การประหารชีวิต ในด้านนิติบัญญัติ คือ การทดแทนในเรื่องฆาตกรรม ให้เท่าเทียมกัน อัลลอฮฺตรัสว่า
ฮุก่ม การประหารชีวิต บทลงโทษในอิสลาม
การประหารชีวิต ในด้านนิติบัญญัติ คือ การทดแทนในเรื่องฆาตกรรม ให้เท่าเทียมกัน อัลลอฮฺตรัสว่า :
يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا كُتِبَ عَلَيْكُمُ الْقِصَاصُ فِي الْقَتْلَى الْحُرُّ بِالْحُرِّ وَالْعَبْدُ بِالْعَبْدِ وَالْأُنثَىٰ بِالْأُنثَىٰ فَمَنْ عُفِيَ لَهُ مِنْ أَخِيهِ شَيْءٌ فَاتِّبَاعٌ بِالْمَعْرُوفِ وَأَدَاءٌ إِلَيْهِ بِإِحْسَانٍ ذَٰلِكَ تَخْفِيفٌ مِّن رَّبِّكُمْ وَرَحْمَةٌ فَمَنِ اعْتَدَىٰ بَعْدَ ذَٰلِكَ فَلَهُ عَذَابٌ أَلِيمٌ
ความว่า: “โอ้ศรัทธาชนทั้งหลาย การชดใช้ชีวิตด้วยชีวิตนั้นได้ถูกกำหนดแก่พวกเจ้าในการฆ่า ผู้เป็นไทต่อผู้ที่เป็นไท และทาสต่อทาส และผู้หญิงต่อผู้หญิง ดังนั้นผู้ใดที่ได้รับการอภัยจากพี่น้องของเขาก็จงปฏิบัติไปตามนั้นด้วยดี และจ่ายสินไหมแก่เขาโดยดี นั่นคือข้อผ่อนปรนจากพระผู้อภิบาลของพวกเจ้า และผู้ใดที่ล่วงละเมิดหลังจากนั้น สำหรับเขาคือการลงโทษที่รุนแรง
(ซูเราะห์ บะกอเราะฮฺ อายะฮ์ที่ : 178)
وَلَكُمْ فِي الْقِصَاصِ حَيَاةٌ يَا أُولِي الْأَلْبَابِ لَعَلَّكُمْ تَتَّقُونَ
ความว่า: “และในการชดใช้ชีวิตด้วยชีวิตนั้นเป็นการดำรงไว้ซึ่งชีวิต โอ้บรรดาผู้ที่มีปัญญาทั้งหลายเพื่อที่พวกเจ้าจะได้มีความยำเกรง”
(ซูเราะห์บะกอเราะฮฺ อายะฮ์ที่ : 179)
และจากรายงานของท่านอิบนิมัซอูด (รอดิยัลลอฮุอันฮุ) ได้กล่าวว่าท่านศาสนทูต(ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะสัลลัม) ได้กล่าวว่า :
قال رسول الله e:«لا يحل دم امرئ مسلم، يشهد أن لا إله إلا الله وأني رسول الله، إلا بإحدى ثلاث: النفس بالنفس، والثيب الزاني، والمفارق لدينه التارك للجماعة». أخرجه البخاري في صحيحه و مسلم
ความว่า: “เลือดของมุสลิมคนหนึ่งที่กล่าวว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ และแท้จริงฉันเป็นศาสนทูตของพระองค์ จะไม่เป็นที่อนุมัติเว้นด้วยหนึ่งในสามประการต่อไปนี้ ชีวิตด้วยชีวิต ผู้ที่แต่งงานแล้วผิดประเวณี ผู้ที่ละทิ้งศาสนาและแยกออกไปจากสังคม”
วิทยปัญญาในการกำหนดบทลงโทษนี้
