านอายะฮฺกุรซีย์ หรือพูดเรื่องศาสนาในวันเด็กมอบทุนการศึกษาให้เด็กที่เรียนดี แบบนี้ส่งเสริมไม่มีปัญหา
แต่อย่าให้วันเด็กนั้นเป็นวันที่ส่งเสริมให้เด็กร้องเพลงเต้นรำ เกาะกลุ่มกันทำบาป แต่ให้ส่งเสริมให้กำลังใจกันให้ขยันเรียนหนังสือให้รางวัลให้ของขวัญกัน แบบนี้ทำได้
ชมคลิป งานวันเด็กหลายที่ มักมีการเต้นรำ มีดนตรี เด็กมุสลิมจะไปร่วมได้หรือไม่ ?
ที่มา: สวรรค์ในบ้าน
เพิ่มเติม:
วันเด็กแห่งชาติ มีต้นกำเนิดมาจากการที่องค์การสหประชาชาติทั่วโลกเกิดความตื่นตัว และเห็นพ้องต้องกันว่าควรจะให้ความสำคัญแก่เด็กๆ โดยในปี พ.ศ. 2498 นายวี เอ็ม กุล ผู้แทนองค์การสหพันธ์เพื่อสวัสดิการเด็กระหว่างประเทศ ได้เป็นผู้เสนอต่อกรมประชาสงเคราะห์ ให้มีการจัดงานวันเด็กแห่งชาติขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้เห็นความสำคัญ และความต้องการของเด็ก รวมถึงเพื่อเป็นการกระตุ้นให้เด็กตระหนักถึงบทบาทอันสำคัญของตนในประเทศ โดยปลูกฝังให้เด็กมีส่วนร่วมในสังคม เตรียมพร้อมให้ตนเองเป็นกำลังของชาติ
ดังนั้น เมื่อดูจากประวัติแล้ว วันเด็กแห่งชาติไม่ใช่กิจกรรมที่เกี่ยวกับศาสนา ตราบใดที่งานอะไรก็ตาม ไม่มีสิ่งต้องห้ามตามหลักการของศาสนาอิสลามอยู่ในงานนั้น งานนั้นก็ย่อมจัดได้ หรือเข้าร่วมได้
ภาพจากอินเทอร์เน็ต
ส่วนกรณีการปะปนระหว่างชายและหญิงนั้น หากเป็นเรื่องที่เราจะต้องประสบอยู่ทุกวี่วัน และหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย ศาสนาก็ย่อมอนุโลมให้เป็นธรรมดา เพราะแม้แต่ในมัสยิดหะรอมเอง โดยเฉพาะการตอวาฟ ก็มักจะมีการปะปนชายหญิงอยู่เสมอ ซึ่งหลักการเดิมของมันคือหะรอม (ต้องห้าม) แต่เนื่องจากมันอยู่ในสภาวะเฎาะรูเราะฮ์ (เหตุฉุกเฉิน) กล่าวคือ เป็นสิ่งที่ควบคุมยาก หรือแทบไม่ได้เลย อันนี้ศาสนาก็อนุโลมให้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เมื่ออนุโลมแล้ว ก็จะปล่อยปละละเลยโดยที่แต่ละคนไม่มีการระมัดระวังตัวเลย ซึ่งหากจะบาป ก็บาปตรงส่วนที่ปล่อยปะละเลยเรื่องนี้นี่แหละ ดังนั้น เราจะต้องแยกให้ออกในประเด็นนี้
งานวันเด็ก นั้น พื้นฐานที่จัดขึ้นก็เพื่อให้ความสำคัญกับเด็กเป็นหลัก และอิสลามเองก็ส่งเสริมในเรื่องนี้ ดังนั้นถือเป็นเรื่องที่น่าสนับสนุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กกำพร้า องค์กรมุสลิมบ้านเราน่าจะจัดบ้างเพื่อที่ลูกหลานของเราจะได้แสดงความสามารถในทางที่ไม่ขัดกับหลักการศาสนา ส่วนจะให้คนต่างศาสนิกเข้าร่วมด้วย ก็ไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาอยู่ที่องค์ประกอบของงานว่ามีสิ่งผิดหลักศาสนาหรือไม่ ส่วนบางเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ นั่นก็เป็นอีกเรื่องที่เราจะต้องมาพิจารณากัน
ภาพจากอินเทอร์เน็ต