ความถูกต้องในการหย่าร้าง ตามหลักการอิสลาม


27,800 ผู้ชม

ผมไม่เข้าใจว่า ทำไมเมื่อภรรยามุสลิมถูกสามีหย่า แล้วจะต้องไปแต่งงานกับชายอื่นก่อน ถึงจะกลับมาแต่งงานกับสามีเดิมได้ ?


ความถูกต้องในการหย่าร้าง ตามหลักการอิสลาม

บทความโดย:  อ.บรรจง บินกาซัน

ถาม ผมไม่เข้าใจว่า ทำไมเมื่อภรรยามุสลิมถูกสามีหย่า แล้วจะต้องไปแต่งงานกับชายอื่นก่อน ถึงจะกลับมาแต่งงานกับสามีเดิมได้ ?

ตอบ คำถามของคุณเป็นคำถามปลายทางซึ่งหากไม่เข้าใจต้นทางก็ยากที่คุณจะเข้าใจครับ

อิสลามส่งเสริมเรื่องการแต่งงานและรังเกียจการหย่า ท่านนบีมุฮัมมัดกล่าวว่าการหย่าทำให้บัลลังก์ของพระเจ้าต้องสั่นสะเทือน แต่เมื่อการอยู่ร่วมกันต่อไปของสามีภรรยามีแต่จะทำให้ทั้งสองฝ่ายต้องขมขื่นและปวดร้าวไม่มีวันจบ การหย่าจึงเป็นทางออกสุดท้ายที่พระเจ้าทรงอนุมัติให้ แต่ก็ทรงอนุมัติให้ด้วยความรังเกียจ

ในเมื่อการแต่งงานยังมีขั้นตอนเพื่อให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปด้วยดี การจะแยกกันก็ต้องแยกกันโดยดีและมีเกียรติเช่นกัน มิใช่นึกจะหย่าก็หย่าและถีบหัวส่งโดยไม่มีเยื่อใย

บทบัญญัติแห่งอิสลามได้วางกฎเกณฑ์ไว้ว่าเมื่อสามีภรรยามีเรื่องขัดแย้งกันจนถึงกับจะต้องแยกทางกัน ก็ต้องทำตามขั้นตอนดังนี้

1) ทั้งสองฝ่ายจะต้องหาผู้ใหญ่มาทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างกันเสียก่อน

2) ถ้าการไกล่เกลี่ยไม่ประสบผลสำเร็จ ก็ให้ฝ่ายชายเป็นคนเริ่มต้นกล่าวคำหย่าให้เป็นที่ชัดเจนต่อหน้าพยานสองคนและจะต้องหย่าในตอนที่ผู้หญิงสะอาดจากการมีประจำเดือน

3) เมื่อสามีกล่าวคำหย่าแล้วก็มิได้หมายความว่าทั้งสองจะแยกทางกันโดยทันที ต้องรอให้ภรรยามีประจำเดือนครบสามรอบเสียก่อน จึงจะแยกทางกันได้ ระหว่างช่วงเวลาแห่งการรอคอยนั้น สามียังต้องให้ภรรยาอาศัยอยู่ในบ้านของตนและรับผิดชอบเรื่องการกินอยู่ทุกอย่างเหมือนเดิมยกเว้นการมีความสัมพันธ์ทางเพศ ขณะเดียวกัน ในช่วงเวลานั้นภรรยาก็ยังไม่สามารถไปแต่งงานใหม่ได้ การหย่าครั้งนี้ถือเป็นการหย่าครั้งแรก

เหตุผลที่กำหนดเวลารอคอยไว้ประมาณสามเดือนก็เพื่อดูว่าภรรยามีลูกในครรภ์หรือไม่ ถ้าหากว่ามี ระยะเวลาที่จะแยกทางกันก็ต้องยืดออกไปจนกว่าเด็กในครรภ์จะคลอด อีกเหตุผลหนึ่งที่กำหนดให้มีช่วงเวลาแห่งการรอคอยนั้นก็เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายได้ทบทวนการใช้ชีวิตของตน

4) ถ้าสามีคิดได้ ในฐานะที่เป็นคนเริ่มหย่า สามีจะต้องเป็นคนไปหาภรรยาเพื่อขอคืนดี หากยังไม่เกินช่วงเวลาการมีประจำเดือนสามครั้ง สามีก็สามารถกลับไปอยู่ร่วมกับภรรยาได้เหมือนเดิมโดยไม่ต้องแต่งงานกันใหม่ แต่ถ้าหากเกินเวลาดังกล่าว การจะกลับมาอยู่ด้วยกันก็ต้องทำพิธีแต่งงานทางศาสนากันใหม่

5) หากกลับไปอยู่ด้วยกันแล้วยังมีความขัดแย้งกันจนถึงกับต้องหย่ากันอีก ก็ให้ปฏิบัติตามข้อ 2,3 และ4 การหย่าครั้งนี้ถือเป็นการหย่าครั้งที่สอง

6) เมื่อมีการกล่าวคำหย่าครั้งสามอีก นั่นก็หมายความว่าภรรยาผู้นั้นไม่มีความมั่นคงในชีวิตสมรสแล้วเพราะมีผัวบ้าๆบอๆ เดี๋ยวเข้าเดี๋ยวออก ดังนั้น เมื่อสามีกล่าวคำหย่าครั้งที่สาม บทบัญญัติของอิสลามก็ห้ามสามีผู้นั้นกลับไปอยู่กับภรรยาเดิมอีกจนกว่าภรรยาของตนจะไปแต่งงานกับชายอื่นและอยู่กันฉันสามีภรรยาจริงๆก่อน สามีจึงจะกลับมาแต่งงานกับภรรยาเดิมของตนได้

เหตุผลที่กำหนดเช่นนั้นก็ เพื่อเป็นการลงโทษหรือดัดสันดานสามี โดยการให้ภรรยาไปเป็นของผู้ชายคนอื่นก่อน ขณะเดียวกันก็เป็นการเปิดโอกาสให้แก่ภรรยาที่ถูกหย่าได้ไปมีสามีใหม่ ถ้าพบว่าสามีใหม่ดีกว่าก็อยู่กินกับสามีใหม่ไปเลย

หวังว่าคำตอบสั้นๆ ดังกล่าวคงจะทำให้คุณพอเข้าใจได้กระจ่างนะครับ

อัพเดทล่าสุด