วลาเราอาบน้ำคนตาย (มัยยิต) หรือแบกโลงศพผู้ตายเนี่ย เราต้องอาบน้ำละหมาด อาบน้ำเหมือนอาบน้ำยกหะดัษหรือไม่?
อาบน้ำคนตาย แบกโลงศพ เราต้องมีน้ำละหมาดหรือไม่?
คำถาม: เวลาเราอาบน้ำคนตาย (มัยยิต) หรือแบกโลงศพผู้ตายเนี่ย เราต้องอาบน้ำละหมาด อาบน้ำเหมือนอาบน้ำยกหะดัษหรือไม่?
ตอบโดย อ.มุรีด ทิมะเสน
กรณีที่เราอาบน้ำให้ผู้ตาย (มัยยิต) เช่นนี้มีแบบฉบับ (สุนนะฮฺ) ของท่านรสูลุลลอฮฺให้ผู้อาบน้ำคนตายผู้นั้น กลับไปอาบน้ำเฉกเช่นการอาบน้ำยกหะดัษ และบุคคลใดที่แบกโลงศพ เช่นนั้นมีแบบฉบับให้เขาอาบน้ำละหมาด
ท่านรสูลุลลอฮฺ กล่าวว่า
مَنْ غَسَّلَ مَيِّتًا فَلْيَغْتَسِلْ، وَمَنْ حَمَلَ جَنَازَةً فَلْيَتَوَضَّأْ
“บุคคลใดที่อาบน้ำให้คนตาย (มัยยิต) เช่นนั้นเขาจงอาบน้ำ (เฉกเช่นการอาบน้ำ) ยกหะดัษ และบุคคลใดที่แบก (โลงบรรจุ) คนตาย (ญะนาซะฮฺ) เช่นนี้เขาจงอาบน้ำละหมาดเถิด” หะดีษเศาะหี้หฺ, บันทึกโดยอบูดาวูด หะดีษที่ 2433] (วัลลอฮุอะอฺลัม)
ใครจะเป็นผู้อาบน้ำให้คนตาย?
1. ส่งเสริมให้ผู้ที่จะทำการอาบน้ำให้คนตายนั้น จะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการอาบน้ำมากที่สุด และแน่นอนว่าเขาจะได้ผลบุญอันมหาศาลหากเขาได้กระทำไปเพื่อความโปรดปรานของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวาตะอาลา และต้องปกปิดเรื่องไม่ดีที่น่ารังเกียจเกี่ยวกับตัวศพที่เขาได้สัมผัสและเห็นทั้งหมด
2. กรณีที่มีการขัดแย้งในเรื่องการอาบน้ำให้คนตายของชายผู้หนึ่งนั้น ควรจะให้ผู้ที่เขาได้สั่งเสียเป็นคนที่มีสิทธิอาบน้ำให้มากที่สุด หลังจากนั้นผู้เป็นบิดาของผู้ตายและปู่ของผู้ตายแล้วเครือญาติของผู้ตายที่ใกล้ที่สุดตามลำดับ แล้วหลังจากนั้นก็เป็นบรรดาเครือญาติที่ไม่มีสิทธิในมรดกของผู้ตาย เช่นเดียวกันหากกรณีที่ศพเป็นของสตรีผู้หนึ่งควรจะให้ผู้ที่ได้รับการสั่งเสียเป็นคนอาบน้ำให้ หลังจากนั้นก็เป็นมารดาของนางต่อมายายของนางแล้วก็เป็นเครือญาติของนางที่ใกล้กับนางที่สุดตามลำดับ และอนุญาตให้สามีภรรยาอาบน้ำศพให้แก่กันได้ และการอาบน้ำให้กับศพนั้นเพียงครั้งเดียวก็ถือว่า ใช้ได้แล้ว ทั้งศพที่เป็นชายและศพที่เป็นหญิง โดยอาบน้ำครั้งเดียวให้ทั่วทั้งร่างกายของศพ
* ผู้ที่สามารถเข้ามาทำการอาบน้ำให้คนตายได้นั้นคือ ผู้ที่อาบน้ำให้และผู้ช่วยเท่านั้น และเป็นการไม่สมควรที่จะให้ผู้ไม่เกี่ยวข้องเข้าร่วมในการอาบน้ำให้คนตาย
วิธีการอาบน้ำคนตายในอิสลาม
1. กรณีที่ต้องทำการอาบน้ำให้คนตายนั้น ให้นำศพไปวางไว้บนเตียงหรือแคร่ที่ทำไว้เฉพาะสำหรับอาบน้ำศพ
2. แล้วใช้ผ้าหนึ่งผืนปกปิดร่างกายของศพ
3. หลังจากนั้นให้เริ่มทำการถอดเสื้อผ้าของศพ
4. แล้วให้ทำการยกศีรษะของศพให้อยู่ในท่าใกล้เคียงกับท่านั่ง
5. แล้วทำการลูบท้องของศพเบาๆ พร้อมกับรดน้ำให้มากๆ หลังจากนั้นให้พันมือของผู้อาบด้วยผ้าหรือสวมถุงมือและให้ทำความสะอาดทวารของศพ
6. ให้ตั้งเจตนาว่า จะทำการอาบน้ำให้ศพคนตาย
7. เริ่มด้วยการอาบน้ำละหมาดให้คนตาย ดังเช่นการอาบน้ำละหมาดเพื่อทำการละหมาด
8. หลังจากที่ได้เปลี่ยนผ้าพันมืออีกอันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และอย่าให้น้ำเข้าไปภายในปากหรือจมูกของศพ หากแต่ให้ใช้นิ้วที่เปียกไว้สอดเข้าไปในรูจมูกและล้วงเข้าไปในปากของศพแทน
9. หลังจากนั้นให้ทำการอาบน้ำศพด้วยน้ำสะอาดและใบพุทรา หรือด้วยสบู่ โดยเริ่มจากศีรษะของศพและเคราหลังจากนั้นให้ไล่ลงมาทางฝั่งขวาของศพ เริ่มจากลำคอลงมาจนกระทั่งถึงปลายเท้าของศพ
10. ทำการพลิกศพให้เปลี่ยนมาอยู่ทางฝั่งซ้าย แล้วให้ทำการอาบแผ่นหลังด้านขวาของศพ แล้วให้อาบทางฝั่งซ้ายลักษณะเดียวกันกับที่อาบทางฝั่งขวาของศพ
11. ให้ทำการอาบน้ำอีกในครั้งที่สองและครั้งที่สามดังเช่นที่ได้ทำไว้ในครั้งแรก และหากยังไม่สะอาดและทั่วถึงให้เพิ่มจำนวนครั้งจนกระทั่งสะอาดให้ครบเป็นจำนวนคี่
12. ให้ทำการอาบครั้งสุดท้ายด้วยน้ำที่ผสมกับ การบูรหรือน้ำที่มีกลิ่นหอม และหากหนวดหรือเล็บของศพนั้นยาวให้ทำการตัดส่วนที่ยาวออกไปแล้วทำการเช็ดตัวด้วยผ้า
และสำหรับศพมุสลิมะฮฺให้รวบผมหรือถักเป็นเปียสามเส้น แล้วปล่อยลงไปทางด้านหลัง
และหากเกิดมีสิ่งสกปรกออกจากส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายหลังการอาบน้ำศพเสร็จสิ้นแล้ว ให้ทำความสะอาดเฉพาะส่วนนั้นๆ และให้ทำการอาบน้ำละหมาดใหม่ จากนั้นให้ใช้สำลีปิดส่วนนั้นไว้ให้มิดชิด