กรณีนิกะห์ของผู้ทำซีนาต้องเตาบะฮ์กลับตัวก่อนหรือไม่?


27,302 ผู้ชม

นิกะห์ของผู้ทำซีนาต้องเตาบะฮ์กลับตัวก่อนหรือไม่?


กรณีนิกะห์ของผู้ทำซีนาต้องเตาบะฮ์กลับตัวก่อนหรือไม่?

โองการจากอัล-กุรฺอานเกี่ยวกับเรื่องผู้ทำซินา

พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. ได้ทรงดำรัสในซูเราะฮ์อัน-นูรฺ อายะฮ์ที่ 3 ว่า 

اَلزَّانِىْ لاَ يَنْكِحُ إِلاَّ زَانِيَةً أَوْ مُشْرِكَةً وَالزَّانِيَةُ لاَ يَنْكِحُهَا إِلاَّ زَانٍ أَوْ مُشْرِكٌ وَحُرِّمَ ذَلِكَ عَلَى الْمُؤْمِنِيْنَ

“ชายซินานั้นจะไม่นิกะห์กับใครนอกจากกับหญิงซินาหรือหญิงมุชริก และหญิงซินานั้นจะไม่มีใครนิกะห์กับนางนอกจากชายซินาหรือชายมุชริก และสิ่งนั้น ฃเป็นสิ่งต้องห้ามต่อบรรดาผู้ศรัทธา” 

อธิบาย : ก่อนอื่น ต้องทำความเข้าใจความหมายของคำว่า “นิกะห์” ในทั้งสองตำแหน่งของโองการนี้ กับคำกล่าวตอนท้ายที่ว่า “สิ่งนั้น” ให้ดีก่อน

ปกติ คำว่า “นิกะห์” ในอัล-กุรฺอานจะมีความหมายหลายนัย คือ 

ก. หมายถึง “การทำพิธีนิกะห์” อย่างเช่นในอายะฮ์ที่ 221 ซูเราะฮ์อัล-บะกอเราะฮ์

ข. หมายถึง “การร่วมเพศ” อย่างเช่นในอายะฮ์ที่ 230 ซูเราะฮ์อัล-บะกอเราะฮ์

ค. หมายถึง “การเสนอตัวให้” อย่างเช่นในอายะฮ์ที่ 50 ซูเราะฮ์อัล-อะห์ซาบ และ 

ง. หมายถึง “การบรรลุวัยฝันเปียกหรือวัยสมรส” อย่างเช่นในอายะฮ์ที่ 6 ซูเราะฮ์อัน-นิซาอ์ เป็นต้น

เพราะฉะนั้น บรรดานักวิชาการจึงมีความเห็นขัดแย้งกันเกี่ยวกับความหมายของคำว่า “นิกะห์” และคำว่า “สิ่งนั้น” จากโองการข้างต้นเป็น 2 ทัศนะใหญ่ๆ คือ 

กรณีนิกะห์ของผู้ทำซีนาต้องเตาบะฮ์กลับตัวก่อนหรือไม่?

ทัศนะที่ 1 คำว่า “นิกะห์” ในโองการนี้หมายถึง “การร่วมเพศ” และคำว่า “สิ่งนั้น” ในโองการนี้ หมายถึงการซินาหรือผิดประเวณี 

ตามทัศนะนี้ โองการข้างต้นจึงมีความหมายว่า “ชายที่ซินานั้นจะไม่ร่วมเพศนอกจากกับหญิงซินาหรือหญิงมุชริก และหญิงซินานั้นจะไม่มีใครมีร่วมเพศกับนางนอกจากชายซินาหรือชายมุชริก และสิ่งนั้น (คือการซินาหรือผิดประเวณี) เป็นสิ่งต้องห้ามต่อบรรดาผู้ศรัทธา” 

ท่านอิบนุ้ลก็อยยิม อัล-ญูซียะฮ์ (สิ้นชีวิตปีฮ.ศ. 751) ได้กล่าวในหนังสือ “ซาดุ้ลมะอาด” เล่มที่ 4 หน้า 9 ว่า ทัศนะนี้คือทัศนะที่อ่อนด้อย

