คืนนิสฟูชะอ์บานมีซุนนะห์ให้ทำอะไร?


61,491 ผู้ชม

คืนนิสฟูซะอฺบานคือคืนวันที่ 15 ของเดือนซะอฺบาน คำว่า นิสฟู แปลว่า ครึ่ง ดังนั้นนิสฟูซะอฺบานจึงแปลว่า ครึ่งของเคือนซะฮฺบาน


คืนนิสฟูชะอ์บานมีซุนนะห์ให้ทำอะไร?  

คืนนิสฟูซะอฺบานคือคืนวันที่ 15 ของเดือนซะอฺบาน คำว่า นิสฟู แปลว่า ครึ่ง ดังนั้นนิสฟูซะอฺบานจึงแปลว่า ครึ่งของเคือนซะฮฺบาน

คำถาม

1.การรวมตัวกันที่มัสยิดในค่ำคืนนิสฟูชะบานเพื่ออ่านกรุอ่าน ซูเราะยาซีน และทำการขอดุอานั้น สามารถทำได้หรือมั้ยครับ

2.ละหมาดสุนัตนิสฟูชะบานตามหลักฐานนั้นมีกระทำกันมั้ยครับ

ตอบโดย: อาลี เสือสมิง

1. ชัยค์ อาลี มะฮฺฟูซฺ ได้กล่าวไว้ในหนังสือของท่านที่ชื่อ อัลอิบดาอฺ ฟี มะฏอรฺ อัลอิบติดาอฺ หน้า 286 ว่า

"และส่วนหนึ่งจากบรรดาอุตริกรรมที่แพร่หลายในหมู่ผู้คนก็คือการรวมตัวของชาวมุสลิมในบรรดามัสยิดเพื่อทำให้ค่ำคืนนิสฟูชะอฺบาน มีชีวิตชีวาด้วยการละหมาด, การขอดุอาอฺหลังละหมาดมัฆริบ โดยพวกเขาจะอ่านดุอาอฺนั้นด้วยเสียงดังตามการอ่านนำของอีหม่าม แท้จริงการทำให้ค่ำคืนนั้นมีชีวิตชีวาตามรูปแบบที่รู้กันไม่เคยปรากฏมีในสมัยท่านร่อซู้ล (ซ.ล.) และสมัยบรรดาซอฮาบะฮฺ (ร.ฎ.) "

อันที่จริงมันเป็นที่รู้กันจาก คอลิด อิบนิ มะอฺดาน มักฮู้ล อัชชามีย์ จากชนรุ่นตาบิอีนว่าบุคคลทั้งสองจะขมักเขม้นในการทำอิบาดะฮฺในค่ำคืนนิสฟูชะอฺบาน แล้วผู้คนหลังจากบุคคลทั้งสองก็มีความเห็นต่างกันถึงความประเสริฐของค่ำคืนนี้ และการทำให้ค่ำคืนนี้มีชีวิตชีวาด้วยการทำอิบาดะฮฺ ส่วนหนึ่งจากพวกเขาคือผู้ที่รับรอง (เห็นด้วย) และส่วนหนึ่ง) ปฏิเสธ (ไม่เห็นด้วย) และผู้ที่รับรอง (เห็นด้วย) นั้นมี 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งมีความเห็นว่าส่งเสริม (มุสตะฮับ) ให้ทำให้ค่ำคืนนี้มีชีวิตชีวาเป็นหมู่คณะในมัสยิด อาทิเช่น อิสหาก อิบนุ รอฮาวัยฮฺ (ร.ฮ.) และอีกฝ่ายหนึ่งรังเกียจในการรวมตัวสำหรับค่ำคืนนั้นในมัสญิด แต่ไม่เป็นที่รังเกียจ (มักรูฮฺ) สำหรับบุคคลที่ทำให้ค่ำคืนนั้นมีชีวิตชีวาด้วยการละหมาดเพียงลำพัง ซึ่งอิหม่ามอัลเอาซาอีย์ อิหม่ามของพลเมืองชามเลือกเอาไว้

คืนนิสฟูชะอ์บานมีซุนนะห์ให้ทำอะไร?

อัลฮาฟิซ อิบนุ ร่อญับ กล่าวไว้ในตำรา “ละฏออิฟุลมะอารีฟ” ว่า : และค่ำคืนนิสฟูชะอฺบานนั้น บรรดาชนรุ่นตาบิอีนจากพลเมืองชาม เช่น คอลิด อุบนุ มะอฺดาน, มักฮู้ล และ ลุกมาน อิบนุ อามิร และท่านอื่นๆ ให้ความสำคัญในค่ำคืนนี้ และขมักเขม้นในการทำอิบาดะฮิในค่ำคืนนี้ และจากพวกเขานี้แหละผู้คนก็ได้ยึดเอาความประเสริฐและให้ความสำคัญต่อคืนนิสฟูชะอฺบาน...ผู้คนมีความเห็นต่างกันในสิ่งดังกล่าว  ส่วนหนึ่งจากพวกเขาคือผู้ที่ยอมรับและเห็นด้วยกับพวกเขาต่อการให้ความสำคัญในค่ำคืนนี้ ส่วนหนึ่ง คือ นักทำอิบาดะฮฺกลุ่มหนึ่งจากชาวเมืองอัลบัศเราะฮฺ และผู้อื่น 

