การอิจฉาริษยาในอิสลาม ดุอาอฺให้พ้นจากความอิจฉา
อิจฉาริษยา คือ ความพยายามของสภาวะจิตใจที่จะให้เนี๊ยะมัต (สิ่งอำนวยสุข) ที่อัลเลาะฮ์ทรงประทานแก่ผู้อื่นสูญสิ้นไป หมายถึงเรากำลังปฏิเสธเนี๊ยะมัตของอัลเลาะฮ์ที่พระองค์ทรงประทานให้แก่ผู้อื่น ดังนั้น ความอิจฉาริษยาจึงเป็นโรคร้ายชนิดหนึ่งของหัวใจ ที่คอยทำลายอีหม่านและความดีงาม และยังทำลายความเป็นพี่น้องระหว่างมุสลิมด้วยกัน
ท่านร่อซูลุลเลาะฮ์ ซอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า :
لا تحاسدوا ولا تباغضوا ولا تدابروا وكونوا عباد الله إخوانا
ความว่า: "พวกท่านอย่าอิจฉาริษยาซึ่งกันและกัน อย่าโกรธกันและกัน อย่าผินหลังให้กันและกัน และพวกท่านจงเป็นบ่าวของอัลเลาะฮ์ที่เป็นพี่น้องกัน" รายงานโดย บุคอรีย์และมุสลิม
ท่านร่อซูลุลเลาะฮ์ ซอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวเช่นกันว่า :
إياكم والحسد فإن الحسد يأكل الحسنات كما تأكل النار الحطب
ความว่า: "พวกท่านจงระวังความอิจฉาริษยา เพราะแท้จริงความอิจฉาริษยานั้นจะกัดกินบรรดาความดีงามเหมือนกับที่ไฟกินฟืน" รายงานโดย อบูดาวูด
ดังนั้น ความอิจฉาริษยาทำให้จิตใจหม่นหมอง อิสลามต่างส่งเสริมให้มุสลิมมีจิตใจที่บริสุทธิ์ต่อพี่น้องมุสลิมด้วยกัน ไม่ว่าทั้งภายนอกหรือภายใน และผู้ที่ไม่มีหัวใจบริสุทธิ์ปลอดภัยจากโรคร้ายต่าง ๆ ของหัวใจนั้น เขาจะไม่ได้รับความสำเร็จในโลกหน้า
อัลเลาะฮ์ทรงตรัสว่า :
إِلاّ مَـنْ أَتَى اللَّهَ بِقَلْبٍ سَلِيمٍ
ความว่า: "นอกจากผู้ที่ไปหาอัลเลาะฮ์ด้วยหัวใจที่ปลอดภัย"
กล่าวคือปลอดภัยจากโรคร้ายของหัวใจ เช่น ความอิจฉา ความยิ่งยะโส ความลำพอง เป็นต้น
วิธีเยียวยาโรคอิจฉาริษยา
1. จงพอใจในการกำหนดของอัลเลาะฮ์ตะอาลา เพราะความอิจฉาริษยาคือการไม่พอใจการกำหนดของอัลเลาะฮ์ที่มีต่อตนเองและผู้ อื่น ซึ่งเป็นบาป
2. ให้มีความรู้สึกขอบคุณ(ชุโกร) เนี๊ยะมัตต่ออัลเลาะฮ์ ตาอาลา ในสิ่งที่พระองค์ทรงประทานให้เรา และหากเนี๊ยะมัตที่เกี่ยวกับเรื่องดุนยานั้น ให้เราพยายามมองผู้ที่ต่ำต้อยกว่าเรา เพื่อให้รู้ว่าอัลเลาะฮ์ทรงประทานเนี๊ยะมัตให้แก่เราเยอะ ส่วนเรื่องอาคิเราะฮ์นั้น ให้เรามองผู้ที่สูงกว่า เพื่อให้เรามีความปรารถนาที่จะกระทำเหมือนกับเขาหรือให้มากกว่าเขา
3. นึกถึงเคล็บลับ(ฮิกมะฮ์)ที่อัลเลาะฮ์ทรงจัดสรรปัจจัยยังชีพและความดีงามอื่น ๆ ให้แก่มนุษย์ไม่เท่ากัน กล่าวคือให้คำนึงอยู่เสมอว่า อัลเลาะฮ์เป็นผู้ทรงรู้ดียิ่งเกี่ยวกับกิจการงานของปวงบ่าว เช่น เราจนเนื่องจากพระองค์ทรงทราบว่าหากเรารวยแล้ว เราอาจจะนำทรัพย์สินไปใช้ในทางที่ไม่มิชอบ หรือเราไม่ได้รับเกียรติตำแหน่งสูง ๆ ในสังคม เพราะพระองค์ทรงรู้ดีว่าหากเรามีเกียรติตำแหน่งสูง ๆ เราอาจจะใช้อำนาจในทางมิชอบ หรือเราไม่ได้แต่งงานกับคน ๆ นี้ เพราะพระองค์ทรงรู้ดีว่า มีคนอื่นที่ดีกว่าสำหรับเราที่อัลเลาะฮ์ทรงกำหนดมาให้แล้ว หากแต่งงานอยู่ร่วมชีวิตกับคนนี้ เขาอาจจะทำให้ชีวิตเราเป็นทุกข์หรือมีพฤติกรรมที่ชักนำเราสู่ไฟนรก เป็นต้น
4. ขอดุอาอ์ต่ออัลเลาะฮ์ให้เราพ้นจากจิตใจที่มีความอิจฉาริษยา
ดุอาอฺให้พ้นจากความอิจฉา
مَاشَاء الله تَبَارَكَ الله
คำอ่าน: “มาชาอัลลอฮฺ ตะบารอกัลลอฮฺ”
หมายความว่า : “นั่นคือพระประสงค์ของอัลลอฮฺ ขออัลลอฮฺทรงให้จำเริญเถิด”
ดุอาอฺบทนี้ จะทำให้ผู้อิจฉาคำนึงทันทีว่าสิ่งดีงามที่ปรากฏต่อหน้าเขาย่อมเป็นพระประสงค์ของอัลลอฮฺ จึงไม่มีสิทธิที่จะลบล้างหรืออิจฉามันได้ นั่นคือมารยาทที่เราต้องปรับปรุงในสังคมของเรา เพราะคนส่วนมากเมื่อเห็นสิ่งดีงามของคนอื่นก็มักจะแสดงความชื่นชมด้วยถ้อยคำเช่น โอ้โห สวยจัง ดีจัง ใหญ่จัง คำพูดเหล่านี้ถึงแม้ว่าถูกกล่าวด้วยความบริสุทธิ์ใจ แต่มันอาจประกอบด้วยความอิจฉาริษยา จึงต้องกล่าวในสิ่งที่สวนกับอิจฉาคือวิงวอนให้จำเริญ