คำถาม อยากทราบผลของการละหมาดไม่ตรงเวลา และการละหมาดชดใช้จะมีผลอย่างไร?
ละหมาด ไม่ตรงเวลา เลยเวลา ละหมาด มีผลอย่างไร?
คำถาม อยากทราบผลของการละหมาดไม่ตรงเวลา และการละหมาดชดใช้จะมีผลอย่างไร?
พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงดำรัสว่า :
ความว่า: “แล้วมีกลุ่มชนรุ่นหลังได้มาภายหลังพวกเขา (พวกชนรุ่นหลังนั้น) ได้ทำให้การละหมาดสูญหายไป (ทิ้งละหมาด) และปฏิบัติตามอารมณ์ความใคร่ พวกเขาจะได้พบกับการหลงผิด (หรือขุมนรกหนึ่งในญะฮันนัม) ยกเว้นบุคคลที่สำนึกผิด, ศรัทธาและประพฤติการงานที่ดี” (มัรยัม : 59-60)
ท่านอิบนุ อับบาส (ร.ฎ.) กล่าวว่า : คำว่า “พวกเขาได้ทำการละหมาดสูญหาย” มิได้หมายความว่าพวกเขาทิ้งการละหมาดทั้งหมด แต่พวกเขาล่าช้าการละหมาดจนออกจากเวลาของการละหมาดนั้น ท่านสะอีด อิบนุ อัลมุซัยยับ อิหม่ามของชนรุ่นตาบิอีน กล่าวว่า : คือการที่เขาจะไม่ละหมาดซุฮฺริจนกว่าเวลาอัศริมาถึง และจะไม่ละหมาดอัศริจนเข้าสู่เวลามัฆริบ และจะไม่ละหมาดมัฆริบจนเข้าสู่เวลาอิชาอฺ และจะไม่ละหมาดอิชาอฺจนเข้าสู่เวลาฟัจฺร์ (ซุบฮิ) และจะไม่ละหมาดฟัจฺร์จนกระทั่งดวงตะวันขึ้น
ดังนั้น ละหมาด ไม่ตรงเวลา ผู้ใดตายไปในสภาพที่เขายืนกรานต่อสภาพเช่นนี้ และไม่สำนึกผิด (เตาบะฮฺ) พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงคาดโทษ (สัญญาร้าย) แก่ผู้นั้นด้วย ฆ็อยฺย์ อันหมายถึง ขุมหนึ่งในนรกญะฮันนัมที่ก้นของมันลึกและรสชาติ (หรืออาหาร) ของมันเลวยิ่งนัก
และพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงดำรัสในอีกอายะฮฺหนึ่งว่า
ความว่า: “ดังนั้นความวิบัติมีแก่บรรดาผู้ละหมาดที่พวกเขาหลงลืมจากการละหมาดของพวกเขา” (อัลมาอูน : 4)
หมายถึง พวกเขาหลงลืมและเพิกเฉยต่อการละหมาด ท่านสะอฺด์ อิบนุ อบีวักก็อซ (ร.ฎ.) กล่าวว่า : ฉันได้ถามท่านร่อซู้ล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ถึงบรรดาผู้ที่หลงลืมจากการละหมาดของพวกเขา (ว่าหมายถึงอย่างไร?) ท่านร่อซู้ล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวว่า : คือการล่าช้าเวลาละหมาด หมายถึง ล่าช้าในการละหมาดจนออกจากเวลาของมัน (ทัศนะที่มีน้ำหนักที่สุดระบุว่า หะดีษนี้เป็นคำพูดของท่านสะอฺด์)
พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงเรียกชื่อพวกเขาว่าเป็นบรรดาผู้ปฏิบัติละหมาด (اَلْمُصَلِّيْنَ) แต่ทว่าเมื่อพวกเขากระทำเบาความและทำให้การละหมาดล่าช้าจนออกจากเวลาของมัน พระองค์จึงทรงคาดโทษพวกเขาด้วยกับวัยฺล์ (وَيْل) อันหมายถึง การลงทัณฑ์อันรุนแรง บ้างก็กล่าวว่า หมายถึง ขุมหนึ่งในนรกญะฮันนัม ซึ่งถ้าหากนำเอาบรรดาขุนเขาในโลกนี้ใส่ลงไปในขุมนี้ แน่นอนบรรดาขุนเขาเหล่านั้นก็จะหลอมละลายสิ้นเนื่องจากความร้อนที่รุนแรงของมัน
ขุมนรกนี้ เป็นที่พำนักของบรรดาผู้เพิกเฉยและกระทำเบาความกับการละหมาด และทำให้การละหมาดล่าช้าจนออกจากเวลาของมัน ยกเว้นผู้ที่สำนึกผิดยังพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) และเสียใจที่ต่อความบกพร่องของตน (The Mejor sins Al-KABA'IR ; By Muhammad Bin Uthman Adh-Dha habi, Rendered into English By Mohammed Moinuddin Siddiqui, ph D. p.34-35)
ดังกล่าวข้างต้นคือ ผลของการละหมาดไม่ตรงเวลา ซึ่งหากกระทำโดยเจตนาและไม่มีความจำเป็น หรืออุปสรรคพร้อมกับการเพิกเฉยและกระทำเบาความก็ถือ เป็นบาปใหญ่
ซึ่งจำเป็นต้องเตาบัตตัวโดยไม่รีรอ ส่วนการชดใช้ (กอฎออฺ) ละหมาดที่ขาดไปนั้น ถ้าหากว่าขาดไปเพราะลืมหรือนอนหลับ นักวิชาการเห็นพ้องกันว่า จำเป็นต้องกอฎออฺ (ชดใช้) ส่วนผู้ที่ละทิ้งการละหมาดโดยเจตนา ตามทัศนะของปวงปราชญ์ (ญุมฮู๊ร) ถือว่า ผู้นั้นมีความผิดและจำเป็นที่ผู้นั้นต้องชดใช้
แต่นักวิชาการบางท่าน เช่น อิบนุตัยมียะฮฺ (ร.ฮ.) และอิบนุฮัซฺมิน ระบุว่า ไม่มีบัญญัติให้เขาผู้นั้น (ผู้ที่เจตนาละทิ้งการละหมาด) ทำการชดใช้ (กอฎออฺ) และถือว่าการละหมาดชดใช้ไม่เซาะฮฺ (ใช้ไม่ได้) -ฟิกฮุซซุนนะฮฺ ; อัซซัยยิด ซาบิก เล่มที่ 1 หน้า 297-300)
ซึ่งในประเด็นนี้ ละหมาด ไม่ตรงเวลา เลยเวลา ละหมาด สมควรที่จะยึดถือตามทัศนะของปวงปราชญ์เพราะเป็นสิ่งที่รอบคอบกว่า
ที่มา: alisuasaming.org
- กักตัวในบ้านเมื่อเกิดโรคระบาด ผลบุญเสมือนผู้ตายชะฮีด
- ภรรยาในสวรรค์ หะดีษ 'เค้าขอโทษนะตะเอง'
- โควิด 19 กับชีวิตผู้ศรัทธา
- ละหมาดเสร็จ อย่ารีบลุก ความดีมากมายหลังละหมาดเสร็จ
- มุสลิมเสียชีวิต จากโควิด-19 ต้องอาบน้ำหรือไม่?
- ตายเกลื่อนจากโรคร้าย หนึ่งในสัญญาณวันกิยามะห์
- ปฏิบัติ 6 ประการ ให้การละหมาดนั้น “คูชัวะ” (มีสมาธิตั้งมั่น)