จุฬาราชมนตรีคนต่อไป ควรเป็นใคร? 


4,117 ผู้ชม

หากตั้งคำถามว่า ตกลงท่านจุฬาราชมนตรีคนต่อไป สมควร หรือจำเป็นต้องมีบุคลิกภาพ-มีคุณลักษณะอย่างไร?


จุฬาราชมนตรีคนต่อไป ควรเป็นใคร? 

บทความโดย : อ.มุรีด ทิมะเสน

ท่านรสูลุลลอฮฺ กล่าวว่า : 

يَا عَبْدَ الرَّحْمَنِ بْنَ سَمُرَةَ، لاَ تَسْأَلِ الإِمَارَةَ، فَإِنَّكَ إِنْ أُوتِيتَهَا عَنْ مَسْأَلَةٍ وُكِلْتَ إِلَيْهَا، وَإِنْ أُوتِيتَهَا مِنْ غَيْرِ مَسْأَلَةٍ أُعِنْتَ عَلَيْهَا

“โอ้ท่านอับดุรฺเราะมาน บุตรของสะมุเราะฮฺ...เอ๋ย ท่านจงอย่าขอตำแหน่ง (หรือขออำนาจ) เลยนะ, แท้จริงหากท่านขอตำแหน่ง (หรือขอให้มีอำนาจ) ท่านจะทำงาน (โดยพระองค์อัลลอฮฺจะปล่อยท่านทำงานในตำแหน่งนั้น) เพียงลำพัง, แต่หากท่านได้ตำแหน่ง (หรือได้อำนาจ) โดย (ท่าน) มิได้ขอ (ตำแหน่ง) ท่านจะได้รับจากช่วยเหลือ (จากพระองค์อัลลอฮฺ) ขณะดำรงตำแหน่ง (ดังกล่าว)” [หะดีษเศาะหี้หฺ, บันทึกโดยบุคอรีย์ หะดีษที่ 6622]

สิ่งที่ได้รับจากหะดีษ

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา สังคมมุสลิมได้สูญเสีย ฯพณฯ อาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรีที่ 18 แห่งราชอาณาจักรไทย (رحمه الله) ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าภายหลังจากนั้น สังคมมุสลิมประเทศไทยจำต้องเลือกตั้งผู้นำแห่งปวงชนชาวไทย เพื่อคัดสรร-เฟ้นหาท่านจุฬาราชมนตรีคนใหม่ในเร็ววัน ทั้งนี้เพื่อมิให้ปวงชนมุสลิมชาวไทยขาดผู้นำ....นั่นเอง

อนึ่ง หากตั้งคำถามว่า ตกลงท่านจุฬาราชมนตรีคนต่อไป สมควร หรือจำเป็นต้องมีบุคลิกภาพ-มีคุณลักษณะอย่างไร? ด้วยเพราะการเป็นผู้นำแห่งปวงชนมุสลิมชาวไทยนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะสังคมมุสลิมไทยมีลีลาและบริบทเฉพาะตัวอย่างอันไม่ใคร่เหมือนมุสลิมประเทศอื่นๆ เอาเสียเลย ด้วยเหตุนี้ คุณลักษณะท่านจุฬาฯ คนต่อไปควร หรือจำต้องมีคุณสมบัติเยี่ยงไรกระนั้นหรือ?

คุณสมบัติแรก ท่านจุฬาฯ คนต่อไปต้องไม่กระสัน หรือปรารถนาอย่างแรงกล้าเพื่อให้ได้มาซึ่งตำแหน่งจุฬาราชมนตรี เพราะหลักการอิสลามห้ามบุคคลใดก็ช่างกระสันตำแหน่ง ไม่ว่าจะตำแหน่งเล็ก หรือตำแหน่งใหญ่ก็ตาม ห้ามบุคคลกระสันอยากได้-อยากมีตำแหน่งโดยเด็ดขาด ลางคนเกณฑ์พรรคพวกของตนมาลงคะแนนให้ ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ซื้อเสียงเพื่อลงคะแนนให้แก่ตนเอง หวังเพื่อเข้าไปมีอำนาจ-มีตำแหน่งนั้นๆ, ข้างต้นเป็นข้อห้ามทางศาสนา ฉะนั้นหากบุคคลใดเสนอตัวเพื่อกระสันตำแหน่งจุฬาฯ เช่นนี้ เราต้องไม่เลือก และต้องสกัดกั้นคนๆ นั้นไม่ให้ถูกเลือกเข้ามามีตำแหน่งที่ตัวเขาเองกระสันอยากได้-อยากเป็นยังตำแหน่งจุฬาราชมนตรีโดยเด็ดขาด ท่านนบีวัจนะไว้ว่า “โอ้ท่านอับดุรฺเราะมาน บุตรของสะมุเราะฮฺ...เอ๋ย ท่านจงอย่าขอตำแหน่ง (หรือขออำนาจ) เลยนะ แท้จริงหากท่านขอตำแหน่ง (หรือขอให้มีอำนาจ) ท่านจะทำงาน (โดยพระองค์อัลลอฮฺจะปล่อยท่านทำงานในตำแหน่งนั้น) เพียงลำพัง แต่หากท่านได้ตำแหน่ง (หรือได้อำนาจ) โดย (ท่าน) มิได้ขอ (ตำแหน่ง) ท่านจะได้รับจากช่วยเหลือ (จากพระองค์อัลลอฮฺ) ขณะดำรงตำแหน่ง (ดังกล่าว)”