1. แท้จริงบทบัญญัติของอิสลามเป็นบทบัญญัติเพื่อมนุษยชาติทั้งมวล และปกป้องพวกเขาจากอีกบางส่วนของพวกเขา โดยเฉพาะการป้องกันคนที่อ่อนแอจากผู้ที่แข็งแรง และนำสิทธิของผู้ที่ถูกอธรรมคืนมาจากผู้ที่อธรรม ซึ่งมันจะรักษาเกียรติยศของมนุษย์และด้วยเหตุนี้จึงห้ามจากการฆ่ากันและการล่วงละเมิดต่อมันนอกจากด้วยสิทธิในการฆ่า พระองค์ตรัสว่า :
وَلَا تَقۡتُلُواْ ٱلنَّفۡسَ ٱلَّتِي حَرَّمَ ٱللَّهُ إِلَّا بِٱلۡحَقِّ
ความว่า: “และพวกเจ้าจงอย่าฆ่าชีวิตที่อัลลอฮฺทรงห้ามเว้นแต่ด้วยสิทธิ(ในการฆ่า)” (ซูเราะห์อันอาม 151และอิซรออฺ 33)
และผู้ใดที่จิตใจของเขาได้ครอบงำตัวเอง จนได้ไปละเมิดต่อผู้อื่นด้วยการทำอันตรายหรือสังหาร สำหรับเขาคือการลงโทษที่เจ็บปวดในโลกนี้ และโลกหน้า พระองค์ตรัสว่า :
...عَلَيۡكُمُ ٱلۡقِصَاصُ فِي ٱلۡقَتۡلَىۖ
ความว่า: “โอ้ศรัทธาชนทั้งหลายการชดใช้ชีวิตด้วยชีวิตนั้นได้ถูกกำหนดแก่พวกเจ้าในการฆ่า...” (ซูเราะห์อับบะกอเราะฮฺ 178)
และพระองค์ตรัสว่า :
وَمَن يَقۡتُلۡ مُؤۡمِنٗا مُّتَعَمِّدٗا فَجَزَآؤُهُۥ جَهَنَّمُ خَٰلِدٗا فِيهَا وَغَضِبَ ٱللَّهُ عَلَيۡهِ وَلَعَنَهُۥ وَأَعَدَّ لَهُۥ عَذَابًا عَظِيمٗا
ความว่า: “และผู้ใดที่ได้ฆ่าผู้ที่ศรัทธาโดยเจตนาดังนั้นการตอบแทนของเขาคือการลงโทษในนรกตลอดกาล และอัลลอฮฺทรงโกรธกริ้วเขาและสาปแช่งเขา และได้เตรียมการลงโทษที่ใหญ่หลวงสำหรับเขา”
( ซูเราะห์อันนิสาอฺ อายะห์ที่ 93)
2. แท้จริงบทบัญญัติของอิสลามไม่ได้เป็นศาสนาเดียวในเรื่องการชดใช้ชีวิตด้วยชีวิต ที่จริงมันยังเป็นบทบัญญัติของบรรดาร่อซูล และศาสดาทั้งหลายก่อนหน้านี้ พระองค์ได้กล่าวไว้หลังจากที่ได้เล่าถึงเรื่องของลูกทั้งสองของอาดัมซึ่งคนหนึ่งได้ฆ่าอีกคนหนึ่งว่า
مِنْ أَجْلِ ذَٰلِكَ كَتَبْنَا عَلَىٰ بَنِي إِسْرَائِيلَ أَنَّهُ مَن قَتَلَ نَفْسًا بِغَيْرِ نَفْسٍ أَوْ فَسَادٍ فِي الْأَرْضِ فَكَأَنَّمَا قَتَلَ النَّاسَ جَمِيعًا وَمَنْ أَحْيَاهَا فَكَأَنَّمَا أَحْيَا النَّاسَ جَمِيعًا وَلَقَدْ جَاءَتْهُمْ رُسُلُنَا بِالْبَيِّنَاتِ ثُمَّ إِنَّ كَثِيرًا مِّنْهُم بَعْدَ ذَٰلِكَ فِي الْأَرْضِ لَمُسْرِفُونَ
