การบวช 6 หรือ การถือศีลอดเดือนเชาวาลนี้ มีความดีงามซ่อนอยู่ 5 ประการ ดังนี้
5 ความดีงามของถือศีลอดในเดือนเชาวาล
การปฏิบัติอิบาดะฮฺที่นอกเหนือจากศาสนกิจที่วาญิบ โดยความสมัครใจของผู้ปฏิบัติ เป็นการเสริมหนุนให้อามัลของบ่าวผู้หนึ่งสมบูรณ์ขึ้นและเป็นเหตุให้อัลลอฮฺรักบ่าวผู้นั้น เช่นที่ท่านรอซูล ได้กล่าวถึงดำรัสของอัลลอฮฺในหะดีษกุดซีย์บทหนึ่งซึ่งมีความว่า
“บ่าวของฉันหมั่นเข้าใกล้ชิดฉันด้วยการปฏิบัติสิ่งสุนัต จนกระทั่งฉันได้รักเขา” (รายงานโดยอัล-บุคอรี 6137)
ดังนั้น จึงควรที่มุสลิมต้องเอาใจใส่และหมั่นปฏิบัติอามัลต่างๆ ตามแนวทาง(ซุนนะฮฺ)ของท่านรอซูล เพื่อยกระดับตัวเองให้เป็นบ่าวที่ดีของอัลลอฮฺและเป็นที่รักของพระองค์
การถือศีลอดหกวันในเดือนเชาวาลสามารถปฏิบัติได้อย่างเปิดกว้าง เช่น
- ถือศีลอดทันทีหลังวันอีด โดยถือศีลอดติดต่อกันหกวันโดยไม่แยก
- ถือศีลอดหกวันติดต่อกัน แต่ไม่ถือศีลอดทันทีหลังวันอีด
- ถือศีลอดหกวันโดยแยกวัน อาจจะเริ่มทันทีหลังวันอีดหรือไม่ก็ได้ และไม่กำหนดวันว่าจะต้องห่างกันครั้งละกี่วัน ฯลฯ
การบวช 6 หรือ การถือศีลอดเดือนเชาวาลนี้ มีความดีงามซ่อนอยู่ 5 ประการ ดังนี้
1. หากถือศีลอดในเดือนรอมฎอนแล้วมาต่อด้วยอีก 6 วันในเดือนเชาวาลจะได้รับผลบุญเท่ากับการถือศีลอด 1 ปี
ท่านร่อซู้ล(ซ.ล.) ได้กล่าวว่า..
مَنْ صَامَ رَمَضَانَ ثُمَّ أَتْبَعَهُ سِتًّا مِنْ شَوَّالٍ كَانَ كَصِيَامِ الدَّهْرِ
“ ใครก็ตามที่ถือศีลอดในเดือนรอมฎอน หลังจากนั้นเขาได้ถือศีลอด 6 วันในเดือนเชาวาล เสมือนกับเขาได้ถือศีลอดตลอดทั้งปี ” (บันทึกโดยมุสลิม)
บรรดานักวิชาการได้อธิบายการถือศีลอดตลอดทั้งปีนั้นว่า เนื่องจากทุกๆ ความดีงามนั้นจะถูกตอบแทนด้วย 10 ความดีงาม และการถือศีลอดในเดือนรอมฎอนเต็มเดือน (30 วัน) นั้น เสมือนเขาได้ถือศีลอด 10 เดือน (กล่าวคือ 30 x 10 = 300 วัน = 10 เดือน )
และการถือศีลอด 6 วัน ในเดือนเชาวาลนั้น เสมือนเขาได้ถือศีลอดเป็นเวลา 2 เดือน (6 x 10 = 60 วัน = 2 เดือน) เมื่อรวมกันแล้วเสมือนว่าเขาได้ถือศีลอดถึง 1 ปี
2. ช่วยเติมเต็มและทำให้การถือศีลอดในรอมฎอนสมบูรณ์
การถือศีลอดในเดือนเชาวาลนั้น จะเติมเต็มและสร้างความสมบูรณ์ในสิ่งที่ขาดหายไป ในการถือศีลอดวาญิบของเราในเดือนรอมฎอน เหมือนที่เราได้ละหมาดรอวาติบ (ละหมาดซุนนะห์ก่อน-หลังละหมาดฟัรฎู) ที่เติมเต็มความสมบูรณ์ ของการละหมาด
