30 ก้าวจากชะอฺบานสู่รอมฎอน : islamhouses


4,487 ผู้ชม

ตอนนี้เราก็อยู่ในเดือนชะอ์บาน ที่กำลังมุ่งสู่เดือนรอมฎอนอันประเสริฐ ยิ่งเราเตรียมความพร้อมมากเท่าใด การลงสนามจริงในเดือนรอมฎอน ก็จะยิ่งสมบูรณ์มากขึ้นเท่านั้น....


30 ก้าวจากชะอฺบานสู่รอมฎอน

ตอนนี้เราก็อยู่ในเดือนชะอ์บาน ที่กำลังมุ่งสู่เดือนรอมฎอนอันประเสริฐ ยิ่งเราเตรียมความพร้อมมากเท่าใด การลงสนามจริงในเดือนรอมฎอน ก็จะยิ่งสมบูรณ์มากขึ้นเท่านั้น เพราะการประกอบความดีงามในเดือนรอมฎอนนั้น ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่เป็นฟัรดูหรือที่เป็นสุนัต ก็จะได้รับผลบุญที่เท่าทวีคูณ เรามาดู 30 ประการ ในการเตรียมความพร้อมสู่เดือนรอมฎอน มีดังต่อไปนี้

ท่านรอซูล (ซ.ล.) กล่าวว่า : 

“เดือนนั้นเป็นเดือนที่ผู้คนพากันหลงลืม เดือนที่อยู่ระหว่างร่อญับ กับ รอมฎอน  (เดือนชะอฺบาน) เป็นเดือนที่การงานจะถูกยกขึ้นสู่พระผู้เป็นเจ้าแห่งโลกทั้งผอง ดังนั้น ฉันจึงชอบให้การงานของฉันถูกยกขึ้นไปโดยที่ฉันกำลังถือศีลอดอยู่” 

(หะดีษบันทึกโดยอิมาม อันนะซาอียฺ และเชคอัลอัลบานีย์ระบุว่าเป็นหะดีษหะซัน)

ชะอฺบาน คือ  ประตูสู่เดือนเราะมะฎอนเป็นเดือนที่ใกล้เคียงกับเราะมะฎอนมากที่สุด จึงเป็นโอกาสเดียวจะเตรียมตัวเข้าสู่เดือนเราะมะฎอนในทุกๆ ด้าน

1. สำรวจเจตนารมณ์ตนเอง ก่อนเริ่มต้นงานใดๆ

เพราะทุกการงานนั้นล้วนขึ้นอยู่กับเจตนา หากเราทำดี แต่มีเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์ ก็อาจจะทำให้ผลบุญเราลดน้อยลงได้

2. ปฏิบัติฟัรฎูเป็นนิจ และสำนึกผิดกลับเนื้อกลับตัวต่ออัลลอฮฺ อย่างจริงจัง

ฟัรดู คือสิ่งจำเป็นที่เราต้องปฏิบัติให้ครบถ้วนสมบูรณ์อย่างเคร่งครัด เช่น การละหมาด การถือศีลอด เป็นต้น และเป็นโอกาสดีเราที่จะสำนึกผิด กลับเนื้อกลับตัว ขออภัยโทษต่ออัลลอฮฺอย่างจริงจัง

3. ฝึกหัวใจให้เคยชินอยู่กับการยำเกรงอัลลอฮฺตั้งแต่บัดนี้

ความยำเกรง การยึดมั่นในการเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺ และหวังในผลบุญแห่งการตอบแทนโดยเกรงกลัวต่อบทลงโทษของอัลลอฮฺ จะยับยั้งการกระทำสิ่งไม่ดี และมุ่งสู่การทำความดีอย่างเต็มที่ในเดือนรอมฎอน

4. รีบเร่งเชื่อมสัมพันธ์กับเครือญาติ

อิสลามส่งเสริมให้เชื่อมสัมพันธ์เครือญาติ สร้างความสนิทสนมต่อกัน และห้ามการตัดขาดจากกัน ท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) เองก็ได้กำชับใช้และส่งเสริมในเรื่องนี้ และบอกว่ามันคือสาเหตุที่ทำให้อายุยืนและมีริสกีกว้างขวาง