แต่ท่านอิบนุญะรีรฺ อัฏ-ฏ็อบรีย์ (สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ. 210) ได้กล่าวในหนังสือตัฟซีรฺ “ญามิอุ้ลบะยาน” เล่มที่ 18 หน้า 75 ว่า ทัศนะนี้เป็นทัศนะที่มีน้ำหนักมากที่สุด 

ไม่ว่าคำอธิบายดังข้างต้นนี้จะอ่อนด้อยหรือมีน้ำหนัก แค่ถ้าหากยึดถือตามคำอธิบายดังข้างต้น โองการบทนี้ก็เป็นเพียงหลักฐาน “ห้ามร่วมเพศ” กับผู้ทำซินา, แต่มิใช่เป็นหลักฐาน “ห้ามนิกะห์” กับผู้ชายหรือผู้หญิงที่ซินา

หรืออีกนัยหนึ่ง การทำพิธีนิกะห์ (عَقْدُ النِّكَاحِ ) กับผู้หญิงหรือผู้ชายที่ซินาจะทำได้หรือไม่ ? ไม่มีการกล่าวถึงในโองการบทนี้แต่ประการใด 

นักวิชาการบางท่านที่ยึดถือตามทัศนะนี้ ได้อ้างหะดีษบางบทมาสนับสนุนแนวคิดนี้ เช่นหะดีษซึ่งอ้างรายงานมาจากท่านหญิงอาอิชะฮ์ ร.ฎ. ว่า 

سُئِلَ رَسُوْلُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ عَنْ رَجُلٍ زَنَا بِامْرَأَةٍ، فَأَرَادَ أَنْ يَتَزَوَّجَهَا أَوِابْنَتَهَا، فَقَالَ : لاَ يُحَرِّمُ الْحَراَمُ الْحَلاَلَ 

“ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมถูกถามเรื่องผู้ชายคนหนึ่งซินากับผู้หญิงคนหนึ่ง แล้วเขาต้องการที่จะนิกาห์กับนางหรือกับบุตรสาวของนาง, ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมจึงตอบว่า “สิ่งหะรอม(คือซินา)จะห้าม(คือขัดขวาง)สิ่งหะล้าล(คือการนิกาห์)ไม่ได้หรอก”

(บันทึกโดยท่านอัด-ดารุกุฏนีย์ในหนังสือ “อัส-สุนัน” ของท่าน เล่มที่ 3 หน้า268 และท่านอื่นๆ) 

กรณีนิกะห์ของผู้ทำซีนาต้องเตาบะฮ์กลับตัวก่อนหรือไม่?

ความหมายหะดีษบทนี้คือ ผู้ชายที่ซินากับผู้หญิงคนใด เขายังสามารถนิกะห์กับหญิงที่เป็นคู่ซินาของเขาก็ได้, หรือจะนิกะห์กับลูกสาวของนางก็ยังได้ 

แต่หะดีษบทนี้เป็นหะดีษเฎาะอีฟ(อ่อนหลักฐานหรือขาดความน่าเชื่อถือ) เพราะในสายรายงานของมันมีชื่อ 

ก. อับดุลลอฮ์ บินชะบีบ 

ข. อุษมาน บินอับดุรฺเราะห์มาน อัซ-ซุฮ์รี่ย์ 

ทั้งสองท่านนี้เป็นผู้รายงานที่ขาดความน่าเชื่อถือเป็นอย่างมาก 

(ดูหนังสือ “มีซานอัล-เอี๊ยะอฺติดาล” ของท่านอัษ-ษะฮะบีย์ เล่มที่ 2 หน้า 438 หมายเลข 4376, และเล่มที่ 3 หน้า 43 หมายเลข 5531, และหนังสือ “ตักรีบอัต-ตะฮ์ซีบ” เล่มที่ 2 หน้า 11 หมายเลข 87) 

หะดีษบทนี้จึงเป็นหะดีษเฎาะอีฟมากจนนำมาอ้างเป็นหลักฐานไม่ได้ 

จะอย่างไรก็ตาม นักวิชาการส่วนใหญ่ 3 จาก 4 มัษฮับได้ยึดถือความหมายอัล-กุรฺอานจากอายะฮ์ข้างต้นตามทัศนะนี้ และถือว่าการนิกะห์กับคนที่ทำซินาเป็นที่อนุญาต เพียงแต่ยังมีความขัดแย้งในเงื่อนไขบางประการเท่านั้น ดังต่อไปนี้ 