ความว่า: “เนื่องจากเหตุนั้นแหละ เราจึงได้บัญญัติแก่วงศ์วาน อิสรออีลว่า แท้จริงผู้ใดฆ่าชีวิตหนึ่งโดยมิใช่เป็นการชดเชยอีกชีวิตหนึ่ง หรือมิใช่เนื่องจากกการบ่อนทำลายในแผ่นดินแล้วก็ประหนึ่ง่าเขาได้ฆ่ามนุษย์ทั้งมวล และแท้จริงนั้นบรรดาร่อซูลของเราได้นำหลักฐานต่าง ๆ อันชัดแจ้งมายังพวกเขาแล้ว แล้วได้มีจำนวนมากมายในหมู่พวกเขาเป็นผู้ฟุ่มเฟือยในแผ่นดิน” (ซูเราะห์อัล-มาอิดะฮฺ อายะห์ที่ 93)
และพระองค์ได้กล่าวถึงบทบัญญัติของเตารอฮฺว่า
وَكَتَبْنَا عَلَيْهِمْ فِيهَا أَنَّ النَّفْسَ بِالنَّفْسِ وَالْعَيْنَ بِالْعَيْنِ وَالْأَنفَ بِالْأَنفِ وَالْأُذُنَ بِالْأُذُنِ وَالسِّنَّ بِالسِّنِّ وَالْجُرُوحَ قِصَاصٌ فَمَن تَصَدَّقَ بِهِ فَهُوَ كَفَّارَةٌ لَّهُ وَمَن لَّمْ يَحْكُم بِمَا أَنزَلَ اللَّهُ فَأُولَٰئِكَ هُمُ الظَّالِمُونَ
ความว่า: “และเราได้บัญญัติแก่พวกเขาไว้ในคัมภีร์นั้นว่า ชีวิตด้วยชีวิต และตาด้วยตา และจมูกด้วยจมูก และหูด้วยหู และฟันด้วยฟัน และบรรดาบาดแผลก็ให้มีการชดเชยเยี่ยงเดียวกัน และผู้ใดให้การชดเชยนั้นเป็นทาน มันก็เป็นสิ่งลบล้างบาปของเขา และผู้ใดมิได้ตัดสินด้วยสิ่งที่อัลลอฮ์ได้ทรงประทานลงมาแล้ว ชนเหล่านี้แหละคือผู้อธรรม” (ซูเราะห์อัล-มาอิดะฮฺ อายะห์ที่ 45)
3. การประหารชีวิตนั้นจะทำให้ผู้ที่ต้องการกระทำอาชญากรรมที่โหดร้ายเกิดความรู้สึกว่า เมื่อเขาได้กระทำความผิดนี้ไปแล้ว การลงโทษที่รอคอยเขาอยู่นั้นจะเหมือนกับที่เขาได้กระทำไปทุกประการ และสิ่งนี้จะเท่ากับการสร้างความหวาดหวั่นและความวิตกกังวลในจิตใจของเขา เนื่องจากว่าเขาจะรู้สึกว่าการลงโทษนั้นจะต้องประสพแก่เขาแน่นอน และการลงโทษที่ยุติธรรมจะรอคอยเขาอยู่ ไม่ว่าเขาจะหลบหนี หรือหลบซ่อนที่ไหน และการตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อนี้จะรอคอยเขาอยู่ไม่ว่าเขาจะใช้เล่ห์เพทุบายใด และการประหารก็รอคอยต้นคอของเขาอยู่แม้นเวลาจะยาวนานเพียงใด และหากความรู้สึกนี้มีความรุนแรงมันก็จะยับยั้งเขาไม่ให้ก่ออาชญากรรม และการฝ่าฝืนอันนี้ ก็จะทำให้ผู้ที่เขาต้องการสังหารปลอดภัย และตัวของผู้ที่ต้องการประกอบอาชญากรรมก็จะปลอดภัยจากการประหารชีวิต ซึ่งในนั้นเป็นการให้ชีวิตแก่ตัวของเขาเองและต่อผู้ที่เขาต้องการฆ่า