3. เป็นสัญญาณว่า การถือศีลอดในเดือนรอมฎอนนั้นถูกตอบรับ
หากอัลลอฮฺ ( ซ.บ.) จะทรงตอบรับการกระทำของบ่าวของพระองค์นั้นพระองค์จะต้องทรงชี้แนวทางในการกระทำอาม้าลที่ดีอื่นๆแก่บรรดาบ่าวของพระองค์
และหากอัลลอฮฺ(ซ.บ.)ทรงตอบรับการถือศีลอดของเราในเดือนรอมฎอนดังนั้น พระองค์ก็จะทรงชี้แนวทางในการทำอาม้าลที่ดีอื่นๆด้วย เช่น การถือศีลอด 6 วันในเดือนเชาวาล
ในเรื่องนี้ได้ถูกกล่าวจากบรรดาสลัฟว่า
مِنْ ثَوَابِ الحَسَنَةِ الحَسَنَةُ بَعْدَهَا، وَمِنْ جَزَاءِ السَّيِّئَةِ السَّيِّئَةُ بَعْدَهَا
“ในการตอบแทนความดีงามนั้น คือการตอบแทนความดีงามที่ต่อเนื่อง และการตอบแทนความชั่วร้ายนั้น คือ การตอบแทนอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน”
ท่านอิบนุรอญับได้อธิบายคำพูดข้างต้นนี้ด้วยคำพูดของสลัฟท่านอื่นว่า “การตอบแทนจากการกระทำความดีนั้น คือการกระทำความดีที่ต่อเนื่องผู้ใดที่ประกอบความดีงามและเขากระทำอย่างต่อเนื่องด้วยการกระทำที่ดีอื่นๆนั้นเป็นสัญญาณว่าการงานของเขาถูกตอบรับและผู้ใดที่กระทำการงานที่ดีแล้วเขาก็เกลียดคร้าน และประกอบการงานที่ชั่วร้ายนั่นคือสัญญาณว่าการงานของเขาที่ผ่านมาถูกปฏิเสธ”
4. เป็นรูปแบบหนึ่งของการขอบคุณอัลลอฮฺ
ความโปรดปรานอันใดที่เราจำต้องชุโกรอย่างมาก ? นั้นก็คือ ความโปรดปรานที่อัลลอฮฺทรงอภัยในความผิดของบ่าวอันมากมายในเดือนรอมฎอน
ท่านอิบนู รอญับ กล่าวว่า “ไม่มีความโปรดปรานใดๆที่ยิ่งใหญ่ไปกว่าการที่อัลลอฮฺทรงอภัยโทษลบล้างบาปของบ่าว”
ดังนั้น สมควรอย่างมากที่เราต้องขอบคุณต่ออัลลอฮฺ เพราะพระองค์ทรงเปิดช่วงเวลาแห่งการอภัยโทษ อย่างมากมายในเดือนรอมฎอน
5. แสดงถึงว่าการอิบาดะห์นั้นต่อเนื่องมิใช่เพียงแค่ช่วงใดช่วงหนึ่ง
การงานของผู้ปฎิบัติในเดือนรอมฎอนนั้นจะไม่มีการหยุดพักหลังจากเดือนรอมฎอนได้ผ่านพ้นไปการงานนั้นเป็นที่ส่งเสริมที่จะทำให้เป็นความต่อเนื่องตลอดลมหายใจแห่งชีวิตของผู้ที่เป็นบ่าวยังไม่กลับสู่พระองค์
อัลกอมะห์ได้ถามท่านหญิงอาอิชะห์ถึงการงานของท่านร่อซูล (ซ.ล.) ว่า“ท่านร่อซูล (ซ.ล.) ได้กำหนดวันเฉพาะเพื่อทำการอิบาดะห์หรือไม่”
ท่านหญิงอาอิชะห์ กล่าวว่า“ท่านร่อซูล (ซ.ล.)ไม่เคยกำหนดวันเวลาที่เจาะจงในการประกอบอิบาดะห์ และอิบาดะห์ของท่านร่อซูล (ซ.ล.) นั้น คือ อิบาดะห์ที่มั่นคงและต่อเนื่อง”(บันทึกโดยบุคอรีย์และมุสลิม)
ที่มา: www.annisaa.com , www.islammore.com