ละหมาดโดยนั่งยืดขา ใช้ได้ไหม?


2,053 ผู้ชม

คำถาม: พอดีผมผ่าตัดหัวเข่ามา หัวเข่าผมตอนนี้มันงอได้ 90 องศา  ผมสามารถยืนได้ แต่ไม่มั่นคงเท่าไหร่ ตอนนี้ผมละหมาดโดยนั่งยืดขา พอรู่กว๊ะผมก็ก้มนิดหน่อย....


ละหมาดโดยนั่งยืดขา ใช้ได้ไหม?

คำถาม: พอดีผมผ่าตัดหัวเข่ามา หัวเข่าผมตอนนี้มันงอได้ 90 องศา  ผมสามารถยืนได้ แต่ไม่มั่นคงเท่าไหร่ ตอนนี้ผมละหมาดโดยนั่งยืดขา พอรู่กว๊ะผมก็ก้มนิดหน่อย ซูหยูดก็ก้มลงมามากกว่ารู้กว๊ะที่ทำอย่างนี้เพราะผม ไม่สามารถนั่งระหว่างสองซุหยูด และนั่งตะชะฮุดตามปกติได้ อยากจะถามว่าละหมาดผมจะใช่ได้ไหมครับ

พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) มีดำรัสว่า

فَاتَّقُوا اللَّـهَ مَا اسْتَطَعْتُمْ...الآية

ความว่า : “ดังนั้นพวกท่านจงยำเกรงต่อพระองค์อัลลอฮฺตามที่พวกท่านมีความสามารถ” (อัต-ตะฆอบุน : 16)

และท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าวว่า

"صَلِّ قَائِمًا ، فَإِنْ لَمْ تَسْتَطِعْ فَقَاعِدًا ، فَإِنْ لَمْ تَسْتَطِعْ فَعَلَى جَنْبٍ"

ความว่า : “ท่านจงละหมาดในสภาพที่ยืน ฉนั้น หากว่าท่านไม่สามารถ (ละหมาดในสภาพที่ยืนได้) ก็ (จงละหมาด) ในสภาพที่นั่ง ฉนั้น หากว่าท่านไม่สามารถ (ละหมาดในสภาพที่นั่งได้) ก็ (จงละหมาดในสภาพที่นอนตะแคง) บนสีข้าง” (รายงานโดย อัล-บุคอรียฺ , อบูดาวูด และอะหฺมัด)

อัล-หะดีษบทนี้ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าวกับท่านอิมรอน อิบนุ หุศอยนฺ (ร.ฎ.) ซึ่งท่านมีอาการของโรคริดสีดวงทวารหนัก และในอีกริวายะฮฺหนึ่ง ท่านอิมรอน (ร.ฎ.) ได้ถามท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ถึงการละหมาดของบุคคลที่นั่งละหมาด ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าวว่า

" مَنْ صَلَّى قَائِمًا فَهُوَ أَفْضَلُ ، وَمَنْ صَلَّى قَاعِدًا فَلَهُ نِصْفُ أَجْرِ الْقَائِمِ ، وَمَنْ صَلَّى نَائِمًا (وفي رواية : مُضْطَجِعًا) فَلَهُ نِصْفُ أَجْرِالْقَاعِدِ "

ความว่า : “ผู้ใดละหมาดในสภาพที่ยืน นั่นคือที่ดีที่สุด และผู้ใดละหมาดในสภาพที่นั่ง ผู้นั้นได้ครึ่งหนึ่งของผลบุญของผู้ยืนละหมาด และผู้ใดละหมาดในสภาพที่นอน (ในอีกระวายะฮฺหนึ่งใช้สำนวนว่า ในสภาพที่นอนตะแคง) ผู้นั้นได้ครึ่งหนึ่งของผลบุญของผู้ที่นั่งละมาด”

อิมามอัล-คอฏฏอบียฺ (ร.ฮ.) อธิบายไว้ “หะดีษของท่านอิมรอน (ร.ฎ.) นั้นหมายถึงผู้ป่วยที่ปฏิบัติละหมาดฟัรฎูซึ่งเขาสามารถอดทนโดยยืนละหมาดพร้อมกับมีความยากลำบาก ดังนั้นผลบุญของผู้ที่นั่งละหมาดจึงถูกกำหนดให้ได้เพียงครึ่งหนึ่งจากผลบุญของผู้ที่ยืนละหมาด ทั้งนี้เป็นการชี้ชวนให้ (ตัรฆีบ) ยืนละหมาดพร้อมกับอนุญาตให้นั่งละหมาดได้”

อัล-หาฟิซฺ อิบนุ หะญัรฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า เป็นการตีความที่ตรงประเด็น (ฟัตหุลบารียฺ 2/468) แต่อิมามอัน-นะว่วียฺ (ร.ฮ.) ระบุว่า ผลบุญของผู้ที่ละหมาดฟัรฎูในสภาพที่นั่งหรือนอนตะแคงอันเนื่องมาจากไร้ความสามารถ (เช่น ยืนไม่ได้) มีผลบุญเช่นเดียวกับผู้ที่ยืนละหมาดในภาวะปกติโดยไม่มีข้อขัดแย้ง