4. การประหารชีวิตนั้นเป็นการตอบแทนที่เหมาะสมกับความผิดในการฆ่า เพราะมันเป็นการเจตนาล่วงละเมิดต่อชีวิต จึงเป็นความยุติธรรมที่จะลงโทษเขาด้วยการกระทำเดียวกัน และย่อมไม่กินกับปัญญาอย่างแน่นอนในการที่พ่อจะต้องสูญเสียลูกของตนไปโดยที่ยังคงเห็นผู้ที่ฆ่าลูกเขายังคงเดินร่วมอยู่กับผู้คนบนหน้าแผ่นดินอย่างมีความสุข ขณะที่ตัวเขาได้ถูกห้ามจากการเห็นหน้าแก้วตาดวงใจของเขา และย่อมไม่กินกับปัญญาเช่นกัน หากคน ๆ หนึ่งไปแทงตาผู้อื่นจนตาบอด แล้วผู้ที่ถูกแทงตาทราบว่าคนที่ทำให้เขาตาบอดยังคงเดินมีความสุขอยู่กับคนอื่น ๆ ด้วยดวงตาที่มองเห็น
5. การดำเนินการลงโทษด้วยการประหารชีวิตนั้น เป็นการขจัดความวุ่นวายตั้งแต่จุดเริ่มต้นของมัน และเป็นการทำลายล้างความผิดบาป และอาชญากรรม เพราะว่าการเอาโทษกับผู้กระทำผิดตามความผิดของพวกเขานั้น เป็นการห้ามปรามสำหรับเขาและคนอื่นๆ และหยุดยั้งผู้ที่อธรรม ซึ่งผู้ที่ปรารถนาจะสังหาร และหลั่งเลือดผู้คน หรือวางแผนการร้ายกับผู้อื่น เมื่อได้เห็นการประหารชีวิตที่ได้กระทำแก่ฆาตกร ก็จะเป็นการยับยั้งพวกเขาจากการกระทำตามที่ได้ตั้งใจและวางแผนเอาไว้ เนื่องจากพวกเขาทราบว่าจุดจบของเขาจะไม่ต่างจากจุดจบของคนเหล่านั้นที่ได้ถูกประหารไป
6. การประหารนั้นเป็นการกำจัดการมุ่งร้ายหมายชีวิต และเป็นการรักษาที่รวดเร็วสำหรับความโกรธเคืองของผู้ที่เสียหาย และไม่มียาใดที่จะรักษาความโกรธเคืองของเขาและขจัดความเศร้าโศกของเขาได้นอกจากการประหารที่ยุติธรรม ดังนั้นการจองจำ การเนรเทศ หรือการทำให้อับอายไม่อาจที่จะรักษาเขาแม้ระยะเวลาของมันจะยาวนานเพียงใด อันที่จริงนั้นสิ่งที่จะรักษาเขาได้นั่นคือ การที่เขาสามารถที่จะทำให้ผู้ที่กระทำผิดได้รับในสิ่งที่เหมือนกับที่เขาได้กระทำไป และมีอำนาจเหนือชีวิตของฆาตกรโดยที่เขาสามารถจะให้อภัยหรือให้มีการประหารก็ได้ซึ่งการรักษาความโกรธของผู้ที่ถูกละเมิดนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็น มิเช่นนั้นแล้วมันก็จะทำให้เกิดห่วงโซ่ของการแก้แค้นและการเป็นปรปักษ์ต่อกันอย่างไม่สิ้นสุด เพราะความโกรธแค้นในเรื่องเลือดเนื้อนั้นเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่งอิสลามตระหนักดีในสิ่งนี้จึงได้กำหนดบทบัญญัติการประหารชีวิตขึ้นจนกระทั้งได้ขจัดความเกลียดชังที่ซ้อนเร้น และการแก้แค้นที่จะเกิดขึ้นออกไปจากผู้คนและถอนรากถอนโคนความเโกรธเคือง ความหยาบช้า การทะเลาะวิวาท และความเป็นศัตรูออกไปจากจิตใจ และปกป้องสังคมจากการเกิดการฆ่าและหลั่งเลือดขึ้นมาอีก
