บัญญัติเกี่ยวกับการถือศีลอดของผู้ป่วย โดย : อุมมุรีม
เมื่อใดที่อนุญาตให้ผู้ป่วยละศีลอดได้?
อัลเลาะห์ ทรงผ่อนผันให้ผู้ป่วยละศีลอดในเดือนรอมฎอนได้ ชอบให้ผู้ป่วยละศีลอดหากผู้ป่วยประสบกับความยากลำบากในการถือศีลอดเกินกว่าจะอดทนได้ หรือป่วยหนักจนเกรงว่าหากถือศีลอดแล้วจะเป็นอันตรายอย่างร้ายแรง หรือถ้าถือศีลอดแล้วอาการจะยิ่งทรุดหนักยิ่งขึ้นหรือจะหายจากอาการป่วยช้าไปอีกเป็นต้น เพราะอัลเลาะห์ได้ทรงผ่อนผันให้ผู้ป่วยละศีลอดได้ การยึดถือปฏิบัติในสิ่งที่พระองค์ทรงผ่อนผันนับเป็นการดี เป็นการปฏิบัติตามคำสั่งใช้ของพระองค์ เมื่อหายป่วยแล้วก็ให้ถือศีลอดใช้ให้ครบตามจำนวนที่ขาดไป
ดังดำรัสของอัลเลาะห์ ที่ว่า :
“(คือถูกกำหนดให้ถือศีลอดในเดือนรอมฎอน) ในบรรดาวันที่ถูกนับไว้ แล้วผู้ใดในหมู่พวกเจ้าป่วย หรืออยู่ในการเดินทางก็ให้ถือใช้ในวันอื่น”
(อัลบะเกาะเราะห์ 2 : 184)
และหากการถือศีลอดจะก่อให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิต ก็จำเป็นแก่ผู้ป่วยที่จะต้องละศีลอด
อัลเลาะห์ ตรัสว่า :
"และจงอย่าฆ่าตัวของพวกเจ้าเอง แท้จริงอัลเลาะห์เป็นผู้ทรงเมตตาต่อพวกเจ้าเสมอ"
(อันนิซาอฺ 4 : 29)
สิ่งที่ทำให้เสียการถือศีลอด
ท่านอิบนิอับบาส กล่าวว่า :
“สิ่งที่จะทำให้เสียศีลอดคือ สิ่งที่เข้าสู่ภายใน หาใช่สิ่งที่ออกมา(จากร่างกาย)”
ดังนั้น การนำสิ่งใดเข้าสู่ภายในโดยเจตนา ไม่ว่าสิ่งนั้นจะบำรุงร่างกาย เช่น อาหาร เครื่องดื่ม หรือไม่บำรุง เช่นยา กล้องส่องภายใน หรือเครื่องมือทางการแพทย์ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ทำให้เสียศีลอดทั้งสิ้น
นักวิชาการมีความเห็นขัดแย้งกันในคำกำจัดความของคำว่า “ภายใน” หรือ الجوف บางท่านให้ความหมายว่า : หมายถึง ระบบทางเดินอาหารเท่านั้น ซึ่งเริ่มจากลำคอ สิ้นสุดที่ทวารหนัก ทางเดินปัสสาวะ และช่องคลอดไม่นับว่าเป็นภายใน แต่มีนักวิชาการบางท่านเห็นว่าสิ่งที่เข้าสู่ทางเดินปัสสาวะและช่องคลอดก็ทำให้เสียศีลอดเช่นกัน
ส่วนตา หู จมูกนั้น และโพรงปากนั้น บรรดาอุละมาอฺไม่นับว่าเป็น หากแต่เป็นทางนำไปสู่ระบบทางเดินอาหารเท่านั้น
จากที่กล่าวมาแล้วเบื้องต้นจึงพอสรุปได้ว่า สิ่งที่ทำให้เสียและไม่เสียศีลอด มีดังนี้ :
1. การสวนทวาร ยา และส่องกล้องที่สอดใส่ทางทวารหนัก เหล่านี้ทำให้เสียศีลอด เนื่องจากเข้าสู่ภายในร่างกาย ไม่ว่าจะสอดเข้าทางช่องปาก ช่องทวาร หรือทางอื่นๆ
2. แพทย์ผู้ทำการตรวจรักษาผู้ป่วยด้วยการใช้นิ้วสอดเข้าไปในทวาร หรือช่องคลอด หากสอดแค่ปากทวารไม่ทำให้เสียศีลอด แต่ถ้าลึกเขาไปภายใน ถือว่าทำให้เสียศีลอด
3. กล้องส่องทางเดินอาหาร กระเพาะ ลำไส้ ทำให้เสียศีลอด