ก. ท่านอิหม่ามชาฟิอีย์ มีทัศนะว่าอนุญาตให้นิกะห์กับผู้ที่ทำซินาได้โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ คือไม่ว่ากับคู่ซินาด้วยกันหรือกับผู้อื่น, ไม่จำเป็นต้องเตาบะฮ์, ไม่จำเป็นต้องมีอิดดะฮ์ก่อนนิกะห์ ไม่ว่านางจะตั้งครรภ์หรือไม่ และอนุญาตให้สามีของนางร่วมหลับนอนกับนางได้ทันที แม้นางจะกำลังตั้งครรภ์จากการซินาก็ตาม

ข. ท่านอบูหะนีฟะฮ์ก็มีทัศนะเช่นเดียวกับท่านอิหม่ามชาฟิอีย์ทุกประการ ยกเว้นในด้านการมีเพศสัมพันธ์หลังจากนิกะห์แล้ว ท่านอิหม่ามอบูหะนีฟะฮ์มีทัศนะว่า ถ้าสตรีที่ซินานั้นตั้งครรภ์ ก็ห้ามสามีของนางร่วมหลับนอนกับนางจนกว่านางจะคลอดบุตรเสียก่อน

ค. ส่วนท่านอิหม่ามมาลิก มีทัศนะว่าการนิกาห์กับสตรีที่ทำซินาสามารถทำได้ แม้นางจะยังไม่ได้เตาบะฮ์ก็ตาม แต่มีเงื่อนไขว่าให้นิกาห์หลังจากนางหมดอิดดะฮ์ คือมีเม็นส์ครบ 3 ครั้งหรือคลอดบุตรเสียก่อน 

สรุปแล้วทั้ง 3 มัษฮับข้างต้นไม่มีเงื่อนไขให้ผู้ทำซินาต้องเตาบะฮ์ หรือการลุกะโทษต่อพระผู้เป็นเจ้าก่อนการนิกะห์เอาไว้เลย

กรณีนิกะห์ของผู้ทำซีนาต้องเตาบะฮ์กลับตัวก่อนหรือไม่?

ทัศนะที่ 2 คำว่านิกะห์ในโองการนี้ หมายถึง การทำพิธีนิกะห์ 

ตาทัมศนะนี้ โองการข้างต้นจึงมีความหมายว่า “ชายซินานั้นจะไม่ทำพิธีนิกาห์นอกจากกับหญิงซินาหรือกับหญิงมุชริก และหญิงซินานั้น จะไม่มีใครนิกาห์กับนางนอกชายซินาหรือชายมุชริก และสิ่งนั้น (การนิกาห์กับชายซินาหรือหญิงซินา) เป็นสิ่งต้องห้ามต่อบรรดาผู้ศรัทธา 

นี่คือทัศนะของท่านอิหม่ามอะห์มัด อิบนุหัมบัล 

ตามทัศนะนี้ การนิกาห์กับผู้ที่ทำซินา - ไม่ว่าเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง - จึงเป็นเรื่องต้องห้ามและจะกระทำมิได้

แต่หากผู้ใดที่ต้องการจะนิกะห์กับคนทำซินา ท่านอิหม่ามอะห์มัด ได้วางเงื่อนไขไว้ 2 ประการคือ

1. เขาหรือนางจะต้องเตาบะฮ์ก่อนการนิกะห์ เพราะเมื่อเขาหรือนางเตาบะฮ์ถูกต้องตามหลักเตาบะฮ์แล้ว ถือว่าเขาได้หลุดพ้นจากสภาวะ “การเป็นผู้ทำซินา” ที่ “ห้ามนิกะห์” จากโองการข้างต้นและเป็นผู้บริสุทธิ์แล้ว จึงสามารถนิกาห์กับใครก็ได้ ไม่ว่ากับคู่ซินาของนางหรือกับผู้อื่น

