ซูเราะห์อัลหุญุร็อต ถึงแม้ว่าซูเราะห์นี้มีจำนวนอายะฮฺน้อย แต่มีความสำคัญทางด้านจริยธรรมเป็นอย่างมาก เพราะเต็มไปด้วยข้อเท็จจริงในการอบรมที่เป็นอมตะไว้อย่างมากมาย
10 มารยาทที่ถูกกล่าวไว้ในซูเราะห์อัลหุญุร็อต
ซูเราะห์อัลหุญุร็อต เป็นซูเราะฮฺลำดับที่ 49 เป็นซูเราะฮฺมะดะนียะห์ มีทั้งหมด 18 อายะฮฺ
ถึงแม้ว่าซูเราะห์นี้มีจำนวนอายะฮฺน้อย แต่มีความสำคัญทางด้านจริยธรรมเป็นอย่างมาก เพราะเต็มไปด้วยข้อเท็จจริงในการอบรมที่เป็นอมตะไว้อย่างมากมาย
เป็นการปูพื้นฐานให้มั่นคงแก่สังคมที่มีเกียรติ เป็นซูเราะฮฺที่ทรงคุณค่าด้านศีลธรรม จนกระทั่งนักตัฟซีร(นักอรรถาธิบายกุรอาน) ได้ขนานนามให้ซูเราะห์นี้ว่า “ซูเราะฮฺอัลอัคล๊าก” หรือ “ซูเราะห์จริยธรรม"
มารยาทที่ถูกกล่าวไว้ในซูเราะห์อัลหุญุร็อต สรุปมาเป็นข้อๆ ได้ 10 มารยาท ดังต่อไปนี้
1. ไม่ล้ำหน้าอัลลอฮฺและรอซูล
เพราะนี่เป็นสิ่งสำคัญสิ่งแรกและเป็นพื้นฐานที่ความศรัทธาต่ออิสลามเรียกร้องต้องการ ถ้าหากคนหนึ่งที่ถือว่าอัลลอฮ(ซบ.) เป็นพระเจ้าและนบีมูฮัมหมัด(ซล.) เป็นรอซูล เขาจะไม่เอาความคิดเห็นหรือทัศนะของตนเองไปเหนือการตัดสินใจของอัลลอฮฺ(ซบ.) และรอซูล(ซล.)
อัลลอฮได้ตรัสไว้ในต้นซูเราะฮฺนี้ว่า:
“ โอ้ศรัทธาชนทั้งหลาย ! พวกเจ้าอย่าได้ล้ำหน้า (ในการกระทำใด ๆ) เมื่ออยู่ต่อหน้าอัลลอฮฺ และร่อซูลของพระองค์ พวกเจ้าจงยำเกรงอัลลอฮฺเถิด แท้จริงอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงได้ยิน ผู้ทรงรอบรู้ ” (อัลหุญุร็อต 49:1)
และในซูเราะห์อัลอะหซาบ โองการที่ 36 ว่า :
“ ไม่บังควรแก่ผู้ศรัทธาชายและผู้ศรัทธาหญิง เมื่ออัลลอฮฺและรอซูลของพระองค์ได้กำหนดกิจการใดแล้ว สำหรับพวกเขาไม่มีทางเลือกในเรื่องของพวกเขา และผู้ใดไม่เชื่อฟังอัลลอฮฺและรอซูลของพระองค์แล้ว แน่นอนเขาได้หลงผิดอย่างชัดแจ้ง” (อัลอะหซาบ 33:36)
(สรุปจาก: ตัฟฮีมุลกุรอานโดยซัยยิดอบุล อะลา อัลเมาดูดี เล่มที่7 หน้า 2625)
2. ไม่ยกเสียงเหนือท่านนบี
