สุริยุปราคา 2563 ที่จะเกิดในช่วงเวลาประมาณ 1300-1610 น ของวันนี้ (21 มิถุนายน 2563) ซึ่งเป็นสุริยุปราคาส่งท้ายของประเทศไทย
สุริยุปราคา 2563 วันนี้ ความเชื่อของมุสลิมเมื่อเกิดสุริยุปราคา
สุริยุปราคา 2563 ที่จะเกิดในช่วงเวลาประมาณ 13.00-16.10 น. ของวันนี้ (21 มิถุนายน 2563) ซึ่งเป็นสุริยุปราคาส่งท้ายของประเทศไทย หากพลาดครั้งนี้จะต้องรอไปอีกถึง 7 ปี
จากเพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ให้ความรู้เกี่ยวกับ "สุริยุปราคาวงแหวน" และ "สุริยุปราคาบางส่วน" ต่างกันอย่างไร สามารถบอกอะไรได้บ้าง โดยระบุว่า...
สุริยุปราคาวงแหวน คือ สุริยุปราคาที่ดวงจันทร์อยู่ห่างจากโลกมาก ในขณะเกิดสุริยุปราคา ทำให้ดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์ไม่เต็มดวง คนบนโลกจะมองเห็นพื้นผิวของดวงอาทิตย์ปรากฏออกมาให้เห็นโดยรอบ ลักษณะคล้ายวงแหวน
สุริยุปราคาบางส่วน เกิดจากโลก ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ไม่ได้เรียงอยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกันพอดี ทำให้คนบนโลกมองเห็นดวงอาทิตย์เว้าแหว่งเพียงบางส่วน
เราจะศึกษาอะไรจากสุริยุปราคาทั้งสองชนิดนี้ได้บ้างนะ?
บรรยากาศโลกในช่วงเกิดสุริยุปราคา
สุริยุปราคา เป็นปรากฏการณ์ที่ความเข้มแสงของดวงอาทิตย์ลดลงแล้วกลับมาสว่างขึ้นในเวลาค่อนข้างเร็ว นั่นทำให้นักวิทยาศาสตร์สนใจศึกษาว่าความเข้มแสงของดวงอาทิตย์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันจะมีผลต่อบรรยากาศของโลกหรือไม่ อาทิ สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงระหว่างเกิดสุริยุปราคา (เช่น อุณหภูมิ) ความเปลี่ยนแปลงของสภาพการนำไฟฟ้าในบรรยากาศชั้นไอโอโนสเฟียร์ หรือการเกิดโอโซนจากการเปลี่ยนแปลงของรังสีอัลตราไวโอเลตในแสงอาทิตย์
ความเข้มแสงอาทิตย์ที่เปลี่ยนแปลงตามอัตราการบังของดวงจันทร์
การศึกษานี้สามารถทำได้ เมื่อใช้อุปกรณ์วัดความเข้มแสง เพียงแต่อาจมีปัจจัยรบกวนอื่นๆ จากชั้นบรรยากาศโลก เช่น เมฆที่เคลื่อนเข้ามาบัง หรือมุมเงยของดวงอาทิตย์ อย่างกรณีเมื่อดวงอาทิตย์อยู่ใกล้กับขอบฟ้า แสงอาทิตย์จะส่องเป็นมุมเฉียงมากขึ้นและมีระยะเดินทางผ่านบรรยากาศโลกยาวขึ้น แสงจึงถูกกรองออกไปมากขึ้นด้วย ทำให้เราสามารถมองดวงอาทิตย์ด้วยตาเปล่าได้ในช่วงที่ดวงอาทิตย์กำลังขึ้นและกำลังตก
พื้นผิวของดวงจันทร์
หากขนาดปรากฏของดวงจันทร์ขณะเกิดสุริยุปราคาวงแหวนใกล้เคียงกับดวงอาทิตย์มากๆ จนมองเห็นสุริยุปราคาวงแหวนมีวงแหวนที่ขาดช่วงไป นั่นคือปรากฏการณ์ "ลูกปัดเบลีย์" เกิดจากแสงอาทิตย์ที่ส่องผ่านหุบเหว ร่องหรือหลุมอุกกาบาตบริเวณขอบของดวงจันทร์ จนเห็นแสงอาทิตย์สว่างเป็นหย่อมๆ บนวงแหวนบาง ลักษณะปรากฏของ "วงแหวนขาดช่วง" ทำให้สามารถประเมินคร่าวๆ ว่าบริเวณใดเป็นภูเขาหรือหุบเหวบนดวงจันทร์ แล้วจึงนำไปเทียบกับแผนที่ดวงจันทร์ต่อได้
การโคจรของดวงจันทร์
