เดือนซอฟัร กับการเชื่อลางร้าย-โชคลางในเดือนซอฟัร


11,266 ผู้ชม

เดือนซอฟัรเป็นเดือนแห่งอัปมงคล ซึ่งเป็นความเชื่อที่ยังมีให้เห็นกันอยู่ดังนั้นเพื่อขจัดมันให้พ้นไปและเพื่อชีวิตที่ปลอดภัยจึงมีการกระทำสิ่งต่อไปนี้ คือ...


เดือนซอฟัร กับการเชื่อลางร้าย-โชคลางในเดือนซอฟัร  

บทความโดย อ.ดาวู๊ด รอมาน

คนเขลา มีความเชื่อว่า เดือนซอฟัร เป็นเดือนแห่งอัปมงคล ดังนั้น เพื่อขจัดมันไปให้พ้น และเพื่อชีวิตที่ปลอดภัย จึงรวบรวมอัลกุรอาน ที่มีคำว่า "อัสลาม السلام " ที่แปลว่า "ความสันติสุข ความปลอดภัย" เพื่อนำมาเขียนลงบนภาชนะต่างๆ แล้วนำภาชนะเหล่านั้นไปล้างน้ำ น้ำนั้นจะถูกเรียกว่า "น้ำซอฟัร" สรรพคุณคือ ใช้ดื่ม ใช้อาบ เพื่อขจัดอัปมงคลเภทภัย และเพื่อได้รับความจำเริญ ความเชื่อการกระทำสิ่งดังกล่าวถือว่าเป็นการเชื่อที่ผิด และเป็นการอุตริสิ่งใหม่ขึ้นมาในศาสนา

เดือนซอฟัรเป็นเดือนแห่งอัปมงคล ซึ่งเป็นความเชื่อที่ยังมีให้เห็นกันอยู่ดังนั้นเพื่อขจัดมันให้พ้นไปและเพื่อชีวิตที่ปลอดภัยจึงมีการกระทำสิ่งต่อไปนี้ คือ

1. ทำน้ำซอฟัรในวันพุธสุดท้ายของเดือน  โดยรวบรวมโองการอัลกุรอานที่เรียกว่า “อายาตสลาม ” อันได้แก่

“ความศานติ พระดำรัสหนึ่งจากพระเจ้าผู้ทรงเมตตาเสมอ” (ยูนุส 58)

“ศานติจงมีแด่นูฮ์ในหมู่ประชาชาติทั้งหลาย แท้จริงเช่นนั้นแหละเราจะตอบแทนผูกระทำความดีทั้งหลาย” (อัซซอฟฟาต 79-80)

“ขอศานติจงมีแด่อิบรอฮีม เช่นนั้นแหละเราจะตอบแทนผูกระทำความดีทั้งหลาย” (อัซซอฟฟาต 109-110)

“ศานติจงมีแด่มูซาและฮารูน แท้จริงเช่นนั้นแหละเราจะตอบแทนผูกระทำความดีทั้งหลาย”

“ศานติจงมีแด่วงศ์วานของยาซีน แท้จริงเช่นนั้นแหละเราจะตอบแทนผูกระทำความดีทั้งหลาย” (อัซซอฟฟาต 120-121)

“ศานติจงมีแด่พวกท่าน พวกท่านเป็นผู้บริสุทธิ์ ดังนั้น จงเข้าไปในสวรรค์เป็นผู้พำนักอยู่ตลอดกาล” (อัซซุมัร 73)

“ศานติจงมีแด่พวกท่าน เนื่องจากพวกท่านอดทน มันช่างดีเสียนี่กระไรที่พำนักบั้นปลายนี้” (อัรเราะอฺดฺ 24)

“ศานติมีในคืนนั้นจนกระทั่งรุ่งอรุณ” (อัลก็อดรฺ 5)

คำว่า “ สลาม  سَلاَمٌ ” แปลว่า “ศานติ,ความปลอดภัย,”  เพื่อนำมาเขียนลงบนภาชนะต่างๆ แล้วนำภาชนะเหล่านั้นไปล้างน้ำ  น้ำนั้นจะถูกเรียกว่า “น้ำซอฟัร”  สรรพคุณคือ ใช้ดื่ม ใช้อาบ เพื่อขจัดอัปมงคล เภทภัยและเพื่อได้รับความจำเริญ