2. สตรีที่ทำซินาจะต้อง “หมดอิดดะฮ์” เสียก่อน จึงจะนิกะห์ได้

(แต่อีกรายงานหนึ่งจากท่านอิหม่ามอะห์มัดคือ นางจะต้อง “อิสติบรออ์”เสียก่อน จึงจะนิกาห์ได้ ซึ่งความแตกต่างระหว่าง “อิดดะฮ์” กับ “อิสติบรออ์” ผมจะอธิบายในตอนต่อไป) ...
เมื่อเราได้พิจารณาดูทัศนะที่ขัดแย้งกันของอิหม่ามทั้งสี่ท่านข้างต้นในเรื่องนี้ รวมทั้งนำเอาหลักฐานและข้อมูลอื่นๆมาพิจารณาร่วมแล้ว ขอเรียนว่า 

ในมุมมองส่วนตัวของผม เห็นด้วยกับทัศนะของท่านอิหม่ามอะห์มัดในแง่ที่ว่า ผู้ที่ทำซินา จะนิกาห์กับใครเลยไม่ได้ นอกจากจะต้องเตาบะฮ์เสียก่อน

แต่ทว่า ผมเห็นแย้งกับท่านอิหม่ามอะห์มัด (แต่สอดคล้องกับท่านอิหม่ามชาฟิอีย์และท่านอิหม่ามอบูหะนีฟะฮ์) ในแง่ที่ว่า การนิกาห์กับสตรีที่ทำซินา (หลังจากเตาบะฮ์แล้ว) สามารถกระทำได้ โดยไม่จำเป็นให้นางต้องมีอิดดะฮ์ก่อนนิกาห์ ไม่ว่านางจะตั้งครรภ์หรือไม่ก็ตาม

ทั้งนี้ เพราะเรื่อง “อิดดะฮ์” ของสตรีที่ทำซินา เป็นสิ่งที่ไม่มีหลักฐานใดๆมายืนยัน นอกจากความเข้าใจจากหลักฐานกว้างๆบางบท ดังที่จะได้อธิบายต่อไป

ส่วนการมีเพศสัมพันธ์หลังนิกะห์ (หากนางตั้งครรภ์) ถือเป็นอีกกรณีหนึ่งซึ่งต้องแยกแยะระหว่างผู้ที่นิกาห์กับนางว่า เป็นผู้ชายอื่นหรือเป็นคู่ซินาของนาง ดังจะได้อธิบายในตอนหลังเช่นเดียวกัน 

ทั้งนี้ เพราะ “การนิกะห์” กับ “การมีเพศสัมพันธ์” แม้จะมีส่วนเกี่ยวข้องกันในทางทฤษฎี แต่ในแง่หลักฐานถือเป็นคนละกรณีกัน จะนำมารวมกันไม่ได้ ดังหลักฐานที่จะถึงต่อไป

หลักฐานจากหะดีษเรื่อง การนิกะห์กับผู้ทำซินาเป็นเรื่องต้องห้าม

ก. ท่านอัมร์ บินชุอัยบ์, ได้รายงานจากบิดาของท่าน, จากปู่ของท่าน (ซึ่งสำนวนในที่นี้เป็นสำนวนจากการบันทึกของท่านอบูดาวูด) ว่า 

أَنَّ مَرْثَدَ بْنَ أَبِىْ مَرْثَدٍ الْغَنَوِيَّ كَانَ يَحْمِلُ اْلأُسَارَي بِمَكَّةَ، وَكَانَ بِمَكَّةَ بَغِىٌّ يُقَالُ لَهَا عَنَاقُ، وَكَانَتْ صَدِيْقَتَهُ، قَالَ : جِئْتُ النَّبِىَّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ فَقُلْتُ : أَنْكِحُ عَنَاقَ ؟ قَالَ : فَسَكَتَ عَنِّىْ، فَنَزَلَتْ (وَالزَّانِيَةُ لاَ يَنْكِحُهَا إلاَّ زَانٍ أَوْ مُشْرِكٌ) فَدَعَانِىْ، فَقَرَأَهَا عَلَىَّ وَقَالَ : لاَ تَنْكِحْهَا!

“ท่านมัรฺษัด บินอบีย์มัรฺษัด อัล-ฆอนะวีย์ เป็นผู้ควบคุมเชลยชาวมักกะฮ์ และที่นครมักกะฮ์ ก็มีโสเภณีนางหนึ่งชื่ออะนากซึ่งเคยเป็นคู่ขาของเขามาก่อน(คือก่อนรับอิสลาม) ท่านมัรฺษัดกล่าวว่า : ฉันจึงไปหาท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมแล้วกล่าวว่า โอ้ ท่านรอซูลุลลอฮ์ ฉันจะนิกาห์กับอะนากได้ไหม ? ท่านนบีย์ได้นิ่งจากคำถามของเขา แล้วโองการที่ว่า ...

