การถือศีลอด การอดอาหาร ในศาสนาต่างฯ
การถือศีลอด และการอดอาหาร มีความเกี่ยวข้องกับทุกศาสนานับตั้งแต่การใช้ชีวิตของชนชาติโบราณ เช่น ชาวอียิปต์โบราณ ชาวกรีกโบราณ ชาวโรมัน จนกระทั่งบรรดาผู้ที่นับถือศาสนาในปัจจุบัน โดยที่วิธีการถือศีลอดมีความแตกต่างกันไป ทั้งทางด้านเวลาและการงดอาหาร บางศาสนางดรับประทานอาหารบางชนิด บางศาสนาก็งดเว้นการรับประทานอาหารทั้งหมด บางศาสนาจำกัดการรับประทานอาหารเพียงบางชนิด ชาวจีนถือศีลกินเจ โดยงดเว้นการรับประทานอาหารบางอย่าง
ศาสตราจารย์ ที เอ็ม พี มหาเทวัญ (T.M.P. Mahadewan) หัวหน้าภาควิชาปรัชญา มหาวิทยาลัยมัดราส ประเทศอินเดีย กล่าวว่า “ชาวฮินดูกลุ่มหนึ่งจะอดอาหาร ไม่หลับนอนในยามค่ำคืน พร่ำอ่านคัมภีร์ โดยมีเป้าหมายเพื่อชำระจิตใจให้สะอาดหมดจดจากกิเลศตัณหา”
มหาตะมะคานที (Mahatama Gandhi) บิดาแห่งการประกาศเอกราชของประเทศอินเดียกล่าวว่า “การอดอาหารเพื่อเข้าใจความทุกข์”
ชาวยิวถือศีลอดในวันที่ 10 เดือน 7 โดยเริ่มอดอาหารตั้งแต่ดวงอาทิตย์ตกของวันที่ 9 จนถึงดวงอาทิตย์ของวันที่ 10 โดยมีเป้าหมายเพื่อลบล้างความผิด ขณะเดียวกันก็มีการถือศีลอดในวันที่ 1 ของเดือนที่ 4 – 5 – 7 – 10 เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์กรุงเยรุซาเล็ม
ขณะที่นบีมุฮัมมัด ศ็อลฯ อพยพไปยังเมืองมะดีนะฮ์ ชาวยิวที่นั่นต่างถือศีลอดในวันอาชูรอฮ์ (วันที่ 10 มุฮัรรอม) ท่านนบีจึงถามพวกเขาว่า “วันนี้เป็นวันอะไร ? ” พวกเขากล่าวว่า “นี่เป็นวันที่ยิ่งใหญ่พระองค์อัลลอฮ์ทรงให้ความปลอดภัยแก่นบีมูซา อลัยฮ์ฯ และหมูชนของท่าน และทรงให้ฟาโรห์และเหล่าทหารของเขาจมน้ำตาย นบีมูซาจึงถือศีลอดเพื่อขอบคุณพระองค์ เราจึงถือศีลอดในวันนี้ด้วย”
ท่านนีบกล่าวว่า " نَحْنُ أَحَقُّ بِمُوْسَى مِنْكُمْ"
“เราสมควรที่จะดำเนินตามมูซายิ่งกว่าพวกท่าน แล้วท่านนบีก็ถือศีลอดและใช้ให้บรรดาซ่อฮาบะฮ์ถือสีลอดด้วย” บันทึกโดย อัลบุคอรีย์และมุสลิม จากอิบนิ อับบาส
ในอดีต การอดอาหารเป็นเครื่องมือในการฝึกจิตให้มีความเข้มแข็ง มั่นคง สร้างวินัยให้แก่ตัวเองชาวคริสเตียนในอเมริกายุคแรกอดอาหาร เพื่อให้เขาถึงพลังวิญญาณอันยิ่งใหญ่ (Great Spirit) พระคริสต์ใช้เวลา 40 วัน 40 คืน อดอาหารในป่าเปลี่ยว โมเสสอดอาหารอยู่บนภูเขาในทะเลทรายไซนาย โยคีอดอาหารเพื่อให้สามารถควบคุมจิตใจ ชำระร่างกายให้สะอาด เพื่อให้ร่างกายมีความกระปรี้กระเปร่ามากขึ้น พระศาสนจักรให้ปฏิบัติตามแนวทางของพระเยซูคริสต์และบรรดาอัครสาวก คริสตชนสมัยแรกอดอาหารและอดเนื้อสัปดาห์ละ 2 วัน คือ ในพุธและวันศุกร์ การถือศีลอดของประชาชาติต่าง ๆ