วิธีทำน้ำซอฟัร

เพื่อประโยชน์อันสูงสุด อุลามะอฺ(ผู้รู้) ได้กล่าวไว้ว่า มีกล่าวในหนังสือ " อัลญะวาอิรุ้ล-คอมีส" ว่า " บะลา ( การทดสอบ ) จากอัลลอฮฺ จะประทานลงมาทุกปี ปีละ 320,000 ( สามแสนสองหมื่น ) บะลา ซึ้งทั้งหมดนี้ประทานลงมาในวันพุธสุดท้าย ของเดือนซอฟัร ( เดือนที่สองของศักราชอิสลาม ) และในวันดังกล่าว จะปรากฏว่า เป็นวันที่มีปัญหามากที่สุดในรอบปี

ดังนั้น ใครก็ตามเขียนแผนภูมิ (ตารางสีเหลี่ยมเก้าช่อง) ไว้ในจาน หรือ ถ้วยสีขาว และเขียนรอบๆแผนภูมิดังกล่าว ด้วยดุอาอฺ ( การขอพร ) และบรรดาโองการต่างๆจากอัลกุรอ่าน ที่เริ่มต้นด้วยคำว่า "สลาม" ซึ่งแปลว่า "สันติสุข" หรือ "ความปลอดภัย" หลังจากนั้น นำไปล้างน้ำแล้วนำน้ำนั้นมาดื่ม เขาจะได้รับความคุ้มครองจากอัลลอฮฺให้ปลอดภัย มีความสุข พ้นบะลา ตลอดวันนั้น อีกทั้งจะไม่มีบาลาใดๆมากร่ำกรายตลอดทั้งปี ใครเขียนดังกล่าวนี้ แล้วดื่มน้ำที่ล้างข้อเขียนนั้น ในวันพุธสุดท้ายของเดือนซอฟัร ด้วยการอมะฮฺ และความมีอยู่จริงของอัลลอฮฺ เขาจะเป็น "ส่วนหนึ่งจากบรรดาผู้ที่ได้รับการรักษา ด้วยบารมีของนายแห่งบรรดาศาสนฑูต วงศาคณาญาติ มิตรสหายทั้งหมด ตลอดจน บรรดาคู่ครอง ผู้สืบสกุลที่สะอาดบริสุทธิ์ ขออัลลอฮฺ ทรงโปรด และขอสรรเสริญอัลลอฮฺผู้อภิบาลแห่งโลกานุโลก "

หมายเหตุ ในการเขียนนั้น ให้ใช้ สีผสมอาหาร น้ำหวาน หรือ สิ่งที่รับทานได้ ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เขียนลงบนภาชนะกว้าง แล้วจึงละลายน้ำ(ถอดความจาก  ญัมอุ้ลวาฟาเอ็ตหน้า 137-138โดย อาจารย์ การีม (อรุณ) วันแอเลาะเอกสารเผยแพร่ ประจำเดือนซอฟัร ฮ.ศ 1421 สถาบัน อัร รอบิตี้ โรงเรียนอิสลามสัมพันธ์พุธ 31 พฤษภาคม 2543)

2. ผู้รู้บางท่านกล่าวว่า ”ในหนึ่งปีมีอยู่หนึ่งวันคือ วันพุธสุดท้ายของเดือนซอฟัรจะมีภัยพิบัติจำนวน 320,000 (สามแสนสองหมื่น) ลงมาในวันนั้น ดังนั้นใครที่ละหมาดสี่รอกอัตในวันนั้นโดยที่แต่ละรอกอัตอ่านฟาตีฮะฮ. 1 จบ ซูเราะฮ์เกาซัร  17 จบ ซูเราะฮ์อิคลาส 50 จบ อัลมุเอาวิซะตัยนิ 1 จบ หลังสลามให้ดุอาอฺ อัลลอฮฺจะทรงปกปักรักษาให้พ้นจากภัยพิบัติต่างๆที่จะลงมาในวันนั้น"