“สตรีที่ซินานั้น จะไม่มีผู้ใดนิกาห์กับนางนอกจากชายที่ซินา(เหมือนกัน)หรือชายมุชริกเท่านั้น” ก็ถูกประทานลงมา

ท่านนบีย์จึงเรียกฉัน (มัรษัด) แล้วอ่านโองการนี้แก่ฉัน และกล่าวว่า .. “ท่านอย่านิกาห์กับนางเลย” 

(บันทึกโดย ท่านอบูดาวูด หะดีษที่ 2051, ท่านอัน-นซาอีย์ หะดีษที่ 3228, ท่านอัต-ติรฺมีซีย์ หะดีษที่ 3177 และท่านอื่นๆด้วยสายรายงานซึ่งท่านอัล-อัลบานีย์ได้กล่าวในหนังสือ

“เศาะเหี๊ยะฮ์อบูดาวูด เล่มที่ 2 หน้า 386 ว่า حَسَنٌ صَحِيْحٌ คือสวยงาม, ถูกต้อง) 

ข. ท่านอับดุลลอฮ์ บินอัมร์ ร.ฎ. ได้รายงานมาว่า 
أَنَّ رَجُلاً مِنَ الْمُسْلِمِيْنَ إسْتَأْذَنَ رَسُوْلَ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ فِىْ (تَزَوُّجِ) امْرَأَةٍ يُقَالُ لَهَا : أُمُّ مَهْزُوْلٍ، كَانَتْ تُسَافِحُ، وَتَشْتَرِطُ لَهُ أَنْ تُنْفِقَ عَلَيْهِ، فَاسَتَأْذَنَ رَسُوْلَ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ أَوْ ذَكَرَ لَهُ أَمْرَهَا، فَقَالَ : فَقَرَأَ عَلَيْهِ رَسُوْلُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ
وَسَلَّمَ (اَلزَّانِىْ لاَ يَنْكِحُ إِلاَّ زَانِيَةً أَوْ مُشْرِكَةً وَالزَّانِيَةُ لاَ يَنْكِحُهَا إِلاَّ زَانٍ أَوْ مُشْرِكٌ)

“ผู้ชายมุสลิมคนหนึ่งได้ขออนุญาตต่อท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมเพื่อนิกาห์กับสตรีนางหนึ่งชื่ออุมมุมะฮ์ซูล โดยที่นางเป็นหญิงรักสนุก(ชอบผิดประเวณี)และนางกำหนดเงื่อนไขแก่เขาว่า (หากเขายอมนิกาห์กับนาง) นางจะจ่ายเงินให้เขาด้วย  (ท่านอับดุลลอฮ์กล่าวต่อไปว่า) ดังนั้นเขา (ผู้ชายคนนั้น) จึงขออนุญาตต่อท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมหรือเล่าเรื่องของนางให้ท่านฟัง ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมจึงอ่านโองการที่ว่า

“ชายซินานั้นจะไม่นิกาห์นอกจากกับหญิงซินาหรือกับหญิงมุชริก และหญิงซินานั้น จะไม่มีใครนิกาห์กับนางนอกชายซินาหรือชายมุชริก” ให้เขาฟัง 

(บันทึกโดย ท่านอิหม่ามอะห์มัดในหนังสือ “อัล-มุสนัด” เล่มที่ 2 หน้า 159, 225และผู้บันทึกอื่นๆอีกหลายท่าน) 

ท่านอัล-ฮัยษะมีย์ได้กล่าวในหนังสือ “มัจญมะอฺ อัซ-ซะวาอิด” เล่มที่ 7 หน้า 176 ว่า وَرِجَالُ أَحْمَدَ ثِقَاتٌ คือผู้รายงาน(หะดีษนี้)ของท่านอะห์มัดล้วนเชื่อถือได้ ...

