คำถาม มะฮัร 125 คือ? มะฮัรตามซุนนะห์ - มะฮัร ภาษาอาหรับ
คำถาม มะฮัร 125 คือ? มะฮัรตามซุนนะห์ - มะฮัร ภาษาอาหรับ
มะฮัร อย่างน้อย 125 บาท นั้นเทียบกับอะไรครับ เห็นมาตั้งแต่เด็กแล้ว ไม่มีการปรับค่าหรือ หากถ้าไปเที่ยบกับทองหรือของมีค่าอย่างอื่น
แล้วสมมติว่า เวลาอะกัดนิกะห์ เราตกลงให้ มะฮัร 125 บาท แต่เอาเงินไปตั้งไว้แสนบาทขณะนิกะห์ โดยไม่ได้เหนียตเป็นค่ามะฮัด แค่เอาไปโชว์หรือตั้งไว้ดูเวอร์ๆไว้ก่อน เงินแสนนี้ ฝ่ายชายจะเอาคืนได้ไหม
เข้าใจว่า ที่มาของมะฮัร 125 บาทนั้นบรรดาผู้หลักผู้ใหญ่สมัยก่อนคงตีค่ามาจากมะฮัรที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) กำหนดในการสมรสบรรดาบุตรีและภรรยาของท่านจำนวน 500 ดิรฮัม ซึ่งนักวิชาการสังกัดมัซฮับอัชชาฟิอีย์ระบุว่า มีซุนนะฮฺมิให้มะฮัรน้อยกว่า 10 ดิรฮัมเพื่อออกจากข้อขัดแย้งของท่านอิหม่ามอบูฮะนีฟะฮฺ (ร.ฮ.) และมิให้เกินกว่า 500 ดิรฮัมฺ (มุฆนีย์ อัลมุฮฺต๊าจญ์ ; อัลค่อฏีบ อัชชีรบีนีย์ เล่มที่ 4 หน้า 367 ; ดารุ้ลกุตุบ อัลอิลมียะฮฺ เบรุต : 1994)
จากจุดนี้กระมัง ท่านครูสมัยก่อนได้ตีราคามะฮัรจำนวน 500 ดิรฮัมว่า 1 ดิรฮัมเท่ากับ 1 สลึง และ 4 สลึงเป็น 1 บาท เอา 4 หารด้วยกับ 500 ก็จะได้ 125 บาทไม่ขาดไม่เกิน ผู้หลักผู้ใหญ่สมัยก่อนจึงกำหนดมะฮัรที่ฝ่ายชายต้องมอบให้แก่ฝ่ายหญิงเป็นจำนวน 125 บาท ซึ่งสมัยก่อนนั้นก็มากโขอยู่ทีเดียว เพราะยังจำที่ผู้ใหญ่เล่าให้ฟังได้ว่า บ้านทรงไทย 1 หลังสมัยนั้นมีราคา 40 บาท ไร่นาก็มีราคาไม่กี่ร้อยบาท
ภาพจากร้านนิกะห์เวดดิ้ง เซ็นเตอร์
แต่นั่นก็เป็นเรื่องสมัยก่อนที่นานมาแล้ว ค่าเงินในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมาก เงิน 125 บาท ในปัจจุบันซื้อลูกชิ้นเนื้อได้กี่ไม้ก็ลองคิดดูเอา ค่าเงินบาทเปลี่ยนไป ค่าดิรฮัมก็น่าจะเปลี่ยนไปด้วย เพียงแต่ความคิดของคนอาจจะยังยึดติดอยู่กับสิ่งดังกล่าว ตรงนี้ก็คงต้องค่อยๆ อธิบายสร้างความเข้าใจกันไป หากเราเติมเลขศูนย์ต่อท้ายเข้าไปอีกซัก 2 ตัวก็คงจะเข้าท่าอยู่ในที เป็น 12,500 บาท โดยเฉพาะในยุคที่ทองคำมีราคาปาเข้าไปบาทละเกือบ 16,000 บาท ก็คงต้องปรับกันให้เป็นมาตรฐานตามยุคตามสมัย