หลักการของศาสนาอิสลามในการเชื่อโชคลาง

ภาษาอาหรับ ใช้คำว่า "ฏิยะเราะฮ์  طيرة  " มาจากคำว่า "ตะตอยยะร่อ  تطير " แปลว่า "ทำให้บิน" เพราะชาวอาหรับจะเสี่ยงโชคด้วยการใช้นกเป็นตัวกำหนด ด้วยการไล่ให้บินออกไปแล้วคอยดูว่านกจะบินไปทางทิศใด หากบินไปทางขวาอันเป็นทิศที่ดี ก็จะเริ่มปฏิบัติงานตามที่ตั้งใจไว้ เพราะเป็นลางดี แต่หากว่าบินไปทางซ้ายหรือทางที่ไม่ดี ก็จะไม่ปฏิบัติงานเพราะลางร้าย

ความหมาย ด้านวิชาการ หมายถึง การเชื่อถือลางร้ายที่มาจากนก ชื่อ ถ้อยคำ สถานที่ วัน เวลา ตัวบุคคล และอื่นๆ กล่าวคือ การที่คนใดคนหนึ่งตั้งใจที่จะปฏิบัติงาน ไม่ว่าจะเป็นงานศาสนาหรืองานทั่วไป แล้วก็ได้เห็นหรือได้ยินการทำนายทายทักเช่น ดูฤกษ์ดีแล้วหรือ? ซึ่งเป็นเหตุให้เขาตกอยู่ในหนึ่งในสองสภาพต่อไปนี้ คือ

  • สภาพที่หนึ่ง ยุติการปฏิบัติงานที่ตั้งใจไว้ เพราะเชื่อตามคำทำนายทายทัก หัวใจของเขาเชื่อถือตามนั้น ซึ่งชี้ว่าเป็นหัวใจที่ไม่ได้เชื่อมั่นต่ออัลลอฮ์ และไม่มีการมอบหมายต่ออัลลอฮ์ (ตะวักกุ้ล)
  • สภาพที่สอง ไม่ยุติการปฏิบัติงานที่ตั้งใจไว้ แต่ว่าเกิดความไม่สบายใจเมื่อปฏิบัติงาน เพราะหัวใจยังเป็นกังวลว่า อาจจะเกิดอันตรายขึ้นเมื่อใดก็ได้ เพราะไม่ได้ทำตามคำทำนายทายทัก

ดังนั้น จึงจำเป็นแก่ผู้ตกอยู่ในสภาพดังกล่าว ต้องพยายามขจัดความเชื่อที่ผิด ให้หมดไปจากหัวใจ โดยจะต้องขอความช่วยเหลือจากอัลลอฮ์ มอบหมายกับพระองค์และดำเนินการต่อไป และให้กล่าวถ้อยคำดังนี้ว่า

اللهم لا يأتي بالحسنات إلا أنت ، ولا يدفع السيئا ت إلا أنت ، ولا حول ولا قوة إلا بك

"โอ้ อัลลอฮ์ ไม่มีสิ่งใดนำความดีมาได้นอกจากพระองค์เท่านั้น ไม่มีสิ่งใดขจัดความเลวร้ายได้ นอกจากพระองค์เท่านั้น และไม่มีพลังอำนาจใด นอกจากพลังอำนาจของพระองค์เท่านั้น"
(บันทึกโดย อบูดาวู๊ด อิบนุซซุนนี และอัลบัยฮะกีย์เป็นฮะดิษมุรซัจ จากอิบนิอับบาส)        

การเชื่อถือโชคลางเป็นความเชื่อ ของผู้ปฏิเสธทั้งหลาย พวกเขาเชื่อว่าบรรดาเราะซูลของอัลลอฮ์ และบรรดาผู้ศรัทธา เป็นลางร้ายที่ทำให้พวกเขาได้รับความหายนะ เช่นฟาโรห์ กับพวกพ้อง ผู้คนยุคบะนีซอและฮ์ อัซฮาบุ้ลก็อรยะฮ์ และมุชริกีนยุคนะบีมุฮัมมัด  กล่าวว่า 