ค. ท่านอิบนุหัสม์ได้บันทึกในหนังสือ “อัล-มุหั้ลลา” เล่มที่ 6 หน้า 465 จากเศาะหาบะฮ์ 3 ท่านคือ ท่านอับดุลลอฮ์ อิบนุมัสอูด, ท่านหญิงอาอิชะฮ์ และท่านอัล-บะรออ์ บินอาซิบ ร.ฎ. ที่กล่าวสั้นๆเกี่ยวกับชายผู้หนึ่งที่นิกาห์กับสตรีนางหนึ่งหลังจากเขาได้ซินากับนางแล้ว โดยทั้งสามท่านกล่าวตรงกันว่า 
لاَ يَزَالاَنِ زَانِيَيْنِ (أَبَدًا)

“เขาทั้งคู่ยังคงซินากันตลอดไปนั่นแหละ” (หมายความว่า นิกาห์ของเขาทั้งสองหลังจากซินาเป็นโมฆะและใช้ไม่ได้) 

ข้อมูลจากหะดีษเหล่านี้ เป็นหลักฐานชัดเจนเกี่ยวกับการนิกาห์กับคนซินาว่า เป็นเรื่องต้องห้ามสำหรับมุสลิม 

และการนิกะห์กับคนที่ทำซินา(หากมีขึ้น) ก็ถือว่าเป็นโมฆะ ดังคำกล่าวของเศาะหาบะฮ์ทั้งสามท่านข้างต้น 

ทว่า  ท่านผู้อ่านโปรดสังเกตด้วยว่า หลักฐานข้างต้นทั้งหมดนั้น แม้จะถูกต้อง แต่ไม่มีหลักฐานบทใดจะกล่าวถึงเรื่อง “การเตาบะฮ์” หรือการลุกะโทษต่อพระผู้เป็นเจ้าก่อนการนิกาห์เอาไว้เลย 

แต่ขณะเดียวกัน มีหลักฐานหลายบทยืนยันว่า ถ้าผู้ทำซินาได้ทำการเตาบะฮ์อย่างถูกต้องก่อนการนิกาห์ การนิกะห์ของเขาก็ถือว่าใช้ได้

หลักฐานเหล่านั้น มีดังต่อไปนี้ 

กรณีนิกะห์ของผู้ทำซีนาต้องเตาบะฮ์กลับตัวก่อนหรือไม่?

หลักฐานว่า ผู้ซินาที่เตาบะฮ์แล้ว จะกลายเป็นผู้บริสุทธิ์

ก. พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. ได้ทรงดำรัสในซูเราะฮ์อัล-ฟุรฺกอน อายะฮ์ที่ 68-70 มีข้อความว่า ...

وَالَّذِيْنَ لاَ يَدْعُوْنَ مَعَ اللهِ إِلَهًا آخَرَ وَلاَ يَقْتُلُوْنَ النَّفْسَ الَّتِىْ حَرَّمَ اللهُ إلاَّ بِالْحَقِّ وَلاَ يَزْنُوْنَ وَمَنْ يَفْعَلْ ذَلِكَ يَلْقَ أَثَامًا * يُضَاعَفْ لَهُ الْعَذَابُ يَوْمَ الْقِيَامَةِ وَيَخْلُدْ فِيْهِ مُهَانًا * إلاَّ مَنْ تَابَ وَآمَنَ وَعَمِلَ صَالِحًا فَاُولَئِكَ يُبَدِّلُ اللهُ سَيِّآتِهِمْ حَسَنَاتٍ وَكَانَ اللهُ غَفُوْرًا رَحِيْمًا

(68) “และบรรดาผู้ซึ่งไม่วิงวอนขอต่อพระเจ้าอื่นพร้อมกับอัลลอฮ์ และพวกเขาไม่ฆ่าชีวิตซึ่งอัลลอฮ์ทรงห้าม นอกจาก(การฆ่า)โดยชอบธรรม และพวกเขาไม่ทำซินา และผู้ใดกระทำสิ่งดังกล่าวเขาก็จะพบกับบาปมหันต์ 

(69) การลงโทษในวันกิยามะฮ์จะถูกเพิ่มเป็นสองเท่าสำหรับเขา และเขาจะอยู่ในนั้นอย่างอัปยศ 