เป็นมารยาทที่ได้สอนผู้คน เมื่อเขาอยู่ต่อหน้าท่านนบี(ซล.) บรรดาผู้ศรัทธาจะต้องปฏิบัติกับท่านด้วยความเคารพนับถืออย่างสูงสุด พวกเขาจะต้องไม่พูดเสียงดังไปกว่าเสียงของท่าน พวกเขาจะต้องคำนึงถึงความจริงเสมอว่าเขากำลังพูดกับรอซูล(ซล.) ไม่ใช่พูดกับคนธรรมดาทั่วไปหรือคนที่มีฐานะเหมือนกับเขา
ถึงแม้ว่ามารยาทนี้จะถูกสอนสำหรับการนั่งอยู่กับรอซูล(ซล.) แต่คนในยุคหลังก็ควรปฏิบัติกันด้วยความเคารพ เมื่อมีการเอ่ยนามของท่านรอซูล(ซล.) ขึ้นมา หรือมีการกล่าวถึงคำบัญชาของท่าน หรือมีการอธิบายถึงคำพูดของท่าน
อัลลอฮ(ซบ.) ทรงตรัสไว้ว่า:
“โอ้ศรัทธาชนทั้งหลาย! พวกเจ้าอย่าได้ยกเสียงของพวกเจ้าเหนือเสียงของอัลนะบี และอย่าพูดเสียงดังกับเขา (มุฮัมมัด) เยี่ยงการพูดเสียงดังของบางคนของพวกเจ้ากับอีกบางคน เพราะ (เกรงว่า) การงานต่าง ๆ ของพวกเจ้าจะสูญเสียไป โดยที่พวกเจ้าไม่รู้สึกตัว”
“แท้จริงบรรดาผู้ที่ลดเสียงของพวกเขา ณ ที่ร่อซูลุลลอฮฺนั้น ชนเหล่านั้น คือบรรดาผู้ที่อัลลอฮฺทรงทดสอบจิตใจของพวกเขาเพื่อความยำเกรง สำหรับพวกเขาจะได้รับการอภัยโทษและรางวัลอันใหญ่หลวง” (อัลหุญุร็อต 49:2-3)
(สรุปจาก: ตัฟฮีมุลกุรอานโดยซัยยิดอบุล อะลา อัลเมาดูดี เล่มที่7 หน้า 2626)
3. ตรวจสอบข่าวลือ
ข้อนี้สำคัญมากสำหรับสังคมยุคปัจจุบัน ที่มีข้อมูลข่าวสารรวดเร็ว แต่ปะปนด้วยข้อมูลเท็จ
ถ้าเราเป็นผู้เสพโดยไม่ได้ไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วน แน่นอนจะเกิดปัญหาวุ่นวายตามมา
อัลลอฮ(ซบ.)ได้ตรัสไว้ว่า:
“โอ้ศรัทธาชนทั้งหลาย ! หากคนชั่วนำข่าวใดๆ มาแจ้งแก่พวกเจ้า พวกเจ้าก็จงสอบสวนให้แน่ชัดหาไม่แล้วพวกเจ้าก็จะก่อเคราะห์กรรมแก่พวกหนึ่งโดยไม่รู้ตัว แล้วพวกเจ้าจะกลายเป็นผู้เสียใจในสิ่งที่พวกเจ้าได้กระทำไป” (อัลหุญุร็อต 49:6)
4. ไกล่เกลี่ยเมื่อมีการทะเลาะวิวาท
อัลลอฮ (ซบ.) ได้ตรัสว่า :
“และหากมีสองฝ่ายจากบรรดาผู้ศรัทธาทะเลาะวิวาทกัน พวกเจ้าก็จงไกล่เกลี่ยระหว่างทั้งสองฝ่าย หากฝ่ายหนึ่งในสองฝ่ายนั้นละเมิดอีกฝ่ายหนึ่ง พวกเจ้าก็จงปรามฝ่ายที่ละเมิดจนกว่าฝ่ายนั้นจะกลับสู่พระบัญชาของอัลลอฮฺ ฉะนั้นหากฝ่ายนั้นกลับ (สู่พระบัญชาของอัลลอฮฺ) แล้ว พวกเจ้าก็จงประนีประนอมระหว่างทั้งสองฝ่ายด้วยความยุติธรรม และพวกเจ้าจงให้ความเที่ยงธรรม(แก่ทั้งสองฝ่าย) เถิด
