ประวัติ นบียะกู๊บ ในมุมมองของอิสลาม


11,951 ผู้ชม

เรื่องราวของท่านนบียะกู๊บ (ขอพระเจ้าทรงประทานสันติแด่ท่าน) หรือยาโคบ ที่อัลกุรอานกล่าวถึงนั้นก็ยังคงเน้นตามหลักจุดมุ่งหมายเดิม ที่สะท้อนถึงการเทิดเกียรติ์ของพระเจ้าองค์เดียว ที่ประทานทางนำจากพระองค์มาสู่มนุษย์อย่างเด่นชัด


ประวัติ นบียะกู๊บ ในมุมมองของอิสลาม

เรื่องราวของท่านนบียะกู๊บ (ขอพระเจ้าทรงประทานสันติแด่ท่าน) หรือยาโคบ  ที่อัลกุรอานกล่าวถึงนั้นก็ยังคงเน้นตามหลักจุดมุ่งหมายเดิม ที่สะท้อนถึงการเทิดเกียรติ์ของพระเจ้าองค์เดียว ที่ประทานทางนำจากพระองค์มาสู่มนุษย์อย่างเด่นชัด

ยังคงอ้างอิงจากหลักการนับถือพระเจ้าองค์เดียวตามแนวทางของ นบีอิบรอฮีม(อ.ล.)ได้วางแนวทางไว้  ย้อนเรื่องซักนิดหนึ่ง ตามหลักการอิสลาม หลังจากที่ท่านนบี อิบรอฮีม(อับราฮัม) จากไป บุตรชายสองคนของท่านก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็น ศาสนทูตเผยแผ่ศาสนานี้ต่อไป คือ ท่านนบีอิสมาอีล(อิชมาเอล)ผู้พี่ ทำหน้าที่เทศนาสั่งสอนอยู่ที่ แคว้น หิญาซ ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่ มักกะฮ์ (อารเบีย)  และ ท่านนบี อิสหาก(อิสอัค)ก็ได้รับแต่ตั้งให้เป็นนบี(ศาสนทูต) เผยแผ่เทศนาอยู่ที่ แคว้น ชาม อันหมายถึงบริเวณที่มี ซีเรีย ปาเลสไตน์ คานาอัน(กันอาน) และโสโดม รวมอยู่ด้วยกัน ตามประวัติศาสตร์ของอิสลาม ได้กล่าวว่า ท่านนบีอิสหาก(อิสอัค)ได้สมรสกับหญิงหนึ่ง ในบริเวณแคว้นนั้น มีนามว่า ริฟเกาะห์  นางได้ให้บุตรกับท่านสองคน คนแรกชื่อ อิสส์(เอซาว) และคนที่สอง ชื่อ ยะกู๊บ(ยาโคบ)

อัลกุรอานได้กล่าวถึงท่านนบี อิสหากไว้น้อยมาก แต่ก็ยืนยันในคุณงามความดีของท่าน และการเป็นนบี(ศาสนทูต) ที่มีคุณสมบัติและปฏิบัติหน้าที่อย่างครบถ้วน สมบูรณ์ ตามที่อัลเลาะฮ์ได้ทรงแต่งตั้งท่านมา ดังโองการต่อไปนี้

" เราได้แจ้งข่าวดีแก่เขา (อิบรอฮีม)ว่า จะได้(ลูกชายคนหนึ่งคือ )อิสหาก เป็นนบีคนหนึ่งในหมู่คนดีทั้งหลาย" (อัลกุรอาน 37/112)

"ครั้นเมื่อเขา(อิบรอฮีม) ปลีกตัวไปจากพวกเขา  และสิ่งที่พวกเขาเคารพบูชา อื่นจากอัลเลาะฮ์แล้ว  เราได้ประทาน อิสหาก และยะกู๊บ ให้แก่เขา และแต่ละคนเราได้แต่งตั้งเขาเป็น นบี(ศาสนทูต)"

"และเราได้ให้ความเมตตาแก่พวกเขา  และเราได้ทำให้พวกเขาได้รับการกล่าวขวัญที่ดี(ในหมู่มนุษย์)" (อัลกุรอาน 19/49-50)

ประวัติ นบียะกู๊บ ในมุมมองของอิสลาม

สุสานของท่านนบีอิสหาก(อิสอัค)บิดาของนบียะกู๊บ  ในมัสยิดที่เมือง เฮโบรน ในอิสราเอล


ส่วนท่านนบียะกู๊บ (ยาโคบ) บุตรของท่านนบีอิสหากนั้น อัลกุรอานมิได้กล่าวถึงรายละเอียดในช่วงวัยเด็กและวัยหนุ่มของท่าน เพียงแต่รับรองคุณสมบัติที่ดีอย่างครบถ้วนของการเป็นนบีของท่าน ซึ่งอัลเลาะฮ์ได้แต่งตั้งดังที่ได้ยก โองการจากอัลกุรอานมาประกอบแล้ว