(70) เว้นแต่ผู้ที่เตาบะฮ์ และศรัทธา และประกอบความดี พวกเขาเหล่านั้นแหละที่อัลลอฮ์จะทรงเปลี่ยนความชั่วของพวกเขาให้เป็นความดี และอัลลอฮ์ทรงเป็นผู้ให้อภัย ทรงเมตตาเสมอ” 

โองการข้างต้นนี้เป็นหลักฐานว่า ผู้ที่ทำซินา, ผู้ที่ตั้งภาคี, และผู้ที่ฆ่าชีวิตอื่นโดยไม่ชอบธรรม หากพวกเขาเตาบะฮ์, มีศรัทธาและประกอบคุณงามความดีแล้ว พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. ก็จะทรงให้อภัยแก่พวกเขา และทรงเปลี่ยนความชั่วของพวกเขาให้เป็นความดีซึ่งเท่ากับเป็นการบ่งบอกว่า การเตาบะฮ์จากการซินาจะลบล้างร่องรอยและสภาพการซินาของเขาให้หมดสิ้นไป จนเขากลายเป็นผู้บริสุทธิ์เหมือนผู้บริสุทธิ์คนอื่นๆ 

นอกจากนี้ ยังมีรายงานมาจากเศาะหาบะฮ์หลายท่านเกี่ยวกับเรื่องผู้ซินาที่เตาบะฮ์ สามารถนิกาห์กับอดีตคู่ซินาด้วยกันหรือกับใครก็ได้หลังจากเตาบะฮ์แล้ว เช่น ...
ข. มีรายงานจากท่านอับดุลลอฮ์ อิบนุมัสอูด ร.ฎ. (ผู้ซึ่งเคยกล่าวว่าผู้ที่ทำซินาก่อนแล้วนิกาห์กันทีหลังก็คือผู้ทำซินาตลอดไป .. ดังข้อมูลที่ผ่านมาแล้ว) เมื่อถูกถามถึงปัญหาเรื่องการนิกาห์ผู้ที่ซินาอีกคราวหนึ่ง ท่านก็กล่าวอ้างถึงโองการที่ว่า 
وَهُوَالَّذِيْ يَقْبَلُ التَّوْبَةَ عَنْ عِبَادِهِ (الشوري أية

25)

“และพระองค์(อัลลอฮ์) คือผู้ซึ่งทรงรับการเตาบะฮ์จากบ่าวของพระองค์เสมอ”  (บันทึกโดยท่านอิบนุหัสม์ ในหนังสือ “อัล-มุหั้ลลา” เล่มที่ 6 หน้า 465) 

แสดงว่าเจตนารมณ์ของท่านอิบนุมัสอูดที่เคยกล่าวว่า “เป็นผู้ทำซินาตลอดไป” ท่านหมายถึงการนิกาห์ของผู้ซินาก่อนการเตาบะฮ์ 

ค. มีรายงานจากท่านอับดุลลอฮ์ อิบนุอุมัรฺและท่านญาบิรฺ บินอับดุลลอฮ์ ร.ฎ. เมื่อท่านทั้งสองถูกถามเรื่องการนิกาห์ของผู้ที่ทำซินาด้วยกัน ทั้งสองท่านตอบตรงกันว่า

إِنْ تَابَا وَأَصْلَحَا (فَلاَ بَأْسَ)
“ก็ถ้าเขาทั้งสองเตาบะฮ์แล้ว และประพฤติดี(ก็ไม่เป็นไร คือสามารถนิกาห์กันได้)” 

(จากหนังสือ อัล-มุหั้ลลา” ของท่านอิบนุหัสม์ เล่มที่ 6 หน้า 475 และหนังสือ “ฟิกฮุสซุนนะฮ์” ของท่านซัยยิดซาบิกเล่มที่ 2 หน้า 86)

ง. ท่านอัล-หะซัน อัล-บัศรีย์รายงานว่า ท่านคอลีฟะฮ์อุมัรฺ อิบนุ้ลค็อฏฏอบ ร.ฎ. เคยกล่าวว่า : ฉันตั้งใจว่าจะไม่ปล่อยให้ผู้ที่ทำซินาในอิสลามคนใด นิกาห์กับสตรีที่ดีเป็นอันขาด .. แล้วท่านอุบัยย์ บินกะอฺบิน ร.ฎ. ก็กล่าวแย้งท่านว่า 

يَا أَمِيْرَ الْمُؤْمِنِيْنَ! اَلشِّرْكُ أَعْظَمُ مِنْ ذَلِكَ، وَقَدْ يُقْبَلُ مِنْهُ إِذَا تَابَ

“โอ้ท่านผู้เป็นประมุขแห่งศรัทธาชน การตั้งภาคี(ชิริก)นั้น เป็นเรื่องใหญ่กว่าเรื่องดังกล่าวนี้(ซินา)เสียอีก แล้วบางครั้งเตาบะฮ์ของเขาก็ยังถูกรับ(มิใช่หรือ?)” 