ที่พูดอย่างนี้มิได้หมายความว่า มะฮัรจำนวน 125 บาท ไม่เซาะฮฺหรือจะใช้ไม่ได้อย่างที่บางคนเข้าใจและมีอคติ ทั้งนี้เพราะทุกสิ่งที่ใช้ได้ในการเป็นสินค้าแลกเปลี่ยนหรือมีราคาก็ย่อมใช้ได้ในการเป็นมะฮัรหรือซ่อด๊ากฺให้แก่ฝ่ายหญิง (อ้างอิง เล่มที่ 4 หน้า 367-368) ซึ่งแน่นอนเงินจำนวน 125 บาทก็มีค่าของมัน เพียงแต่มันน้อยไปสักนิดเมื่อนำไปเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำหรือสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน มะฮัรที่ดีที่สุดก็คือ มะฮัรที่ฝ่ายชายมีความพร้อมและสะดวกในการนำมามอบให้แก่ฝ่ายหญิงซึ่งก็แตกต่างกันไปตามสถานภาพและฐานานุรูปในสังคม
ส่วนเงินจำนวนแสนบาทที่ถามมาว่า หากนำไปตั้งเอาไว้ขณะอะก็อดนิกะฮฺและไม่มีการกำหนดหรือขาน (ตัสมียะฮฺ) ว่าเป็นมะฮัรก็เป็นสิทธิของเจ้าของเงินดังกล่าว จะเอาคืนก็ได้ หรือจะกำหนดว่าเป็นเงินที่ให้แก่ฝ่ายหญิงโดยสิเน่หาก็คงต้องเป็นของฝ่ายหญิงเพราะถือเป็นฮิบะฮฺ (هِبَة) หรือจะกำหนดว่าเป็นค่าออกเรือนของทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชายร่วมกัน (شَرِكَة) ก็ให้ถือไปตามนั้น งานทั้งปวงขึ้นอยู่กับเจตจำนงค์ แต่ถ้าเอาไปตั้งไว้เฉย ๆ เพื่อโชว์หรืออะไรก็ตามและไม่มีการกำหนดคุณสมบัติของเงินจำนวนดังกล่าวในขณะอะกอดนิกาฮฺ ก็เป็นเพียงเงินโชว์เท่านั้น ใครเป็นเจ้าของเงินก็มีสิทธิจะเอาคืนได้ เพราะมิใช่มะฮัร
อีกบทความที่น่าสนใจ
อิสลามได้กำหนดเงื่อนไขที่ทำให้การแต่งงานใช้ได้หรือไม่ ด้วยการที่เจ้าบ่าวต้องจ่ายมะฮัรแก่เจ้าสาว แม้ว่าฝ่ายเจ้าสาวจะยินยอมแต่งโดยไม่คิดค่าสินสอดก็ตาม ดังที่อัลกุรอานกล่าวว่า
“พวกเจ้าจงมอบปัจจัยทานเป็นของขวัญแก่เหล่าสตรีเถิด” (อันนิสาอฺ : 4)
“มะฮัร” ตามหลักการของศาสนานั้น หมายถึง “ทรัพย์ที่ทางเจ้าบ่าวจะมอบแก่เจ้าสาวของตนในพิธีสมรส ไม่ใช่สินสอดที่ให้แก่บิดามารดาของเธอ” แต่เมื่อเธอได้รับมันแล้ว เธอก็สามารถที่จะมอบทรัพย์บางส่วนแก่ใครก็ได้ที่เธอต้องการ เนื่องจากเป็นสิทธิ์ของเธอแล้ว
อิสลามไม่กำหนดมะฮัร แต่ได้มอบหมายให้กับความพร้อมของฝ่ายชายและความสบายใจของฝ่ายหญิง ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของแต่ละสังคมที่แตกต่างกันไป
ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้กล่าวแก่ชายคนหนึ่งที่ต้องการแต่งงานกับสตรีนางหนึ่งว่า “จงหาค่ามะฮัรถึงแม้จะเป็นแหวนเหล็กเพียงวงหนึ่งก็ตาม แต่ชายคนนั้นไม่สามารถหาได้เช่นเดียวกัน ท่านนะบี จึงแต่งงานด้วยการให้ชายคนนั้นสอนบางซูเราะฮ์ในอัลกุรอานให่แก่สตรีที่จะแต่งงานด้วย” (รายงานโดยอัลบุคอรีย์/5135)
ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้ทำการสมรสบรรดาบุตรีและภรรยาของท่านจำนวน 500 ดิรฮัม ดังนั้นโต๊ะครูสมัยก่อนได้ตีราคามะฮัรจำนวน 500 ดิรฮัมว่า 1 ดิรฮัมเท่ากับ 1 สลึง (ซึ่งในสมัยนั้น 1 สลึง ก็มีค่าพอสมควร)4 สลึงเป็น 1 บาท เอา 4 หารด้วยกับ 500 = 125 บาท บรรดาผู้ใหญ่สมัยก่อนจึงกำหนดมะฮัรที่ฝ่ายชายต้องมอบให้แก่ฝ่ายหญิงเป็นจำนวน 125 บาท ซึ่งก็ถือว่ามีจำนวนมากอยู่(ที่นาสมัยก่อนราคาไม่กี่ร้อยบาท) ซึ่งธรรมเนียมดังกล่าวก็ได้สืบทอดมาถึงปัจจุบัน แต่เนื่องจากสมัยท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) มีการใช้ดินาร(ทองคำ) และดิรฮัม(โลหะเงิน) เป็นเงินตราใช้แลกเปลี่ยนและมีค่าในตัวของมันเอง ซึ่งต่างจากในปัจจุบันที่แต่ละประเทศมีการใช้สกุลเงินเป็นของตนเองแต่เป็นสกุลเงินที่ไม่มีค่าในตัวของมันเอง(fiat money) ทำให้การคิดมะฮันซุนนะห์ที่ 125 บาท แทน 500 ดิรฮัมในยุคปัจจุบันอาจจะไม่เป็นมูลค่าที่เหมาะสมแล้วเนื่องจากเงินเฟ้อที่เพิ่มมากขึ้นในทุกๆปี (อย่างไรก็ตามมะฮัรที่ดีที่สุดก็คือ มะฮัรที่ฝ่ายชายมีความพร้อมและสะดวกในการนำมามอบให้แก่ฝ่ายหญิง)
เพื่อที่จะได้มะฮัรตามซุนนะห์ของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) คือ 500 ดิรฮัม จึงใช้การคำนวณมูลค่า 500 ดิรฮัมจากราคาของโลหะเงินในตลาดโลก ซึ่ง 500 ดิรฮัม จะเท่ากับโลหะเงิน 1487.50 กรัม จะสามารถคำนวณมะฮัรซุนนะห์ ของเดือน มีนาคม 2557 ได้เท่ากับ ฿35,321.57 บาท ซี่งก็ไม่ใช่จำนวนที่สูงหรือต่ำนักในปัจจุบัน และสอดคล้องกับสภาพและเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน สามารถดูอัตรามะฮัรย้อนหลัง 2552 -2557 ได้จากในตารางด้านล่าง
คำว่า อีซีกะฮฺเว็น (ايسى كهوين) เป็นคำมลายู หมายถึง มะฮัร หรือ อัศเศาะดาก หรือ นิหฺละฮฺ ในภาษาอาหรับนั่นเอง
สำนักข่าวมุสลิมไทยโพสต์ เรียบเรียง
ที่มา: alisuasaming.org , islamicfinancethai.com , www.halalthailand.com , www.islammore.com
http://islamhouse.muslimthaipost.com/
- ดุอาร์ขอให้เจอคู่ครองที่ดี ซูเราะห์คู่ครอง อามีนๆ
- วิธี จีบ ผู้หญิง อิสลาม รักต่างศาสนา อิสลาม พุทธ
- จดทะเบียนสมรส แต่งงานกับต่างชาติมุสลิม ต้องดำเนินการอย่างไร
- วิธีเลือกคู่ครองอิสลาม - หะดีษ เกี่ยวกับครอบครัว
- หะดีษ ครอบครัว หน้าที่สามีต่อภรรยา อิสลาม สามีควรศึกษา และภรรยามุสลิมต้องรู้
- คํากล่าวนิกะห์ ภาษาไทย-มลายู-อาหรับ (คำกล่าวในพิธีแต่งงาน)
- การลงโทษภรรยาในอิสลาม ห้ามทำสิ่งนี้เด็ดขาด!!
- หย่ามา 3 ปี จะขอคืนดี ต้องนิกะห์ใหม่หรือไม่?
- การหมั้น การสวมแหวนหมั้น มีในอิสลามหรือไม่?