ดังนั้น เรื่องที่ท่านโกหกหลอก บิดาของท่านต่างๆนาๆ  หรือการกระทำโดยใช่เลห์เหลี่ยมกลโกงต่อพี่ชายของท่าน ตามที่พระคัมภีร์เดิมของชาวยิวและคริสต์กล่าวถึงนั้น  เป็นสิ่งที่อิสลามยอมรับไม่ได้ เพราะขัดต่อคุณสมบัติของการเป็นนบีที่อัลเลาะฮ์ทรงเลือก  เพราะ พระเจ้านั้นไม่มีการผิดพลาดในเรื่องการเลือกใครให้เป็นนบีหรือเรื่องใดๆทั้งสิ้น

เราเป็นมุสลิมเราจะไม่เข้าไปคิดหรือสรุปสิ่งใดที่อัลกุรอานมิได้กล่าวถึง  ส่วนเรื่องราวที่มีจากคัมภีร์อื่นหรือข้อมูลหรือความคิดเห็นใดจากแหล่งอื่นที่ผ่านเข้ามา เราเพียงแต่แค่รับรู้ว่าเขาคิดอย่างไรเท่านั้น  คราวนี้น้องไลลาคงเข้าใจนะว่า ทำไมฉันจึงย้ำเน้นตลอดเวลาว่าอย่าเอามาปนกัน  เพราะหลักการเชื่อการศรัทธาของเรานั้นมีหลายอย่างที่แตกต่างจากชาวคัมภีร์ในยุคก่อนที่อัลกุรอานจะถูกประทานลงมา  เพราะมุสลิมเราเชื่อว่าอัลกุรอานนั้นถูกประทานลงมาเพื่อแยกแยะสิ่งที่ถูกออกจากสิ่งที่ผิด

ประวัติ นบียะกู๊บ ในมุมมองของอิสลาม

มีโองการในอัลกุรอานที่ใช้คำว่า อิสรออีล(อิสราเอล) อยู่หลายโองการเช่น

"วงศ์วานอิสรออีล(อิสราเอล)เอ๋ย จงรำลึกถึงความโปรดปรานของข้า(อัลเลาะฮ์) ที่ข้าได้โปรดปรานแก่พวกเจ้า  และจงรักษาข้อสัญญาของข้าให้ครบถ้วน ข้าก็จะรักษาข้อสัญญาของพวกเจ้าให้ครบถ้วน  และเฉพาะข้าเท่านั้นพวกเจ้าจงเกรงกลัว"   (อัลกุรอาน 2/40)

"คำว่า "อิสรออีล(อิสราเอล) " เป็นเหมือนนามสกุลของนบียะกู๊บ บุตรของท่านนบีอิสหาก......ชาวยิวนั้นสืบเชื้อสายจากท่านนบียะกู๊บ ซึ่งมีบุตรชาย 12 คน เพราะพวกเขาใช้นามสกุลของท่านเป็นชาติสกุลของพวกเขา  จนกระทั่งปัจจุบันนี้  ฉะนั้นคำว่า "วงศ์วานของอิสรออีล" จึงหมายถึงผู้ที่สืบเชื้อสายมาจากท่านนบียะกู๊บ"

 (คำอธิบาย อัลกุรอาน ญุซ์(ภาค)ที่หนึ่ง โดย สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับ น. 153)

ต่อไปนี้เป็นรายชื่อของบรรดาบุตรของท่านนบียุกู๊บ(อ.ล.)ตามหลักฐานของอิสลามซึ่งเป็น สำเนียงของภาษาอาหรับ

"การแต่งงานของท่านนบียะกู๊บกับหญิงหลายคน ทำให้ท่านมีบุตรชาย 12 คน

บุตรที่เกิดจากนาง ลัยอะห์(เลอาห์) มีหกคน คือ รออูมีน ลาวีย์ ยุฮูดา วัยซากัร สุบูลูน

บุตรที่เกิดจากนางรอฮีล(ราเชล) มีสองคนคือ ยูซุฟ และ บินยามีน

บุตรที่เกิดจากนางมะละฮา (บิลฮา)มีสองคน คือ ดาน และ นัฟตาลีย์

บุตรที่เกิดจากนาง ศะละฟา (ศิลปาห์) มีสองคนคือ ญาด และอซีร์

(25 ศาสดา เล่ม2 โดย น. แห่งแมนไทย น. 81)

ขอพระเจ้าทรงประทานทางนำที่ถูกต้องแก่เรา

ประวัติ นบียะกู๊บ ในมุมมองของอิสลาม

มุสลิมกำลังนมัสการพระเจ้าในมัสยิดที่สร้างครอบ หลุมศพของท่านนบีอิสหาก(อิสอัค) ในเมือง เฮโบรน ประเทศอิสราเอลในปัจจุบัน


ประวัติ นบียะกู๊บ ในมุมมองของอิสลาม

ชาวยิวก็แวะมาเยี่ยมเยือนสุสานของท่านนบีอิสหาก(อิสอัค)ในมัสยิดเช่นกัน


ที่มา:  nationtv.tv
https://islamhouse.muslimthaipost.com

อัพเดทล่าสุด