มุสลิมเล่นทายลายเซ็น(ลายมือ)ตัวเองได้ไหม จะบาปไหมครับ?
มุสลิมเล่นทายลายเซ็น(ลายมือ)ตัวเองได้ไหม?
คำถาม: มุสลิมเล่นทายลายเซ็น(ลายมือ)ตัวเองได้ไหม จะบาปไหมครับ?
ตอบโดย: อ.มุรีด ทิมะเสน
ท่านรสูลุลลอฮฺ วัจนะไว้ว่า :
مَنْ أَتَى عَرَّافًا فَسَأَلَهُ عَنْ شَيْءٍ، لَمْ تُقْبَلْ لَهُ صَلَاةٌ أَرْبَعِينَ لَيْلَةً
“บุคคลใดก็ตามที่ไปหาหมอดู (หมอทำนายทายทัก) แล้วถามสิ่งหนึ่ง (ที่อยากรู้) จากหมอผู้นั้น (เช่นนี้หละ) การนมาซ (ฟัรฺฎู) 40 คืน (200 เวลา) จะไม่ถูกตอบรับจากเขา” [1]
ท่านรสูลุลลอฮฺ วัจนะไว้ว่า:
مَنْ أَتَى كَاهِنًا، أَوْ عَرَّافًا، فَصَدَّقَهُ بِمَا يَقُولُ، فَقَدْ كَفَرَ بِمَا أُنْزِلَ عَلَى مُحَمَّدٍ
“บุคคลใดไปหาหมอทำนาย หรือหมอรู้โชคชะตา แล้วเชื่อในสิ่งที่หมอผู้นั้นบอก แน่นอนยิ่ง เขา (ผู้ถาม) ได้ปฏิเสธสิ่งซึ่งถูกประทานมายังท่านนบีมุหัมมัดเสียแล้ว (หมายถึงปฏิเสธอัลกุรฺอ่านทั้งเล่ม)” [2]
ด้วยหลักฐานทั้งสองข้างต้นทำให้เข้าใจได้ว่า การไปหาหมอดูหมอทำนายทายทักทั้งหลายนั้น ถือว่าเป็นที่ต้องห้าม (หะรอม) แค่เข้าไปหาเขาแล้วถามเขาเรื่องหนึ่งที่เราอยากรู้ แค่ถามเฉยๆ หมอยังไม่ทันตอบอะไรเลย แค่ถามเฉยๆ ศาสนาระบุว่าการนมาซฟัรฺฎูของเขาที่ผ่านมา 200 เวลา (40 คืน) ก็จะถูกลบทิ้งทันที อัลลอฮฺมิทรงรับ นั่นเท่ากับว่าเขาขาดนมาซฟัรฺฎูไป 200 เวลา คิดว่าเป็นบาปเล็กหรือบาปใหญ่? เฉกเช่นกัน เรานำลายเซ็นเราไปถามหมอทำนาย ไม่ว่าจะเป็นหมอซึ่งเป็นมนุษย์ หรือเป็นเครื่องทายอัตโนมัติก็ตาม ล้วนเป็นการขอให้เขาทำนายโชคชะตาของเราในอนาคตทั้งสิ้น การนมาซฟัรฺฎูของเราหายไปทันที 200 เวลา, ยิ่งไปกว่านั้น หากเราเชื่อในสิ่งที่หมอ (ที่เป็นมนุษย์ หรือเครื่องทายอันโนมัติ) นั่นเท่ากับว่าเราได้ปฏิเสธอัลกุรฺอ่านทั้งเล่ม กล่าวคือเราสิ้นสภาพการเป็นมุสลิมไปเสียแล้ว (อะอูซุบิลลาฮิมินซาริก) เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่เราจะทำกันเล่นๆ ไม่ได้คิดอะไรหรอกนะ หากแต่เป็นเรื่องความศรัทธาล้วนๆ หากเรารู้ว่าอัลลอฮฺนั่นหละคือผู้ที่เราต้องมอบหมาย อนาคตจะเป็นอย่างไรนั้นให้เรามอบหมายต่ออัลลอฮฺไม่ใช่มอบหมายไว้กับลายมือลายเซ็นของเราเสียหน่อย ดุอาอ์ให้พี่น้องมุสลิมเราออกห่างจากสิ่งข้างต้นด้วยเถิด (อามีนยาร็อบบัลอาละมีน) ส่วนบุคคลใดที่เผลอไผลไปกระทำสิ่งข้างต้น ก็ให้เตาบะฮฺตัว อิสติฆฟารฺขออภัยโทษต่ออัลลอฮฺให้โดยเร็ว
ท่านรสูลุลลอฮฺ วัจนะไว้ว่า:
فَإِنَّ العَبْدَ إِذَا اعْتَرَفَ بِذَنْبِهِ، ثُمَّ تَابَ تَابَ اللَّهُ عَلَيْهِ
“แท้จริงบ่าวคนใดที่ล่วงรู้ถึงความผิดของเขา จากนั้นเขาก็ (สำนึก) เตาบะฮฺ (กลับเนื้อกลับตัวยังอัลลอฮฺ) เช่นนี้พระองค์อัลลอฮฺทรงรับการเตาบะฮฺของเขา” [3] (วัลลอฮุอะอฺลัม)
[1] หะดีษเศาะหี้หฺ, บันทึกโดยมุสลิม หะดีษที่ 2230
[2] หะดีษเศาะหี้หฺ, บันทึกโดยอะหฺมัด หะดีษที่ 9536
[3] หะดีษเศาะหี้หฺ, บันทึกโดยบุคอรีย์ หะดีษที่ 2661