4. กล้องส่องคอ หลอดลม และปอดไม่ทำให้เสียศีลอด เนื่องจากกล้องเหล่านี้สอดเข้าสู่หลอดลมโดยผ่านทางจมูก และโพรงจมูก โดยไม่เข้าสู่ภายในร่างกาย(ระบบทางเดินอาหาร)
5. การฉีดยา (ที่ไม่ใช่เป็นยาบำรุงร่างกาย เช่นยารักษาโรค ยาชา) เข้าทางกล้ามเนื้อ เส้นเลือด และใต้ผิวหนัง ไม่ทำให้เสียศีลอด
6. การเจาะเลือด ตรวจเลือด ถ่ายเลือด ผ่าฝี และหนอง ไม่ว่าจะมากหรือน้อยขนาดไหน ไม่ทำให้เสียศีลอด
7. การหยอดตา ผงทาตา ยาหยอดหู ไม่ทำให้เสียศีลอด
มีรายงานซึ่งบันทึกโดยอิมามอบูดาวูด ระบุว่า :
“ท่านอนัส บิน มาลิก ใช้ผงทาตาขณะถือศีลอด เพราะตัวยาเหล่านี้ไม่ได้เข้าสู่ร่างกาย แม้ว่าผู้ป่วยจะสัมผัสถึงความขมของยานี้ ก็เฉพาะที่ปลายลิ้น ซึ่งเป็นส่วนน้อยเกินกว่าจะกลืนได้”
ท่านอิบนิอับบาส กล่าวว่า :
“ไม่เป็นความผิดแต่ประการใด กับการชิมรสชาดของอาหาร หรือน้ำส้ม และกับการชิมรสชาติของสิ่งที่เขาต้องการจะซื้อ”
ฮะดีษนี้ชี้ให้เห็นว่า อนุมัติให้ชิมอาหารได้ หากไม่เข้าสู่ลำคอ ดังนั้นยาหยอดซึ่งมีความจำเป็นกว่า หากไม่เข้าสู่ลำคอก็ไม่ทำให้เสียศีลอดเช่นเดียวกัน
8. ยาพ่นหรือยาหยอดจมูก และเลือดกำเดาที่ไหลออกมาจากจมูกเหล่านี้ไม่ทำให้เสียศีลอด แต่ควรที่จะหลีกเลี่ยงการใช้ยาเหล่านี้ในเวลากลางวันขณะถือศีลอด หากผู้ป่วยสัมผัสได้ถึงรสชาติของยาหรือเลือดในปาก ให้รีบบ้วนออกโดยเร็ว จะไม่ทำให้เสียศีลอด แต่หาผู้ป่วยเจตนากลืนเข้าสู่ลำคอ การถือศีลอดของเขาถือว่าใช้ไม่ได้ จำเป็นต้องชดใช้ในวันอื่น
9. การหมดสติ หากผู้ป่วยหมดสติตลอดทั้งวัน (ตั้งแต่แสงอรุณปรากฏ จนดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า) การหมดสติในลักษณะนี้ทำให้เสียศีลอด จำเป็นต้องถือศีลอดชดใช้ หากผู้ป่วยรู้สึกตัว และมีสติแม้เพียงชั่วระยะเวลาสั้นๆในกลางวัน การถือศีลอดของเขายังถือว่าใช้ได้ ให้ถือศีลอดต่อ
10. เลือดที่ไหลซึมตามซอกฟัน และเหงือก การกลั้วปากด้วยยา การรักษาฟัน การแปรงฟัน ไม่ทำให้เสียศีลอด
มีรายงานจากท่าน อามิร อิบนิ รอบีอะห์ กล่าวว่า :
“ฉันเห็นท่านรอซูล หลายครั้งหลายคราจนนับไม่ถ้วน ใช้ไม่ข่อยสีฟันในขณะที่ท่านถือศีลอด”
(บันทึกโดยท่านอิมาม อัตติรมิซีย์)
แต่หากการมีเลือดหรือตัวยาเล็ดลอดลงสู่ลำคอ และผู้ป่วยรู้สึกถึงรสชาติของมันให้รีบบ้วนทิ้งไป หากเขาเจตนากลืนถือว่าการถือศีลอดเสีย จำเป็นต้องถือศีลอดชดใช้ แต่หากเลือดหรือตัวยา ลงสู่คอโดยไม่ทันระวังก็ไม่ทำให้เสียศีลอด
อนึ่ง การรักษาฟันขณะถือศีลอดในกลางวัน เป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ(มักรูฮฺ) ควรจะเลื่อนเวลารักษาไปหลังละศีลอดแล้ว นอกจากในกรณีจำเป็นจริงๆ เช่นปวดมากๆ จนทนไม่ไหวเป็นต้น