แต่อุละมาอฺของแคว้นฮิญาซฺโดยส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับสิ่งดังกล่าว เช่น ท่านอะฏออฺ , อิบนุ อบีมุลัยกะฮฺ และอับดุรเราะฮฺมาน อิบนุ ชัยดฺ อิบนิ อัสลัม ได้รายงานเอาไว้จากบรรดานักวิชาการฟิกฮฺของนครม่าดีนะฮฺ อันเป็นคำกล่าวของบรรดาสานุศิษย์อิหม่ามมาลิกและผู้อื่น และพวกเขากล่าวว่าทั้งหมดนั้นเป็นอุตริกรรม (บิดอะฮฺ) และอุละมาอฺของพลเมืองชามมีความเห็นต่างกันในลักษณะการทำให้ค่ำคืนนิสฟูชะอฺบานมีชีวิตชีวาเป็น 2 คำกล่าว

คำกล่าวที่ 1- ส่งเสริมให้มีการกระทำให้ค่ำคืนนี้มีชีวิตชีวาเป็นหมู่คณะในบรรดามัสญิด ด้วยปรากฎว่าคอลิด อุบนุ มะอฺดาน และลุกมาน อิบนุ อามิร และอื่นจากทั้งสองจะสวมใส่เสื้อผ้าที่ดีที่สุดของพวกเขา, จะจุดไม้หอม, ทายาตาและจะละหมาดในยามค่ำคืนในค่ำคืนของพวกเขาภายในมัสญิด และอิสหาก อุบนุ รอฮาวัยฮฺ เห็นสอดคล้องกับพวกเขาต่อสิ่งดังกล่าว และกล่าวว่า ในการทำเป็นหมู่คณะในมัสญิดของพวกเขาในค่ำคืนนี้นั้นไม่เป็นอุตริกรรม (บิดอะฮฺ) ฮัสฺบ์ อัลกุรฺมานีย์ ได้รายงานเอาไว้

คำกล่าวที่ 2- ถือว่าน่ารังเกียจ (มักรูฮฺ) ในการรวมตัวกันในบรรดามัสญิดในค่ำคืนนั้นเพื่อทำการละหมาด, เล่าเรื่องราวทั้งหลาย, และการขอดุอาอฺ  แต่ไม่เป็นที่น่ารังเกียจในการที่บุคคลจะละหมาดในค่ำคืนนี้เป็นการเฉพาะส่วนตัว  และนี่เป็นคำกล่าวของ อัลเอาซาอีย์ อิหม่ามพลเมืองชาม และนักวิชาการของพวกเขา และนี่เป็นสิ่งที่ใกล้เคียงที่สุด อินชาอัลลอฮฺ (เป็นคำกล่าวของ อิบุร่อญับ)
(อ้างจาก ฟะตาวา อัลลัจฺญ์นะฮฺ อัดดาอิมะฮฺ ลิลบุฮูซ อัลอิลมียะฮฺ วัลอิฟตาอฺ เล่มที่ 3 หน้า 47)

2. การละหมาดซุนนะฮฺในค่ำคืนนิสฟูชะอฺบานมีหลักฐานหรือไม่? อัลลามะฮฺ อัชเชากานีย์ (ร.ฮ.) กล่าวไว้ใน อัลฟะวาอิด อัลมัจญ์มูอะฮฺ ว่า หะดีษของท่านอะลี (ร.ฎ.) ที่กล่าวถึงการละหมาด 100 รอกอะฮฺในค่ำคืนนิสฟูชะอฺบานเป็นหะดีษเมาฎูอฺ และกล่าวไว้ใน อัลมุคตะซอร ว่า : หะดีษที่ว่าด้วยการละหมาดนิสฟูชะอฺบานนั้นเป็นหะดีษโมฆะ (บาฏิล) และอัลฮาฟิซ อัลอิรอกีย์ (ร.ฮ.) กล่าวว่า : หะดีษว่าด้วยการละหมาดในค่ำคืนนิสฟูชะอฺบานเป็นหะดีษที่ถูกกุต่อท่านนบี (ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)  และเป็นการกล่าวมุสาต่อท่าน” 

ท่านอิหม่ามอันนะวาวีย์ (ร.ฮ.) ได้กล่าวไว้ในตำรา อัลมัจญ์มูอฺ ว่า : การละหมาดที่รู้จักกันว่าละหมาด อัรร่อฆออิบ คือ 12 รอกอะฮฺระหว่างมัฆริบกับอิซาอฺในค่ำคืนวันศุกร์แรกของเดือนร่อญับ และการละหมาดในค่ำคืนนิฟูชะอฺบาน 100 รอกอะฮฺ ละหมาดทั้งสองนี้เป็นอุตริกรรมที่น่ารังเกียจ และอย่าได้ถูกหลอกด้วยการระบุว่าละหมาดทั้งสองเอาไว้ในหนังสือ กูตุลกุลู๊บ และ อิฮฺยาอฺ อุลูมิดดีน  และหะดีษที่ถูกระบุไว้ในหนังสือทั้งสองเล่มนั้น  สิ่งดังกล่าวทั้งหมดเป็นสิ่งโมฆะ (บาฏิล)  -อ้างจาก ฟะตาวา อัลลัจญ์นะฮฺ อัดดาอิมะฮฺ เล่มที่ 3 หน้า 48, 49)

ที่มา:   alisuasaming.org

อัพเดทล่าสุด