5.รักษาหัวใจให้บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว อย่าให้มัวหมองด้วยความผิด อคติต่างๆ

หัวใจเป็นปัจจัยที่สำคัญในการทำความดี ต้องรักษาหัวใจให้บริสุทธิ์ ไม่คิดร้าย อคติต่อสิ่งต่างๆ

6.ใช้งานอินเตอร์เน็ตให้น้อยลงกว่าเดิม

อินเตอร์เน็ตมีเนื้อหาที่หลากหลาย ควรลดช่วงเวลาที่ใช้อินเตอร์เน็ตในสิ่งที่ไร้สาระ เพื่อให้เราได้มุ่งมั่นกับการทำอิบาดะห์ได้อย่างเต็มที่ในเดือนรอมฎอน

7. รีบใช้บวชที่เหลือค้างอยู่

เดือนชะอฺบานคือเดือนสุดท้ายที่สามารถถือศีลอดชดเชยได้ หากพ้นเวลาดังกล่าวโดยไม่มีเหตุจำเป็น อาทิ ป่วยหรืออื่นๆจะต้องถูกปรับและต้องได้รับบาป และหากไม่ชดเชยจนถึงเดือนเราะมะฎอนปีหน้า เขาจะต้องขออภัย (เตาบัต) ต่ออัลลอฮฺ และถือศีลอดชดเชยพร้อมกับต้องให้อาหารแก่ผู้ยากไร้ (ฟากิรฺมิสกีน) ทุกวันตามที่จำนวนวันที่เขาได้ละทิ้ง (ตามทัศนะของอิมามชาฟิอีย์ อิมามมาลิก และอิมามอะหฺมัด)

8. กำหนดปริมาณการอ่านอัลกุรอ่านในแต่ละวันให้ตายตัว

อัลกุรอานถูกประทานลงมาให้เดือนรอมฎอน จึงส่งเสริมให้มุสลิมอ่านกุรอานให้มากที่สุด โดยหากสามารถกำหนดปริมาณการอ่านอัลกุรอานให้ตายตัว ก็จะเป็นวางแผนในการทำอิบาดะห์และแสวงหาผลบุญได้อย่างเต็มที่

9. ฝึกละหมาดกิยามุ้ลลัยล์ให้เคยชิน 

กียามุลลัยลฺ คือการละหมาดสุนัตอย่างหนึ่งซึ่งอยู่ช่วงเวลาระหว่างเสร็จสิ้นการละหมาดอีชาอฺจนกระทั้งถึงละหมาดซุบฮฺ ส่วนละหมาดตะฮัจญุด คือการละหมาดสุนัตหลังจากที่นอนแล้วซึ่งก็ถือเป็นการละหมาดกียามุลลัยลฺด้วย

10. ฝึกขอดุอานานๆ และท่องจำดุอาที่มาจากท่านร่อซู้ล (ซ.ล.)

เพราะเมื่อถึงเดือนรอมฎอน จะเป็นเดือนที่การดุอาอ์จะได้รับการตอบรับ 

ท่านร่อซูล (ซ.ล.) กล่าวว่า  “แท้จริง สำหรับผู้ถือศีลอดนั้น ขณะที่เขาละศีลอดนั้น ดุอาอฺ ของเขาจะไม่ถูกตีกลับ...” 

(รายงานโดย อิบนุ มาญะฮฺ ในสุนันของท่าน เลขที่ 1753 และสายสืบของท่านนั้นซอฮี๊ฮฺ)

30 ก้าวจากชะอฺบานสู่รอมฎอน

11. ฝึกอยู่ประจำในมัสยิดหลังละหมาดให้นานขึ้น

เพื่อที่จะทำอิบาดะห์ต่างๆ โดยไม่รีบเร่งไม่ว่าจะเป็นการขอดุอาอ์ อ่านอัลกุรอาน การละหมาดสุนัต เป็นต้น

12. ฝึกถือศีลอด

อาจเริ่มต้นการถือศีลอดสุนัตในเดือนชะอ์บานเพื่อเตรียมความพร้อมในการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน

13. เลี้ยงอาหารคนยากจนและเลี้ยงละศีลอด
เตรียมตัวหาข้อมูลต่างๆ ที่รับบริจาคเลี้ยงละศีลอด และเลี้ยงอาหารคนยากจน ด้วยความประเสริฐของผู้ที่ใ ห้ละศีลอดแก่ผู้ถือศีลอด เขาจะได้รับผลบุญอย่างเต็มเปี่ยม เหมือนคนที่ถือศีลอด โดยไม่ได้ลดแม้แต่น้อย

14. บริจาคทานรายวันในเดือนชะอฺบาน เพื่อจะได้เคยชินที่จะบริจาคทานรายวันในเดือนรอมฎอน

เดือนรอมฎอนเป็นเดือนที่ส่งเสริมให้มีการบริจาคทาน และในเดือนรอมฎอนอัลลอฮจะทรงเพิ่มพูนริสกีแก่ผู้ศรัทธา เพื่อที่เขาจะสามารถมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่พี่น้องของเขาได้

15. หากตั้งใจจะทำอุมเราะห์ในเดือนรอมฎอน ควรฝึกเดินเป็นประจำอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง

เพื่อให้ร่างกายเคยชินและสามารถปฏิบัติอาม้าลอิบาดะห์ในขณะทำอุมเราะห์ได้อย่างเต็มที่

16. หากท่านไม่สามารถทำอุมเราะห์ในเดือนรอมฎอนได้เนื่องจากมีอุปสรรค 

พึงทราบเถิดว่า การนั่งรำลึกถึงอัลลอฮฺหลังจากละหมาดซุบฮิจนกระทั่งอาทิตย์ขึ้น แล้วละหมาดสองร็อกอัต จะได้รับผลบุญเทียบเท่ากับการทำฮัจญ์และอุมเราะห์โดยสมบูรณ์ 

“ผู้ใดที่ได้ละหมาดญามาอะฮฺศุบฮฺหลังจากนั้นเขาได้นั่งรำลึกถึงอัลลอฮฺจนกระทั่งดวงอาทิตย์ขึ้น ต่อจากนั้นเขาได้ละหมาดสองร็อกอัต เขาได้รับภาคผลบุญเท่ากับการทำฮัจญ์และอุมเราะฮฺ” (อัตติรมิซียฺ)

17. รับประทานอาหารให้น้อยลง

เพื่อให้กระเพาะเคยชินกับปริมาณอาหารที่ลดลง และไม่รู้สึกหิวในขณะที่ถือศีลอด

18. หลีกเลี่ยงการนอนดึก และลองฝึกตื่นกลางดึกก่อนละหมาดซุบฮิ

ปรับเวลาการนอนให้ไม่ดึกจนเกินไป และฝึกตื่นก่อนซุบฮิให้เคยชิน ก่อนเข้าสู่เดือนรอมฎอน

19. ฝึกลดจำนวนชั่วโมงของการนอนหลับ

เริ่มฝึกตั้งแต่เดือนชะอ์บาน เพื่อให้เคยชิน เพราะในเดือนรอมฎอน เราจะต้องแบ่งเวลาส่วนหนึ่งเพื่อทำอาม้าลอิบาดะห์ต่างๆ

20. ฝึกฝนการทำอิบาดะห์ที่ไม่เคยได้ลองทำมาก่อน

การทำอิบาดะฮ์ในศาสนาอิสลาม หมายถึง ชื่อที่ใช้เรียกทุกสิ่งที่อัลลอฮ์ ทรงโปรดปรานไม่ว่าจะเป็นคำพูดต่างๆหรือการกระทำทั้งปวงที่เปิดเผยหรือซ่อนเร้น เช่น การละหมาด การอ่านอัลกุรอาน การจ่ายซะกาต การบนบาน การช่วยเหลือในการทำดี ห้ามปรามความชั่ว เป็นต้น

30 ก้าวจากชะอฺบานสู่รอมฎอน

21. พยายามไปร่วมละหมาดญะนาซะห์ และติดตามมะยัตจนกระทั่งฝังเสร็จ (สำหรับผู้ชาย)