เราสามารถคำนวณหาอัตราเร็วในการโคจรของดวงจันทร์จากการถ่ายภาพในช่วงเวลาต่างๆ ระหว่างเกิดสุริยุปราคาได้ ซึ่งในการเกิดสุริยุปราคาแต่ละครั้ง ระยะห่างระหว่างดวงจันทร์และโลกจะแตกต่างกัน อัตราเร็วก็จะไม่เท่ากันตามไปด้วย หรือทำได้จากการถ่ายภาพสุริยุปราคาบางส่วนด้วยผู้สังเกตการณ์ 2 คน ที่อยู่ห่างกันในเวลาเดียวกัน แล้วนำมาหาระยะห่างของดวงจันทร์โดยใช้หลักการพารัลแลกซ์
พฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตระหว่างเกิดสุริยุปราคา
แม้ว่าระหว่างเกิดสุริยุปราคาวงแหวนหรือสุริยุปราคาบางส่วน ดวงอาทิตย์จะไม่ได้สว่างน้อยลงเท่ากับการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง แต่เราสามารถสังเกตการณ์ว่าเมื่อความเข้มแสงอาทิตย์เปลี่ยนไปจากสุริยุปราคา จะส่งผลต่อพฤติกรรมสิ่งมีชีวิต อย่างไร เช่น นกพากันบินกลับรังเพราะคิดว่าเป็นเวลาเย็น
สุริยุปราคาทางดาราศาสตร์เชิงวัฒนธรรม
เราสามารถศึกษาเรื่องของสุริยุปราคา ในบริบทดาราศาสตร์เชิงวัฒนธรรมได้หลายประเด็น เช่น
- ด้วยองค์ความรู้ทางดาราศาสตร์ในยุคกลางที่คิดว่าโลกเป็นศูนย์กลางของระบบสุริยะ จะสามารถคำนวณสุริยุปราคาวงแหวนได้อย่างไร?
- การตรวจหาบันทึกเกี่ยวกับปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วนและวงแหวนในเอกสารทางประวัติศาสตร์
- การสำรวจความเชื่อดั้งเดิมหรือนิทานดาวในวัฒนธรรมหรือกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ว่ามีความแตกต่างกันระหว่างสุริยุปราคาเต็มดวงกับสุริยุปราคาวงแหวนหรือไม่? อย่างไร?
ความเชื่อของมุสลิมเมื่อเกิดสุริยุปราคา
ไม่ได้เกิดจากการตายหรือการเกิดของผู้ใด แต่นั้นคือ สัญญาณจากอัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะอตาอาลา
บทบัญญัติอิสลามเกี่ยวกับ เรื่องข้อปฏิบัติยามเกิดสุริยุปราคา อย่างไรบ้าง?
สิ่งที่ส่งเสริมให้กระทำเมื่อเกิดสุริยุปราคาหรือจันทรุปราคา
1. ละหมาด
عَنْ ابْنِ عُمَرَ رَضِيَ اللَّهُ عَنْهُمَا أَنَّهُ كَانَ يُخْبِرُ عَنْ النَّبِيِّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ إِنَّ الشَّمْسَ وَالْقَمَرَ لَا يَخْسِفَانِ لِمَوْتِ أَحَدٍ وَلَا لِحَيَاتِهِ وَلَكِنَّهُمَا آيَتَانِ مِنْ آيَاتِ اللَّهِ فَإِذَا رَأَيْتُمُوهَا فَصَلُّوا
จากท่านอิบนุอุมัร เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
“แท้จริงดวงอาทิตย์และดวงจันทร์นั้นจะไม่บดบังกัน (เกิดสุริยุปราคาและจันทรุปราคา) ด้วยการตายหรือการเกิดของผู้หนึ่งผู้ใด แต่ทั้งสองนั้น คือ สัญญาณสองข้อจากบรรดาสัญญาณต่างๆของอัลลอฮฺตะอาลา ดังนั้น เมื่อพวกท่านพบเห็นมันทั้งสอง ก็จงทำการละหมาด” (บันทึกโดย บุคอรีย์ : 1042 และมุสลิม : 914)
2. เศาะดะเกาะฮฺ (บริจาคทาน)
عَنْ عَائِشَةَ أَنَّهَا قَالَتْ : خَسَفَتْ الشَّمْسُ فِي عَهْدِ رَسُولِ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ فَصَلَّى رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ بِالنَّاسِ فَقَامَ فَأَطَالَ الْقِيَامَ..ثُمَّ قَالَ إِنَّ الشَّمْسَ وَالْقَمَرَ آيَتَانِ مِنْ آيَاتِ اللَّهِ لَا يَخْسِفَانِ لِمَوْتِ أَحَدٍ وَلَا لِحَيَاتِهِ فَإِذَا رَأَيْتُمْ ذَلِكَ فَادْعُوا اللَّهَ وَكَبِّرُوا وَصَلُّوا وَتَصَدَّقُوا...
