อิสลามมักส่งเสริม และกระตุ้นให้ผู้ศรัทธาปกป้องรักษาสิทธิกันและกันอย่างเข้มงวด อย่าละเมิดสิทธิส่วนบุคคลโดยเด็ดขาด อะไรเป็นเหตุทำให้ผู้ศรัทธาด้วยกันเจ็บช้ำน้ำใจ
มุสลิมมีหนี้ไม่จ่ายหนี้ พึงระวัง
บทความโดย: อ.มุรีด ทิมะเสน
ท่านรสูลุลลอฮฺกล่าวว่า
يُغْفَرُ لِلشَّهِيدِ كُلُّ ذَنْبٍ إِلَّا الدَّيْنَ
“ทุกๆ ความผิดของผู้ตายชะฮีด (ตายในสนามรบเพื่ออัลลอฮฺ) จะถูกอภัยจนหมดสิ้น ยกเว้น เรื่องหนี้สิน (เท่านั้นที่อัลลอฮฺจักไม่อภัยโทษให้)”
[หะดีษเศาะหี้หฺ, บันทึกโดยมุสลิม หะดีษที่ 1886]
สิ่งที่ได้รับจากหะดีษ
จักสังเกตว่า อิสลามมักส่งเสริม และกระตุ้นให้ผู้ศรัทธาปกป้องรักษาสิทธิกันและกันอย่างเข้มงวด อย่าละเมิดสิทธิส่วนบุคคลโดยเด็ดขาด อะไรเป็นเหตุทำให้ผู้ศรัทธาด้วยกันเจ็บช้ำน้ำใจ ต้องระทมเสียอกเสียใจแล้วละก็ อันพึงต้องออกห่าง อย่าละเมิดสิทธิผู้ศรัทธาโดยเด็ดขาด
อ้ายสิทธิสำคัญหนึ่งที่ผู้ศรัทธาห้ามเพิกเฉยอย่างเด็ดขาด ก็คือ การหยิบยืมทรัพย์ผู้อื่นแล้วไม่ใช่คืน นี่คือความผิดอันมหันต์ยิ่งนัก ท่านนบีของเราย้ำเป็นหนักหนาว่า อย่าได้ละเมิดสิทธิพี่น้องผู้ศรัทธาด้วยกันเอง หรือแม้กระทั่งพี่น้องต่างความเชื่อก็ตาม เพราะนั่นแม้ว่าเราจะเตาบะฮฺ (กลับเนื้อกลับตัว) ยังพระองค์อัลลอฮฺ แลยังไม่พ้นผิดอยู่ดี ต้องนำสิทธิที่เราหยิบยืมทรัพย์ผู้อื่นไปคืนเขาให้เสร็จสิ้นสมบูรณ์เสียก่อน นั่นหละถึงจะพ้นในความผิดของเราครบถ้วนสมบูรณ์ หามิเช่นนั้นแล้ว ความผิดของเราก็ยังคงติดตัวไปตลอดชีวิต
ประเด็นหนี้สิน ผู้ศรัทธาทุกวันนี้แทบไม่ให้ความสนใจใยดีด้วยซ้ำ แปลกมาก ขนาดตัวบทศาสนาระบุถึงพิษภัยความผิดของบุคคลซึ่งไม่จ่ายหนี้หนีหนี้ราวกับว่า ความผิดที่ไม่ชดใช้หนี้นั้นเป็นเรื่องเพียงเล็กน้อยซะงั้น เอาเข้าจริง “การไม่จ่ายหนี้” คือความผิดอันมหันต์เสียนี่ประไร หลายครั้งท่านนบีไม่ยอมละหมาดญะนาซะฮฺให้แก่ผู้มีหนี้แต่ไม่ยอมชดใช้หนี้ด้วยซ้ำ
ตรองดูเถิด แม้ว่าเขาผู้ออกรบต่อสู้เพื่ออัลลอฮฺในฐานะชะฮีด หมายถึง ตายในสนามรบเพื่ออัลลอฮฺ ความผิดทั้งปวงได้รับการอภัยโทษให้สำหรับชะฮีดผู้นั้น ยกเว้นเรื่องหนี้สิน หากเขาค้างคาหนี้สินยังมิได้ชดใช้ บาปนี้หละที่ยังไม่ถูกอภัยโทษให้ เห็นรึยังว่าความผิดเรื่องหนี้แล้วไม่ชดใช้คืนรุนแรงมากโข....เพียงใด
มุสลิมยุคปัจจุบันไม่ใคร่หวาดกลัวเรื่องไม่ชดใช้หนี้สินของตนเอาเสียเลย น่าขำไปกว่านั้น ลูกหนี้กลับตำหนิเจ้าหนี้ว่า เป็นผู้เขลาเบาปัญญาเสียนี่กระไร? ให้ยืนทรัพย์ของตนแล้วมาทวงหนี้กี่ครั้งต่อกี่ครั้งก็ไม่ได้หนี้นั้นกลับไป ช่างน่าสงสารเหลือเกิน, อันที่จริงผู้น่าสงสารคือลูกหนี้ต่างหาก ล้อเล่นกับศาสนา ล้อเล่นกับอัลลอฮฺ ราวกับว่าพระองค์มิทรงเห็นพฤติกรรมชั่วนั่นน่ะ ช่างอัปยศเสียนี่กระไร? ลางทีคนที่อ้างว่าตนเองทำงานศาสนานั่นหละ ช่วยเหลืองานศาสนาซะเต็มประดามี ลมหายใจเข้าออกก็เพื่อศาสนา ทว่าไม่ยอมชดใช้หนี้ให้แก่เจ้าหนี้เลย รังแต่จะสร้างหนี้สินไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็หนีหนี้หน้าตาเฉย เจอหน้ากันก็ไม่พูดเรื่องหนี้สินของเราซะงั้น
พึงรู้ไว้เถิดว่า หนี้สินคือสิทธิระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ (ฮักกุลอาดัม) อันยอมความกันไม่ได้เลย นอกจากต้องไปคืนหนี้แก่เจ้าหนี้ หรือไม่เจ้าหนี้ต้องยกหนี้ให้เท่านั้น จึงจะรอดพ้นการลงโทษ ณ วันแห่งการตอบแทนไปได้ ไม่เช่นนั้น....ยังนึกสภาพไม่ออกเลยว่าลูกหนี้ผู้นั้นจะมีสภาพเยี่ยงไร ณ วันซึ่งต้องเผชิญหน้ากับเจ้าหนี้ โดยมีพระองค์อัลลอฮฺเป็นผู้พิพากษา ณ วันนั้นน่ะ