ส่วนอัล-หะดีษข้างต้นนั้นเป็นกรณีของผู้ที่ละหมาดสุนนะฮฺในสภาพที่นั่งหรือนอนตะแคงทั้งๆ ที่มีความสามารถในการยืน ซึ่งการละหมาดสุนนะฮฺนั้นอนุญาตให้นั่งละหมาดได้ถึงแม้ว่าจะมีความสามารถในการยืนก็ตาม (กิตาบอัล-มัจญ์มูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ ; อัน-นะวาวียฺ เล่มที่ 3 หน้า 239,240)

ดังนั้น ในกรณีของคุณเศาะลาหุดดีนทีมีปัญหาที่หัวเข่าแต่สามารถยืนได้ (ตามที่ยืนยันมา) ก็ให้คุณยืนละหมาดพร้อมกับใช้เก้าอี้ การยืนถึงแม้ว่าจะไม่มั่นคงเพราะจะต้องเขย่งเข่าของขาด้านหนึ่งก็ไม่เป็นไรเพราะยังเรียกได้ว่าเป็นการยืน ขอให้หลังของคุณตั้งตรงก็พอ การยืนโดยเขย่งขาข้างหนึ่งหรือแม้แต่ยืนละหมาดฟัรฎูบนขาข้างเดียวนั้นก็ตาม ถือว่าการละหมาดนั้นใช้ได้และไม่เป็นที่มักรูฮฺแต่อย่างใดเนื่องจากมีอุปสรรค (อุซฺร์) (กิตาบอัล-มัจญ์มูอฺ อ้างแล้ว 3/238)

ทั้งนี้ให้เริ่มตักบีเราะตุลหฺรอมในสภาพที่ยืน อ่านสูเราะฮฺอัล-ฟาติหะฮฺ อ่านสูเราะฮฺสั้นๆ กับรุกัวะอฺ เงยจากการรุกัวะอฺ และอิอฺติดาลทั้งหมดกระทำในสภาพที่ยืน พอถึงอิริยาบทจะลงสุหญูดก็นั่งลงบนเก้าอี้แล้วก็ก้มสุหญูดในสภาพที่นั่งอยู่บนเก้าอี้ นั่งระหว่าง 2 สุหญูด และก้มลงสุหญูดอีกครั้งในสภาพที่นั่งอยู่บนเก้าอี้ พอเงยขึ้นเพื่อทำรอกอะฮฺต่อไปก็ลุกขึ้นยืนตรงและทำเหมือนตอนแรกของรอกอะฮฺที่หนึ่ง ทำตามที่บอกนี้ก็ถือว่าการละหมาดในสภาพที่ยืนเอาไว้เป็นส่วนใหญ่

แต่ถ้าอาการของเข่ามีมากจนไม่สามารถยืนได้ หรือยืนได้แต่เจ็บเข่ามาก ก็ให้นั่งละหมาดได้ โดยจะนั่งเก้าอี้หรือนั่งบนพื้นก็ได้ ซึ่งการนั่งละหมาดของคุณเศาะลาหุดดีนไม่สามารถงอเข่านั่งอิฟติรอชฺและตะวัรฺรุกได้ แต่นั่งยืดขาอย่างที่บอกมา ก็สามารถทำได้ เพราะนักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺกล่าวว่า ไม่มีลักษณะท่าทางที่ถูกกำหนดเจาะจงสำหรับการนั่งในตำแหน่งเหล่านี้ (ในการละหมาด) สำหรับการใช้ได้ หากแต่ว่านั่งอย่างไรก็ได้ ถือว่าใช้ได้ ไม่ว่าจะนั่งแบบตะวัรฺรุกหรือนั่งแบบอิฟติรอชฺ หรือยืดขาทั้งสองข้างหรือชันเข่าทั้งสองข้างหรือข้างหนึ่งข้างใดหรืออื่นจากนั้น

ทั้งนี้เพราะการนั่งแบบตะวัรฺรุกหรืออิฟติรอชฺเป็นสุนนะฮฺมิใช่วาญิบนั่นเอง สิ่งที่เป็นวาญิบก็คือนั่งก็แล้วกัน จะนั่งท่าไหนก็ตามเพราะนี่เป็นกรณีของผู้ที่มีอุปสรรคในการละหมาด (กิตาบอัล-มัจญ์มูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ 3/429)

ดังนั้น สิ่งที่กระทำอย่างที่บอกมาถือว่า การละหมาดของคุณโดยนั่งยืดขาใช้ได้แล้ว แต่ที่ดีที่สุดให้พยายามทำตามข้อเสนอข้อแรกที่ว่า ยืนละหมาดแล้วนั่งลงบนเก้าอี้ ข้อนี้ดีที่สุด

ที่มา: alisuasaming.org

อัพเดทล่าสุด