การที่เราสัมผัสโดนสุกรไม่ต้องล้างเจ็ดน้ำและหนึ่งในเจ็ดคือน้ำดิน เป็นความจริงดังที่นักวิชาการบางท่านกล่าวอ้างหรือปล่าว หรือแค่เป็นความเห็นตามทัศนะ ขอทราบความกระจ่างหน่อยครับ ถ้าตามมัสฮับอิหม่ามชาฟีอีย์ ร่อดิยันลอฮุอันฮู จะเป็นเช่นไร
คำถาม: การที่เราสัมผัสโดนสุกรไม่ต้องล้างเจ็ดน้ำและหนึ่งในเจ็ดคือน้ำดิน เป็นความจริงดังที่นักวิชาการบางท่านกล่าวอ้างหรือปล่าว หรือแค่เป็นความเห็นตามทัศนะ ขอทราบความกระจ่างหน่อยครับ ถ้าตามมัสฮับอิหม่ามชาฟีอีย์ ร่อดิยันลอฮุอันฮู จะเป็นเช่นไร
ตอบโดย : อ.อาลี เสือสมิง
เรื่องราวที่ถามมานี้ล้วนแล้วแต่ เป็นทัศนะของนักวิชาการทั้งสิ้น ทั้งฝ่ายที่มีความเห็นว่าจำเป็นต้องล้างด้วย 7 น้ำ หนึ่งในเจ็ดครั้งผสมดินเพราะเป็นการเปรียบเทียบในเชิงสมควรกว่า (กิยาส –เอาละวียฺ)
และฝ่ายที่มีความเห็นว่าไม่จำเป็นต้องล้าง 7 น้ำหนึ่งในเจ็ดนั้นผสมดิน แต่ให้ล้างน้ำเดินเพียงครั้งเดียวโดยไม่ต้องผสมดิน ซึ่งอิหม่าม อัน-นะวาวียฺระบุว่าเป็นทัศนะที่นักวิชาการส่วนมากที่กล่าวว่าสุกรเป็นนะญิสกล่าวเอาไว้ และเป็นทัศนะที่ถูกคัดเลือก (มุคต๊าร) เพราะหลักเดิมไม่มีความจำเป็น (ไม่วาญิบ) จนกว่าจะมีบัญญัติทางศาสนาระบุมา เฉพาะอย่างยิ่งในปัญหานี้ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของตะอับบุด (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ เล่มที่ 2 หน้า 604)
จึงสรุปได้ว่า ความเห็นของทั้งสองฝ่ายเป็นเพียงทัศนะทางนิติศาสตร์เท่านั้น มิใช่เป็นข้อชี้ขาดของตัวบททางศาสนา จึงเป็นเรื่องเปิดกว้างสำหรับมุสลิมในการถือทัศนะหนึ่งทัศนะใดก็ได้ตามความเหมาะสม ส่วนตามมัซฮับอัช-ชาฟีอียฺนั้นมี 2 แนวทาง (เฏาะรีก)
แนวทางที่ 1 มี 2 คำกล่าวตามแนวทางอิบนุ อัล-ก็อศ (ร.ฮ.) คือ ล้างเพียงครั้งเดียวโดยไม่ต้องมีดินก็พอเหมือนกับนะญิสทั่วไป และสอง จำเป็นต้องล้างเจ็ดครั้งพร้อมกับดิน
แนวทางที่2 จำเป็นต้องล้างเจ็ดครั้งพร้อมดินโดยเด็ดขาด ซึ่งแนวทางนี้ปวงปราชญ์ในมัซฮับกล่าวเอาไว้ (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ , อ้างแล้ว เล่มที่ 2 หน้า 604)