คุณสมบัติที่สอง บุคคลซึ่งสมควรดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี เขาผู้นั้นต้องเป็นผู้นำปวงชนมุสลิมชาวไทยทั้งประเทศ กล่าวคือ เป็นผู้นำของมุสลิมทุกๆ ภาค (เหนือ,ใต้,ออก,ตก) มิใช่ว่า ท่านจุฬาฯ คนใหม่เป็นคนใต้ (สมมุติ) เขาเป็นผู้นำให้เฉพาะคนภาคใต้เท่านั้น หรือเขาเป็นคนภาคกลางก็เป็นผู้นำเฉพาะคนภาคกลาง

ทว่า ท่านจุฬาฯ ต้องเป็นผู้นำปวงชนมุสลิมชาวไทยทุกคน และเป็นผู้นำของทุกๆ เชื้อชาติ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อสายมลายู,ปาทาน,จีนฮ่อ, มุสลิมไทยที่อยู่มาแต่เดิม หรือมุสลิมซึ่งมาอาศัยอยู่ทีหลัง อีกทั้งต้องผู้นำของคนทุกกลุ่ม ทุกมัซฮับ และทุกๆ ทัศนะอันมีความแตกต่างกัน ฉะนั้นคุณสมบัติข้อนี้ถือเป็นสำคัญเอามากๆ โปรดอย่าลืมว่า มุสลิมในประเทศไทยล้วนมีปัญหาศาสนาขัดแย้งกันมานมนาน ลางปัญหาเรื้อรังยากจะทำให้มีความเห็นเป็นหนึ่งเดียวกันได้ ในเมื่อยังไม่สามารถให้ปฏิบัติเป็นหนึ่งเดียวกันได้ การรอมชอม และสร้างกัลยาณมิตรโดยไม่แตกแยกกัน-ไม่ทะเลาะกันท่ามกลางความเห็นต่างนั้น คือโจทย์อันสำคัญยิ่ง ณ ผู้นำอย่างท่านจุฬาราชมนตรีต้องสำแดงศักยภาพดังกล่าวให้เห็นเป็นประจักษ์ ณ สังคมเมืองไทยซึ่งทั้งแตกต่างและขัดแย้งกันค่อนข้างมาก

ด้วยเหตุนี้ จุฬาราชมนตรีคนต่อไป สมควรอย่างยิ่งต้องไร้ลักษณะแข็งกระด้าง และเด็ดขาดในทัศนะหนึ่งทัศนะใดเป็นการเจาะจงหากเรื่องนั้นเป็นเรื่อง “ความเห็นต่าง (อันมีหลักฐานรองรับ)” ส่วนเรื่องใดชัดเจน อาทิ หลักความเชื่อ (อะกีดะฮฺ) หรือเรื่องหะลาล-หะรอม นั่นย่อมชัดเจนวันยังค่ำ ส่วนเรื่องซึ่งรอมชอมกันได้ มีทัศนะด้วยกันทั้งสองฝ่าย เพียงแต่ใครจะให้น้ำหนักทัศนะใดมากกว่า นั่นอีกเรื่องหนึ่ง แต่เราต้องอยู่ร่วมกันได้ ไม่ต้องทะเลาะกัน หรือแตกแยกกัน เฉกเช่น เรื่องการเข้าบวชออกบวช เป็นต้น ท่านจุฬาฯ คนใหม่จะต้องมีวิสัยทัศน์เรื่องดังกล่าวด้วยกิริยาละมุมละม่อม

พึงทราบเถิดว่า การดูแลปกครองมุสลิมในประเทศไทยไม่ใช่เรื่องง่ายเอาเสียเลย เป็นภาระหนักอึ้งด้วยซ้ำ แต่จักอย่างไรก็ช่าง ความรัก-ความสามัคคีย่อมอยู่เหนือสิ่งใดในฐานะเราเป็นมุสลิมด้วยกัน อะไรจักทำให้เกิดความรัก-การเป็นกัลยาณมิตรอันพึงมีให้แก่กันแล้วไซร้? จำเป็นอย่างยิ่งยวดจักต้องกระทำเป็นสำคัญลำดับต้นๆ อย่างหลีกเลี่ยงมิได้....นั่นแล

https://islamhouse.muslimthaipost.com/article/23722

บทความที่น่าสนใจ

อัพเดทล่าสุด