7. ประโยชน์ของการประหารชีวิตไม่ได้กลับไปสู่ผู้ที่เสียหาย หรือเครือญาติแต่เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น แต่จะกลับไปสู่สังคมโดยรวมด้วยเช่นกัน เพราะหากไม่มีการประหารชีวิตแล้วแน่นอนเลือดจะถูกปล่อยให้ไหลออกมาโดยเปล่าประโยชน์ และคนที่ชั่วช้าทั้งหลายก็จะมีอำนาจในสังคม และคนที่เข้มแข็งก็จะกลืนกินคนที่อ่อนแอ ดังนั้นความมั่นคงปลอดภัยก็จะหมดไป ความเสียหายและระส่ำระสาย การดักปล้นและการขาดทุนทางการค้าก็จะกระจายไปทั่ว และผลิตผลก็จะหยุดชะงัก ผลประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ของผู้คนก็จะเสียหายไป แต่หากว่ามีการจัดการกับบรรดาฆาตกรและผู้ที่สร้างความเสียหายทั้งหลาย และนำการประหารที่ยุติธรรมมาใช้ โดยบทลงโทษที่เป็นเช่นเดียวกับชนิดของความผิดและเท่าเทียมกับมัน ก็จะทำให้ความเสียหายนั้นเบาบางลง และการกระทำความผิดก็จะน้อยลงไป ผู้คนก็จะได้ใช้ชีวิตอยู่อย่างสงบสุข
8. อิสลามเป็นศาสนาที่เที่ยงธรรม และเมตตา ไม่ต้องการให้เลือดของผู้ที่ถูกฆ่าเสียไปอย่างเปล่าประโยชน์โดยที่ไม่มีการเอาโทษประหารต่อผู้ที่ฆ่าเขา และนี่คือที่สุดของความยุติธรรม เช่นเดียวกับการที่อิสลามไม่ต้องการให้การหลั่งเลือดและการปลิดชีพเป็นหนทางเดียว จึงกำหนดการจ่ายสินไหมทดแทนสำหรับอาชญากรที่กำลังจะถูกประหาร และนี่คือแก่นแท้แห่งการให้อภัยและความเมตตาแต่ทั้งนั้นจะไม่มีการจ่ายสินไหมทดแทนเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากเครือญาติของเขาเสียก่อน และนี่เป็นวิทยปัญญาที่อัลลอฮฺทรงรู้ถึงมันดี ซึ่งจะกล่าวถึงบางส่วนของมันดังนี้
ก- มันจะทำให้ความรู้สึกของครอบครัวที่สูญเสียดีขึ้น ด้วยการทำให้การประหารอยู่ในมือของพวกเขาหลังจากที่ได้ปฏิบัติตามหลักศาสนาไปแล้ว
ข- มันจะนำพาผู้คนโดยทางอ้อมไปสู่ความสงบและดีงามซึ่งเป็นธรรมชาติของอิสลามที่เหนือกว่าศาสนาอื่นๆ
ค- เป็นการเยียวยาดวงใจที่แตกสลาย และเปิดโอกาสสำหรับการเลือกเฟ้นสิ่งที่ดีด้วยความสมัครใจ และแสดงความดีงามของทุกๆฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ด้วยเหตุนี้มันจึงสอดคล้องกับลักษณะโดยรวมของบทบัญญัติอิสลาม นั้นก็คือรูปแบบการเลือกเฟ้นสิ่งที่ดีที่สุด