จากท่านหญิงอาอิชะฮฺ กล่าวว่า : เกิดสุริยุปราคาขึ้นในยุคของท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ท่านจึงนำผู้คนละหมาด ท่านยืนขึ้น โดยท่านยืนเป็นเวลานาน...(หลังจากเสร็จสิ้นการละหมาดแล้ว) ท่านก็กล่าวว่า
“แท้จริงดวงอาทิตย์และดวงจันทร์นั้นคือ สัญญาณสองข้อจากบรรดาสัญญาณต่างๆของอัลลอฮฺ มันไม่ได้บดบังกัน ด้วยการตาย หรือการมีชีวิตของคนหนึ่งคนใด ดังนั้น เมื่อพวกท่านเห็นมัน พวกท่านก็จงขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮฺ กล่าวตักบีรฺ (อัลลอฮุอักบัรฺ) ละหมาด และให้ทานเศาะดะเกาะฮฺเถิด” (บันทึกโดย บุคอรีย์ 1044 และมุสลิม 901)
3. ดุอาอ์
عن الْمُغِيرَةَ بْنَ شُعْبَةَ قال : انْكَسَفَت الشَّمْسُ يَوْمَ مَاتَ إِبْرَاهِيمُ فَقَالَ النَّاسُ انْكَسَفَتْ لِمَوْتِ إِبْرَاهِيمَ فَقَالَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ إِنَّ الشَّمْسَ وَالْقَمَرَ آيَتَانِ مِنْ آيَاتِ اللَّهِ لَا يَنْكَسِفَانِ لِمَوْتِ أَحَدٍ وَلَا لِحَيَاتِهِ فَإِذَا رَأَيْتُمُوهُمَا فَادْعُوا اللَّهَ وَصَلُّوا حَتَّى يَنْجَلِيَ
จากท่าน อัลมุฆีเราะฮฺ บิน ชุอฺบะฮฺ กล่าวว่า : ได้เกิดสุริยุปราคาขึ้นในวันที่อิบรอฮีม (บุตรชายของท่านนบี) เสียชีวิต ผู้คนจึงพากันกล่าวว่า สุริยุปราคานั้นเกิดขึ้นเนื่องจากการเสียชีวิตของอิบรอฮีม ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จึงกล่าวว่า
“แท้จริงดวงอาทิตย์และดวงจันทร์นั้นคือสัญญาณสองข้อจากบรรดาสัญญาณต่างๆของอัลลอฮฺ มันไม่ได้บดบังกัน ด้วยการตาย หรือการมีชีวิตของคนหนึ่งคนใด ดังนั้น เมื่อพวกท่านเห็นมัน พวกท่านก็จงขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮฺ และจงทำการละหมาด กระทั่งปรากฏการณ์นั้นได้สิ้นสุดลง” (บันทึกโดย บุคอรีย์ 1060 และ มุสลิม 915)
4. รำลึกถึงอัลลอฮฺ และกล่าวอิสติฆฟาร (ขออภัยโทษ)
عَنْ أَبِي مُوسَى قَالَ : خَسَفَتْ الشَّمْسُ فَقَامَ النَّبِيُّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ فَزِعًا يَخْشَى أَنْ تَكُونَ السَّاعَةُ فَأَتَى الْمَسْجِدَ فَصَلَّى بِأَطْوَلِ قِيَامٍ وَرُكُوعٍ وَسُجُودٍ رَأَيْتُهُ قَطُّ يَفْعَلُهُ وَقَالَ : هَذِهِ الْآيَاتُ الَّتِي يُرْسِلُ اللَّهُ لَا تَكُونُ لِمَوْتِ أَحَدٍ وَلَا لِحَيَاتِهِ وَلَكِنْ يُخَوِّفُ اللَّهُ بِهِ عِبَادَهُ فَإِذَا رَأَيْتُمْ شَيْئًا مِنْ ذَلِكَ فَافْزَعُوا إِلَى ذِكْرِهِ وَدُعَائِهِ وَاسْتِغْفَارِهِ