การถือศีลอดในอดีตมีความแตกต่างกัน บางทีการถือศีลอดจะเป็นเพียงการระงับคำพูด บางทีก็เป็นเพียงการงบรับประทานอาหารบางอย่าง บางทีก็เป็นเพียงการงดการกินการดื่มในช่วงหนึ่งของเวลากลางวัน เป็นต้น
การถือศีลอด เป็นหลักการที่มีอยู่ในประชาชาติต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นชาวอียิปต์โบราณ กรีก โรมัน อัลลอฮ์ได้ทรงใช้ให้นางมัรยัมถือศีลอดโดยการระงับคำพูดเมื่อมีผู้มาถามนางเกี่ยวกับการเกิดของนบีอีซา อลัยอิสลาม บุตรของนาง นบีซาการียา ได้ถือศีลอดโดยระงับคำพูด เมื่อท่านได้รับการบอกข่าวดีว่า จะมีบุตรชื่อ นบียะห์ยา
ชาวอาหรับโบราณถือศีลอด 3 วันทุกเดือนและได้ถือศีลอดในวันที่ 10 เดือนมุฮัรรอม (วันอาซูรอ) ชาวอินเดียจำนวนไม่น้อยที่อดอาหาร เพื่อฝึกจิตใจให้มีความเข้มแข็ง มีเจตนาที่แน่วแน่ มั่นคง บรรดาผู้บูชาดวงดาวจะถือศีลอด 30 วัน โดยการงดการกินการดื่มตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้น จนกระทั่งดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า พวกมาโนก็ถือศีลอด 30 วันใน 1 ปี
สำหรับชาวยิวและคริสเตียน เชคมูฮำหมัด อับดุฮ์ ข้าวของหนังสืออธิบายอัลกุรอ่าน ชื่อ “ตัฟซีรอัล-มะน๊าร” กล่าวว่า“ในคัมภีร์เตารอตที่อยู่ในมือของเราไม่มีหลักฐานยืนยันถึงบัญญัติการถือศีลอด หากแต่ส่งเสริมให้มีการถือศีลอดและชมเชยผู้ถือศีลอดเท่านั้น มีหลักฐานยืนยันว่านบีมูซา ถือศีลอด 40 วัน ชาวยิวในสมัยนั้นถือศีลอดปีละ 1 สัปดาห์ เพื่อระลึกถึงการพินาศของเมืองเยรูซาเล็ม และพวกเขาถือศีลอดหนึ่งวันในเดือนสิงหาคม และมีการรายงานอีกว่า คัมภีร์เตารอตได้บัญญัติให้ชาวยิวถือศีลอดในวันที่ 10 ของเดือนกรกฎาคม พวกเขาได้ถือศีลออดในตอนกลางคืน ซึ่งอาจทำให้พวกเขาเรียกว่า “การถือศีลอดในวันอาซูรอ” นอกจากนั้นชาวยิวยังถือศีลอดในตอนกลางวันของวันอื่น ๆ อีก
ส่วนชาวคริสต์ ในคัมภีร์อินญีลก็มิได้ระบุถึง บัญญัติของการถือศีลอด แต่ทว่าได้มีการระบุไว้ พร้อมกับชมเชยการถือศีลอด โดยนับว่าเป็นอิบาดะห์ประการหนึ่ง คัมภีร์อินญีลได้ใช้ให้ผู้ถือศีลอดใส่น้ำมันใส่ผมและล้างหน้าให้สะอาด เพื่อไม่ให้เห็นร่องรอยของการถือศีลอด เพราะจะเป็นการโอ้อวดผู้อื่น
การถือศีลอดที่สำคัญและเก่าแก่ที่สุดคือ การถือศีลอดที่ยิ่งใหญ่ก่อนวัน “อีดุลฟิสห์” ในศาสนายิว เรียกว่า “วันพาสโซเวอร์” (Passover) คือวันระลึกถึงการที่ชาวยิวได้ออกเดินทางอพยพจากอียิปต์ ในศาสนาคริสต์เรียกว่า “วันอิสเตอร์” (Easter) คือวันที่ชาวคริสต์เชื่อว่าพระเยซูฟื้นคืนชีพขึ้นจากหลุมศพ” นบีมูซา ก็ได้ถือศีลอดในวันพาสโวเวอร์นี้