ง- แท้จริงมันได้พิสูจน์ความผิดพลาดของกฎหมายร่วมสมัยที่ได้ยกเลิกโทษประหารอย่างเด็ดขาด หรือให้มีแต่การประหารอย่างเดียว ซึ่งนิติศาสตร์อิสลามจะใช้วิธีการประหารในบางครั้ง และบางครั้งก็ใช้วิธีกลางๆ ไม่ถึงขั้นประหารโดยไม่ถึงกับยกเลิกมันอย่างถาวร แต่ปล่อยให้การลงโทษทั้งสองรูปแบบนั้นขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละบุคคล สังคม และตามแต่สภาพของเหตุการณ์ที่แตกต่างกัน ด้วยวิธีการที่ชาญฉลาดที่จะไม่ก่อให้เกิดผลเสียตามมาภายหลัง เหมือนกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามมาจากการยกเลิกมันได้ทิ้งเอาไว้
9. แท้จริงอิสลามได้ให้ผู้ที่ถูกล่วงละเมิดหรือเครือญาติของเขาเลือกระหว่างการประหารหรือการอภัยและรับสินไหมชดเชย หรืออภัยให้ทั้งหมดโดยไม่รับสินไหม สิ่งนี้บ่งบอกถึงการอยู่สายกลางของศาสนานี้ ซึ่งมีปรากฏในบทบัญญัติของชาวเตารอฮฺ (พันธะสัญญาเก่า) ว่าสำหรับพวกเขามีแต่การประหารอย่างเดียว และชาวอิลญีล (พันธะสัญญาใหม่) มีแต่การให้อภัยเท่านั้นโดยไม่มีการประหารหรือสินไหมทดแทน แต่ทว่าอัลลอฮฺได้ผ่อนปรนให้แก่ประชาชาตินี้โดยให้ผู้ที่เสียหาย เลือกระหว่างการประหารให้ตายตกตามกัน หรือเอาค่าปรับเป็นสินไหมทดแทน หรืออภัยให้โดยไม่เรียกร้องอะไร พระองค์ตรัสว่า:
يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا كُتِبَ عَلَيْكُمُ الْقِصَاصُ فِي الْقَتْلَى الْحُرُّ بِالْحُرِّ وَالْعَبْدُ بِالْعَبْدِ وَالْأُنثَىٰ بِالْأُنثَىٰ فَمَنْ عُفِيَ لَهُ مِنْ أَخِيهِ شَيْءٌ فَاتِّبَاعٌ بِالْمَعْرُوفِ وَأَدَاءٌ إِلَيْهِ بِإِحْسَانٍ ذَٰلِكَ تَخْفِيفٌ مِّن رَّبِّكُمْ وَرَحْمَةٌ فَمَنِ اعْتَدَىٰ بَعْدَ ذَٰلِكَ فَلَهُ عَذَابٌ أَلِيمٌ
ความว่า: “ผู้ศรัทธาทั้งหลาย! การประหารฆาตกรให้ตายตามในกรณีที่มีผู้ถูกฆ่าตายนั้น ได้ถูกกำหนดแก่พวกเจ้าแล้ว คือชายอิสระต่อชายอิสระ และทาสต่อทาส และหญิงต่อหญิง แล้วผู้ใดที่สิ่งหนึ่งจากพี่น้องของเขาถูกอภัยให้แก่เขาแล้ว ก็ให้ปฏิบัติไปตามนั้นโดยชอบ และให้ชำระแก่เขาโดยดี นั่นคือการผ่อนปรนจากพระเจ้าของพวกเจ้า และคือการเอ็นดูเมตตาด้วย แล้วผู้ใดละเมิดหลังจากนั้นเขาก็จะได้รับการลงโทษอันเจ็บแสบ”
(ซูเราะห์บะกอเราะฮฺ อายะฮฺที่178)