กำเนิดปากกาหมึกซึม (Origins of the Fountain Pen)
กอฎี อบู-ฮานีฟา อัล-นุมาน บิน มุฮัมมัด เป็นนักกฎหมายชื่อดังในทศวรรษต้นๆ ของขบวนการฟาติมิด เขาเป็นคนสนิทและเพื่อนของ ‘อัล-มูอิซ ลิดีนิลลาฮ์’ (Al-Muizz Lideenillah ค.ศ.932–975) หรือ ‘อัล-โมเอซ’ (al'Moezz) กษัตริย์อียิปต์ซึ่งขึ้นครองราชย์ในปี 953
อัล-นุมานเองเสียชีวิตที่ไคโรในปี 974 อัล-นุมานเขียนตำราหลายเล่ม ในหนังสือเล่มหนึ่งของเขา ‘กิตาบัล มัจลีซ วัล-มูซายาราต’ (Kitab Al-Majalis Wal-Musayarat) ซึ่งถูกนำมาเรียบเรียงพิมพ์ใหม่โดย อัล-ฮาบิบ อัล-ฟากี, อิบราฮิม ชับบุฮ, และมุฮัมมัด อัล-ยาลาวี (ตูนิซ ปี 1978) อัลนุมานได้พรรณาไว้ว่าอัล-มุอิซเป็นคนฉลาด ชอบแสวงหาความรู้ อยากรู้อยากเห็น ทรงสร้างสิ่งก่อสร้างมากมาย ทั้งพระราชวัง อุทยาน ระบบชลประทาน คลอง อ่างเก็บน้ำ อัล-นุมานบอกอีกว่าอัล-มุอิซเป็นผู้สั่งให้ช่างของราชสำนักประดิษฐ์ ‘ปากกาหมึกซึม’ ขึ้นมา:
“เราอยากได้ปากกาที่มีหมึกบรรจุอยู่ภายใน สามารถเขียนไปได้เรื่อยโดยไม่ต้องมาจุ่มน้ำหมึกในขวด ผู้เขียนสามารถเติมหมึกลงไปในปากกาได้ แถมจะพกพาปากกานี้ไปไหนมาไหนก็ได้ ใส่กระเป๋าก็ได้โดยที่น้ำหมึกไม่เปื้อนเสื้อผ้าหรือหยดออกมาเลอะเทอะ หมึกจะไหลตอนที่ผู้เขียนตั้งใจจะเขียนหนังสือเท่านั้น เราไม่เคยเห็นใครเคยทำหรือคิดทำปากกาแบบนี้มา ข้าฯ เลยถามร้องออกมาว่า ‘จะทำได้หรือพระองค์?’ อัล-มูอิซเลยรับสั่งว่า ‘ได้สิ หากเป็นพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า (อัล-มูอิซบอกว่า ‘อินชาอัลลอฮ’)’”
แล้วเรื่องก็ดำเนินไป ไม่กี่วันถัดมาช่างฝีมือประจำราชสำนักก็นำปากกาที่มีหมึกเก็บไว้ข้างในมาถวาย เป็นปากกาที่สามารถวางกลับหัวกลับหาง ชี้ไปทางซ้ายหรือขวาได้โดยที่หมึกไม่หยดออกมา หมึกจากปากกาด้ามนี้จะไม่ไหลลงมาหากไม่จรดปากกาเขียนลงไป หมึกจากปากกาไม่ไหลเปรอะเปื้อนเสื้อผ้าหรือมือไม้ ผู้เขียนไม่ต้องหอบขวดน้ำหมึกไปด้วยเพราะมีหมึกเก็บไว้ข้างในแล้ว
‘ปัญญา’ ย่อมเกิดกับผู้แสวงหา พระผู้เป็นเจ้าทรงเปิดทางนำให้สำหรับผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์เพื่อเดินไปสู่หนทางอันเที่ยงตรง
“นูน ขอสาบานด้วยปากกาและสิ่งที่พวกเจ้าขีดเขียน” (อัล-กุรอาน, อัลกอลัม 68: 1)
ส่วนในยุโรปกลับรู้จักปากกาที่เก็บหมึกไว้ข้างในเมื่อศตวรรษที่ 17 นี่เอง Daniel Schwenter ได้ระบุไว้ในหนังสือของเขา Deliciae Physico-Mathematicae (ปี 1636) ถึงปากกาที่ทำจากก้านขนนกสองอัน โดยที่ก้านขนนกอันหนึ่งเป็นที่เก็บหมึกของก้านขนนกอีกอันหนึ่ง จากนั้นจนสิ้นสุดศตวรรษที่ 18 ก็มีการบันทึกถึงปากกาที่เก็บหมึกไว้ข้างในน้อยมาก โลกตะวันตกได้รู้จักปากกาหมึกซึมจริงๆ ก็ในศตวรรษที่ 19
ที่อังกฤษ ปี 1809 Folsch ได้จดทะเบียนสิทธิบัตรปากกาที่เก็บหมึกไว้ข้างใน ต่อมาในปี 1884 เลวิซ วอเตอร์แมน ชาวนิวยอร์กก็ได้ประดิษฐ์ปากกาที่เรียกว่าปากกาหมึกซึมจริงๆ และจากทศวรรษนี้เป็นต้นไปก็เริ่มมีการผลิตปากกาหมึกซึมกันขนานใหญ่และใช้กันแพร่หลายทั่วไป
แต่นั่นก็คือตั้ง 900 ปีหลังจากอัล-มูอิซได้รับสั่งให้ช่างของพระองค์ประดิษฐ์ปากกาที่เก็บหมึกไว้ข้างในด้ามแรกของโลก!!!
นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของความสนใจในความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการชอบแสวงหาความรู้และประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้ใหม่ๆ ของบรรพชนมุสลิมรุ่นแรกๆ ของเรา ท่านเหล่านั้นกระหายที่จะแสวงหาความรู้ซึ่งทำให้โลกมุสลิมเมื่อ 1,000 ปีก่อนแตกต่างจากชนกลุ่มอื่นในยุคสมัยเดียวกันอย่างสิ้นเชิง
ความกระหายความรู้นี่เองที่ทำให้บรรพชนของเราสร้างสรรค์อารยธรรมที่โดดเด่นขึ้นมา จนเรียกกันว่า “ยุคทองของศิลปวิทยาการอิสลาม”
แปลโดย ลานา อัมรีล
อ้างอิง: Origins of the Fountain Pen. Foundation for Science Technology and Civilization (FSTC Limited). 22 May 2003.
http://www.oknation.net/blog/knowislam/2008/04/29/entry-1