แท้จริงอัลลอฮฺทรงรักใคร่บรรดาผู้ให้ความเที่ยงธรรม” (อัลหุญูร็ฮต 49:9)
5. ผู้ศรัทธาเป็นพี่น้องกัน
“แท้จริงบรรดาผู้ศรัทธานั้นเป็นพี่น้องกัน ดังนั้นพวกเจ้าจงไกล่เกลี่ยประนีประนอมกันระหว่างพี่น้องทั้งสองฝ่ายของพวกเจ้า และจงยำเกรงอัลลอฮฺเถิด หวังว่าพวกเจ้าจะได้รับความเมตตา”
(อัลหุญูร็อต 49:10)
อายะฮฺนี้ได้ สร้างความเป็นพี่น้องสากลของมุสลิมขึ้นทั่วโลก และหะดีษต่อไปนี้ จะทำให้เราเข้าใจความสำคัญและเจตนารมณ์ของคำบัญชานี้ได้ดี
ญะรีรฺ บิน อับดุลลอฮฺกล่าวว่า : “ท่านรอซูล(ซล.) ได้ให้ฉันสัญญาไว้สามประการด้วยกัน นั่นคือ ฉันจะดำรงละหมาด ฉันจะจ่ายซะกาตต่อไป และฉันจะยังคงปรารถณาดีของมุสลิมทุกคน”
(บันทึกโดยบุคอรี)
อบูฮูร็อยเราะฮฺเล่าว่าท่านรอซูล(ซล.) กล่าวว่า : “ชีวิต ทรัพย์สินและเกียรติยศของมุสลิมทุกคนเป็นที่ต้องห้ามสำหรับมุสลิมคนอื่นทุกคน”
(บันทึกโดยมุสลิม,ติรมีซี)
อบูสะอิ๊ด อัล-คุดรีและอบูฮูร็อยเราะฮฺเล่าว่า : ท่านรอซูล(ซล.) กล่าวว่า :
“มุสลิมเป็นพี่น้องกับมุสลิมด้วยกัน เขาไม่ปฏิบัติกับมุสลิมคนอื่นอย่างไม่เป็นธรรม เขาไม่ทิ้งพี่น้องของเขาไว้ตามลำพังและเขาไม่หมิ่นเกียรติพี่น้องของเขา ไม่มีอะไรชั่วร้ายไปกว่าคนที่ดูถูกมุสลิม”
(บันทึกโดยอะหมัด)
ท่านรอซูล(ซล.) ได้กล่าวว่า: “ตัวอย่างของบรรดาผู้ศรัทธาในเรื่องความรัก ความสัมพันธ์และความเมตตาสงสารซึ่งกันและกันนั้นคือตัวอย่างของสภาพร่างกายที่เมื่อส่วนหนึ่งส่วนใดได้รับความเจ็บปวด ทั่วทั้งร่างกายก็จะได้รับความเจ็บปวดไปด้วย”
(บันทึกโดยบุคอรี,มุสลิม)
(สรุปจาก: ตัฟฮีมุลกุรอานโดยซัยยิดอบุล อะลา อัลเมาดูดี เล่มที่7 หน้า 2637-2638)
6. ไม่พูดจาเยาะเย้ย
อัลลอฮ(ซบ.) ได้ตรัสว่า :
“โอ้ศรัทธาชนทั้งหลาย! ชนกลุ่มหนึ่งอย่าได้เยาะเย้ ยชนอีกกลุ่มหนึ่ง บางทีชนกลุ่มที่ถูกเยาะเย้ย นั้นจะดีกว่าชนกลุ่มที่เยาะ เย้ย และสตรีกลุ่มหนึ่งอย่าได้เย าะเย้ยสตรีอีกกลุ่มหนึ่ง บางทีกลุ่มสตรีที่ถูกเยาะเย ้ยจะดีกว่ากลุ่มที่เยาะเย้ย ...”
