กรณีที่เราเป็นมุสลิมะฮฺ ต้องทำงานไปค้างต่างจังหวัด แต่สามีอนุญาตให้ไปได้ เช่นนี้ตามหลักการศาสนาว่าอย่างไรค่ะ?
ผู้หญิงมุสลิมทำงานค้างต่างจังหวัด แต่สามีอนุญาตเช่นนี้ศาสนาว่าอย่างไร?
กรณีที่เราเป็นมุสลิมะฮฺ ต้องทำงานไปค้างต่างจังหวัด แต่สามีอนุญาตให้ไปได้ เช่นนี้ตามหลักการศาสนาว่าอย่างไรค่ะ?
ตอบโดย: อ.มุรีด ทิมะเสน
ในเบื้องต้น หลักการศาสนาระบุไว้อย่างชัดเจนว่า สตรีมุสลิมครั้นต้องเดินทางไกลออกจากจังหวัดของตนเองนั้น ไม่ว่าจะเดินทางเพื่อกิจใดก็ตาม วาญิบ (จำเป็น) จะต้องนำมะหฺร็อม (เพศชายที่แต่งงานกับนางไม่ได้ เช่น พ่อ เป็นต้น) ร่วมเดินทางไปกับนางด้วย
ท่านรสูลุลลอฮฺ กล่าวว่า :
لاَ تُسَافِرِ المَرْأَةُ إِلَّا مَعَ ذِي مَحْرَمٍ
“ไม่อนุญาตให้สตรี (มุสลิม) เดินทางไกล เว้นแต่จะต้องมีมะหฺร็อมร่วมเดินทาง (ไปกับนาง) ด้วย” [หะดีษเศาะหี้หฺ, บันทึกโดยบุคอรีย์ หะดีษที่ 1862]
ด้วยหลักฐานข้างต้น ศาสนากำหนดให้สตรีมุสลิมเดินทางไกล วาญิบจะต้องมีมะหฺร็อมเดินทางไปด้วยกับนาง ไม่ว่าจะนัยด้วยเหตุผลความปลอดภัย และดูแลนางให้พ้นจากอุปสรรคต่างๆ อันจะเกิดขึ้นกับนาง ส่วนกรณีสามีของนางอนุญาตให้ไปนั้น ไม่ถือว่าเป็นหลักฐานอนุญาตให้นางเดินทางไกลเพียงลำพังโดยปราศจากมะหฺร็อม ซึ่งการอนุญาตของสามีไม่สามารถยกเลิกข้อห้ามบัญญัติของศาสนาได้เลย
ท่านรสูลุลลอฮฺ กล่าวว่า :
لَا طَاعَةَ لِأَحَدٍ فِي مَعْصِيَةِ اللَّهِ
“ไม่อนุญาตให้เชื่อฟังบุคคลใดว่าด้วยเรื่องการฝ่าฝืน (คำสั่ง) ของอัลลอฮฺ” [หะดีษเศาะหี้หฺ, บันทึกโดยอะหฺมัด หะดีษที่ 20611]
(วัลลอฮุอะอฺลัม)