การถือศีลอดของชาวฮินดู คือ วันเอกาทศี (ดิถี 11 ค่ำ) วันถือศีลอดเพื่อล้างบาปขจัดเคราะห์กรรมของชาวฮินดูวันเอกาทศี एकादशी เป็นภาษาสันสกฤต มีความหมายถึง ดิถีขึ้น/แรม 11 ค่ำ ซึ่งเป็นวันที่ชาวฮินดูรู้จักกันใน”วันแห่งพระวิษณุ” ซึ่งถือวันนี้ว่าเป็นวันฤกษ์ดีเป็นวันมหามงคล และเป็นวันสำคัญสำหรับการถือพรตเพื่ออดอาหารเหตุผลการถือพรต(ศีลอด)ในเอกาทศีตามคัมภีร์โบราณของฮินดู อธิบายว่า วันเอกาทศี และการโคจรของดวงจันทร์ มีอิทธิพลต่อความคิดและจิตใจของมนุษย์ และเชื่อว่าในระหว่างดิถีขึ้นแรมที่ 11ค่ำ (เอกาทศี) จิตใจของเราจะมีพลังเป็นพิเศษ และสมองของเราจะมีศักยภาพและประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้งาน โดยเฉพาะในการสร้างสมาธิจิตและการวินิจฉัยปรากฏการณ์ต่างๆอย่างดีเยี่ยม
ในศาสนาพุทธก็มีการถือศีลอด เป็นศีลข้อ 6 ของ "ศีลแปด" เนื้อความบอกว่า:
"วิกาลโภชนา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ" แปลว่า ให้เว้นจากการบริโภคอาหารในยามวิกาล หมายถึงอดตั้งแต่หลังเที่ยงวันถึงรุ่งเช้าของวันใหม่ศีลแปด หรือ อุโบสถศีล เป็นศีลของคฤหัสถ์ หมายถึง อุบาสกอุบาสิกาทั่วไป มิใช่สงฆ์ (ซึ่งมีศีลเฉพาะตนอยู่แล้ว) โดยมักจะรับศีลแปดในวันพระ นิยมรักษาศีลแปดเป็นเวลา 1 วัน หรือ 3 วัน จัดเป็นศีลขั้นต่ำของพระอนาคามีซึ่งที่จริงแล้ว การถือศีลอดใน "ศีลแปด" ของศาสนาพุทธนั้น ไม่ได้อดเฉพาะอาหารเท่านั้น
การถือศีลอดนี้มีความแตกต่างกันตามแต่ละนิกาย บางนิกายจะถือศีลอดโดยไม่รับประทานเนื้อ บางนิกายไม่รับประทานปลา บางนิกายไม่รับประทานไข่และนม
การถือศีลอด ตามบัญญัติของชนรุ่นก่อน อาทิเช่น การถือศีลอดของชาวยิว พวกเขาจะรับประทานอาหารในวันหนึ่งกับคืนหนึ่งเพียงครั้งเดียว ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงโดยการถือศีลอดตั้งแต่เที่ยงคืนจนถึงเที่ยงวัน”บางชนชาติถือศีลอดเพื่อรักษาโรคต่าง ๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง การอักเสบของผิวหนัง ท้องผูก อาหารไม่ย่อย ลดน้ำหนัก ขับสารพิษออกจากร่างกาย ผ่อนคลายความเครียด เป็นต้น
อ้างอิงจาก:
การถือศีลอดในอดีตโดย อ.สมศักดิ์ มูหะหมัด
บทความจาก : วารสารที่นี่สำนักจุฬาราชมนตรี ปีที่ 2 ฉบับที่ 16
www.piwdee.net
อดเพื่อล้างบาปขจัดเคราะห์กรรมของชาวฮินดู
www.astroneemo.net
ดาบแห่งอัลเลาะห์ แอนตี้ไซออนิสต์
สำนักข่าวมุสลิมไทยโพสต์