11. การอาเจียน ผู้ป่วยที่อาเจียนออกมาเอง ไม่ทำให้การถือศีลอดเสีย แต่หากผู้ป่วยเจตนาอาเจียนออกมา การถือศีลอดของเขาถือว่าใช้ไม่ได้
ท่านรอซูล กล่าวว่า :
“ผู้ใดอาเจียนออกมาเอง ไม่จำเป็นแก่เขาที่จะถือศีลอดใช้ และผู้ใดเจตนาอาเจียนออกมา เขาจะต้องถือศีลอดใช้”
(บันทึกโดยอัลฮากิม)
12. การสูดดมของหอม หรือยาดม หรืออื่นๆ ไม่ทำให้เสียศีลอด
ท่านอิมามอิบนุตัยมียะห์ รอฮิมะฮุลลอฮ์ กล่าวว่า : “ไม่เป็นไรกับการสูดดมของหอมสำหรับผู้ถือศีลอด”
ทั้งนี้เนื่องจากไม่มีตัวบทในศาสนาที่ชี้ให้เห็นว่า ห้ามกระทำดังกล่าว
การถือศีลอดใช้ของผู้ป่วย
ผู้ป่วยที่ขาดการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน จำเป็นจะต้องถือศีลอดใช้ ไม่จำเป็นที่จะต้องชดใช้ทันทีหลังจากการหายป่วยแล้ว หรือหลังจากเดือนรอมฎอนสิ้นสุดลง แม้นว่าจะชอบให้รีบชดใช้ก็ตาม เพราะหนี้ของอัลเลาะห์ ควรแก่การชดใช้เป็นสิ่งแรก อนุญาตให้ชดใช้ได้ในเวลาใดก็ได้ แต่จะต้องไม่ใช่วันอีดทั้งสอง ไม่ใช่วันตัชรีก( 11-12-13 เดือนซุลฮิจญะห์) และจะต้องไม่ล่าช้าออกไปจนไปชนกับเดือนรอมฎอนในปีถัดไป
มีรายงานว่าท่านหญิงอาอิชะห์ รอฎิยัลลอฮุอันฮา ว่า :
“นางเคยชดใช้การถือศีลอดที่นางค้างอยู่ของเดือนรอมฎอนในเดือนชะอฺบาน”
(บันทึกโดยอิมามมุสลิม)
การถือศีลอดใช้นั้น จะถือต่อเนื่องเลย หรือจะเว้นระยะข้ามวันก็ได้ ท่านนบี กล่าวว่า :
“ถ้าเขาประสงค์จะถือศีลอดเว้นระยะหรือต่อเนื่องก็ได้”
(บันทึกโดยอัดดารุลกุฏนีย์)
ผู้ที่หายจากการป่วย และล่าช้าในการชดใช้ จนกระทั่งรอมฎอนในปีถัดไปมาถึง นักวิชาการมีความเห็นแตกต่างกันดังนี้ ;
ทัศนะที่หนึ่ง : เห็นว่าจำเป็นที่เขาจะต้องถือศีลอดใช้แม้จะล่าช้าโดนไม่ต้องเสียฟิดยะห์แต่ประการใด
หลักฐานของทัศนะนี้ก็คือ ดำรัสของอัลเลาะห์ ในซูเราะห์ อัลบะเกาะเราะห์ อายะห์ที่ 184 ที่ว่า :
ก็ให้ถือใช้ในวันอื่น
ในดำรัสนี้อัลเลาะห์ มิได้จำกัดหรือเจาะจง ดังนั้นจึงครอบคลุมหมด
ทัศนะที่สอง : เห็นว่า จำเป็นจะต้องถือศีลอดใช้โดยไม่ต้องเสียฟิตยะห์ หากมีเหตุขัดข้อง แต่ถ้าหากค้างถือศีลอดโดยไม่มีเหตุขัดข้อง แต่เป็นเพราะการปล่อยปะละเลย ก็จำเป็นจะต้องถือศีลอดใช้ พร้อมกับการเสียฟิตยะห์ มีรายงานจากท่านอิบนุอับบ๊าส กล่าวว่า :
“ผู้ใดเพิกเฉยการละเลยในการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน จนกระทั่งเข้าสู่รอมฎอนในปีถัดไป ก็จำเป็นที่เขาจะต้องถือศีลอดเดือนรอมฎอนปีนั้นเสียก่อน แล้วจึงถือศีลอดใช้ในสิ่งที่ค้างไว้ และจะต้องให้อาหารแก่คนยากจนขัดสนหนึ่งคนต่อหนึ่งวัน(ฟิดยะห์)”
(บันทึกโดยอัดดารุลกุฏนีย์)
ที่มา: http://www.islammore.com/view/1401