จากท่าน อบู มูสา กล่าวว่า : เกิดสุริยุปราคาขึ้น แล้วท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ก็ลุกขึ้นอย่างรีบเร่งร้อนรน กลัวว่ามันจะเป็นวันสิ้นโลก แล้วท่านก็ไปยังมัสยิด และทำการละหมาด ด้วยการยืน รุกูอฺ และสุญูดที่ยาวนานที่สุดเท่าที่ฉันเคยเห็นท่านปฏิบัติ แล้วท่านก็กล่าวว่า
“สัญญาณเหล่านี้ที่อัลลอฮฺทรงให้บังเกิดขึ้นนั้น ไม่ได้เป็นไปเพราะการตาย หรือการมีชีวิตของผู้ใด แต่อัลลอฮฺตะอาลาทรงให้มันทำให้บ่าวของพระองค์เกรงกลัว ดังนั้น เมื่อพวกท่านเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดจากสัญญาณเหล่านั้น พวกท่านก็จงรีบเร่งรำลึกถึงพระองค์ ขอดุอาอ์ต่อพระองค์ และขออภัยโทษต่อพระองค์” (บันทึกโดย บุคอรีย์ 1059 และมุสลิม 912)
หุก่มของการละหมาดสุริยุปราคา
อุละมาอ์ส่วนใหญ่เห็นว่า การละหมาดสุริยุปราคานั้น ถือเป็นสุนัตมุอักกะดะฮฺ (สุนัตที่ส่งเสริมให้กระทำเป็นอย่างยิ่ง)
ท่านอิบนุกุดามะฮฺ เราะหิมะฮุลลอฮฺ กล่าวว่า “การละหมาดสุริยุปราคานั้นถือเป็นสุนัตมุอักกะดะฮฺ เพราะท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้เคยกระทำ และใช้ให้กระทำ” (อัลมุฆนีย์ 3/330)
ท่านนะวะวีย์ เราะหิมะฮุลลอฮฺ กล่าวว่า “และอุละมาอ์ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ว่าการละหมาดสุริยุปราคานั้นเป็นสุนัต” (ชัรหฺ อันนะวะวีย์ อะลา มุสลิม 6/451)
ทั้งนี้ อุละมาอ์บางท่านมีทัศนะว่าการละหมาดดังกล่าวเป็นวาญิบ วัลลอฮุอะลัม
ส่งเสริมให้ละหมาดในรูปญะมาอะฮฺ
อุละมาอ์ส่วนใหญ่เห็นว่า อนุญาตให้ทำการละหมาดสุริยุปราคาในรูปญะมาอะฮฺ หรือละหมาดคนเดียวได้ แต่ละหมาดในรูปญะมาอะฮฺประเสริฐกว่า ดังปรากฏในหะดีษ ว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ละหมาดสุริยุปราคาในรูปญะมาอะฮฺ (บุคอรีม 901)
ส่งเสริมให้ละหมาดที่มัสยิด
สุนัตให้ละหมาดสุริยุปราคาในรูปญะมาอะฮฺที่มัสยิด ท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา กล่าวว่า
“ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ออกไปยังมัสยิด แล้วท่านยืนละหมาด และตักบีรฺ แล้วผู้คนก็ตั้งแถวข้างหลังท่าน” (บุคอรีย์ 1049 และมุสลิม 903)
ส่งเสริมให้ละหมาดทั้งบุรุษและสตรี
ดังปรากฏในหะดีษ ว่าท่านหญิงอาอิชะฮฺ และอัสมาอ์ ละหมาดสุริยุปราคา พร้อมกับท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม (บุคอรีย์ 1053)
ประกาศเรียกผู้คนให้มาละหมาด
ส่งเสริมให้ประกาศเรียกผู้คน เพื่อร่วมทำการละหมาดร่วมกันที่มัสยิด ดังปรากฏหลักฐานดังนี้
รายงานจากท่าน อับดุลลอฮฺ บิน อัมรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา กล่าวว่า
“เมื่อเกิดสุริยุปราคาขึ้นในสมัยท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม มีการประกาศเรียกว่า : إنّ الصَّلاةَ جَامِعَةٌ (จงมาละหมาดร่วมกันเป็นญะมาอะฮฺ)” (บันทึกโดยบุคอรีย์ 1045 และมุสลิม 910)
และรายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา กล่าวว่า
“เกิดสุริยุปราคาขึ้นในสมัยท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ท่านจึงให้คนประกาศว่า الصَّلاةَ جامِعَةً ผู้คนจึงรวมตัวกันและตั้งแถวข้างหลังท่าน แล้วท่านก็นำพวกเขาละหมาด” (บันทึกโดย อันนะสาอีย์ 1464 และอบูดาวุด 1190)
ไม่มีอะซาน ไม่มีอิกอมะฮฺ
ท่านอิบนุ กุดามะฮฺ เราะหิมะฮุลลอฮฺ กล่าวว่า
“การละหมาดสุริยุปราคา ไม่มีอะซาน หรืออิกอมะฮฺ เพราะท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ทำการละหมาดสุริยุปราคาโดยปราศจากการอะซาน หรืออิกอมะฮฺ และเนื่องจากเป็นการละหมาดที่นอกเหนือจากละหมาดฟัรฎูทั้งห้า จึงคล้ายกับการละหมาดสุนัตทั่วไป” (อัลมุฆนีย์ 3/323)
และท่านอิบนุ ดะกีก อัลอีด กล่าวว่า “บรรดาอุละมาอ์ต่างมีความเห็นพ้องกันว่า การละหมาดสุริยุปราคานั้น ไม่ต้องอะซาน และอิกอมะฮฺ”(ฟัตหุลบารีย์ 2/533)
วิธีการละหมาดสุริยุปราคา
การละหมาด เมื่อเกิดสุริยคราสนั้น เป็น “สุนัตมุอักกัต” ควรกระทําอย่างยิ่ง และการปฏิบัติร่วมกันแบบ “ยะมาอะฮ์” เป็นประเสริฐสุด ละหมาดนี้ให้ทํา 2 รอกะอัต
วิธีละหมาดสุริยุปราคา มีดังนี้
ให้เหนียตทําละหมาดสุริยคราส เหนียตว่า
คำอ่าน: อุซ็อลลีสุนนะตัลกุซูฟิ รอกอะตัยนี่ ลิลลาฮิต้าอาลา
นึกในใจ : ข้าพเจ้าละหมาดสุนัตสุริยคราส 2 รอกะอัต เพื่ออัลเลาะห์ต้าอาลา
จากนั้นตักบีรเข้าทําละหมาด อ่านดุอาอิฟตีตะห์ อ่านอะลูซูบิลลาฮ์ อ่านฟาติฮะห์ แล้วรู่กัวอ์ หลังจากนั้น ให้เงยศีรษะขึ้นจากรู่กัวอ์ แล้วยืนตรง ต่อมาก็อ่านฟาติฮะฮฺ อีกเป็นครั้งที่สอง แล้วรู่กัวอ์ และเงยศีรษะ นั้นมายืนตรงเป็นครั้งที่สอง หลังจากนั้นจึงก้มลงสุยูด 2 ครั้ง
หลังจากนั้น ให้ทําละหมาดร่อก้าอัตที่สองตามแบบเดิม โดยมีการยืน 2 ครั้ง การอ่านสองครั้ง การรู่กัวอ์ 2 ครั้ง การเอียะติดาลสองครั้ง การสุยูดสองครั้ง หลังจากนั้นให้ทําละหมาดจนครบถ้วนเหมือน ๆ กับการละหมาดทั่วไป
สุนัตให้อีหม่ามอ่านดังในละหมาดจันทรคราส ไม่ต้องดังในสุริยคราส เสร็จแล้วให้อีหม่ามอ่านคุตบะฮ์ สองครั้งเช่นเดียวกับคุตบะฮฺวันศุกร์ ในคุตบะฮฺทั้งสองเตือนให้ผู้คนเตาบัต เลิกทำบาป และให้หันมาทำแต่ความดีงามเช่นการทำทานและอื่น ๆ
อนึ่งการกระทำที่ไม่เกี่ยวกับที่กล่าวไว้แล้ว ซึ่งเป็นประเพณีของบางท้องถิ่น เช่น การตีปีป ยิงปืน จุดประทัด และเขย่าต้นไม้เป็นต้น เป็นการกระทําที่ไม่มีในบทบัญญัติของศาสนาอสลาม
คลิปวิธีละหมาดสุริยุปราคา
คลิปวิธีละหมาดสุริยุปราคา จาก: narawitproduction