(อัลหุญุร็อต 49:11)
การเยาะเย้ยไม่ได้หมายถึงกา รเยาะเย้ยด้วยลิ้นเท่านั้น แต่มันยังรวมถึงการล้อเลียน คนอื่น การหัวเราะเยาะคำพูด การทำงาน การแต่งกาย บุคลิกลักษณะของคนอื่น ตลอดจนการพูดถึงเจตนาของคนอื่นในทางเสียหายเพื่อให้คนอ ื่นหัวเราะเยาะคนผู้นั้น
7. ไม่เรียกด้วยฉายาที่มิชอบ
อัลลอฮ(ซบ.) ไดตรัสไว้ว่า:
“...อย่าได้เรียกกันด้วยฉายาที่ไม่ชอบ ช่างเลวทรามจริง ๆ ที่บรรดาผู้ศรัทธาจะเรียกกันว่าเป็นผู้ฝ่าฝืน ภายหลังจากที่ได้มีการศรัทธากันแล้ว และผู้ใดไม่สำนึกผิด ชนเหล่านั้นคือบรรดาผู้อธรรม”(อัลหุญุร็อต 49:11)
ถ้าหากการเรียกฉายานั้นได้รับการยอมรับจากผู้ที่ถูกเรียกแล้ว ก็ไม่เป็นข้อห้ามตามอายะฮฺข้างต้น เพราะท่านรอซูล(ซล.) เคยเรียกซอฮาบะห์บางท่านด้วยฉายา เช่น อบูฮุร็อยเราะฮฺ(แปลว่า พ่อของลูกแมว)
8. ห่างไกลจากการสงสัยที่ไม่มีประโยชน์
อัลลอฮ(ซบ.) ได้ตรัสไว้ว่า :
“โอ้ศรัทธาชนทั้งหลาย! พวกเจ้าจงปลีกตัวให้พ้นจากส่วนใหญ่ของการสงสัย แท้จริงการสงสัยบางอย่างนั้นเป็นบาป...”
(อัลหุญุร็อต 49:12)
จากอายะห์ข้างต้นได้บอกว่า ไม่ใช่การสงสัยทุกอย่างที่จะเป็นบาปแต่มันเป็นสิ่งที่ควรระวัง
มนุษย์ที่อัลลอฮ(ซบ.) ทรงสร้าง การกระทำและคำพูดของเขามีทั้งดีและไม่ดี การระแวงสงสัยที่เป็นบาปนั้น คือ การสงสัยว่าการกระทำของใครคนหนึ่งนั้นเป็นความชั่วโดยไม่มีเหตุผล ตัวอย่างเช่น..
ชายคนหนึ่งได้ลุกออกจากที่ประชุม แล้วได้สวมรองเท้าอื่นใส่ และเราคิดว่าชายผู้นั้นได้ขโมยรองเท้าในขณะที่เป็นไปได้ว่าเขาอาจสายตาไม่ดี ซึ่งไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องสงสัยเขา
แต่การระแวงบุคคลหนึ่งที่พฤติกรรมของเขาเป็นที่ชัดเจนประพฤติไม่ดี เช่น เป็นคนชอบลักขโมย อย่างนี้ไม่เป็นบาปที่เราจะสงสัยเขา เพื่อเป็นการระวังหรือป้องกันไม่ให้ความเสียหายเกิดขึ้น
แต่อย่างไรก็ตามเราไม่สามารถตัดสินเขาเพียงแค่การคาดเดาของเราเพียงเท่านั้น
(สรุปจาก: ตัฟฮีมุลกุรอานโดยซัยยิดอบุล อะลา อัลเมาดูดี เล่มที่7 หน้า 2640-2641)
9. ไม่สอดแนม
อัลลอฮ(ซบ.) ได้ตรัสไว้ว่า :
“...และพวกเจ้าอย่าสอดแนม...”