“ครั้นเมื่อความดีมายังพวกเขา  พวกเขาก็กล่าวว่า นี่คือสิทธิของเรา  และหากความชั่วใดๆมาประสบแก่พวกเขา พวกเขาก็ถือเอานบีมูซา และผู้ที่อยู่ร่วมเป็นลางร้าย(การมาของนบีมูซาเป็นลางร้าย  ทำให้พวกเขาได้รับความแห้งแล้งและอื่นๆอีก) พึงรู้เถิดว่า  ที่จริงลางร้ายของพวกเขานั้นอยู่ที่อัลลอฮ์ ต่างหาก  แต่ทว่าส่วนมากของพวกเขาไม่รู้” (อัลอะอฺรอฟ / 131)

ผู้คนยุคนบีซอและฮฺอัซฮาบุลก็อรยะฮฺ อัลลอฮ์ ตรัสความว่า “พวกเขา(บรรดาฑูต)กล่าวว่า  ลางร้ายของพวกท่านอยู่กับพวกท่านนั่นเอง” (ยาซีน / 19)

และมุชริกีนยุคนบีมุฮัมมัด  พวกเขาเชื่อว่าการมาของบรรดารอซูลของอัลลอฮฺและบรรดาผู้ศรัทธาเป็นลางร้ายที่ทำให้พวกเขาได้รับความหายนะ   อัลลอฮฺ ตรัสความว่า

"หากมีความดีใด ๆ ประสบแก่พวกเขา พวกเขาก็จะกล่าวว่าสิ่งนี้มาจากอัลลอฮฺ และหากมีความชั่วใด ๆ ประสบแก่พวกเขา พวกเขาก็จะกล่าวว่าสิ่งนี้มาจากเจ้า จงกล่าวเถิด (มุฮัมมัด) ทุกอย่างนั้นมาจากอัลลอฮฺทั้งสิ้น "  (อันนิซาอ์ / 78)

การเชื่อโชคลางเป็นการทำชิริกต่ออัลลอฮ์ เพราะเป็นการเอาหัวใจไปผูกพันต่อสิ่งอื่นจากอัลลอฮ์และการเชื่อมั่นว่าที่ประสบกับอันตรายก็เพราะสิ่งอื่นจากอัลลอฮ์ เป็นเหตุทั้งที่มันให้คุณและให้โทษไม่ได้ และเป็นการตัดขาดการมอบหมายต่ออัลลอฮ์  ท่านเราะซูล  ได้กล่าวว่า "ไม่มีโรคระบาด ไม่มีลางร้าย ไม่มีนกฮูก และไม่มีเดือนซอฟัร" (บันทึกโดยบุครีย์และมุสลิม)

ท่านเราะซูล  ได้ปฏิเสธ 4 ประการ ที่ไม่มีอำนาจ หรืออิทธิฤทธิ์ใดๆ ในการทำลายล้าง กล่าวคือ

- โรคระบาดไม่มีอำนาจทำร้ายผู้ใด

- ลางร้ายต่างๆไม่มีอำนาจสร้างความหายนะให้เกิดขึ้นได้

- นกกลางคืน เช่น นกฮูก นกเค้าแมว และนกแสด ไม่ได้เป็นลางร้าย และมันไม่มีอำนาจให้เกิดความหายนะ

- ไม่มีเดือนอัปมงคล หรือเดือนแห่งบาลออ์(ภัยพิบัติ) หากแต่เป็นเดือนปกติ ที่เหมือนกับเดือนอื่นๆ

ดังนั้น จงดำเนินชีวิตตามปกติโดยที่จะต้องไม่เชื่อถือเรื่องฤกษ์ยามหรือโชคลางซึ่งเป็นการทำชิริกต่ออัลลอฮฺ และต้องไม่กระทำการใดๆที่เป็นการสะเดาะเคราะห์หรือขจัดปัดเป่าภัยพิบัติด้วยวิธีการที่เป็นบิดอะฮฺ  เช่น การทำน้ำซอฟัร การละหมาด(ขจัดบาลอ)

ที่มา: www.islammore.com

อัพเดทล่าสุด