การละหมาดญานาซะห์ จะได้ผลบุญเท่ากับ 1 ภูเขา อูฮุด และถ้าได้ตามไปส่งมัยญิต จนฝังเสร็จ ก็ได้จะได้ผลบุญอีก 1 ภูเขาอูฮุด  และเป็นการรำลึกถึงความตาย ทำให้เกิดความยำเกรงต่ออัลลอฮฺและมุ่งมั่นในการทำอิบาดะห์ มากยิ่งขึ้น

22. จัดตารางเวลาในการประกอบอิบาดะห์ต่างๆ แล้วทำตามตารางให้ได้

ลองวางแผนการประกอบอิบาดะห์ต่างๆ ในเดือนรอมฎอน เพราะการประกอบความดีงามในเดือนรอมฎอนนั้น ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่เป็นฟัรดูหรือที่เป็นสุนัตจะได้รับผลบุญที่เท่าทวีคูณ จึงต้องจัดสรรเวลาในการทำอิบาดะห์ให้มากขึ้น

23. ค่อยๆ ลด ละการนั่งร่วมอยู่กับสิ่งที่ทำให้สูญเวลาเปล่า

ค่อยๆ ปรับตัวเริ่มตั้งแต่เดือนชะอ์บาน เพราะในเดือนรอมฎอน เราจะต้องใช้เวลาอย่างคุ้มค่าที่สุดเพื่อแสวงหาผลบุญความโปรดปรานจากพระองค์

24.  ลด ละ เลิก สิ่งเสพติดต่างๆ 

สำหรับคนที่ติดสิ่งเสพติดต่างๆ รอมฏอนเป็นโอกาสอันดีที่จะเลิก จึงควรเลิกเสพตั้งแต่บัดนี้ โดยมีเจตนาเลิกเพื่ออัลลอฮฺ ตะอาลาอย่างแท้จริง

25. ให้ลิ้นเคยชินอยู่กับ ซิกรุ้ลลอฮฺ 

การรำลึกถึงอัลลอฮฺสามารถที่จะทำได้ทุกเมื่อทุกที่ทุกเวลา เป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายที่สุด และมีผลบุญมากมายที่อัลลอฮฺเตรียมไว้

26. จัดระบบระเบียบ เรียงลำดับงานการและการประกอบศาสนกิจต่างๆ 

โดยเริ่มทำให้ได้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนชะอฺบาน เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ทั้งหน้าที่ในดุนยาและภาคผลบุญในอาคิเราะห์

27. ทบทวนอัลกุรอานที่ท่องจำแล้ว หรือเริ่มท่องใหม่ตั้งแต่เดือนชะอฺบาน

เพื่อเตรียมความพร้อมสู่เดือนรอมฎอน โดยทบทวนอัลกุรอานทั้งในส่วนของเดิมที่ท่องจำแล้ว และส่วนใหม่ที่ต้องท่องให้มากกว่าเดิม

28. เตรียมของกินของใช้ที่จำเป็นสำหรับรอมฎอน 

รวมทั้งเสื้อผ้าสำหรับออกอีด ตั้งแต่เดือนชะอฺบาน (เพื่อที่ว่าจะได้ไม่สูญเวลารอมฏอนไปกับการจับจ่ายซื้อของ)

29. วางกำหนดการณ์สำหรับกิจกรรมต่างๆ ที่ตั้งใจจะทำในรอมฎอนให้แน่นอน 

อาทิ เวลาสำหรับที่บ้าน สำหรับการทำงานและสำหรับมัสญิด

30. ส่งเสริมเป็นกำลังใจให้เด็กๆ ในครอบครัว (ตั้งแต่ 7 ปีขึ้นไป) ได้ฝึกหัดถือศีลอด

อาจจะเริ่มจากการถือศีลอดในจำนวนวันที่เท่ากับอายุของเขา หรืออย่างน้อยรวมกันให้ได้ 1-2 วัน และอย่าลืมกล่าวชมเชยเด็กๆ เมื่อทำสำเร็จ และยังมีอีกหลายวิธีที่จะปลูกฝังให้เด็กๆเห็นความสำคัญของเดือนรอมฎอน สิ่งที่ดีที่สุดและสำคัญที่สุดคือการทำตัวอย่างที่ดีให้พวกเขาเห็นนั่นเอง

ที่มา:  Memoria Travel, www.islammore.com

islamhouse.muslimthaipost.com

เรื่องที่น่าสนใจ