(อัลหุญุร็อต 49:12)
ท่านนบี(ซล.) ได้กล่าวไว้ว่า:
“โอ้พวกท่านที่ยอมรับความศรัทธาโดยวาจา แต่ความศรัทธายังไม่ได้เข้าไปถึงหัวใจ จงอย่าเข้าไปสอดรู้สอดเห็นเรื่องของมุสลิม เพราะใครที่เขาไปสอดรู้สอดเห็นเรื่องของมุสลิม อัลลอฮฺจะเข้าไปล้วงความลับของเขา และใครก็ตามที่อัลลอฮฺติดตามเขาทุกเรื่อง พระองค์ก็จะทำให้เขาได้รับความเสื่อมเสียในบ้านของเขาเอง”
(บันทึกโดยอบูดาวูด)
จากตัวบททั้งสองก็เป็นที่เพียงพอแล้วที่เราจะออกห่างจากการสอดแนม ไม่ว่าจะเป็น การแอบอ่านจดหมาย แอบอ่านแชท แอบฟังการสนทนาอย่างลับๆ แอบเข้าไปในบ้านเพือนบ้านเพราะความอยากรู้อยากเห็น ดังนั้นเราควรระวังให้ดี
10. ไม่นินทา
อะไรคือการนินทา? ท่านนบี(ซล.) ได้ให้คำจำกัดความว่า :
“มันเป็นการพูดถึงพี่น้องของท่านในทางที่สร้างความไม่สบายใจให้แก่เขา” มีคนถามว่า “ถ้าหากพี่น้องของฉันมีข้อบกพร่องอยู่ละ?”
ท่านนบีได้ตอบว่า “ถ้าหากมันมีอยู่ที่เขา มันก็เป็นการนินทา ถ้าหากว่าไม่มี มันเป็นการกล่าวร้าย”
(บันทึกโดยมุสลิม,อบูดาวูด,ติรมีซี)
ถ้าถามว่า การกินเนื้อมนุษย์ การกินเนื้อที่เน่าตาย มันเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจหรือไม่ ? แน่นอน ทุกคนคงตอบว่า “ใช่”
อัลลอฮ(ซบ.)ได้ทรงเปรียบเทียบการนินทา เสมือนการกินเนื้อพี่น้องที่ตายไป ดังซูเราะห์อัลหุญุร็อตที่ว่า:
“...และบางคนในหมู่พวกเจ้าอย่านินทาซึ่งกันและกัน คนหนึ่งในหมู่พวกเจ้านั้นชอบที่จะกินเนื้อพี่น้องของเขาที่ตายไปแล้วกระนั้นหรือ? พวกเจ้าย่อมเกลียดมัน และจงยำเกรงอัลลอฮฺเถิด แท้จริงอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงอภัยโทษ ผู้ทรงเมตตาเสมอ” (อัลหุญูร็อต 49:12)
อดทนไว้เถอะพี่น้อง อย่าให้ความมันปากมาเหนือการรักษาเกียรติพี่น้องของเรา
แต่จะมีการพูดในแง่ร้ายต่อผู้อื่นที่อนุญาตในศาสนา เช่น การพูดถึงเขาเพื่อหาวิธีการเปลี่ยนแปลง,พูดต่อหน้าศาล เพื่อเป็นการพิจารณาตัดสินคดี , พูดหรือถามลักษณะของผู้ที่จะแต่งงานกับเรา เป็นต้น
เครดิตจาก: ชมรมเยาวชนมุสลิมสู่อนาคต Ymsf
www.muslimthaipost.com