(จากหนังสือ อัล-มุหั้ลลา” ของท่านอิบนุหัสม์ เล่มที่ 6 หน้า 475 และ หนังสือ “ฟิกฮุสซุนนะฮ์” เล่มที่ 2 หน้า 86) 

จ. ท่านอิบนุอบีย์ชัยบะฮ์ ได้บันทึกรายงานจากท่านฏอริก บินชิฮาบว่า ...

أَنَّ رَجُلاً أَرَادَ أَنْ يُزَوِّجَ ابْنَتَهُ، ُ فَقَالَتْ : إِنِّىْ أَخْشَى أَنْ أُفْضِحَكَ، إِنِّىْ قَدْ بَغَيْتُ، فَأَتَى عُمَرَ، فَقَالَ : أَلَيْسَتْ قَدْ تَابَتْ ؟ قَالَ : نَعَمْ، قَالَ : فَزَوِّجْهَا

“ชายผู้หนึ่งประสงค์จะนิกาห์บุตรสาวของเขา(ให้แก่ผู้ชายคนหนึ่ง) นางจึงกล่าว(แก่บิดา)ว่า :ฉันเกรงว่าฉันจะทำให้พ่อขายหน้านะ เพราะฉันเคยทำชั่ว(คือซินา)มาแล้ว .. เขาจึงไปหาท่านอุมัรฺ (อิบนุ้ลค็อฏฏอบ ร.ฎ. แล้วเล่าเรื่องนี้ให้ท่านฟัง) ท่านอุมัรฺจึงกล่าวว่า : ก็นางเตาบะฮ์แล้วมิใช่หรือ? เขาตอบว่า : ขอรับ, ท่านจึงกล่าวว่า : งั้นท่านก็จัดการนิกาห์ให้นางเถอะ” 

(บันทึกโดย ท่านอิบนุอบีย์ชัยบะฮ์ในหนังสือ “อัล-มุศ็อนนัฟ” เล่มที่ 3 หน้า 377 ด้วยสายรายงานที่ถูกต้อง) 

ข้อมูลข้างต้นทั้งหมดจึงเป็นหลักฐานว่า การเตาบะฮ์ คือเงื่อนไขสำคัญสำหรับการนิกาห์ให้คนทำซินา 

เพราะฉะนั้น คนทำซินาจะนิกาห์กับใครเลยไม่ได้ นอกจากจะต้องเตาบะฮ์เสียก่อน 

และเมื่อผ่านการเตาบะฮ์ถูกต้องแล้ว เขาหรือหล่อนจึงสามารถนิกะห์ -ไม่ว่ากับอดีตคู่ซินาหรือกับผู้อื่น - ได้ 

เพราะฉะนั้น การนิกะห์ให้คู่ซินาใดๆ ดังที่อิหม่ามหลายท้องที่กระทำกันก่อนที่ทั้งคู่จะทำการเตาบะฮ์ - เพียงเพื่อป้องกันความอับอาย - จึงเป็นเพียง “นิกาห์หลอก” ที่ส่งผลให้คู่ซินาคู่นั้น ยังคง “ซินากันตลอดไป” ดังคำกล่าวของท่านอับดุลลอฮ์ บินมัสอูด ร.ฎ. ที่ผ่านมาแล้ว 

ซึ่งผู้ที่ต้องรับผิดชอบเต็มๆในเรื่องนี้ คือ อิหม่ามหรือใครก็ตามที่จัดการนิกะห์ให้คู่ซินานั่นแหละ 

บทความโดย อ. ปราโมทย์ ศรีอุทัย

https://islamhouse.muslimthaipost.com/

อัพเดทล่าสุด