การขอดุอาอ์หลังจากที่อ่าน ซุบฮารอบบียัลอะลา 3 ครั้งในขณะซูญุดละหมาด ซึ่งได้ทราบมาว่าสามารถขอได้แต่ให้ขอโดยนึกในใจ แต่อยากสอบถามว่าถ้าเราจะกล่าวออกมาเป็นคำพูดเลยจะได้หรือไม่ครับ
การขอดุอาอ์หลังจากที่อ่าน ซุบฮารอบบียัลอะลา 3 ครั้งในขณะซูญุดละหมาด ซึ่งได้ทราบมาว่าสามารถขอได้แต่ให้ขอโดยนึกในใจ แต่อยากสอบถามว่าถ้าเราจะกล่าวออกมาเป็นคำพูดเลยจะได้หรือไม่ครับ
ท่านร่อซู้ล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้ใช้ให้เพียรทุ่มเทในการขอดุอาอฺในขณะสุหยูด โดยท่านกล่าวว่า : แท้จริงการสุหยูดนั้นสมควรยิ่งในการที่จะถูกตอบรับสำหรับพวกท่าน” นัยของหะดีษนี้หมายความว่า ท่านร่อซู้ล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ใช้ให้ขอดุอาอฺมาก ๆ ในการสุหยูด หรือสั่งใช้ว่าผู้ขอนั้นเมื่อทำการขอดุอาอฺในสถานที่หรือตำแหน่งหนึ่งตำแหน่งใด ก็จงขอในการสุหยูด? มีข้อจำแนกระหว่างคำสั่งทั้งสองนี้ การบ่งชี้ที่หะดีษนี้นำพาก็คือ การดุอาอฺนั้นมี 2 ชนิด คือ
การดุอาอฺในเชิงสรรเสริญ (دُعَاءُ ثَنَاءٍ) และการขอดุอาอฺในเชิงวิงวอนขอ (دُعَاءُمَسْأَلَةٍ) และท่านร่อซู้ล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) จะขอดุอาอฺอย่างมากในการสุหยูดของท่านจากทั้งสองชนิดนั้น และดุอาอฺซึ่งท่านได้ใช้ให้ขอในการสุหยูดก็รวมทั้ง 2 ชนิดเอาไว้ (ซาดุลมาอ๊าดฯ อิบนุอัลก็อยยิม, เล่มที่ 1 หน้า 98)
และมีรายงานในซอฮีฮฺมุสลิม จากท่านอบูฮุรอยเราะฮฺ (ร.ฎ.) ว่า : ท่านร่อซู้ล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้กล่าวว่า : ที่บ่าวจะใกล้ชิดกับพระผู้อภิบาลของเขามากที่สุด คือ ในขณะที่เขาก้มสุหยูด ดังนั้นพวกท่านจงขอดุอาอฺมาก ๆ” ส่วนหนึ่งจากบทขอพรและการรำลึกของท่านร่อซู้ล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ในการสุหยูดนั้นได้แก่
1. سُبحَانَكَ اللّهُمَّ رَبَّنَاوبِحَمْدِكَ اللّهُمَّ اغْفِرْلِيْ
2. أَللّهُمَّ أَعُوْذُبِرضَاكَ مِنْ سَخَطِكَ ، وَبِمُعَافَاتِكَ مِنْ عُقُوْبَتِكَ ، وَأَعُوْذُبِكَ مِنْكَ ، لاَأُحْصِى ْثَنَاءًعليك أنتَ كماأَثْنَيْتَ عَلى نَفْسِكَ
บทขอพรข้อที่ 1 นั้นท่านร่อซู้ล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) จะอ่านทั้งในขณะรุ่กัวอฺและสุหยูด หากขอได้ในทุกการรุ่กัวอฺและการสุหยูดก็ถือว่าเป็นการดี แต่ในกรณีที่เราเป็นอิหม่ามก็ต้องพิจารณาความเหมาะสมและสภาพของมะอฺมูมด้วย
ส่วนการขอดุอาอฺด้วยภาษาอื่นนอกจากภาษาอาหรับนั้น นักวิชาการสังกัดมัซฮับอัชชาฟิอีย์มีความเห็นเป็น 3 ประเด็น คือ
(1) ถูกต้องที่สุด (أَصَحُّ الأَوْجُهِْ) อนุญาตให้ใช้คำแปลเป็นภาษาอื่นได้สำหรับผู้ที่ไม่สามารถใช้ภาษาอาหรับ ส่วนผู้ที่ใช้ภาษาอาหรับได้นั้นไม่อนุญาต ถ้าหากแปลเป็นภาษาอื่นถือว่าละหมาดของเขาเป็นโมฆะ
(2) อนุญาตให้ใช้คำแปลได้ทั้งผู้ที่ใช้ภาษาอาหรับได้เป็นอย่างดีหรือไม่ก็ตาม
(3) ไม่อนุญาตสำหรับผู้หนึ่งผู้ใดจากทั้งสองนั้น เนื่องจากไม่มีความจำเป็นสำหรับสิ่งนั้น และไม่อนุญาตให้แต่งสำนวนของพรอื่นจากที่มีรายงานมาจากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) และใช้สำนวนนั้นเป็นภาษาอื่นโดยไม่มีข้อขัดแย้ง และการละหมาดนั้นจะใช้ไม่ได้ด้วยการใช้สำนวนขอพรที่แต่งขึ้นด้วยภาษาอื่น ซึ่งแตกต่างจากกรณีถ้าหากแต่งเป็นภาษาอาหรับ กรณีนี้อนุญาตสำหรับนักวิชาการสังกัดมัซฮับอัชชาฟิอีย์โดยไม่มีข้อขัดแย้ง
(อัลมัจญ์มูอฺ ชัรฮุ้ลมุฮัซซับ ; อิหม่ามอันนะวาวีย์ เล่มที่ 3 หน้า 259)
สรุปก็คือ ให้คุณท่องจำบทขอพรของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ซึ่งเป็นภาษาอาหรับดังตัวอย่างที่ยกมาถือเป็นการดีที่สุด เพราะไม่มีข้อขัดแย้งของนักวิชาการ แต่ถ้าคุณจะขอเป็นกรณีพิเศษในขณะสุหยูดซึ่งเป็นเรื่องอื่น ๆ ก็ให้ขอในใจโดยไม่ต้องเปล่งวาจาออกมาก็ได้ (ขอเป็นภาษาไทยแต่ขอในใจ) อย่างนี้ก็ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด และพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงรับรู้ถึงสิ่งที่คุณขอในใจนั้นอย่างแน่นอน
والله أعلم بالصواب
alisuasaming.org