กล่าวนิกะห์กันเล่นๆ ฝ่ายหญิงรับมีผลหรือไม่?


8,476 ผู้ชม

การกล่าวนิกะห์กันเล่นๆ แล้วฝ่ายหญิงก็รับนิกะห์ (รับการแต่งงาน) มันจะมีผลหรือไม่?


การกล่าวนิกะห์กันเล่นๆ แล้วฝ่ายหญิงก็รับนิกะห์ (รับการแต่งงาน) มันจะมีผลหรือไม่?

ตอบโดย: อ.มุรีด ทิมะเสน

เหนืออื่นใดขอแบ่งประเด็นแยกแยะให้เห็นทีละประเด็นก่อน

ประเด็นแรก เรื่องการพูดเล่น หรือทำเล่นๆ, ศาสนาอิสลามระบุชัดว่า หากพูดเล่นๆ ก็ถือว่าเป็นจริง ซึ่งเป็นทัศนะของนักวิชาการส่วนใหญ่ อันได้แก่ การ (ไปสู่ขอสตรี) แต่งงาน, การหย่า และการขอกลับคืนดี ซึ่งท่านรสูลุลลอฮฺกล่าวไว้ว่า

" ثَلَاثٌ جَدُّهُنَّ جَدٌّ، وَهَزْلُهُنَّ جَدٌّ: النِّكَاحُ، وَالطَّلَاقُ، وَالرَّجْعَةُ "

“สามประการ หากจริงจังกับสิ่งนั้นก็ถือว่า เป็นจริง และ (หากว่า) ทำเล่นๆ กับสิ่งนั้นก็ถือว่าเป็นจริงเช่นกัน (ได้แก่) การ (ไปสู่ขอสตรี) แต่งงาน, การหย่า และการขอกลับคืนดี” [หะดีษหะสัน, บันทึกโดยติรฺมิซีย์ หะดีษที่ 2194]

ประเด็นถัดมา ที่ถามว่ากล่าวนิกาฮฺกันเล่นๆ แล้วฝ่ายหญิงรับนิกะห์นั้น เป็นอีกประเด็นหนึ่ง ไม่เกี่ยวกับประเด็นแรก เพราะกรณีแรกคือการไปสู่ขอแต่งงานกับสตรีนางใดก็ตาม ไม่อนุญาตให้พูดเล่น เช่น ไปสู่ขอสตรีนางหนึ่งกับวะลีย์ของนางว่าจะมาสู่ลูกสาวของเขา เช่นนี้พูดเล่นไม่ได้ ถ้าพูดเล่นก็ถือว่าเป็นจริง

อนึ่ง ส่วนกรณีพิธีนิกะห์ นั้นต้องมีองค์ประกอบเงื่อนไขจำเป็น 5 ข้อ อันได้แก่ (1) วะลีย์ (ผู้ปกครองเจ้าสาว), (2) เจ้าบ่าว, (3) พยาน (ผู้ชายเคร่งครัดยุติธรรมสองคนเป็นอย่างน้อย), (4) คำเสนอของวะลีย์ และ (5) คำตอบรับของเจ้าบ่าว ซึ่งหากบกพร่องข้อหนึ่งข้อใด ถือว่าการแต่งงานนั้น เป็นโมฆะทันที

ดังนั้ นคำถามที่ว่าไปกล่าวนิกะห์กันเล่นๆ นั้นถือเป็นโมฆะ (ไม่มีผลทางศาสนาแต่ประการใด) อีกทั้งการไปขอแต่งงานกับตัวผู้หญิงคนหนึ่ง แล้วนางกล่าวรับนิกะห์ ก็ไม่มีในเงื่อนไขทางศาสนาอีกต่างหาก เพราะการกล่าวคำเสนอและกล่าวคำตอบรับการแต่งงานนั้น ให้เฉพาะวะลีย์ (ผู้ปกครองเจ้าสาว) กับเจ้าบ่าวเท่านั้น ส่วนตัวเจ้าสาวไม่ต้องกล่าวรับนิกะห์แต่ประการใด

(วัลลอฮุอะอฺลัม)

อัพเดทล่าสุด